สายน้ำ สายชีวิต : เส้นเลือดของเมืองไทย


แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางกรุงเทพฯ เป็นกลางทางที่แม่น้ำมุ่งหน้าลงสู่ทะเล ไม่ว่าแม่น้ำสายไหนจากทั้ง ๔ สาย คือ ปิง วัง ยม และน่าน ที่ผ่านมาจากจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นพิจิตร ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย อันมารวมบรรจบกันที่เมืองปากน้ำโพหรือนครสรรค์นั้น ก็บรรจบกันเป็นเส้นเลือดสายใหญ่ที่เรียกว่า "เจ้าพระยา"

ประกอบกับการตัดถนนข้ามสายน้ำ ทางน้ำที่เคยเดินสะดวก ก็มีอันติดขัด อุดตัน ร่องน้ำที่เคยลึกก็พลัน "ตื้นเขิน" เปรียบประหนึ่งเส้นเลือดที่เคยเดินสะดวกออยู่ดี ๆ ก็มีไม้บรรทัดมาวางกั้นไว้ แล้วเจาะรูเล็ก ๆ ที่นักวิศวกรรมโยธาเรียกว่า "ท่อน้ำ" ให้เลือดได้มีโอกาสไหลผ่านทีละเล็ก ทีละน้อย

ครั้นเมื่อฝนตกลงมามาก ๆ ปริมาณน้ำนั้นเยอะ ท่อใหญ่ ๆ ก็กลายเป็นท่อน้อย ๆ ไม่สามารถระบายน้ำที่ไหลมารวมกันจากทุกสารทิศ ทำให้เกิดปัญหา "น้ำท่วม น้ำขัง"  ทั้งน้ำเรือกสวน ไร่นา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองใหญ่ น้ำไหลท่วมทะลักเข้าสู่พื้นที่ที่พี่น้องประชาชนพักอาศัย เพราะเส้นเส้นเลือดใหญ่ไหลไม่ทัน ไหลไม่สะดวก

โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่เป็นทางผ่านของแม่น้ำสายไหล อันเป็นที่รวมกันของแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ทางภาคเหนือที่จะต้องไหลลงสู่ทะเลนั้น ก็ต้องประสบภาวะวิกฤ๖ เพราะเส้นเลือดใหญ่ไม่มีทางระบายไปที่ไหน เมื่อไม่มีทางไปสายน้ำก็ต้องอิงอาศัยผืนดินของผู้คน

โครงการแก้มลิงอันเกิดจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่แบ่งเบาวิกฤติน้ำท่วมของชาวกรุงเทพฯไปได้อย่างมหาศาล ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลจึงช่วยให้ชาวกรุงเทพฯรอดพ้นจากอุทกภัยที่หนักหนา เหลือเพียงแต่น้ำ น้ำล้นอันจางตา ไม่กี่วันเจ้าพระยาก็พาน้ำลัดเลาะ ลงทะเล

ถ้าแม่น้ำเปรียบดั่งสายเลือด ณ วันนี้ ประเทศไทยมีแต่เส้นเลือดใหญ่ที่พาปริมาณน้ำไหลอย่างไม่มีขีดจำกัด

การสร้างเส้นเลือดฝอยให้กับประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ สำคัญอย่างไรบ้าง...?

ความสำคัญมีอยู่ ๒ ประการหลัก ๆ คือ

๑. แก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ที่มีแม่น้ำใหญ่ไหลผ่าน

๒. ผันน้ำจากแม่น้ำไปยังพื้นที่ที่แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำให้กับ "อุดมสมบูรณ์"

เมื่อการสร้างถนนเป็นปัญหาสำคัญของการสร้างความอุดตันให้กับกระแสน้ำ ประเทศจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง "แม่น้ำสายพายพาส" เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตน้ำท่วมอย่างถาวร

แม่น้ำสายบายพาส หรือคลองส่งน้ำที่ตัดขึ้นมาใหม่เพื่อให้ไหลลงทะเลโดยตรงนั้น ควรจะความกว้างอย่างน้อย ๔๐ เมตร และมีความลึกอย่างน้อย ๑๐ เมตร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ๒ ข้อดังกล่าวข้างต้นคือ แก้ไขปัญหาน้ำท่วม และผันน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร

หรือในการตัดถนนที่ขวางลำน้ำในทางตรงและทางอ้อม การขุดท่อพื้น ๆ ในระดับผิวดิน เป็นการระบายน้ำอย่างผิวเผิน ถ้าจะขุดเพื่อระบายน้ำให้ได้จริง ๆ ต้องขุดให้ลึกเป็นสิบ ๆ เมตรเช่นเดียวกัน

ตราบใดที่ถนนยังเป็นไม้บรรทัดที่วางทับเส้นเลือดน้อย เส้นเลือดใหญ่ และตราบใดที่เมืองไทยยังไม่มีการแก้ไขปัญหาด้วยการผันน้ำจากแม่น้ำลงสู่ทะเล ปัญหาน้ำท่วมย่อมจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ทุกปี

แต่เมื่อใดที่เส้นเลือดใหญ่มีคนเราขุดให้ไหลผ่านไปทางอื่นที่นำพาปริมาณน้ำที่มากมายไหลลงสู่ทะเลได้อย่างฉับไวแล้วไซร้เมื่อนั้นปัญหาน้ำท่วมย่อมถูกแก้ไข และคนไทยก็จะได้ประโยชน์จากสายน้ำที่ไหลผ่านไปอย่างเอนกอนันต์... 

หมายเลขบันทึก: 408432เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2010 05:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เมื่อใคร ๆ เห็นแม่น้ำสายโต ๆ ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ ๆ เป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่จะเข้าไปเสาะแสวงเพื่อหา "ผลประโยชน์" เส้นสายเส้นนั้นย่อมรับบทหนัก เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ

ให้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรับสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ นานา

ชาวเขาบุกป่าถางพก ทำไร่เลื่อนลอย ชาวเราก็บุกรุกแผ่นดินและผืนน้ำทำบ้านเลื่อนลอย

เมื่อแม่น้ำสายนี้หมดประโยชน์ก็เปลี่ยนไปหาแม่น้ำสายนั้น

คลองนี้ใช้น้ำดื่มกินไม่ได้ ก็กลายไปเป็นคลองที่มีไว้สำหรับทิ้งสิ่ง "ปฏิกูล"

มีน้ำ มีคลอง ไว้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ความสะดวก ความสบาย ในการกินอยู่ก็ดี ในการเดินทางคมนาคมขนส่งก็ดี

บ้านใครมีน้ำก็ดีไป ดีคือมีที่สำหรับหาผลประโยชน์ แต่ไม่ดีสำหรับสายน้ำ โดยเฉพาะคนที่อยู่ท้ายน้ำ เพราะได้รับเพียงเศษเสี้ยวของผลประโยชน์และได้รับปฏิกูลสิ่งโสโครกอย่างเต็มที่

หากเส้นเลือดของเมืองไทยเป็นดั่งรูปด้านบนที่มีแต่เส้นเลือดใหญ่ ขาดไร้ซึ่งเส้นเลือดฝอย ไม่นาน เส้นเลือดจักอุดตัน ไม่นานเส้นเลือดจะระเบิด

เส้นเลือดที่ระเบิดหรือแตกในสมอง เจ้าของเส้นเลือดนั้นโชคดีก็เป็นอัมพฤกษ์ โชคร้ายก็เป็นอัมพาต หรือที่รุนแรงที่สุดก็ต้องลาละอัตภาพจากโลกกลม ๆ ใบนี้ไป

กรุงเทพฯ เมืองใหญ่ เมืองแห่งเส้นเลือดใหญ่ ที่ใคร ๆ ต่างเข้ามาหาผลประโยชน์กำลังประสบกับภาวะเส้นเลือดอุดตันครั้งใหญ่หรือไม่ เพราะอะไรต่ออะไรก็ไหลลงมา มิหนำซ้ำน้ำหนุนจากทะเลก็ย้อนกลับขึ้นคืนไป

เมื่อน้ำคือชีวิต วิกฤตน้ำคือวิกฤตชีวิต

บริหารน้ำคือการบริหารชีวิต

บริหารน้ำดี ชีวิตดี บริหารน้ำล้มเหลว ชีวิตย่อมล่มสลายตามไปด้วย...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท