ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

โลมาสีชมพู ขโมยซีน เรือกรีนพีซ รวมฝูงกระโดดแสดงพลัง ที่ชายฝั่งสิชล


วันนี้หากถูกถามถึงโลมาสีชมพู ที่นครศรีธรรมราช หลายคนบอกว่าต้องไปที่ อ.ขนอม แต่หากถามชาวประมง อ.ท่าศาลา อ.สิชล ย่อมต้องถูกโต้อย่างแน่นอน เพราะยืนยันหนักแน่นว่า ที่หน้าบ้านก็เห็นโลมาทุกวัน และยิ่งชัด เมื่อบ่ายแก่ๆ หาดคอเขาสิชล โลมาสีชมพูหลายฝูง โผล่ขึ้นมาหน้าเรือกรีนพีซที่กำลังลอยลำ จนจนขโมยซีนไปได้แทบทั้งหมด เพราะช่างภาพ นักข่าวต่างวิ่งลงเรือ หางยาว เพื่อเก็บภาพความประทับใจ การปรากฏตัวขึ้นมานานนับชั่วโมง ให้ทีมนักข่าวบันทึกภาพอย่างปะทับใจ ในวันที่รณรงค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมพอดิบพอดี
เรื่อง : สานศรัทธา ภาพ : สายธารธรรม
ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน ฉบับที่ ๙

        วันนี้หากถูกถามถึงโลมาสีชมพู ที่นครศรีธรรมราช หลายคนบอกว่าต้องไปที่ อ.ขนอม แต่หากถามชาวประมง อ.ท่าศาลา อ.สิชล ย่อมต้องถูกโต้อย่างแน่นอน เพราะยืนยันหนักแน่นว่า ที่หน้าบ้านก็เห็นโลมาทุกวัน และยิ่งชัด เมื่อบ่ายแก่ๆ หาดคอเขาสิชล โลมาสีชมพูหลายฝูง โผล่ขึ้นมาหน้าเรือกรีนพีซที่กำลังลอยลำ จนจนขโมยซีนไปได้แทบทั้งหมด  เพราะช่างภาพ นักข่าวต่างวิ่งลงเรือ หางยาว เพื่อเก็บภาพความประทับใจ  การปรากฏตัวขึ้นมานานนับชั่วโมง ให้ทีมนักข่าวบันทึกภาพอย่างปะทับใจ  ในวันที่รณรงค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมพอดิบพอดี

        ชาวประมงคนหนึ่ง ตะโกนเสียงดังและชี้มือให้ทุกคนดู “มาแล้ว มาแล้ว พระเอกของเรา นึกว่าจะไม่มาเสียแล้ว” พร้อมยิ้มน้อยยิ้มใหญ่อย่างสบายใจ ที่นักรบด้านสิ่งแวดล้อมปรากฏขึ้นมาคู่กับนักรบสายรุ้ง เรือเรนโบร์วอริเออร์

        ชาวประมงอีกคนหนึ่งโม้ขึ้นมาอย่างทันทีเหมือนกัน เมื่อประชาชนที่มาจากภายนอกให้ความสนใจ “ปลาโลมาพวกนี้มันรู้  มันชอบเล่นกับคน  มีกิจกรรมที่ไหนมันโผล่มาทุกทีแหละ”  แกพูดเหมือนกับว่า สามารถสื่อสารกับโลมาได้อย่างไรอย่างนั้น “เห็นไหมมีการจัดกิจกรรมสิ่งแวดล้อมครั้งใด มันขึ้นมาทุกที  โน่นๆ มันกระโดดให้ดูด้วย” พร้อมชี้และอธิบายให้เราเห็นคล้อยตามไปกับแก ส่วนชาวประมงอีกคนโต้ขึ้นมาว่า “ไม่ใช่เพราะจัดกิจกรรมอะไรหรอก มันก็ขึ้นมา พบเห็นได้ทุกวัน มันก็อยู่แถวๆนี้แหละ  ชาวบ้านแถวนี้ไม่ได้ตื่นเต้นแต่อย่างใด  แต่คนนอกที่ไม่ค่อยได้เห็น จะตื่นเต้นและประทับใจ ใครที่มาแล้วเห็นโลมา มักจะถูกบอกว่า โชคดีมากที่ได้เห็นโลมา เพราะเขามาแค่ช่วงหนึ่ง เลยไม่ได้เห็น แต่ถ้านั่งช่วงบ่ายให้ตลอดช่วงใดช่วงหนึ่งเห็นแน่นอน”  ชาวประมงอาวุโสอธิบายยาวเหยียดให้พวกเราฟัง 

        อย่างไรก็ตามโลมา หรือโลมาสีชมพู ก็ไม่ใช่ว่าจะพบได้ในทะเลทั่วไป  การที่จะตื่นเต้นบ้างก็ไม่ใช่เรื่องแปลก  แต่หากเป็นตามที่บังเขาว่าจริงๆ  แล้วทำไมเราต้องจ้างเหมาเรือเพื่อไปชมโลมาละ สู้นั่งรอริมฝั่งไม่ดีกว่าหรือ “มันไม่เหมือนกันลูกบ่าว การเรานั่งเรือไปได้ชมใกล้ๆ ยิ่งถ้าเป็นเรือหางยาว มันว่ายชิดลำเรือเลยแหละ”  ผมก็เลยถึงบางอ้อ เพราะบังได้ค่าเช่าเรือ และสิ่งที่ผมคาใจมานานก็ได้คำตอบ คือว่า ชาวประมงในแถบอำเภอขนอม สิชล รู้พฤติกรรมของโลมา และรู้ว่าช่วงนี้สามรถพบมันได้ที่ไหน หากจ้างเหมาเรือหางยาว มักจะไม่ผิดหวังที่ได้สัมผัสโลมา

        หลายคนสงสัยว่า ทำไมโลมาที่นี้ จึงมีสีชมพู  บางตัวก็ลาย บางตัวก็ขาว บางตัวก็สีดำ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นละ เราจึงลองค้นข้อมูล จาก BRT ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ศึกษาวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพพบว่า

โลมาไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เหมือนกับคน ลิง หมา แมว หมี หรือหนู แต่โลมามีวิวัฒนาการให้อาศัยอยู่ในน้ำ เหมือนกับ “วาฬ  โลมาสีชมพูมีชื่อสามัญอีกชื่อหนึ่งว่า โลมาหลังโหนก และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sousa chinensis  มีขนาดประมาณ  2.2-2.8 เมตร ตัวเมียจะเล็กกว่าตัวผู้เล็กน้อย หนักประมาณ 150-230 กิโลกรัม ตัวอ่อนมีขนาดตัวประมาณ 1 เมตร  อายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปี มีสีหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับอายุ หรือ ฝูง  ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสีเทาขาว  สีดำ และ สีชมพู   ตัวอ่อนจะมีสีเข้มกว่าตัวเต็มวัย ยิ่งแก่เท่าไหร่สีผิวจะยิ่งเป็นสีชมพูมากขึ้น บริเวณผิวด้านล่างจะเป็นจุดๆ และมีสีที่สว่างกว่าด้านบน   เมื่อแรกเกิด จะมีสีดำ วัยเด็ก จะมีสีเทาวัยรุ่น เริ่มจะมีจุดสีเทาปนชมพูเกิดขึ้น วัยผู้ใหญ่ จะเป็นสีขาวออกชมพู และจุดสีเทาจะหายไป  โลมาสีชมพูยิ่งมีอายุมากจะมีสีสว่างขึ้น จนถึงเป็นสีชมพู สีชมพูนี้ไม่ได้มาจากเซลเม็ดสี แต่มาจากสีของหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไป โลมาสายพันธุ์นี้ชอบอาศัยประจำที่หรือมีการย้ายที่อพยพน้อยมากและอาศัยไม่ห่างจากชายฝั่งเกินระยะ 1 กิโลเมตร ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นได้โดยง่าย

จากข้อมูลทางวิชาการทำให้เรารู้จักโลมาบ้านเรา ได้ดียิ่งขึ้น  แต่หากไปอ่านอีไอเอหรืองานศึกษาวิชาการ ของโครงการต่างๆ ที่กำลังจะก่อสร้างในพื้นที่ มักจะพบว่าโลมาฝูงนี้เป็นโลมาอพยพ หรือบางทีไม่เห็นในรายงานด้วยซ้ำไป  ซึ่งขัดกับหลักความเป็นจริง อย่างมาก

 หากไปทะเลตรัง เขาจะคุยเรื่อง ปลาพะยูน  หากไปประจวบเขาคุยเรื่องเต่าทะเลและวาฬบรูด้า  กระบี่จะโม้ปลาการ์ตูนและหอยชักตีน จนกลายเป็นสัญลักษณ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว  แต่ที่นครบ้านเรา มีของดี กลับกลายเป็นสัญลักษณ์แค่เพียง สามแยกคลองเหลง ทางเข้าอำเภอขนอม  ไม่มีการโปรโมทดังๆ   “เที่ยวทะเลเมืองคอน ชมโลมาสีชมพูที่นี่แห่งเดียว”  ไม่รู้ทำไม หรือกลัวว่าหากมีโลมาสีชมพู  จะกลายเป็นอุปสรรคของการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักหรือเปล่าก็ไม่รู้

วันนี้ ในวันที่มีคนหลายร้อยคน ทั้งนักข่าว ช่างภาพ นักท่องเที่ยว ที่มาร่วมรณรงค์สิ่งแวดล้อมร่วมกับกรีนพีซ โลมาก็ขึ้นมาประท้วงด้วย  มันคงรู้ว่า รณรงค์กับกรีนพีซ จะช่วยแสดงพลังของมันได้เต็มที่  ทีมงานกรีนพีซเองก็คงรับรู้และประจักษ์ในเรื่องนี้เหมือนกัน  เพราะได้จัดทำธงว่าว รูปโลมาสีชมพูอย่างสวยเก๋ เพื่อให้ผู้มาร่วมกิจกรรมลงชื่อ และนำไปปักที่อ่าวท้องชิง เพื่อประท้วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

แม้ว่าวันนี้โลมาจะถูกให้ความสำคัญน้อยมาก เหมือนกับว่าหากในอนาคตข้างหน้าไม่มีโลมาในชายฝั่งทะเล นครศรีธรรมราช ก็ไม่มีความหมายอะไร  หวังว่าในอนาคตทรัพยากรน้อยลง ชาวประมงจะยังสามารถมีอาชีพเสริมด้วยการพานักท่องเที่ยวชมโลมาก็ยังดี หรือลูกหลานที่จะเกิดมาจะไม่เห็นเพียงรูปปั้น ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกันสร้างศรัทธาต่อสิ่งแวดล้อม ให้โลมายังเป็นพระเอกแห่งชายฝั่งแห่งนี้ อย่าให้ใครมาทำลาย  เชื่อว่า เรารักโลมาสีชมพูมากกว่าโรงไฟฟ้า ท่าเรือ หรืออุตสาหกรรม ไม่ใช่หรือ

แต่สำหรับผมแล้ว โลมายังคงเป็นพระเอกเสมอ

อย่างน้อยก็ในใจผม                                                                          

หมายเลขบันทึก: 407767เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2010 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท