ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

คำถามใหม่ : ทำไมโรงกลั่นไทยขายน้ำมันแพงกว่าสิงคโปร์?


คำตอบส่วนหนึ่งก็เพราะว่าประเทศสิงคโปร์สามารถกลั่นน้ำมันได้เท่าๆ กับประเทศไทยนี่แหละ แต่ประเทศสิงคโปร์บริโภคเพียงนิดเดียวเมื่อเทียบกับประเทศไทย จึงสามารถส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลด้านการจัดการที่มีประสิทธิภาพมาประกอบด้วย

คำถามใหม่ : ทำไมโรงกลั่นไทยขายน้ำมันแพงกว่าสิงคโปร์?

โดยประสาท มีแต้ม  ตีพิมพ์ใน ประชาไทออนไลน์
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน ฉบับที่ ๗

        เราเคยสงสัยและตั้งคำถามเสมอมาว่า ทำไมราคาน้ำมันสำเร็จรูป (รวมทั้งราคายางพารา) ในภูมิภาคเอเซียจึงถูกกำหนดจากประเทศสิงคโปร์

        คำตอบส่วนหนึ่งก็เพราะว่าประเทศสิงคโปร์สามารถกลั่นน้ำมันได้เท่าๆ กับประเทศไทยนี่แหละ แต่ประเทศสิงคโปร์บริโภคเพียงนิดเดียวเมื่อเทียบกับประเทศไทย จึงสามารถส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลด้านการจัดการที่มีประสิทธิภาพมาประกอบด้วย

        มาวันนี้ ผมว่าคำถามเดิมดูท่าจะเชยเสียแล้วครับสิ่งที่ผมพบในวันนี้ คนไทยควรจะเปลี่ยนคำถามเสียใหม่ว่า

ทำไมโรงกลั่นไทยจึงขายน้ำมันแพงกว่าสิงคโปร์?

        ผมค้นพบข้อมูลนี้จากวารสาร “นโยบายพลังงาน” ฉบับล่าสุด (มกราคม-มีนาคม 2552 ผมได้ตัดต่อมาลงให้ดูด้วยในที่นี้) ซึ่งเป็นวารสารที่จัดทำโดยกระทรวงพลังงานได้รายงานว่า  

        เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 ราคาน้ำมันสำเร็จรูปชนิดดีเซลหมุนเร็วราคา 46.36 เหรียญต่อบาร์เรล เมื่อเปลี่ยนเป็นหน่วยที่คนไทยคุ้นเคยจะเท่ากับ 10.52 บาทต่อลิตร (อัตราแลกเปลี่ยน 36.0652 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ 1 บาร์เรลเท่ากับ 159  ลิตร)

        แต่ราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยที่รายงานโดยกระทรวงพลังงานเท่ากับ 12.0424 บาทต่อลิตร ซึ่งแพงกว่าที่สิงคโปร์ถึงลิตรละ 1.52 บาท  

แพงกว่าถึงร้อยละ 14.4

นี่เป็นราคาหน้าโรงกลั่นนะ ไม่ใช่ราคาหน้าปั๊มน้ำมัน

        เอกสารชิ้นเดียวกันนี้ ได้รายงานว่า ราคาน้ำมันดิบ (ของ 3 ตลาดใหญ่ของโลกคือ ดูไบ เบรนท์  และเวสต์ เทกซัส) อยู่ระหว่าง 40.91 ถึง 43.32 เหรียญต่อบาร์เรล เมื่อเฉลี่ยออกมาจะได้ 42.27 เหรียญต่อบาร์เรล

ถ้าเราคิดคร่าว ๆ ว่าหลังจากกลั่นแล้วได้น้ำมันออกมา 3 ชนิด (คือเบนซิน 95, เบนซิน 92 และดีเซลหมุนเร็ว) ราคาเฉลี่ย 49.07 เหรียญต่อบาร์เรล 

        ทำให้เราคิดได้ว่า “ค่าการกลั่น” ของสิงคโปร์อยู่ที่ประมาณ 6.8 เหรียญต่อบาร์เรล 

        ท่านผู้อ่านคงอยากจะทราบว่า ค่าการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศไทยเป็นเท่าใด ผมขอเรียนว่า นับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2551 เป็นต้นมา กระทรวงพลังงานของประเทศไทยไม่ยอมเสนอข้อมูลส่วนนี้อีกเลยโดยไม่ทราบเหตุผล

        ผมได้เคยคำนวณโดยการสุ่มข้อมูลของปี 2550 มาจำนวน 60 วันกระจายทั่วทั้งปี (จะค้นเองทุกวันก็เสียเวลามาก) พบว่า ค่าการกลั่นของประเทศไทยเท่ากับ 9.52 เหรียญต่อบาร์เรล

        อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากวารสารฉบับนี้ได้บอกเราแล้วว่า ราคาหน้าโรงกลั่นของน้ำมันดีเซลชนิดหมุนเร็วแพงกว่าสิงคโปร์ถึงลิตรละ 1.52 บาท

เราไม่ทราบค่าขนส่ง เพราะเขาไม่ได้บอก แต่ก็น่าจะประมาณ 32 สตางค์ต่อลิตรโดยคิดเทียบกับการขนส่งจากกรุงเทพฯมาถึงสงขลา  

        อนึ่ง เมื่อปีกลาย (2551) ผมได้ค้นข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในกระทรวงพลังงาน พบว่าประเทศเราขุดน้ำมันดิบได้เองประมาณ  23 % ของปริมาณน้ำมันดิบที่นำเข้า  ดังนั้นน้ำมันดิบที่โรงกลั่นในประเทศได้มาจึงเป็นน้ำมันดิบในอ่าวไทยและบนแผ่นดินไทยนี่เอง  ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งมากนัก

เมื่อผมต้องการจะกลับไปค้นใหม่อีกครั้งเพื่อความทันสมัย ผมกลับค้นไม่เจอครับ สงสัยว่าทางกระทรวงฯได้ถอดข้อมูลนี้ออกไปแล้ว (ถ้าท่านใดค้นเจอกรุณาบอกผมด้วยครับ)

        ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ โรงกลั่นไทยได้เอากำไรเกินกว่าที่ควรจะเป็นถึงอย่างน้อยลิตรละ 1.20 -1.30  บาทต่อลิตร

        ในแต่ละเดือน คนไทยใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ไม่นับเบนซิน) ประมาณ 1,500  ล้านลิตร ดังนั้น คนไทยถูกขูดรีดจากค่าการกลั่นเพียงอย่างเดียวไปถึงเดือนละ 1800 – 2,000 ล้านบาท

        ใครเป็นเจ้าของโรงกลั่น   ใครเป็นผู้ควบคุมโรงกลั่น ท่านผู้อ่านคงทราบดีกันอยู่แล้ว

        โอกาสหน้าผมจะเสนอ “ค่าตลาด” ซึ่งก็เป็นภาระที่คนไทยต้องแบบรับมากอย่างผิดปกติเช่นเดียวกันครับ

        เรื่องที่พ่อค้าน้ำมันขูดรีดคนไทยรวมทั้งเรื่องที่กระทรวงพลังงานไม่ยอมเสนอข้อมูลที่จำเป็นต่อผู้บริโภค ผมคิดว่าผมพอจะเข้าใจในเหตุผลของเขาอยู่นะ  

        แต่ที่ผมไม่เข้าใจก็คือ ทำไมคนไทยเราจึงมีความอดทนสูงมากถึงขนาดนี้ ทำไมไม่ช่วยกันคิดหากลไกใด ๆ มาควบคุมให้เกิดความเป็นธรรมกันเสียที่

หมายเลขบันทึก: 406888เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2010 04:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท