ความจริง


ท่านอยากรู้ว่าจริงคืออะไร มากแค่ไหน ?

ความจริงคืออะไร?

ความจริงคืออะไร? แม้จะเป็นคำที่คุ้นหูและได้ยินอยู่บ่อยๆ แต่ผมกลับไม่เคยถามตัวเองอย่างจริงๆ จังๆ เลยว่ามันคืออะไร

นักปรัชญาทุกยุคสมัยพยายามหาความหมายของคำว่า ความจริง แต่ความจริงของนักปรัชญาแต่ละกลุ่มก็ไม่เหมือนกันเลย

นักปรัชญากลุ่มเหตุผลนิยมเชื่อว่า ความจริงเกิดจากการใช้เหตุผลเท่านั้น เหตุผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการคิดของเราเท่านั้นที่คือความจริงแท้ และไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนนักปรัชญากลุ่มประจักษ์นิยมเชื่อตรงข้ามกัน โดยพวกเขาเชื่อว่าความจริงเกิดจากการใช้ประสาทสัมผัสและประสบการณ์เท่านั้น ความจริงคือสิ่งที่สัมผัสและรับรู้ได้โดยตรงผ่านประสาทสัมผัส

ความจริงคือ ความเชื่อว่าอะไรคือความจริง หากปราศจากความเชื่อว่ามันคือความจริง มันย่อมไม่ใช่ความจริง (งงไหมล่ะ) ผมคิดว่าความจริงเป็นเรื่องที่เป็นอัตวิสัย คือคนเราแต่ละคนรับรู้ความเป็นจริงได้แตกต่างกัน เพราะเขามีความคิดและความเชื่อที่แตกต่างกัน มีบางสิ่งที่คนเราเชื่อว่ามันคือความจริง ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้พิสูจน์มันด้วยซ้ำ เช่น เชื่อว่าโลกกลมทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นด้วยตาตัวเอง จะเห็นก็แต่เพียงภาพถ่าย หรือภาพวาดเท่านั้น หรือเชื่อว่าพระเจ้ามีจริง ทั้งๆ ที่ตนเองก็ไม่เคยเห็นพระเจ้า แต่บางสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้กลับมีคนไม่เชื่อเหมือนกันว่ามันคือความจริง เช่น ปรากฏการณ์ธรรมชาติสามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุและผลตามธรรมชาติ แต่คนบางคนยังเชื่อว่าเป็นเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์หรือภูตผีปีศาจ

เรื่องของตัวเลขทางคณิตศาสตร์ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นความจริง แต่มันก็ไม่ได้เป็นความจริงสำหรับคนบางคน สำหรับนักคณิตศาสตร์ 1+1 คำตอบย่อมเป็น 2 ต่ำสำหรับคนบางคน 1+1 อาจจะเป็น 1 ก็เป็นได้ (ทราย 2 กองรวมกันเป็นทราย 1 กองใหญ่)

แล้วความจริงแท้ (Ultimate reality) ที่ทุกคนสามารถรับรู้ได้ตรงกันมันมีจริงหรือ? หากความจริงขึ้นอยู่กับความเชื่อ ความจริงแท้ย่อมไม่มี เพราะไม่มีทางที่คนทุกคนจะมีความเชื่อเหมือนกัน

แม้เราจะไม่อยากรู้คำตอบว่าที่จริงแล้วความจริงคืออะไร แต่เราก็หลีกเลี่ยงการข้องเกี่ยวกับความจริงไปไม่พ้นในการบริโภคข่าวสารทุกวันนี้ เราเคยถามตัวเองไหมว่า อะไรคือความจริง ในกรณีที่มีข้อเท็จจริงสองอย่างที่ขัดแย้งกัน เราควรจะเชื่อฝ่ายไหนดี คำตอบที่ทุกคนน่าจะมีเหมือนกันก็คือ เลือกเชื่อฝ่ายที่น่าเชื่อถือที่สุด หลังจากวิเคราะห์แล้วว่าน่าจะเป็นความจริงมากกว่าแต่แน่ใจหรือว่า ความน่าเชื่อถือ กับ ความจริง มันจะไปด้วยกันเสมอผมรู้สึกสับสนทุกครั้งเมื่อต้องเผชิญกับข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกัน โดยที่ตนเองทำได้อย่างเดียวคือคิดและวิเคราะห์ คงไม่มีปัญญาไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้นด้วยตนเอง และถึงจะมีปัญญาไปพิสูจน์ก็อาจจะพิสูจน์ไม่ได้อยู่ดีว่าข้อเท็จจริงใดคือ ความจริง

สมมติว่าเราไม่มีความรู้เรื่องโลกเลยแม้แต่น้อย บังเอิญเราไปเจอนาย ก. กับ นาย ข. ที่กำลังเถียงกันเรื่องโลก นาย ก. บอกว่าโลกกลม แต่นาย ข. บอกว่าโลกแบน ทีแรกเราอาจจะไม่เชื่อทั้งสองฝ่าย เพราะแต่ละฝ่ายต่างก็พูดขึ้นลอยๆ โดยไม่มีหลักฐาน ต่อมา นาย ก. เอารูปถ่ายจากดาวเทียมมายืนยันว่าโลกกลม เราอาจจะเอนเอียงไปเชื่อนาย ก. ว่าโลกกลม เพราะเราได้เห็นหลักฐานที่ทำให้คำพูดนาย ก. ดูน่าเชื่อถือ นาย ข. เห็นดังนั้น จึงไปหารูปถ่ายมาบ้างเพื่อยืนยันว่าโลกแบน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างมีหลักฐาน และมันก็ดูน่าเชื่อถือพอๆ กันเสียด้วย แล้วเราจะเชื่อฝ่ายใดดีล่ะ อะไรคือความจริง

การหาหลักฐานมาเพื่อยืนยันสิ่งที่ตนเองเชื่อเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์หาความจริง ในกรณีที่มีหลักฐานที่ขัดแย้งกัน หลักฐานที่น่าเชื่อถือกว่าย่อมคือ ความจริง (ณ ขณะนั้น)


แล้วความจริงสามารถเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่?

ก่อนหน้านี้มีความจริงว่าอะตอมคือหน่วยที่เล็กที่สุดของสิ่งต่างๆ และทุกคนก็เชื่อเช่นนี้มาโดยตลอด แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดมีคนพบว่าอะตอมไม่ใช่หน่วยที่เล็กที่สุด เพราะมันยังประกอบด้วยโปรตอน นิวตรอน และอิเล็กตรอน ทำให้ความจริงที่ว่าอะตอมคือหน่วยที่เล็กที่สุดไม่ใช่ความจริงอีกต่อไป และทุกคนก็เปลี่ยนความเชื่อมาเป็นโปรตอน นิวตรอน และอิเล็กตรอน หากอนาคตข้างหน้าเกิดมีคนพบสิ่งที่เล็กกว่านั้น ความจริงก็จะเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง

แต่หากมองในอีกแง่หนึ่ง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้อาจจะไม่ใช่ความจริงตั้งแต่แรกแล้วก็ได้ แต่เราไม่อาจรู้ได้ว่ามันคือความจริงหรือไม่ จนกว่ามันจะเปลี่ยนแปลง

โอย ปวดหัวเหลือเกินครับ ขอสรุปแล้วกันว่า ความจริงขึ้นอยู่กับความจริงของใคร และความจริง ณ ขณะใด เพราะความจริงย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ไม่มีความจริงแท้ที่ทุกคนรับรู้ได้ตรงกัน


แล้วเพื่อนๆ คิดว่าความจริงคืออะไรครับ

Credit  วินทร์  เลียววารินทร์

 

คำสำคัญ (Tags): #ความจริง
หมายเลขบันทึก: 406704เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2010 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท