ทฤษฏีบ่อเกิดความรู้ 2. ประจักษ์นิยม (Empiricism)


เห็นเชิงประจักษ์ ควรเชื่อในสิ่งที่เราเห็นหรือไม่

ต้นทางของการหาความจริง

2. ประจักษ์นิยม (Empiricism)

นักปรัชญากลุ่มนี้มีความเชื่อว่า   ประสบการณ์ประจักษ์เท่านั้นที่เป็นบ่อเกิดของความรู้   บุคคลสามารถรับรู้ได้ทางประสาทสัมผัส  แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  วิธีการคิดดังกล่าวนี้เรียกว่าประจักษ์นิยม

กลุ่มประจักษ์นิยม  มีหลักการขั้นพื้นฐาน

1.  กลุ่มประจักษ์นิยมถือว่า  ความรู้เกิดจากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส  ซึ่งได้แก่   ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย

2.   กลุ่มประจักษ์นิยมปฎิเสธความคิดติดตัวมาแต่กำเนิดว่าเป็นสิ่งไม่จริง

3.  กลุ่มประจักษ์นิยมเชื่อว่า   เหตุผลมิใช่แหล่งเกิดแห่งความรู้  เพราะถ้าไม่มีหลักการขั้นต้นของประสบการณ์แล้วเหตุผลก็คือแนวคิดเท่านั้น

4.  กลุ่มประจักษ์นิยมเชื่อว่าผัสสะเป็นบ่อเกิดของความรู้

5.  กลุ่มประจักษ์นิยมเชื่อว่า  ความรู้ต้องสามารถพิสูจน์และต้องเป็นความรู้เกี่ยวกับวัตถุภายนอก

นักปรัชญาที่สำคัญของกลุ่มประจักษ์นิยมมีหลายท่านด้วยกัน  เช่น  ล็อค  เบริคเลย์  ฮิวม์  เป็นต้น

จอห์น  ล็อค  (John  Locke)  เป็นนักปรัชญาสมัยใหม่ชาวอังกฤษ  เชื่อความรู้เกิดจากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส   แต่ก็ไม่ปฏิเสธการคิด  หาเหตุผลเสียเลยทีเดียวเพียงแต่ถือว่าประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสจะต้องมีความสำคัญกว่า  เพราะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อน  ล็อคอธิบายกระบวนการเกิดความรู้ว่า  ขณะที่เราประสบสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นั้น   สิ่งที่เรารับรู้โดยตรงคือ  จิตภาพ  (Idea)  ของเราเอง  ส่วนวัตถุภายนอกนั้นเรารับรู้มาโดยอ้อม  กล่าวคือ  เมื่อเราเห็นดอกไม้  หมายความว่า  แสงจากดอกไม้มันวิ่งเร้าประสาทตาของเราให้ตื่นตัวแล้วความตื่นตัวนี้วิ่งไปตามประสาทสู่สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเห็นซึ่งจะเกิดปฏิกิริยาขึ้นในสมองเป็นเรื่องของสสารทั้งสิ้น  การประจักษ์คือ  การเห็นยังไม่เกิดเพราะการเห็นเป็นปรากฎการณ์ทางจิต   ซึ่งเกิดในห้วงแห่งความรู้สึก   ล็อคอธิบายว่า  สมองเปรียบเสมือนห้องมืดมีฉากรับภาพอยู่ภายใน  ซึ่งเปรียบเสมือนห้วงแห่งสัญญาณเมื่อเกิดปฎิกิริยา  สัญญาณก็ปรากฏภาพดอกไม้ขั้น  ซึ่งเป็นตัวแทนของดอกไม้ที่มากระทบประสาทตา   ภาพตัวแทนที่แหละที่จิตรับรู้จึงเรียกว่า  การรับรู้ตัวแทน  (Representationalism)  ซึ่งถือว่าสิ่งที่จิตรับรู้โดยตรงนั้นไม่ใช่ดอกไม้จริง ๆ เป็นแต่เพียงภาพหรือตัวแทนของดอกไม้เรียกว่าจิตภาพ  (Idea)  ฉะนั้นตามทัศนะของล็อคนี้จะเห็นได้ชัดว่าในการรับรู้ครั้งหนึ่งเราต้องยอมรับว่าปัจจัยอยู่  3 ประการคือ  มีสิ่งภายนอกตัวเรา  มีจิตภาพ  และมีจิตของเราเอง  แต่เบริคเลย์ศิษย์ของล็อคได้ท้วงติงว่ามีเพียง  2 ประการ คือ จิตกับ  จิตภาพเท่านั้น   ส่วนสิ่งภายนอกนั้นไม่มี  เพราะจิตของเราไม่ได้รับรู้มันเลย   สิ่งที่เรารับรู้เพียงภาพตัวแทน   ซึ่งไม่มีมาตรการที่จะตัดสินว่าเป็นอันเดียวกับสิ่งภายนอกนั้นหรือไม่

ล็อคให้ความสำคัญแก่ประสบการณ์ว่าเป็นที่มาของความรู้   และเขาได้แบ่งความรู้ออกเป็น  5  ประการคือ

1.  Intuitive  Knowledge  รู้ทันทีเมื่อเข้าใจคำพูด  ไม่ต้องการความจริงอื่นมาสนับสนุน  เช่น  ขาวไม่คำ  กลมไม่เหลี่ยม  3  มากกว่า  2  ใช้เป็น  postulates  สำหรับพิสูจน์ข้อความอื่นได้

2.  Demonstrative  knowledge  รู้ด้วยอาศัยการพิสูจน์ด้วยความจริงที่ง่ายกว่าและที่ยอมรับแล้ว  เช่น  การพิสูจน์เรขาคณิต

3.  Sensitive  knowledge  รู้ของเฉพาะหน่วยด้วยประสบการณ์ทางประสาท  เช่น  เห็นดอกไม้ดอกนี้  คลำพบโต๊ะตัวนี้   เป็นต้น

4.  Probable  knowledge ความรู้ที่มีประโยชน์แต่ยังพิสูจน์ให้แน่นอนไม่ได้ และยังไม่มีประสบการณ์โดยตรง   ยอมรับไว้เป็นสมมติฐาน  เช่น  การดึงดูดของโลก เป็นต้น

5.  Revelation  ความรู้ทางศาสนาโดยเฉพาะเป็นเรื่องความเชื่อ  (Faith)  อันมีพยานหลักฐานว่ามาจากพระเป็นเจ้า   เผยแสพงให้ทราบ

จอร์จ  เบริคเลย์  (George  Berkeley)  เป็นนักประจักษ์นิยมที่มีความเห็นเช่นเดียวกับล็อคเป็นส่วนใหญ่  แต่มีความเห็นไม่เหมือนกับล็อคในเรื่องของคุณสมบัติของวัตถุ คือล็อคกล่าวว่า  คุณสมบัติปฐมภูมิของวัตถุไม่เปลี่ยนแปลง  แต่คุณสมบัติทุติยภูมิเปลี่ยนแปลง   ส่วนเบริคเลย์กล่าวว่า   คุณสมบัติของวัตถุทั้งที่เป็นปฐมภูมิและทุติยภูมิเปลี่ยนแปลง  กล่าวคือ  วัตถุชิ้นเดียวกัน  ถ้ามองในที่ไกลจะเห็นว่าเล็ก  มองในที่ใกล้จะเห็นว่าใหญ่   หรือคนหนึ่งยกรู้สึกหนักมากแต่อีกคนหนึ่งยกรู้สึกไม่หนัก   แสดงให้เห็นว่า  คุณสมบัติปฐมภูมิของวัตถุเปลี่ยนแปลงไปขึ้นอยู่กับบุคคลและสถานที่  เป็นต้น  เช่นเดียวกันกับคุณสมบัติทุติยภูมิที่คนเรามองเห็นแตกต่างกันเบริคเลย์  กล่าวว่า  พระเจ้าเป็นผู้ใส่แนวความคิดเข้าไปสู่จิตใจของเรา  และพระองค์ก่อให้เกิดการรับรู้หมายความว่า  มนุษย์รับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้โดยพระเจ้า

เดวิด  ฮิวม์  (David  Hume)  เป็นนักประจักษ์นิยมคนสุดท้าย  ฮิวม์เชื่อว่าความรุ้ทุกอย่างที่ไม่ผ่านประสาทสัมผัสล้วนแต่เป็นโมฆะทั้งสิ้น  และจิตที่สภาวะเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏจากการรวมตัวของความคิด  ความเจ็บปวด  ความยาก  เหล่านี้เป็นต้น ที่กล่าวมานี้จำเป็นการปฏิเสธว่าจิตไม่มีอยู่  ต่อมาทัศนะของฮิวม์ได้กลายมาเป็นเพทนาการนิยม

หมายเลขบันทึก: 406715เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2010 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท