ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

จากมาบตาพุด ถึง นครศรีธรรมราช การพัฒนาขนาดใหญ่ ที่ยังเป็นคำถาม


บทเรียนจากมาบตาพุดทำให้ชุมชนชาวใต้รวมตัวกันเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตไว้ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานให้ได้มีชีวิตอยู่บนผืนดินของพ่อแม่อย่างปกติสุข มิใช่ต้องอยู่กับมลพิษที่สะสมและแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายทีละน้อย เวลานอนก็คันเพราะแพ้ไอสารเคมี ยามกินก็ไม่มั่นใจว่าปลอดภัยเพราะน้ำฝนที่เคยรองไว้กินไว้ใช้ก็มีสีผิดปกติ น้ำฝนที่ขังในกระป๋องโลหะยังสึกกร่อน น้ำบ่อที่เคยใช้รดพืชผักให้งอกงามก็กลับเหี่ยวเฉา ผลบิดเบี้ยว สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากและเลือกไม่ได้เลย คือ ลมหายใจที่ต้องสูดอากาศปนเปื้อนสารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกายทุกวันเฉกเช่นคนมาบตาพุด จากบทเรียนของผลกระทบที่ผ่านมาสร้างความกังวลใจให้ประชาชนในชุมชนที่มีข่าวว่าจะมีอุตสาหกรรมมาตั้งอยู่
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. เรณู เวชรัชต์พิมล 
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ประมาณปี 2545 ได้มาจัดอบรมที่อำเภอขนอม ยามเช้ามองจากห้องพักไปในทะเลพบคนท้องถิ่น 2-3 คน ยืนนิ่ง ๆ ในน้ำทะเลที่ท่วมแค่น่อง สายตาจับจ้องในน้ำ เฝ้าดูอยู่นานจนต้องลงไปหาคำตอบ จึงได้เรียนรู้ว่าจับปลากระบอก และปลาที่เขาจับได้ในข้อง 5-6 ตัว มีขนาดกิน 2 คนไม่หมด สรุปเบื้องต้นได้ว่าทะเลที่นี่อุดมสมบูรณ์ มีความเป็นธรรมชาติและระบบนิเวศเอื้อต่อการเจริญของสัตว์น้ำ จึงยินดีกับคนท้องถิ่นว่าไม่ร่ำรวยก็มีปลาสด ๆ กิน ลูกหลานฉลาดแน่เพราะกินปลาที่ไม่ปนเปื้อนสารพิษ

อีก 5 ปีต่อมาเริ่มมีข่าวการขยายการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในภาคใต้ควบคู่กับความขัดแย้งกับชุมชนในท้องถิ่น เพราะเขาต้องการอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการใช้ผลผลิตจากภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ด้วยเล็งเห็นประโยชน์ที่จะตกกับคนพื้นที่ในวงกว้าง  มิใช่การลงทุนขนาดใหญ่ที่เกิดจากนายทุนต่างถิ่นกลุ่มหนึ่ง  ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับการวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นที่พึ่งพาทะเล ไม่ว่าจะเป็นประมงชายฝั่ง อาชีพที่เกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำทั้งจำหน่ายสด ๆ และแปรรูป การท่องเที่ยวซึ่งเป็นศักยภาพโดดเด่นของภาคใต้ ทั้งทะเลงดงาม โลมาสีชมพูและวัฒนธรรมลือชื่อ

บทเรียนจากมาบตาพุดทำให้ชุมชนชาวใต้รวมตัวกันเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตไว้ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานให้ได้มีชีวิตอยู่บนผืนดินของพ่อแม่อย่างปกติสุข มิใช่ต้องอยู่กับมลพิษที่สะสมและแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายทีละน้อย เวลานอนก็คันเพราะแพ้ไอสารเคมี ยามกินก็ไม่มั่นใจว่าปลอดภัยเพราะน้ำฝนที่เคยรองไว้กินไว้ใช้ก็มีสีผิดปกติ น้ำฝนที่ขังในกระป๋องโลหะยังสึกกร่อน น้ำบ่อที่เคยใช้รดพืชผักให้งอกงามก็กลับเหี่ยวเฉา ผลบิดเบี้ยว สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากและเลือกไม่ได้เลย คือ ลมหายใจที่ต้องสูดอากาศปนเปื้อนสารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกายทุกวันเฉกเช่นคนมาบตาพุด จากบทเรียนของผลกระทบที่ผ่านมาสร้างความกังวลใจให้ประชาชนในชุมชนที่มีข่าวว่าจะมีอุตสาหกรรมมาตั้งอยู่ 

ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งระยะยาวเจ้าของโครงการฯ ควรจัดเวทีสร้างความเข้าใจให้กับชุมชน และพิสูจน์ให้เห็นว่าโครงการมีมาตรการป้องกันที่ดี และพร้อมที่จะลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมทั้งพร้อมที่จะแก้ไขข้อห่วงกังวลของชุมชนทุกด้าน แต่ถ้าเจ้าของอุตสาหกรรมไม่สามารถตอบข้อห่วงใยของชุมชนได้และพยายามที่จะสร้างอุตสาหกรรมบนความขัดแย้งต่อไป ย่อมเป็นวิธีที่ไม่ฉลาด เพราะประชาชนได้ถอดบทเรียนจากมาบตาพุด รวมทั้งมีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาที่พร้อมจะใช้องค์ความรู้มาให้ความเป็นธรรมกับประชาชน

ความไม่ไว้วางใจของชุมชนที่มีต่อหน่วยงานของรัฐในด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ หากรัฐสามารถพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่ารัฐสามารถแก้ปัญหามาบตาพุดได้จริงโดยมิใช่เป็นการสร้างภาพ ย่อมจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาจากประชาชนได้ 

การอนุมัติ/อนุญาตให้โครงการหรือกิจกรรมฯ ต่าง ๆ เช่น การสร้างโรงงานอุตสาหกรรม การถมทะเล การทำเหมืองแร่ การสร้างเขื่อนชลประทานขนาดใหญ่ ฯลฯ ที่หน่วยงานของรัฐอนุญาตให้ดำเนินการได้ในชุมชนโดยให้เจ้าของโครงการฯจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) เพียงอย่างเดียวนั้น พบว่าขาดขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียที่ชัดเจน จึงมีการดำเนินการที่ไม่รอบคอบ ขาดมาตรการป้องกันผลกระทบต่อชุมชนอย่างรอบด้านและมิได้นำกฎของความระแวดระวัง (Precautionary Principle) มาใช้ 

จึงปรากฏความเดือดร้อนและมีข้อร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ จำนวนมากต่อหน่วยงานต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ฯลฯ จากข้อร้องเรียนจำนวนมาก รัฐใช้ระยะเวลายาวนานมากในการแก้ปัญหา

นอกจากนี้ขั้นตอนการรับฟังประชาชนในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบางโครงการยังมีเงื่อนงำของความไม่โปร่งใสในการรับฟัง เช่น มีการจัดเวทีนอกพื้นที่ตั้งของโครงการ ประชาชนที่ร่วมเวทีจึงไม่ใช่ชุมชนผู้อาจได้รับผลกระทบที่แท้จริง

นอกจากนี้ยังมีวิธีการไม่ปกติ เช่น จัดจ้างกลุ่มบุคคลให้มาร่วมเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็นด้วยต่อการให้มีโครงการ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่คนในชุมชน หรือบางครั้งผู้ที่เห็นด้วยก็เป็นคนที่ในชุมชนแต่เป็นกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์จากการมีโครงการ เช่น เป็นผู้นำที่มีข้อมูลและได้กว้านซื้อที่ดินเอาไว้ขายให้เจ้าของโครงการ หรือเป็นกลุ่มที่ได้รับสัญญาว่าจะได้เป็นผู้รับเหมาถมที่ดิน หรือเป็นหัวหน้าในการหาคนงานมารับงานก่อสร้าง ฯลฯ ความไม่ปกติเหล่านี้ประชาชนผู้เดือดร้อนไม่มีที่พึ่ง เว้นแต่โครงการเหล่านั้นจะเข้าข่ายว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและด้านสุขภาพ ประชาชนมีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นที่พึ่งได้ถ้ามีความผิดปกติดังกล่าว

สิทธิของชุมชนได้รับการปกป้องที่ชัดเจนขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยปรากฏในมาตราต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ เช่น ในมาตรา มาตรา 66 ที่มีเจตนารมณ์คุ้มครองสิทธิชุมชนท้องถิ่นและชุมชนดั้งเดิมแยกจากสิทธิส่วนบุคคล กล่าวคือ บุคคลจำนวนหนึ่งสามารถรวมตัวกันเป็นชุมชน หรือ ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม โดยชุมชุนเหล่านี้มีสิทธิที่จะอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน

และมาตรา 67 มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในด้านการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ เพื่อให้ชุมชนสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของคน โดยประชาชนในชุมชนมีสิทธิที่จะเข้าไปร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ

ดังนั้นหากมีโครงการหรือกิจกรรมใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติหรือสุขภาพ จะต้องดำเนินการให้ครบ 3 ประเด็นครบถ้วน จึงจะสามารถดำเนินการได้ คือ (1) ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน   (2) จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน และ (3) ได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการ

มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการประชุม ครั้งที่ 4/2553 (นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 นำไปสู่การประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2553

 ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 127 ตอนพิเศษ 104 ง หน้า 34  เมื่อ 31 สิงหาคม 2553 นั้น เป็นการประกาศเพื่อบังคับใช้ทั้งงประเทศนั้น เป็นประกาศที่เร่งรีบและไม่รอบคอบ ทำให้ต้องมีการแก้ไขประกาศตามมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม  2553 เพื่อแก้ไขรายละเอียดลำดับที่ 7 และ 9 1) และ 2) อย่างไรก็ตามการประกาศนี้ถือว่าเป็นรองจากรัฐธรรมนูญในมาตรา 67 วรรค 2 ดังนั้นชุมชนยังมีสิทธิที่จะร้องต่อศาลปกครองหรือร้องให้คณะกรรมการวินิจฉัยว่าโครงการที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของชุมชนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงได้

 การประกาศดังกล่าวเป็นการพิจารณารายโครงการโดยไม่มีการพิจารณาถึงผลกระทบในภาพรวมของพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่เขตควบคุมมลพิษในจังหวัดระยอง ซึ่งมีมลพิษเดิมจากจำนวนอุตสาหกรรมจำนวนมากและยังไม่สามารถลดมลพิษให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้ถึงแม้จะพบปัญหามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 จึงขาดมาตรการปกป้องคุ้มครองด้านการอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นปกติ ดังนั้นในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาด้านมลพิษจากโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ อยู่แล้ว จำเป็นต้องพิจารณาความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศ (carrying capacity) ด้วย ดังนั้นโครงการหรือกิจกรรมใด ๆ ที่จะมาตั้งอยู่ในพื้นที่ข้างต้นจึงควรเข้าข่ายอาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงด้วย

จากการศึกษารายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพซึ่งมีข้อกำหนดให้เปิดเผยรายชื่อสารเคมีและผลกระทบต่อสุขภาพของสารเคมีที่โครงการใช้หรือปลดปล่อยไว้ชัดเจน พบว่าเอกสารที่เจ้าของโครงการเผยแพร่ต่อประชาชนในการจัดเวทีรับฟังตามมาตรา 67 วรรค 2 ในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งดำเนินการในระหว่างที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนั้น

ผลการวิเคราะห์เอกสารของโครงการฯ รวม 35 โครงการ ระบุว่าเกี่ยวข้องกับสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 จำนวน 14 โครงการ  สารก่อมะเร็งกลุ่ม 2A จำนวน 2 โครงการ และสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2B จำนวน 5 โครงการ  นอกจากนี้ยังสกัดข้อมูลจากรายงานที่ระบุว่าสารเคมีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ 34 โครงการ ส่งผลต่อระบบประสาท จำนวน 24 โครงการ ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ จำนวน 10 โครงการ  ส่งผลต่อทารกในครรภ์ จำนวน 4 โครงการ  ส่งผลต่อระบบเลือด จำนวน 18 โครงการ  ส่งผลต่อตับและไต อวัยวะละ 25 โครงการ และโครงการที่ส่งผลต่อผิวหนังและดวงตาอวัยวะละ 33 โครงการ

 จากข้อมูลของเจ้าของโครงการแสดงให้เห็นว่าโครงการอุตสาหกรรมเหล่านี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชนได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของชุมชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โครงการทั้ง 35 โครงการนี้ควรต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

       ปัญหามาบตาพุดเกิดจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมโดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่น ดังนั้นการที่ชาวนครศรีธรรมราชได้ศึกษาข้อมูลแนวโน้มของการลงทุนในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัด และเผยแพร่เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ชุมชน แสดงให้เห็นถึงพลังที่จะดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

การที่ชุมชนจะขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ได้สมเหตุสมผลนั้น ชุมชนควรรวบรวมข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ  วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ ศิลปวัฒนธรรม โบราณสถานและสถานที่สำคัญต่อขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน ฯลฯ เพื่อชี้ให้เห็นว่าหากมีอุตสาหกรรมมาสร้างในพื้นที่ของชุมชน จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างไร ประชาชนสามารถศึกษาผลกระทบของโครงการได้เอง จัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้เอง เพราะชุมชนรู้จักบริบทของชุมชนได้ดีกว่าบริษัทที่ปรึกษา

หมายเลขบันทึก: 407983เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2010 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากให้โครงการสร้างเร็วๆ ตอนนี้ทำงานต่างจังหวัด ที่นครไม่มีงาน คนคอนไม่รวย ส่วนใหญ่ยากจน ช่วยมาพัฒนาที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท