ร่วมกิจกรรมกฐินสามัคคี


ร่วมกิจกรรมทอดกฐินสามัคี

การทอดกฐิน


               กฐิน แปลว่า กรอบไม้หรือสะดึงสำหรับขึงผ้าเย็บจีวรของภิกษุ การทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำ 5 รูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ทั้งหมดเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น การทอดกฐิน นิยมทำกันตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 ในวัดหนึ่ง ๆ จะทอดกฐินได้เพียง 1 ครั้ง ใน 1 ปี และพุทธศาสนิกชนนิยมทอดกฐินเพราะถือว่าจะได้รับอานิสงส์มากกว่าทานพวกอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ทุกเวลาประเพณีทอดกฐินมีมาตั้งแต่พุทธกาล มีเรื่องเล่าว่า ในครั้งพุทธกาลภิกษุชาวปาไถยรัฐ
(ปาวา) ผู้ถือธุดงค์จำนวน 30 รูป เดินทางไกลไปไม่ทันวันเข้าพรรษาโดยเหลือทางอีก 6 โยชน์จะถึงพระนครสาวัตถี จึงตกลงพักจำพรรษาที่เมืองสาเกตตลอดไตรมาส (สามเดือน)ครั้นออกพรรษาแล้วจึงพากันเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร และในระยะทางที่เดินทางไปนั้น ฝนกำลังตกซุกอยู่ ภิกษุเหล่านี้มีจีวรเก่า เปื้อนโคลนและเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน ได้รับความลำบากตรากตรำมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงถือเป็นมูลเหตุ ทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุที่จำพรรษาครบ 3 เดือนกรานกฐินได้อานิสงส์กฐิน ภิกษุผู้ได้รับกรานกฐินย่อมได้รับอานิสงส์ 5 ประการ คือ

(1) เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
(2) ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบ
(3) ฉันคณะโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้
(4) ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
(5) จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจะได้แก่พวกเธอ และได้ขยายเขตอานิสงส์ 5 อีก 4 เดือนนับแต่กรานกฐินแล้ว

ชนิดของกฐิน กฐินแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามระยะเวลาในการจัดเตรียม คือ

1. จุลกฐิน คือ กฐินเร่งด่วน อาศัยความเคร่งครัดรีบด่วน การทำจีวรพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทจะละเลยมิได้ ถือเป็นสำคัญทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้เสร็จภายในกำหนดวันหนึ่ง ทำฝ้ายปั่น กรอ ทอ ตัดเย็บ ย้อม ทำให้เป็นขันธ์ได้ขนาดตามพระวินัยแล้วทอดถวายให้เสร็จในวันนั้น

2. มหากฐิน คือ กฐินที่มีการเตรียมตัวมากเป็นเวลานาน พร้อมทั้งมีการตระเตรียมอื่น ๆ อีกมาก อาศัยปัจจัยไทยธรรมบริวารเครื่องกฐินจำนวนมากไม่รีบด่วนเพื่อจะให้ส่วนหนึ่งเป็นทุนบำรุงวัดเพื่อพัฒนาความเจริญของวัด มีการซ่อมแซมบูรณะของเก่าบ้าง ดังเช่นกฐินสามัคคีในปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ ในประเทศไทย นิยมเรียกชื่อกฐินตามประเภทวัดที่จะไปทอด คือ

    1. กฐินหลวง หมายถึง กฐินที่พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่โปรดเกล้า ฯ นำไปทอดถวายที่พระอารามหลวง
    2. กฐินพระราชทาน หมายถึง กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้หน่วยราชการ เอกชน องค์กร หรือบุคคลต่าง ๆ
นำไปทอดที่พระอารามหลวง โดยผู้ที่มีความประสงค์จะทอดกฐินที่พระอารามหลวง จะต้องติดต่อที่สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ
    3. กฐินสามัคคี หมายถึง กฐินที่หน่วยงาน องค์กร กลุ่มบุคคลหรือบุคคลต่าง ๆ นำไปทอดถวายที่วัดราษฏร์การเตรียมการ
    1. จองกฐิน หมายถึง การแจ้งความประสงค์ทีจะนำผ้ากฐินไปทอดยังวัดที่ต้องการ สำหรับพระอารามหลวงให้แจ้งที่สำนักงาน
พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
     2. บอกบุญแก่ญาติพี่น้องเพื่อร่วมทำพิธีในวันเวลาตามที่กำหนด
     3. ตระเตรียมเครื่องกฐินและบริวาร ได้แก่ ผ้าไตรจีวร 3 ไตร สำหรับถวายพระผู้ครองกฐินและคู่สวด แต่ผ้าที่จะเป็นผ้ากฐินจริง ๆ จะใช้เพียง 1 ผืนเท่านั้น ส่วนบริวารกฐิน ได้แก่ จตุปัจจัย ไทยทาน เครื่องใช้ของพระภิกษุ เครื่องนวกรรม เช่น จอบ มีด ขวาน เป็นต้น

การถวายกฐิน

       กฐินพระราชทาน ในการถวายกฐินนั้นนิยมถวายในโบสถ์ โดยเฉพาะกฐินพระราชทานจะถวายกันในโบสถ์ และก่อนจะถึงกำหนดเวลา จะนำเครื่องบริวารกฐินไปจัดตั้งไว้ในโบสถ์ก่อน ส่วนผ้าพระกฐินจะยังไม่เข้าไปพอถึงกำหนดเวลาพระสงฆ์แห่งวัดนั้นจะรับกฐิน จะลงโบสถ์พร้อมกันนั่งเป็นระเบียบบนอาสนะที่ซึ่งจัดไว้ เจ้าภาพเจ้าของกฐิน หรือผู้รับพระราชทานผ้าพระกฐินไปทอดพร้อมด้วยผู้ร่วมในงานจะพากันไปยังโบสถ์ เมื่อถึงหน้าโบสถ์เจ้าหน้าที่จะนำผ้ากฐินไปรอส่งให้ประธานผู้ทอดกฐินซึ่งเจ้าภาพหรือผู้รับพระราชทานผ้าพระกฐินนั้นประธานรับผ้าพระกฐินวางบนมือถือประคองนำคณะเดินเข้าสู่โบสถ์แล้วนำผ้าพระกฐินไปวางไว้บนพานทีจัดไว้หน้าพระสงฆ์และหน้าพระประธานในโบสถ์ คณะที่ตามมาเข้านั่งที่ ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วทราบพระพุทธรูปประธานในโบสถ์ แบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้งแล้วลุกมายกผ้าพระกฐินในพานขึ้น ดึงผ้าห่มพระประธานมอบเจ้าหน้าที่รับไปห่มพระประธานทีหลัง แล้วประนมมือวางผ้าพระกฐินบนมือทั้งสองหันหน้าตรงพระสงฆ์แล้วกล่าวคำถวายผ้าพระกฐินจบแล้ว พระสงฆ์รับสาธุการ ประธานวางผ้าพระกฐินลงบนพานเช่นเดิม แล้วกลับเข้านั่งที่ ถัดจากนี้ไปเป็นพิธีกรานกฐินของพระสงฆ์

       กฐินสามัคคี กฐินของประชาชนหรือกฐินสามัคคี ในวัดบางวัดนิยมถวายกันที่ศาลาการเปรียญหรือวิหารสำหรับทำบุญ เจ้าหน้าที่จึงนำผ้ากฐินที่ถวายแล้วไปถวายพระสงฆ์พิธีกรานกฐินในโบสถ์เฉพาะพระสงฆ์อีกทีหนึ่ง
การทำพิธีกฐินัตถารกิจของพระสงฆ์ เริ่มจากการกล่าวคำขอความคิดเห็นที่เรียกกันว่า อปโลกน์และการสวดญัตติทุติยกรรม คือ การยินยอมยกให้ ต่อจากนั้นพระสงฆ์รูปที่ได้รับความยินยอมนำผ้าไตรไปครองเสร็จแล้วขึ้นนั่งยังอาสนะที่เดิม ประชาชนผู้ถวายผ้ากฐินทายกทายิกาและผู้ร่วมบำเพ็ญกุศล ณ ที่นั้นเข้าประเคนสิ่งของอันเป็นบริวารขององค์กฐินตามลำดับจนเสร็จแล้ว พระสงฆ์ทั้งหมดจับพัด ประธานสงฆ์เริ่มสวดนำด้วยคาถาอนุโมทนา ประธานหรือเจ้าภาพผู้ถวายกฐินกรวดน้ำ จนจบบทยถาแล้ว คฤหัสถ์ทั้งหมดนั่งประนมมือรับพรพระจนจบเป็นเสร็จพิธี

ที่มาข้อมูล http://mediacenter.mcu.ac.th/data/caipyo/m2/Unit6/unit6-8.php

วันที่ ๗ พฤศจิกายน  ๒๕๕๓  กศน.อำเภออุทัย

ขอเชิญร่วมอนุโมทนาบุญ ทอดกฐินสามัคคี ณ  ศาลาการเปรียญวัดขุนทิพย์

ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

  • เวลา ๑๐.๐๐  น.  ตั้งองค์กฐิน ณ ศาลาการเปรียญวัดขุนทิพย์
  • เวลา ๑๑.๐๐  น.  ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์-สามเณร
  • เวลา ๑๒.๐๐  น.  ทำพิธีถวายผ้ากฐิน พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี

 

หมายเลขบันทึก: 407304เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2010 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท