ประสบการณ์น้ำท่วมที่หาดใหญ่ ปี 2543


ประสบการณ์น้ำท่วม

ประสบการณ์น้ำท่วมที่หาดใหญ่

ยังจำได้ในปี 2543 (ปีงูใหญ่-มะโรง)
ที่น้ำท่วมใหญ่ที่หาดใหญ่
น้ำท่วมในบ้านสูง 1.80 เมตร
ส่วนข้างนอกที่ถนนน้ำท่วมสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร
ภาพถ่ายตัวอย่างจากบ้านหลังหนึ่ง
น่าจะให้ข้อมูลที่ละเอียดกว่าความทรงจำ


 

flood


ลางบอกเหตุก่อนน้ำท่วมไม่นานนักคือ
มีน้ำเจิ่งนองภายในบ้านเป็นรอยเปียก ๆ หลายจุด
ทั้งที่พื้นบ้านเป็นพื้นหินขัด (หินขัดมัน)
และมีการปูแผ่นพลาสติครองพื้นดินก่อน
แล้วทำการเทปูหนาประมาณสิบเซ็นติเมตรกลบทับ
แล้วทำการขัดมันหินขัดก็ตามแต่
ส่วนหลังบ้านก็มีลักษณะดินเริ่มเหลวนุ่ม
แสดงว่าระดับน้ำใต้ดินเต็มที่แล้ว
ไม่สามารถรองรับน้ำเพิ่มเติมได้อีก

มีข้อสังเกตอย่างคือ ปีนั้น
ฝูงมดจะทำรังที่ชั้นสองของบ้านขึ้นไป
ส่วนมดตามต้นไม้ก็ทำรังซะสูง
ก่อนน้ำท่วมไม่ถึงอาทิตย์
บรรดาคุณหนูๆ ก็เริ่มหายออกจากแถวบ้าน
การวางยา/กับดักก็ไม่ได้ผลแต่อย่างใด
ส่วนแมลงสาบก็บินว่อนและหลบหายไปไหนไม่รู้

เพราะสังเกตได้หลังจากบ้านน้ำท่วมแล้ว
โดยทั่วไปมักจะเจอหนูวิ่งขึ้นบนบ้าน
ก็ไม่พบเจอแต่อย่างใดในปี 2543
ในสมัยเด็ก ๆ ที่หาดใหญ่
น้ำมักจะท่วมเกือบทุกปี
แต่ก็ประมาณวันสองวันก็หมดแล้ว
และน้ำท่วมไม่มากนักประมาณไม่เกิน 0.5 เมตร
ส่วนแมลงสาบที่บินว่อนหลังน้ำท่วมในปีนั้น
หรือที่จะบินขึ้นมาข้างบนก็ไม่มี
ถ้ามีก็ตัวสองตัวเป็นอย่างมาก

ก่อนน้ำจะท่วมไม่นานนัก
ได้เตรียมของไว้ล่วงหน้าคือ
ไม้กระดานสำหรับพาดบันไดเป็นทางลาด
เชือกไนลอนขนาดนิ้วก้อย
ไว้ลากของหนัก ๆ หรือถังแกสขึ้นชั้นลอยของบ้าน
ถ้าหาไม่ได้ก็ใช้แป๊ปเหล็กขนาดหนา ๆ ที่พอรับน้ำหนักได้
วางคู่ขนานกันเป็นทางลาดไว้ช่วยลากของหนักได้
ให้ดีมีคนช่วยดึง ช่วยดัน ก็จะทำงานได้เร็วขึ้น
 


 

 


เทคนิคนี้นำมาจากการครูลักพักจำ ซ่งเอี่ยม
เจ้าตำรับการขนย้ายคอมพิวเตอร์แมนแฟรมในอดีต
สามารถขนคอมพิวเตอร์หนักกว่าครึ่งตันขึ้นชั้นสาม
ของธนาคารไทยแห่งแรกที่สาขาหาดใหญ่
สมัยที่ยังไม่มีเครน หรือรถยก เหมือนปัจจุบัน

ในช่วงนั้นลูกยังเล็กมาก
ช่วยได้อย่างเดียวคือ ช่วยให้อยู่เฉย ๆ อย่าเกะกะ เวลาพ่อทำงาน
เพราะแม่ต้องยุ่งกับการไม่ให้ลูกลงมาเล่นน้ำตามประสาเด็ก
กับต้องเตรียมข้าวปลาอาหารการกินของครอบครัวช่วงน้ำท่วม
กับเตรียมตัวเตรียมใจรับศึกหนักหลังน้ำท่วม

อาหารที่ได้จัดซื้อเตรียมการไว้ช่วงตุลาคม-ธันวาคม ทุกปี
ที่มักจะมีเหตุการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ในอดีตคือ
ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง มาม่า
ผักจำพวก แตงกวา แครอต ซึ่งเก็บได้นานแม้ว่าไม่มีตู้เย็น
ส่วนเครื่องปรุงรสคือ เกลือ น้ำปลา น้ำตาล กะปิ
ไว้รวนพวกเนื้อสัตว์/ถนอมอาหารให้เก็บได้นานกว่าปกติ
เพราะตู้เย็นมีก็เหมือนไม่มี เพราะไม่มีกระแสไฟฟ้า
ไฟฉาย เทียนไข ชาร์ทแบตเตอรรีมือถือให้เต็ม (แต่ควรถนอมใช้)
ถ่านไฟฉายสำรองสำหรับรับฟังวิทยุ

เมื่อรู้ว่าน้ำท่วมเริ่มมาแล้ว
ก็จะรีบถอดปั้มน้ำข้างล่าง
ที่จะปั้มน้ำขึ้นไปเก็บบนแทงค์น้ำที่ดาดฟ้า
แล้วยกปั้มน้ำไปไว้บนชั้นลอยของบ้าน
ค่อยมาต่อกลับหล้งน้ำแล้งแล้ว
ที่บ้านทำเป็นแบบฝาประกบ
มีนอตจับขันเข้าออกได้


 

unino



ที่บ้านโชคดีที่ห้องน้ำใช้แบบฟลัทวาวล์
ใช้มือกดก้านให้น้ำไหลลงในชักโครก


 

 

 


ไม่ใช่แบบถังกดน้ำชักโครกที่มีลูกลอย
เพราะบ้านเพื่อนหลายหลังโดนช่วงน้ำท่วม
แม้ว่าปั้มน้ำไปเก็บไว้เต็มแทงค์น้ำบนดาดฟ้าแล้ว
แต่พอน้ำท่วมเข้าบ้านก็จะดันลูกลอย
ทำให้น้ำไหลออกหมดแท้งค์น้ำของบ้าน
ต้องอดน้ำไปหลายวันช่วงน้ำท่วม
ทำให้บ้านเพื่อนหลายหลังในหาดใหญ่
ชั้นข้างล่างสุดของบ้าน
มักจะเปลี่ยนชักโครกเป็นแบบราดน้ำ
หรือแบบก้านกดแทน
เพื่อป้องกันปัญหาแบบนี้อีก


 

 


ส่วนอาหารในตู้เย็นก็จัดการเก็บบางส่วนไปไว้ในชั้นลอยก่อน
หรือชั้นบนที่น้ำท่วมไม่ถึงอยู่แล้ว
ในส่วนที่ไม่อยู่ในช่องฟรีต(แช่แข็ง)
เพราะคาดว่าน้ำจะท่วมอย่างมากน่าจะไม่เกิน 0.50-0.75 เมตร
ส่วนอาหารที่ไว้ในช่องฟรีต(แช่แข็ง)
แม้ว่าไฟดับก็ยังเก็บรักษาได้ไม่น้อยกว่าหกชั่วโมง
เพราะยังมีน้ำแข็งและความเย็นคงเหลืออยู่
ค่อยลงมาเก็บของขึ้นไปอีกครั้ง
เพื่อทำการรวนอาหารหรือถนอมอาหารได้

ส่วนของที่ชั้นล่างก็เก็บเท่าที่เก็บได้
วางของไว้บนโต๊ะทำงานกับโต๊ะกินข้าว
เพราะประมาท/ประสบการณ์ในอดีต
น้ำท่วมหาดใหญ่สูงเต็มที่ในปี 2531(ปีงูใหญ่)
ในบ้านก็ท่วมสูงประมาณเมตรเศษเท่านั้น
(ที่ทราบเพราะขีดแนวน้ำท่วมไว้ในบ้าน
เป็นจุดสังเกตระยะยาว กันลืม)

มีข้อสังเกตไม่เป็นทางการว่าที่หาดใหญ่
ทุกรอบสิบสองปี (ปีงูใหญ่-มะโรง)
น้ำมักจะท่วมครั้งใหญ่ทุกครั้ง
ในปี 2555 อีกสองปีก็รอลุ้นอีกครั้งหนึ่ง

เลยทำให้เชื่อตามที่เจ้าพ่ออินเทล
กล่าวไว่ว่า "ประสบการณ์ในอดีตไม่เกี่ยวอะไรกับปัจจุบัน"
เพราะการพัฒนา cpu/chip แบบใหม่ ๆ
ต้องใช้วิธีการที่แตกต่างหรือใหม่กว่าแบบเดิมจึงจะทำได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนเจ้าพ่อแอปเปิล  กลับมองว่า
"ให้มองย้อนกลับไปอดีตจะเป็นรากฐานในการพัฒนาอนาคตได้"
ทำให้การพัฒนาแอปเปิลค่อนข้างสวยงาม
เพราะแกผ่านการเรียนประดิษฐ์ตัวอักษรสวยงามมาก่อน


เมื่อน้ำท่วมแล้ว  ควรรอให้สว่างก่อน
พอมีแสงสว่างพอมองเห็นได้
ก็ค่อยลงมาดูสภาพน้ำท่วมบ้าน
ไฟฉายและเทียนไขควรสงวนไว้ใช้งานยามจำเป็น

แต่ให้ระวังโรคฉี่หนูด้วย
เพราะในปี 2552 ไปขับจักรยานเล่น
กับเดินเล่นแถวบ้านพักรถไฟที่มีน้ำท่วมขังประมาณหนึ่งฟุต
ไม่ถึงอาทิตย์เป็นไข้สูงเข้าโรงพยาบาล
เพราะโรคไวรัสเข้าทางกระแสเลือด
แพทย์สันนิษฐานว่าเป็นโรคฉี่หนู

ข้อควรระวังก่อนจะลงมาดูน้ำท่วมคือ
ระวัง งู หนู แมงป่อง ตะขาบ
ที่มักจะลอยน้ำมาหรือว่ายสวนเข้าหาคน
เพื่อให้คนเปรียบเหมือนเป็นขอนไม้
ถ้าถูกขบกัดแล้วจะทำให้ลำบากกว่าเดิม
รองลงมาคือต้องใส่รองเท้าก่อนเดินด้วย
เพราะไม่รู้ว่ามีอะไรตกแตกหรือบาดเท้าได้

เมื่อน้ำเริ่มท่วมขึ้นเรื่อย ๆ
โต๊ะ เก้าอี้ ตู้เย็น สิ่งของที่ทำจากไม้ ก็เริ่มจะลอยไปมา
ควรเอาเชือกไนลอนกับเชือกฟาง
ผูกรวมไว้กันเท่าที่จะทำได้ก่อนล่วงหน้า
มิฉะนั้นของพวกนี้จะช่วยสำรวจบ้าน
คือจะลอยละล่องกระแทกโน่นกระแทกนี่
หรือทำให้ข้าวของในบ้าน/ฝาบ้านเสียหายกว่าเดิมอีก

ในช่วงน้ำท่วมจะมีฝนตกลงมาบ้าง
ก็ต้องรีบนำสังกะสี/อะไรก็ได้ไปรองน้ำฝนไว้ใช้
เพราะอย่างน้อยก็นำมาใช้ล้างหน้า ล้างของ
ถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็มาดื่มกินได้

ส่วนที่บ้านรองลงในแทงค์น้ำ
ให้ท่วมแทงค์ไปเลยก็ไม่เป็นไร
เพราะไฟฟ้าไม่ทำงานอยู่แล้ว
ไม่มีผลต่อสวิทช์ไฟฟ้าอัตโนมัติ
ที่จะปั้มน้ำเมื่อนำลดลงในขีดที่ปั้มจะเริ่มทำงาน
ทำให้ได้ใช้น้ำในการกินและหุงหาอาหารได้
ส่วนบ้านเพื่อนหลายหลังก็ต้องรองน้ำฝน
จากชายคาบ้านหรือทำเท่าที่จะทำได้
ดีกว่ารอการช่วยเหลือจากภายนอก

เพราะถ้าฟังจากวิทยุ/วิทยุสมัครเล่น
ก็จะมีการกระจายเสียงว่าพลเมืองดี
จะพยายามไปช่วยรอบนอกก่อน
ทั้งที่คนในเมืองก็อดหยากพอ ๆ กัน
ภาวะอย่างนี้จะไปซื้อหาอาหารและน้ำดื่มที่ไหน

หลังบ้านคนงานรถไฟอดน้ำอดข้าวสองหลัง
เลยต้องโยนมาม่ากับน้ำดื่มให้ไปเผื่อแผ่กัน
ก่อนที่คนงานรถไฟจะว่ายน้ำ/ลุยไปที่สถานีรถไฟ
เพื่อประทังชีวิตในยามน้ำท่วมได้

มีประวัติว่า บางโรงแรมในหาดใหญ่ช่วงน้ำท่วม
ขายมาม่าชามละร้อยบาทให้แขกที่มาพัก
หรือร้านอาหารบางแห่งหลังน้ำลด
ข้าวผัดห่อละร้อยบาทก็มี

ทั้งนี้ยังมีตำนาน/ข่าวเล่าลือ/ข่าวจริงที่ว่า
ชั้นใต้ดินที่จอดรถยนต์ของโรงแรมในหาดใหญ่
มีแขกไทย/มาเลย์ ที่มาพักในโรงแรม
ตายคารถยนต์หรือคาลิฟท์
เพราะขึ้นมาไม่ทันหรือรถล็อค
เพราะไฟฟ้าดับแล้วทำงานไม่ได้เลย
ทำให้ต้องจมน้ำตายคารถยนต์กับคาลิฟท์
มีการปิดข่าวหรือจ่ายรายการใม่ให้เป็นข่าว
เพื่อไม่ให้กระทบต่อชื่อเสียงและการเข้าพักของแขกภายหลัง

หลังจากน้ำเริ่มลดลงแล้ว
ก่อนน้ำที่ท่วมบ้านจะไหลออกจากบ้านหมด
ประมาณว่าน้ำสูงสักหนึ่งฟุตที่คงเหลือ
ก็ต้องรีบเก็บกวาดเท่าที่จะทำได้ก่อน
มิฉะนั้นโคลน/คราบไคลจะฝังลึกแน่นกว่าเดิมหลังจากบ้านแห้ง
แล้วเริ่มลงมือติดปั้มน้ำรอน้ำประปาไหล
พร้อมกับการไฟฟ้าจ่ายไฟฟ้าตามเดิม
จะได้เริ่มลงมือทำความสะอาดบ้านอีกครั้ง

ถ้าในบ้านมีจักรยานสำรองไว้สักคันก็ดี
ถ้าไม่มีก็อันดับถัดมาคือ
รีบซ่อมรถจักรยานยนต์
เพื่อไว้ขับขี่ไปบริเวณวงเวียนน้ำพุ/มอ.
ที่น้ำท่วมไม่ถึงแต่อย่างใด
บริเวณนั้นเป็นที่ดอน
แต่ถ้ามองจากสายตาก็เป็นระนาบเดียวกับถนนใหญ่
แต่พอน้ำท่วมจะเห็นชัดว่าน้ำจะท่วมไม่ถึงเลย
การไปแถวนั้นเพื่อซื้อข้าวปลาอาหารแห้งมาเพิ่มเติม


การซ่อมรถจักรยานยนต์แบบง่าย ๆ คือ
(เฉพาะรุ่นที่สตาร์ทกับเท้าและสตาร์ทกับมือได้)
ในช่วงนั้นต้องแปลงกายเป็นลูกมือพี่ชาย
ในการซ่อมจักรยานยนต์มาใช้งาน
คือเป็นช่างสมัครเล่นแต่ต้องทำจริง ๆ

เพราะที่หาดใหญ่ร้านรับซ่อมมอเตอร์ไซด์
หลายร้านไม่ยอมรับงานเพิ่มอีกแล้ว
หรือถ้ารับก็ต้องรอหลายชั่วโมง หรือหลายวัน
กับส่วนหนึ่งบางร้านกลัวว่ารถลูกค้าฝากซ่อมไว้จะหายไป
เนื่องจากมีพลเมืองดีแต่ประสงค์ร้ายบางกลุ่ม
เริ่มปฏิบัติการลักข้าวของ หรือนำรถยนต์กะบะมาขนของไป
ความจำเป็นทำให้ต้องพยายามแก้ไขเท่าที่จะทำได้

1. เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมพวก ประแจแหวน ประแจปากตาย ค้อน ไขควงสี่แฉก
ไขควงปากแบน สบู่ แปรงสีฟัน ฟองน้ำที่คิดว่าจะไม่ใช้อีกแล้ว ถังน้ำ สายยาง
น้ำยาสารพัดประโยชน์ (ไม่ใช่เป็นการโฆษณา แต่มีการใช้เป็นประจำ)




sonax



2. แกะชิ้นส่วนที่เกะกะกีดขวางในการทำงานออกให้หมด
รถจักรยานยนต์จะโป๊จะเปลือยหน่อยก็ไม่เป็นไร
เพราะยังไง  ตำรวจจราจรก็ไม่ทำงานอยู่แล้วในช่วงนี้แต่อย่างใด
ไว้เหตุการณ์สงบค่อยใส่กลับคืน
3. หนุนให้รถจักรยานยนต์เอียงขึ้นประมาณ 30 องศา หรือที่ 2 นาฬิกา
เพื่อให้น้ำในท่อไอเสียไหลออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
4. จัดการฉีดล้างทำความสะอาดให้มากที่สุด เท่าที่จะทำความสะอาดได้
แล้วจัดการฉีดพวกน้ำยาโซ.. แล้วเช็คให้แห้ง
5. ห้ามสตาร์ทอย่างเด็ดขาด เพราะมีโอกาสไฟชอร์ทเสียหาย
6. ถอดขั้วบวกลบหม้อแบตเตอรี่ออกก่อน แล้วเช็ดให้แห้ง หรือเป่าลมไล่ความชื้น
หรือฉีดน้ำยา So.. สารพัดประโยชน์ เพราะไม่ทำปฏิกิริยากับไฟฟ้าและเครื่องยนต์มาก

7. ถอดขั้วหัวเทียนออกมาเช็คให้แห้ง ปล่อยรูหัวเทียนทิ้งว่างไว้
พร้อมกับเหยียบคันสตาร์ทเท้าไปเรื่อย ๆ เป็นการไล่น้ำบางส่วนออก
กับทำให้ลูกสูบคลายตัว/ไล่น้ำส่วนหนึ่ง ก่อนใส่หัวเทียนกลับตามเดิม

บางท่านให้เอาลมฉีดไล่น้ำลงไปเลย หรือใส่ autulube
แทนการฉีดน้ำยา So...ที่ไล่ความชื้นในเครื่องยนต์ออกมา
แต่ภาวะอย่างนี้ต้องทำถ้าไม่มีปั้มลมฉีดไล่ความชื้น

8. ถอดเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเพราะน้ำบางส่วน
อาจไหลย้อนเข้าทางท่อไอเสีย หรือซึมลงในอ่างเครื่องได้
น้ำมันเครื่องถ้าวิ่งครบหนึ่งสัปดาห์ ควรถ่ายทิ้งอีกครั้ง
เพราะสีจะขุ่นขาวน่าเกลียดมาก เพราะมีคาบน้ำปนอยู่ส่วนหนึ่ง
9. ถอดกรองอากาศออกทำความสะอาดเป่า/ตาก/อบให้แห้ง
หรือไม่ใช้เลยเป็นการชั่วคราว
10. ถ่ายน้ำมันเบ็นซินใส่ขวดแก้ว แล้วค่อยรินเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำมัน
ออกมาไว้เติมถังน้ำมัน ส่วนที่เป็นน้ำเททิ้งไป
ถ้าแกะสายน้ำมันไม่สะดวกอาจจะให้ถ่ายผ่านคาร์บูเรเตอร์ได้ (ไม่แนะนำ)
หลังเติมน้ำมันก็ถ่ายเททิ้งในคาร์บูเรเตอร์อีกครั้งเพราะอาจมีน้ำขังอยู่ทิ้งไป
11. เอาน้ำยาสารพัดประโยชน์พวกโซ..  ฉีดเข้าที่พวกปลั๊กไฟฟ้า
หรือจุดต่าง ๆ ถ้ามีปั้มลมก็จะช่วยได้เยอะ ในการไล่น้ำไล่ความชื้น
12. ต่อหัวเทียนและขั้วหัวเทียนเข้าตามเดิม จะต่อแบตเตอรี่ตามเดิม
แล้วขยันสตาร์ทสักพัก(รถจักรยานยนต์บางรุ่น
ไม่จำเป็นต้องต่อใช้แบตเตอรี่แต่อย่างใด



ถ้ายังสตาร์ทไม่ติดง่าย ๆ
ก็เริ่มที่ขั้นตอนที่ 7 อีกครั้ง
ต้องขยันเหยียบคันสตาร์ทเรื่อย ๆ
เป็นการไล่น้ำในห้องเครื่องกับให้ลูกสูบขยับตัว 


พอรถจักรยานยนต์สตาร์ทติดได้แล้ว
ก็เริ่มทำการขับขี่โฉบเฉี่ยวตามเดิมได้
แต่ต้องระมัดระวังพวกตะปู เศษแก้ว เศษของมีคม
เศษขยะที่มักจะออกมาออกันอยู่ตามท้องถนน
อาจจะทำให้ยางล้อรถจักรยานยนต์รั่ว
จะต้องเข็น/รุนกลับบ้าน ลำบากเข้าไปอีก

ส่วนตู้เย็นหลังล้างทำความสะอาดแล้ว
ให้แกะส่วนที่น้ำซีมเข้าเช็ดให้แห้ง
แล้วเอาพวกโซ...ฉีดไล่ความชื้นออกแล้วเช็ดอีกครั้ง
รวมทั้งปลั๊กไฟที่จมน้ำด้วย ใช้ฉีดพวกโซ..ฉีดเข้าไปได้เลย
เพราะไล่ความชื้นกับไม่ทำปฏิกิริยากับไฟฟ้าอยู่แล้ว
(ถ้ามีปั้มลมช่วยงานก็จะดีมากเลย)
รอสักพักก็เสียบใช้งานได้เลย
อาจไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มหรือ
ตามหาช่างไฟฟ้ามาช่วยแต่อย่างใด

บางรายที่หาดใหญ่ลองเสี่ยงเอาทีวีที่จมน้ำ
หรือวิทยุที่จมน้ำ มาฉีดล้างน้ำให้สะอาด
ล้างคราบโคลนคราบน้ำออกก่อน
แล้วฉีดด้วยพวกโซ...อีกเช่นกัน
แล้ววางผึ่งแดดผึ่งลมให้แห้ง
หลังจากนั้นประมาณอาทิตย์เศษ
ก็นำมาใช้งานได้ถือว่าโชคดีไป
เคยถามเพื่อนที่ทำแบบนี้ว่าทำไปทำไม ก็ได้คำตอบว่า
"เสี่ยงเป็นเสี่ยงกัน ไม่ได้ก็ต้องเสีย
หรือหาซื้อใหม่ กับหาร้านซ่อมก็ยากอยู่แล้ว"

ส่วนรถยนต์ก็หลักการณ์เดียวกัน
ของเหลว ของแห้งที่เปลี่ยนได้ก็เปลี่ยนให้หมด
เว้นแต่จะโชคร้ายที่กล่องดำ
หรือกล่องอิเลคโทรนิคจะเสียหาย
ถ้ารถยนต์รุ่นเก่าที่ไม่มีกล่องแบบนี้
ก็มักจะทำงานได้เลย โดยเฉพาะรถยนต์ใช้น้ำมันดีเซล
แต่อุปกรณ์บางอย่างอาจจะต้องเปลี่ยนใหม่
เช่น ไดสตาร์ท ที่ปัดน้ำฝน เป็นต้น

แต่อย่างว่าเหมือนที่ชาวบ้านมักจะชอบพูดกันว่า
ข้าวของเครื่องใช้ รถยนต์ รถจักรยานยนต์
ถูกน้ำท่วมก็เหมือนอาการแรกเริ่มเป็นมะเร็ง
เพราะพอสักพักจะเริ่มลาม เสียโน่นเสียนี่
มีรอยผุที่โน่นที่นี่ หรือชำรุดตรงโน้นตรงนี้
อันดับถัดมากลิ่นสาบโคลน สาบน้ำ ในรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์
แม้ว่าจะทำความสะอาดอย่างไรก็ตาม
มีกลิ่นติดอยู่เป็นเดือนแม้ว่าจะล้างสะอาดอย่างไรก็ตาม
เว้นแต่จะเปลี่ยนฟองน้ำ ที่หุ้มหลังคา ที่หุ้มฝากระโปรงหน้า
แล้วรื้อร้าง renovate หรือซ่อมกันแบบทุกจุดเลย

สรุปบทเรียนจากน้ำท่วมคือ
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนสำคัญที่สุด
ให้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องน้ำดื่มก่อน
อาหารและของแห้งให้สำรองไว้พอหนึ่งอาทิตย์
ช่วงเดือนวิกฤตของทุก ๆ ปี

เขียนขึ้นจากความทรงจำเก่า ๆ
ก่อนจะเลือนหายไปเหมือนน้ำท่วมที่ผ่านมา

จากเรื่องเดิมที่ผมเขียนไว้แล้วนำมาปรับปรุงใหม่
เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
หรือตาม link นี้เลยครับ

http://www.pantip.com/cafe/writer/topic/W9857733/W9857733.html

หมายเลขบันทึก: 405843เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2010 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ เป็นบันทึกที่มีคุณค่า ได้ความรู้ ไว้เตรียมพร้อมรับมือ กรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน จริงๆ ค่ะ

๑๐ ปีผ่านมาแล้วก็ยังจดจำช่วงเวลาที่ไปใช้ชีวิตที่หาดใหญ่ ปีนั้น แล้วก็เจอเหตุการณ์น้ำท่วม พอดี ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณสำหรับประสบการณ์ที่นำมาแบ่งปันค่ะ  แล้วจะนำไปบอกต่อนะคะ  มีเพื่อน ๆ อยู่ในหาดใหญ่หลายคนเหมือนกันค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท