ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

เปิดเล่ห์เหลี่ยม ''รัฐ-ทุน-เทคโนแครต'' สูตรสำเร็จผ่าน EIA เมกกะโปรเจกต์


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) โดยมุ่งเน้นในด้านผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพ โครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย (ชอร์เบส) ที่หอประชุมอเนกประสงค์ อบต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

เปิดเล่ห์เหลี่ยม ''รัฐ-ทุน-เทคโนแครต'' สูตรสำเร็จผ่าน EIA เมกกะโปรเจกต์

หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ วันที่ ๑๖ สค. ๕๓
ตีพิมพ์ซ้ำใน ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน ฉบับที่ ๘


        ปรากฏการณ์ที่ประชาชนลุกฮือขึ้นต้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง EIA "โครงการชอร์เบส" ของ "เชฟรอน" คืออีกหนึ่งภาพสะท้อน "ความพิกลพิการ" ของกลไกควบคุมการพัฒนาที่สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นต่อชุมชนและประชาชน
        ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) โดยมุ่งเน้นในด้านผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพ โครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย (ชอร์เบส) ที่หอประชุมอเนกประสงค์ อบต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
        ตลอดเวลาที่เวทีในห้องประชุมถูกจัดฉากให้ดำเนินไป เริ่มจากตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาและนักวิชาการที่บริษัทเชฟรอนจ้างให้จัดทำร่าง EIA ได้ชี้แจงถึงผลการศึกษา อาทิ การกัดเซาะชายฝั่ง การทับถมของตะกอน รวมถึงผลกระทบทางสังคม สุขภาพและความปลอดภัยในด้านต่างๆ ก่อนที่จะจบลงด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและซักถามถึงข้อสงสัยนั้น
        พื้นที่บริเวณภายนอกห้องประชุมก็มีการตั้งเวทีคัดค้านการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ โดยมีกลุ่มมวลชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชและเครือข่ายต่างๆ ในภาคใต้ที่ได้รวมตัวกัน ประกอบด้วย กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง, กลุ่มอนุรักษ์คลองท่าทน, กลุ่มศึกษาผลกระทบนโยบายสาธารณะ พร้อมทั้งนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น
        โดยกลุ่มประชาชนที่คัดค้านแสดงออกด้วยการถือป้ายเขียนข้อความไม่เห็นด้วยกับโครงการในประเด็นต่างๆ พร้อมทั้งแจกจ่ายจดหมายเปิดผนึกต่อต้านการก่อสร้างท่าเรือของบริษัทเชฟรอน โดยเสนอให้มีการยุติเวทีที่กำลังดำเนินอยู่ รวมถึงเรียกร้องให้เปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและเป็นกลางอย่างแท้จริงขึ้นมาใหม่ในภายหลัง
        การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการชอร์เบสของบริษัทเชฟรอน ซึ่งได้ถูกกลุ่มประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านนั้น สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับโครงการลงทุนที่จะสร้างผลกระทบตามตามต่อสังคม แต่กลับมีสิ่งที่ดูแล้วไม่น่าจะปกติเกิดขึ้นรวมอยู่ด้วย กล่าวคือ การจัดเวทีครั้งนี้มีการใช้บริการตำรวจเข้าควบคุมและตรวจตราคนที่เข้าไปในบริเวณหอประชุมอย่างเข้มงวด
        ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทเชฟรอนยังได้แจกเงินในอัตราหัวละ 500 บาท ให้กับผู้ที่ถูกเชิญให้เข้าร่วมประชุมราวๆ พันคนด้วย โดยการใส่ไว้ในซองที่มีการเขียนข้อความระบุในทำนองว่า ไม่มีผลผูกพันใดๆ ในการแสดงความคิดเห็น สามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยอิสระ ซึ่งบริษัทเชฟรอนอ้างเอาเองว่า เป็นเงินชดเชยค่าเสียเวลาการประกอบอาชีพ ทั้งยังมีข้อที่น่าสังเกตอีกคือ มีการจัดเก้าอี้นั่งแบบระบุชื่อคนที่เข้าร่วมไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
        ในเบื้องต้นสิ่งที่เครือข่ายคัดค้านมีแผนจะดำเนินการฟ้องร้อง ได้แก่ ในส่วนของโครงการชอร์เบสของบริษัทเชฟรอนจะฟ้องในประเด็นที่รัฐปล่อยให้กระบวนการผ่าน EIA เป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม ด้านกลุ่มทุนที่ขุดเจาะปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยไม่ว่าจะเป็นบริษัทเชฟรอน บริษัทนิวคอสตอล และบริษัทเพิร์ลออย เป็นต้น ในส่วนนี้จะฟ้องในประเด็นรัฐให้สัมปทานเป็นไปแบบไม่เป็นธรรมเช่นกัน
        จากปรากฏการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า การใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้เงิน ใช้นักวิชาการทั้งในส่วนของบริษัทที่ปรึกษาและจากสถาบันการศึกษา เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือให้ร่าง EIA โครงการชอร์เบสของบริษัทเชฟรอนผ่านพิจารณาได้นั้น ถือว่าได้ใช้กลไกต่างๆ อย่างครบองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนและประชาชน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินการ อีกทั้งเป็นสูตรสำเร็จที่ใช้กันอยู่ดาษดื่น ไม่ว่าจะเป็นโครงการของภาครัฐหรือภาคเอกชน
        กลไกที่ว่านี้ก็คือ การใช้ทั้ง "อำนาจรัฐ" ผสมผสานกับ "อำนาจทุน" แล้วมีบรรดาเหล่า "เทคโนแครต" เป็นตัวดำเนินการขับเคลื่อนหลัก
        ปรากฏการณ์ในลักษณะนี้เคยสร้างความฮือฮาแบบยากที่สังคมไทยจะลืมเลือนได้ในช่วงประมาณ 10 ปีมานี้ก็คือ เหตุการณ์ทำประชาพิจารณ์โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ต้องจัดขึ้นถึงสองครั้งสองครากว่าจะบรรลุผล ทั้งที่สนามกีฬาจิระนคร และที่ห้องประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งในเวลานั้นทั้งภาพและข่าวการสูญเสียเลือดเนื้อของพี่น้องประชาชนชาวไทยด้วยกันเองถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ซึ่งยังเป็นปมบาดลึกอยู่ในใจคนสงขลาและคนใต้จำนวนมากมาจนถึงวันนี้
        ขณะที่ในห้วงเวลาปัจจุบันความพยายามผลักดันอภิมหาโปรเจกต์อย่าง "โครงการซาเทิร์นซีบอร์ด" ให้เกิดขึ้นในภาคใต้ให้ได้ ด้วยการเดินหน้าใช้ "แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล" เป็นหัวหอกทะลุทะลวง ที่ผ่านมามีการเปิดเวทีทั้งในลักษณะการทำประชาพิจารณ์ และเวทีการส่วนร่วมของประชาชนไปแล้วหลายระลอก โดยมีเป้าประสงค์อยู่ที่ให้ EIA การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เส้นทางรถไฟและถนนที่เชื่อมต่อระหว่างกันผ่านการพิจารณาไปได้นั้น อำนาจรัฐ อำนาจทุนและเทคโนแครตก็ยังถูกใช้อย่างเข้มข้นไม่ต่างกัน
        นอกจากนี้ยังมีเล่ห์เหลี่ยมอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อให้เวทีที่เกี่ยวข้องกับการพิจาณา EIA ผ่านไปได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการให้บรรดาเทคโนแครตใช้เวลาชี้แจงจนแทบจะไม่เหลือเวลาให้กับภาคประชาชนซักค้าน การระดมเฉพาะคนที่สนับสนุนเท่านั้นให้เข้าร่วมเวที ขณะที่พยายามกันฝ่ายที่คัดค้านออกไป บางครั้งถึงขั้นขนคนที่ไม่เกี่ยวข้องมาจากต่างถิ่นก็มี รวมถึงการแอบอ้างรายชื่อผู้สนับสนุนโครงการแบบไม่โปร่งใส เป็นต้น
        เหล่านี้คือเล่ห์เหลี่ยมอันเป็นความร่วมมืออย่างลงตัวระหว่าง ภาครัฐ กลุ่มทุนและเทคโนแครต เพื่อให้ "รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม" ของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนและประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโครงการของภาครัฐหรือภาคเอกชนผ่านพิจารณาได้ในที่สุดนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 407145เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2010 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 02:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท