โอปนยิโก


โอปนยิโก

 

              สรวมชีพศิรพร้อมประคองกรประชิด
ด้วยกายวจีจิต                                                     ทวาร
              บูชาแด่วรองคทรงพระคุณฉาน
จอมศาสดาจารย์                                                  มุนี
              ผู้ชี้ทางนฤพานประทานสุขวิธี                 
คือมัชฌิมามี                                                       ปทา
              นบธรรมคำวจนังมุนินทรประภา
ยิ่งแสงสุรียา                                                        และจันทร์
              หนึ่งในไตรรตนาวราคุณอนันต์      
นับเนื่อง ณ เบื้องบรร-                                            พกาล
              นอบนบสฆ์อริยาธิสาวกผสาน
สืบศาสน์ประกาศการ                                              ตลอด
              ในวงศ์พงศ์วรพุทธ์พิสุทธิสิริยอด
เทิดธรรมมิทิ้งทอด                                                สะเทือน
              พ่างพื้นแผ่น ณ พิภพประสบสุขเยือน
ทั่วถิ่นบุรินทร์เรือน                                                 สกาว

(นายกรรณดี สรรพจิต จากหนังสือ กวีนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับชนะการประกวด)
 
              ต้องขออนุญาตท่านเจ้าของบทกวีนิพนธ์นี้เพื่อนำมาเริ่มในการจะเขียนบทความทางธรรมะนี้

              ก่อนอื่นต้องขออภัยท่านผู้รู้ทั้งหลายที่งานเขียนนี้อาจไม่ถูกต้องตรงตามหลักธรรมบ้าง แต่ก็เป็นความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าเท่านั้น

              เรื่องที่อยากแสดงเป็นปฐมบทนี้ขอใช้คำว่า "โอปนยิโก" ขอแปลง่าย ๆ ว่า    การน้อมเข้ามาใส่ตัว 

               ในบทสวดธรรมคุณ    

สวาขาโต ภควตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปนยิโก ปัจจัตตัง เวทิตตัพโพวิญูหีติ

               คุณของพระธรรมที่พระพุทธองค์แสดงด้วยดีแล้วนั้น คือ เห็นได้ด้วยตนเอง ไม่จำกัดกาลเวลา เชิญเข้ามาดูได้ ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว รู้ได้เฉพาะตน อันผู้มีปัญญา (วิญญูชน) พึงรู้ได้

              โอปนยิโก การน้อมนำเอาหลักคำสอนนั้นมาสู่การปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่ตัวเราได้ ไม่ว่าทุกข์นั้นจะเป็นทุกข์อะไร จะเป็นทุกข์อันเกิดจาก ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทุกข์ 4 ตัวนี้ดูเหมือนรู้จักและเข้าใจได้กันดีอยู่แล้ว แต่มีทุกข์ประจำที่บางครั้งรู้ว่าเป็นทุกข์แต่ไม่เข้าใจและไม่รู้วิธีแก้ คือ ทุกข์เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เช่นต้องจากคนรัก จากบ้าน จากหมา จากแมว จากพ่อ จากแม่ จากผัว จากเมีย จากฯลฯ  ทุกข์เพราะประจวบกับสิ่งไม่ชอบใจ เช่น ฝนตก รถติด น้ำท่วม เจ้านายด่า ทำงานไม่ประสบผลสำเร็จ ลูกไม่ได้ดังใจ ผัวขี้เมา เมียขี้บ่น คนใช้ขี้เกียจ ฯลฯ ถ้าจะเอาให้จบขบวนทุกข์ ก็ต่อด้วย โสกะ ปริเทว ทุกขโทมนัสอุปายาส

               ทุกข์คือสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ คือรู้ว่าอะไรคือทุกข์ แต่มีบางคนเข้าใจผิดบางเรื่องว่าไม่ใช่ทุกข์ เช่น ความรัก ทุกคนจะเข้าใจว่าความรักคือความสุขจึงเที่ยวแสวงหาความรัก แต่ลืมพุทธพจน์ที่ว่า "ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์" (เรื่องนี้เอาไว้โอกาสหน้าจะนำมาอภิปรายกันอีกที) เพราะถ้าไม่รู้อะไรคือทุกข์ยอมไม่สามาถดับทุกข์ได้

               เพื่อไม่ให้เป็นการเยิ้นเย้อ มาที่การนำเอาหลักธรรมมาใส่ตัว (โอปนยิโก) เพื่อให้ง่ายต่อการอธิบาย ขอยกตัวอย่าง เอาเรื่องทุกข์จากน้ำท่วมซึ่งเป็นปัจจุบันทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่เกือบทั่วประเทศในตอนนี้ สาเหตุของปัญหาคือน้ำท่วม ทำให้ต้องทุกข์เพราะต้องสูญเสียของรัก บ้านเรือน ข้าวของ รถรา ทรัพย์สิน แม้บางคนต้องประสบกับความตายของคนที่ตนรัก 

              ทุกข์ที่ต้องแก้ด้วยทางกายภายนอก คือ ต้องหลบไปอยู่ในที่ปลอดภัย รอรับความช่วยเหลือ หรือช่วยเหลือตนเองเท่าที่ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่ที่กินชั่วคราว และสิ่งที่จะต้องแก้ไขปัญหาอื่น ๆ หลังจากนี้ จะต้องทำอย่างเต็มความสามารถ อย่างอมืองอตีนเอะอะโวยวายโทษฟ้า โทษดิน โทษรัฐบาลอยู่ อันนี้เป็นการแก้ทุกข์ภายนอก

              ทุกข์อีกอย่างคือความทุกข์ใจเมื่อต้องประจวบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ และต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์อันนี้ต้องรู้จักวิธีแก้ ถ้าพูดแบบกำปันทุบดินวิธีแก้ก็คือ "ทำใจ"  แต่การทำใจนั้น คือ ทำอย่างไร นี่แหละปัญหา

              สิ่งแรกที่ต้องทำคือกำหนดรู้ว่าทุกข์ครั้งนี้เกิดจากน้ำท่วม ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครป้องกันได้ และคนอื่น ๆ ต่างได้รับทุกข์อันนี้เหมือน ๆ กันกับเรา เราไม่ใช้คนเดียวที่ได้รับทุกข์ครั้งนี้ มันเป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา)

              ทุกคนเมื่อกำลังทุกข์สิ่งหนึ่งคือมักนอนไม่ค่อยหลับ เพราะฉะนั้นตอนนอนให้เอาจิตของเรากำหนดลงไปที่ใจที่กำลังทุกข์ แล้วกำหนดภาวนาว่า ทุกข์หนอ ๆ ๆ ๆ ทุกลมหายใจเข้าออก การกำหนดจิตอยู่ที่อารมณ์เดียวอย่างนี้ทำให้เกิดสมาธิ มีผลทำให้ง่วงนอนแล้วจะหลับไปเองในที่สุด แม้จะไม่หลับจิตใจก็ไม่ฟุ้งซ่าน

              ด้วยวิธีทำง่าย ๆ สองอย่างนี้ เราก็สามารถแก้ทุกข์ปัจจุบันอันเกิดจากน้ำท่วมเบื้องต้นได้แล้ว เมื่อหมั่นปฏิบัติอยู่เป็นบ่อย ๆ และประจำจนติดเป็นนิสัยจะสามารถแก้ทุกข์ได้แม้ชั่วคราว และทุกข์อย่างอื่นก็สามารถแก้ได้ เพียงแต่เรากำหนดรู้ให้ได้ว่ามันคือทุกข์อะไร มีอะไรเป็นเหตุ สิ่งใดพึงแก้ได้จากภายนอกก็แก้ด้วยวิธีภายนอก สิ่งใดพึงแก้ด้วยวิธีภายในก็แก้ด้วยวิธีภายใน เปรียบโดนมีบาด แผลที่เกิดจากมีดก็ต้องรักษาด้วยยาหรือแพทย์ ส่วนแผลในใจก็ต้องใช้ธรรมะเข้าแก้ แต่ถ้ามีดบาดไม่ใช้ยาใช้หมอ แต่ใช้ธรรมะอย่างเดียวอาจไม่ทุกข์ใจแต่จะตายด้วยบาดทะยัก

              นี้แหละที่ผมเรียกว่า โอปนยิโก (apply ขอใช้ภาษาอังกฤษสักหน่อย) คือสามารถนำเอาธรรมะมาปฏิบัติให้เกิดผลจริงได้

คำสำคัญ (Tags): #ทุกข์#โอปนยิโก
หมายเลขบันทึก: 406782เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2010 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท