ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

ปฏิรูปประเทศไทยแบบฅนคอน เปลี่ยนวิธีคิด ตั้งคำถาม เข้าถึงโครงสร้างความเป็นธรรมธรรมทางสังคม


บรรยากาศในเวทีมีการรวมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างหลากหลาย และมีข้อเสนอว่าการปฏิรูปประเทศไทยต้องเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน เช่น การปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้รู้จักตั้งคำถามกับโครงสร้างความเป็นธรรมธรรมทางสังคม รวมทั้งต้องตั้งคำถามกับการใช้อำนาจหรือกระบวนการพัฒนาของรัฐ “อย่าคิดตามรัฐ” ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลด ละ เลิก อบายมุข รู้จักวางแผนเศรษฐกิจ ครัวเรือน วางแผนชีวิต

ปฏิรูปประเทศไทยแบบฅนคอน

เปลี่ยนวิธีคิด  ตั้งคำถาม  เข้าถึงโครงสร้างความเป็นธรรมธรรมทางสังคม

โดย ว่าที่เรือตรี เฉลิมพล บุญฉายา ร.น.

ตีพิมพ์ใน ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน ฉบับที่ ๘

   

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา คณะทำงานปฏิรูปประเทศไทยได้จัดเวทีปฏิรูปประเทศไทยแบบฅนคอนขึ้น ณ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน มาจากกลุ่มองค์กรที่ขับเคลื่อนงานในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ โครงการการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจสร้างนิคมอุตสาหกรรมกลาย วุฒิอาสาธนาคารสมอง กลุ่มยุวทัศน์   ครูการศึกษานอกโรงเรียน เครือข่ายกลุ่มสัจจะวันละบาท เครือข่ายธนาคารต้นไม้ มหาวิทยาลัยชีวิต คณะทำงานภาองค์กรชุมชน คณะทำงานศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช คณะทำงานโครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาสังคมและสุขภาวะ จังหวัดนครศรีธรรมราช

บรรยากาศในเวทีมีการรวมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างหลากหลาย และมีข้อเสนอว่าการปฏิรูปประเทศไทยต้องเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน เช่น  การปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้รู้จักตั้งคำถามกับโครงสร้างความเป็นธรรมธรรมทางสังคม รวมทั้งต้องตั้งคำถามกับการใช้อำนาจหรือกระบวนการพัฒนาของรัฐ “อย่าคิดตามรัฐ”  ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลด ละ เลิก อบายมุข รู้จักวางแผนเศรษฐกิจ ครัวเรือน วางแผนชีวิต

เมื่อตนเองเปลี่ยนแปลง ครัวเรือนเปลี่ยนแปลง ถือว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงปัจเจกก็ย่อมจะส่งผลต่อชุมชน แต่อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการจัดกระบวนการบางอย่างที่จะทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลอย่างมีพลัง ได้แก่ การสร้างคน สร้างแกนนำแห่งความเปลี่ยนแปลง โดยใช้วิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง การใช้ ประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และฐานทรัพยากร เป็นเครื่องมือร้อยรัด และมีกระบวนการถ่ายถอดให้คนรุ่นต่อไป “ผลิตซ้ำความเป็นชุมชน” การสร้างกลุ่มกิจกรรมบนฐานทุนของชุมชน โดยมีปฏิบัติการ ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และตอบสนองความต้องการของชุมชน การสร้างกระบวนการให้กลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนได้เชื่อมร้อยและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ภายใต้วิธีคิดที่ต้องเข้าใจความหลากหลายของกลุ่มด้วยการ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ชุมชนต้องมีความเท่าทันความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และการบริโภคสื่ออย่างมีวิจารณญาณพร้อมทั้งเลือกใช้เทคโนโลยีและกระบวนการสื่อสารที่เหมาะสม  มีกระบวนการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากข้างนอกมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และจัดกิจกรรมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การเติมเต็มความรู้ อย่างต่อเนื่องในลักษณะของวงเรียนรู้ “เครือข่ายความคิด”

นอกจากนั้นยังเสนอให้มีการปฏิรูปเรื่องการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้เพราะการศึกษา ที่ผ่านมาเราเรียนด้วยระบบท่อง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างรัฐชาติ ยุคต่อมาเป็นผลิตคนป้อนเข้าสู่ระบบราชการ และยุคปัจจุบันเป็นการผลิตคนเพื่อต่อสนองต่อกลุ่มทุน โดยที่การศึกษามิได้นำไปสู่ในการพัฒนาคน พัฒนาชุมชน พัฒนาชาติอย่างแท้จริง จึงมีข้อเสนอต่อการปฏิรูประบบการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ดังนี้   ต้องจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อตอบสอนองให้ผู้เรียนมีกระบวนการพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ และพัฒนาสังคม ต้องทำให้ผู้เรียนรู้จักคิดเรื่องใกล้ตัว เรื่องตัวเอง เรื่องชุมชนที่เน้นการฟื้นให้เห็นรากเง้าของความเป็นชุมชน และเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้เรื่องสังคมที่กว้างออกไป และต้องทำให้ผู้เรียนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข การศึกษาต้องให้การเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย สิทธิ หน้าที่ การเมือง ที่ถูกถูกต้อง ต้องสร้างการศึกษาที่ต่อเนื่อง และเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องสร้างให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ เช่น เวทีการเรียนรู้ในชุมชน ทำให้คนกล้าคิด วิเคราะห์เป็น กล้าวิพากษ์วิจารณ์ กล้าการคุย และเท่าทันสถานการณ์ทางสังคม มีคู่มือคนไทยที่สื่อสารให้เข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ยกเลิกการห้ามใช้ไม้เรียวในโรงเรียนเพื่อลงโทษนักเรียน

รวมทั้งต้องมีการปฏิรูปทิศทางและกระบวนการพัฒนา เพราะการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา ถูกกำหนดตรงมาจากส่วนกลาง และสนองความต้องการของกลุ่มทุน มากกว่าการสนองความต้องการของชุมชน ซ้ำยังก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีข้อเสนอต่อการปฏิรูปทิศทางและกระบวนการพัฒนาดังนี้คือ สร้างสังคมแห่งการพึ่งตนเอง ประชาชนในพื้นที่ต้องเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนา ต้องค้นหาภูมิปัญญาชุมชน และส่งเสริมให้มีการใช้ภูมิปัญญาเป็นจุดแข็งในการพัฒนา ใช้ธนาคารต้นไม้เป็นเครื่องมือปลดหนี้เกษตรกร การทำลายป่าและบุกรุกพื้นที่สาธารณประโยชน์ การพัฒนาประเทศต้องพิจารณาถึงทุนเดิมหรือทรัพยากรของพื้นที่ โดยคำนึงถึงภูมินิเวศ ภูมิวัฒนธรรม เป็นหลัก สร้างระบบสังคมสวัสดิการ ยกเลิกสัปทานการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันโดยบริษัทต่างชาติ ยกเลิกแผนพัฒนาภาคใต้

อย่างไรก็ตามยังมีการเสนอให้ปฏิรูปกฎหมาย เพราะกฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมและอำนวยความเป็นธรรมในสังคม ดังนั้นจึงมีข้อเสนอให้ปรับเปลี่ยน เพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมายบางฉบับ รวมทั้งเพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้น ดังนี้ ต้องบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ปรับระบบภาษี และระบบการใช้งบประมาณ โดยต้องจัดสรรภาษีที่พื้นที่เก็บได้ส่งกลับมายังพื้นที่อย่างเหมาะสม และเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนเข้าถึงการใช้งบประมาณในสัดส่วนที่เหมาะสม มีกติกาภาคประชาชน ใช้มาตรการทางกฎหมายสร้างดุลอำนาจใหม่ระหว่างชุมชนกับท้องถิ่น  ยกเลิกกฎหมายการชุมนุม

      นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้วเวทียังมีเข้าเสนอให้การปฏิรูประบบการเมืองและกลไกอำนาจรัฐ โดยเปลี่ยนรูปแบบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาเป็นสภาประชาชน ยกเลิกการบริหารราชการระดับท้องที่ เพราะเป็นเครื่องมือของรัฐส่วนกลางในการควบคุมคน  เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมองค์กร บุคลากรทุกฝ่ายให้ทำงานอย่างมีจิตสำนึก

      และประเด็นสุดท้ายคือการปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากร เพราะการจัดการทรัพยากรในปัจจุบัน มิได้มีการกระจายอย่างเป็นธรรม และจำกัดกรอบการเข้าถึงทรัพยากรแก่กลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม ทั้งยังคงมีแนวความคิดเรื่องระบบกรรมสิทธิ์ที่กีดกันระบบกรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชน จึงมีข้อเสนอต่อการจัดการทรัพยากรดังนี้คือ กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ให้กรรมสิทธิ์แก่เกษตรกรที่บุกรุกและใช้ประโยชน์ทำกินในที่ดินของรัฐทุกประเภท ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การทำเกษตรผสมผสาน และมีระบบการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากพิบัติภัยทางธรรมชาติอย่างทันท่วงที และมีกองทุนแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารจัดการ

สำหรับข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยเชิงกลไกการขับเคลื่อน ต้องปฏิรูปประเทศไทยอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ตลอดจน ต้องให้ประชาชน “พวกเรา” เข้าไปเป็นกลไกการปฏิรูปประเทศไทย และให้สภาองค์กรชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของกลไกคณะทำงานปฏิรูปประเทศไทย

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 407052เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2010 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท