ความสัมพันธ์พี่น้องไทย – ลาว : ท.ร.๑ ตอนหน้าในสปป.ลาว


ຂໍ້ເທັດຈິງໃນການລົງພື້ນທີ່

โดย นางสาวบงกช นภาอัมพร


[1] รองหัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ และ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว

ณ บ้านซายฟองใต้ เมืองหาดซายฟอง นครหลวงเวียงจันทร์ ฉันได้พบชายสูงวัยอายุราว 70 ปี นั่งอยู่บนตั่งไม้พร้อมกับลูก ๆ หลาน ๆ และเพื่อนบ้าน กำลังนั่งรอคอยอะไรบางอย่าง ระหว่างที่รถสองแถวที่ฉันนั่งขับผ่านไปได้ไม่ไกล เขาทั้งหลายก็กวักมือเรียก และเมื่อพวกฉันลงไปถามหาบ้านของพ่อตุ๊สิงห์ (คำสิงห์ บุลีลม) ทำให้ฉันมีคำตอบแล้วว่า ที่พวกเขานั่งรออะไรบางอย่าง นั่นคือ รอพวกเรานั่นเอง เมื่อพวกเราเดินเข้าบ้านประโยคแรกที่ได้ยิน ตั้งใจมาหากันเหลือเกิน พร้อมกับรอยยิ้มอันบริสุทธิ์ของพวกเขา

พ่อตุ๊สิงห์อาศัยอยู่กับลูกสาว 2 คน และลูกชาย 1 คน และหลาน ๆ เมื่อฉันถามถึงลูกคนอื่น ๆ เขาเริ่มมีสีหน้าไม่สู้ดีนัก และเริ่มเล่าให้เราฟังว่า ลูกสาวอีก 2 คนแต่งงานและอยู่ที่เมืองไทย ส่วนลูกชายคนโตก็อยู่เมืองไทย ส่วนลูกชายอีกคนแต่งงานแล้วย้ายไปอยู่อีกบ้านหนึ่ง

ลูกทั้ง 7 คนเกิดที่บ้านทรายฟองใต้และมีชื่อในปื๊ม (ทะเบียนบ้านในไทย) แต่มีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง ชื่อ นางชมพู่ (ในสปป.ลาวผู้หญิงทุกคนจะใช้คำนำหน้าชื่อว่านาง) แม้ว่าในปื๊มจะปรากฏชื่อของชมพู่ก็ตาม แต่เมื่อไม่มีรูปถ่าย ก็ถูกถือว่าไม่มีรายการดังกล่าว ไม่สามารถนำปื๊มไปดำเนินธุรกรรมใด ๆ ได้

ทำไมรายการชื่อของนางชมพู่ ถูกตัดและไม่มีผลใด ๆ เป็นคำถามที่พวกฉันถามต่อ คราวนี้น้องสาวของนางชมพู่ ชื่อ นางวังคำ บุลีลม เล่าให้ฟังบ้าง เนื่องจากเธอก็เคยประสบสถานการณ์เช่นเดียวกับนางชมพู่ ที่สปป.ลาวข้อมูลทะเบียนยังไม่มีการออนไลน์เหมือนในเมืองไทย ดังนั้นผู้ที่จะทราบได้ว่าจะมีการระงับทะเบียน ทะเบียนเคลื่อนไหวได้หรือไม่ เป็นอำนาจของนายบ้าน (ผู้ใหญ่บ้านในไทย) หากบุคคลที่มีชื่อและรูปในปื๊มแล้วแต่หากบุคคลนั้นไม่อาศัยในบ้านเป็นเวลาต่อเนื่องกัน ในทางปฏิบัติหากหายไปประมาณเดือนก็จะถูกนายบ้านดึงรูปออกทันที แต่ละหมู่บ้านของสปป.ลาว นายบ้านกับลูกบ้านจะมีความสนิทสนมกันมาก ทุกอาทิตย์จะมีการเดินสำรวจประชากรในบ้าน  และทุกปีจะมีการสำรวจสำมะโนประชากร (ที่บ้านทรายฟองใต้ จะมีการสำรวจสำมะโนประชากรวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553)

เมื่อได้ฟังดังนั้นแล้ว ฉันสงสัยในทันที อย่างนี้วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 นางชมพู่ก็สามารถมาแสดงตัวให้นายบ้านเพิ่มรูปเข้าไปในปื๊มได้สิ ถ้าหากนางชมพู่สามารถข้ามมาสปป.ลาวได้ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม นางวังคำ พยักหน้าและยิ้มตอบ และเล่าต่ออย่างช้า ๆ ว่า แต่ต้องอยู่ที่บ้านอย่างต่อเนื่องไม่ใช่ข้ามกลับไปฝั่งไทยอีก เพราะหลังจากที่นายบ้านเพิ่มรูปแล้ว ก็ต้องไปติดต่อขอทำบัตรประจำตัว ซึ่งใช้เวลามาก อย่างน้อยก็ 4 เดือน ซึ่งพี่สาวอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ได้ เพราะมีสามีและลูกอยู่ที่เมืองไทย จึงทำให้รายการชื่อของพี่สาวไม่มีการเคลื่อนไหวทางทะเบียนเสียที

เพื่อนของฉันคนหนึ่งถามถึงอำนาจ หน้าที่ของนายบ้าน ด้วยความอยากรู้มากทีเดียว พวกเขาก็ตอบอย่างเต็มใจ ว่า นายบ้านสามารถรับรองได้ว่าลูกบ้านของตนคนใดอาศัยที่หมู่บ้านจริง เช่น พ่อตุ๊สิงห์บัตรประชาชนหมดอายุมานานแล้ว แต่ด้วยการเดินทางจากหมู่บ้านไปนครหลวงเวียงจันทร์ใช้เวลามาก ประกอบกับขาของปู่สิงห์ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางอยู่หลายกีบ ปู่จึงไม่ไปทำบัตรประชาชน แต่มีใบยั่งยืน (เอกสารยืนยัน) ที่ออกโดยนายบ้านยืนยันว่าปู่สิงห์เป็นลูกบ้านจริง เวลาปู่เดินทางไปไหนก็แสดงใบยั่งยืนอันนี้ ปู่กล่าวพร้อมกับแสดงใบยั่งยืนให้พวกเราได้เห็นเป็นบุญตาด้วย

อีกสักพักน้องสาวของนางชมพู่อีกคนหนึ่ง ขี่จักรยานยนต์ไปรับผู้ช่วยนายบ้านมา พวกเราได้มีโอกาสคุยกับผู้ช่วยนายบ้าน ซึ่งเขารู้จักนางชมพู่ และรับรู้ว่าเกิดที่บ้านทรายฟองใต้ และเป็นลูกสาวของพ่อตุ๊สิงห์จริง พวกเราจึงขอให้ทางผู้ช่วยนายบ้าน (มีอำนาจเช่นเดียวกับนายบ้าน) ช่วยออกใบยั่งยืนเพื่อรับรองการเกิด และความเป็นพ่อ ลูก ให้กับนางชมพู่ ผู้ช่วยนายบ้านยิ้มอย่างใจดีและตอบรับอย่างไม่มีคำถามกลับใด ๆ เหตุที่นายบ้าน ผู้ช่วยนายบ้านออกใบยั่งยืนให้ได้ง่ายกว่าที่เมืองไทย นั่นคือ การเป็นนายบ้าน ผู้ช่วยนายบ้าน จะต้องเป็นคนที่เกิดในหมู่บ้าน หรืออาศัยในหมู่บ้านและมีชื่อในปื๊มอย่างน้อย 3 ปี กับทั้งในหมู่บ้านจะมีการสำรวจประชากรอยู่บ่อย ๆ จึงทำให้นายบ้าน ผู้ช่วยนายบ้านทราบความเคลื่อนย้ายของลูกบ้านอยู่เสมอ ๆ

ผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมงพวกเราก็ได้รับใบยั่งยืนที่ยืนยันว่านางชมพู่เกิดที่บ้านทรายฟองใต้ และเป็นลูกสาวของพ่อตุ๊สิงห์จริง ซึ่งในเมืองไทยเราเรียกกันว่า ท.ร.1 ตอนหน้า ที่ออกโดยผู้ใหญ่บ้านเช่นกัน

หลังจากที่พวกเราทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความคิดต่าง ๆ ระหว่างไทย – ลาว ไปได้หลายเรื่องทีเดียว ครอบครัวของพ่อตุ๊สิงห์ก็เลี้ยงอาหารกลางวันพวกเรา ซึ่งเขาต้องขี่จักรยานยนต์ไปซื้อมาให้เพราะละแวกนั้นเขาทานเนื้อวัวกัน รู้สึกซึ้งน้ำใจของพวกเขามาก และสุดท้ายก่อนอำลากัน เขายังบอกกับพวกเราอีกว่า คนไทย – คนลาว ก็เป็นพี่น้องกัน แม้พูดต่างภาษากันบ้าง แต่ก็เข้าใจกันอยู่ ช่วยอะไรกันได้ก็ช่วยกันไป

เป็นการเดินทางที่เส้นทางยากลำบาก แต่มากด้วยมิตรภาพระหว่างประเทศ

 

 

หมายเลขบันทึก: 406064เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2010 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท