ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

เมืองคอน: ภาพย่อส่วนความขัดแย้งที่รอวันปะทุของเซาเทิร์นซีบอร์ด


นครศรีธรรมราชเป็นเพียงตัวอย่างจังหวัดเดียวของความขัดแย้งที่มีชนวนจากแนทางการพัฒนาของรัฐที่ไม่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ และเมื่อเอ่ยถึงโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดทั้งหมด ก็เป็นเหมือนระเบิดลูกใหญ่ที่รอวันปะทุระหว่างภาคประชาชนคนใต้ที่มีความเข้มแข็งและลักษณะเฉพาะตัวกับพลังรัฐและทุน

เรื่อง: กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล  ภาพ: ธนารักษ์ คุณทน

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน  11 พฤศจิกายน 2553 17:51 น
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000159731

สภาพของเธอ-จารึก โพธิ์ถาวร ค่อนข้างอิดโรยจากอาการป่วยไข้ แต่ด้วยตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านนาเม่า ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เธอจึงต้องนั่งอธิบายปัญหาของคนในหมู่บ้านให้แก่คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
       
       ในฐานะตัวแทนของชาวบ้าน เธอเล่าว่า ด้วยแรงผลักดันของผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวนหนึ่ง อยู่ๆ ก็มีการเข้ามาก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพและไอน้ำ โดยพื้นที่ก่อสร้างทับอยู่บนพื้นที่แก้มลิงของชุมชน ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังและสร้างความวิตกแก่ชาวบ้าน
       
       นี่ยังไม่นับรวมเรื่องวงในอีกบางประการที่นำมาสู่การก่อสร้างโรงงาน
       
       อย่างไรก็ตาม โรงงานผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยทันที เมื่อเทียบกับสิ่งที่จะตามมา เนื่องจากพื้นที่ตำบลทุ่งปรังเป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
       
                                      1.
       
       โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ เซาเทิร์นซีบอร์ด ปรากฏขึ้นบ่อยๆ ในข่าวระยะหลังๆ นี้ ซึ่งมีการประเมินว่า ในปี 2554 มันจะถูกเร่งรัดอย่างหนักจากภาครัฐ โครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ จะถูกปูพรม ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม โรงถลุงเหล็กต้นน้ำ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหิน ท่าเทียบเรือ เขื่อน แลนด์บริดจ์ การสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม
       
       นับเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราชเพียงแห่งเดียวมีโครงการต่างๆ ทั้งที่ดำเนินการเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และอยู่ในขั้นตอนการจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และด้านสุขภาพ (HIA) และโครงการที่อยู่ในขั้นเตรียมการ มากถึง 17 โครงการ
       
       ทั้งหมดนี้หมายถึงอะไร แน่นอนมันหมายถึงการผลักดันการพัฒนาด้านเศรษฐกิจแบบเต็มสูบ ขณะที่ก็ต้องยอมรับว่า มันจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ของชาวนครศรีธรรมราชจากหน้ามือเป็นหลังมือ
       
       และเมื่อดูทั้งเซาเทิร์นซีบอร์ด ...ภาคใต้ทั้งภาคจะเปลี่ยนไป
       
                                           2.
       
       วีรศักดิ์ สิงห์สามารถ สมาชิก อบต.ทุ่งปรัง ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านการตั้งโรงงานบนพื้นที่แก้มลิง เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลมาก่อนว่าจะมีการสร้างโรงงานอะไร ซึ่งเมื่อมีการผลักดันเรื่องนี้เข้าที่ประชุม อบต. ครั้งแรกก็ถูกตีตกไป แต่ก็มีการพยายามดันกลับเข้ามาอีกในภายหลัง ก็ผ่านการลงคะแนนในที่สุดด้วยเรี่ยวแรงของนายก อบต. และข้ออ้างเรื่องกฎหมาย
       
       ฝั่งชาวบ้านเองจึงทำการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ หลังจากทางอุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่ก็สรุปว่า ทางโรงงานดำเนินการก่อสร้างไปก่อนได้รับใบอนุญาต มีการแจ้งให้ระงับการก่อสร้างไว้ก่อน แต่ก็ไม่เกิดผลประการใด โดยทางอุตสาหกรรมจังหวัดได้โยนให้ทางตำรวจเป็นผู้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับ
       
       ณ ห้วงเวลาเดียวกัน แต่ต่างพื้นที่ ชาวบ้านตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา ต่างนำธงสีแดงมาติดไว้ที่หน้าบ้าน เพื่อบอกว่าตนไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ เกิดเป็นความขัดแย้งกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซึ่งทาง กฟผ. ก็ไม่ได้ระบุตำแหน่งที่ชัดเจน ทำให้ชาวบ้านเกิดความวิตกกังวล ทั้งในประเด็นสุขภาพที่มีตัวอย่างเชิงประจักษ์จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ด้านสิ่งแวดล้อม และอาชีพของชาวบ้านอย่างประมงพื้นบ้านหรือการท่องเที่ยว ทั้งยังไม่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านอีกด้วย
       
       หรือจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน เรื่องการให้ผลประโยชน์แก่ผู้นำหมู่บ้านและการข่มขู่คุกคาม ซึ่งทาง กฟผ. ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้และพยายามทำความเข้าใจผ่านการลงพื้นที่และสื่อภายในชุมชน แต่ก็ไม่สามารถลบความหวาดระแวงและความขัดแย้งลงได้
       
       ยังไม่นับรวมการสร้างฐานจอดเฮลิคอปเตอร์ อ่างเก็บน้ำ หรือการเจาะสำรวจปิโตรเลียมของบรรษัทพลังงานข้ามชาติ
       
                                         3.
       
       นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงต้องลงมาเป็นประธานในการรับฟังความเห็นจากทั้งสองฟากเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา บรรยากาศในเวทีมีการชี้แจงและซักถามไปมา และมีความตึงเครียดเป็นบางโอกาส
       
       ภาพรวมของเวที ตัวแทนจากบริษัทเอกชนชี้แจงว่า มีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างถูกต้อง มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชม มีแผนการลดผลกระทบต่อชาวบ้านให้เหลือน้อยที่สุด และจะมีการเยียวยาในรูปแบบต่างๆ ขณะที่ตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ เช่น กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พูดไปในทำนองเดียวกันว่า ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้นในขณะนี้
       
       โดยในส่วนตัวแทนของสภาพัฒน์ ระบุว่า กำลังทำการทบทวนแผนเซาเทิร์นซีบอร์ด โดยจะเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนและด้านการเกษตร หากมีโครงการใดที่ประชาชนไม่ต้องการก็จะไม่มีการบรรจุอยู่ในแผน
       
       หากจะถือว่านี่คือคำสัญญาจากภาครัฐ ก็ย่อมเป็นคำสัญญาที่ต้องช่วยกันจดจำ เพราะในสายตาชาวบ้านและนักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดดูจะสวนทางกับศักยภาพในพื้นที่
       
       “เท่าที่ผ่านมา สภาพัฒน์ จะพูดอย่างนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาด้านการเกษตร แต่ในระดับหน่วยงานที่รับแผนไปปฏิบัติก็มักจะทำอีกอย่างเสมอ อย่างกระทรวงอุตสาหกรรมก็ให้สถาบันเหล็กกล้าทำแผนเหล็กที่จะลงไปภาคใต้ กระทรวงพลังงานก็ให้ ปตท. ทำแผนอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ซึ่งก็ลงที่ภาคใต้อีก หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็เหมือนกัน มันแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่สภาพัฒน์ พูดมักจะสวนทางกับการกระทำเสมอ” ดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต และหนึ่งในอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน กล่าว
       
       อีกทั้งการสร้างสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำ ท่าเรือ หรือโรงไฟฟ้า ย่อมไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นลอยๆ ไว้กลางสวนยาง แต่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ตามมา ไม่แปลกที่ชาวบ้านไม่ไว้วางใจ
       
       นครศรีธรรมราชเป็นเพียงตัวอย่างจังหวัดเดียวของความขัดแย้งที่มีชนวนจากแนทางการพัฒนาของรัฐที่ไม่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ และเมื่อเอ่ยถึงโครงการเซาเทิร์นซีบอร์ดทั้งหมด ก็เป็นเหมือนระเบิดลูกใหญ่ที่รอวันปะทุระหว่างภาคประชาชนคนใต้ที่มีความเข้มแข็งและลักษณะเฉพาะตัวกับพลังรัฐและทุน
       
       ************

หมายเลขบันทึก: 408195เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2010 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท