ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

เสียงสะท้อน มุมมอง ในเวทีที่นคร ปมปัญหาพลังงานไฟฟ้าถ่านหิน-นิวเคลียร์


ปัญหาเรื่องเชพรอนยังไม่จบ ปัญหากรุงเทพ เรื่องโรงไฟฟ้ายังเข้ามาอีก กลวิธีถ่านหินสะอาดคนที่พูดว่าถ่านหินสะอาด ได้ไปกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าถ่านหินสะอาดแม่เมาะจะเอาคนออกจากพื้นที่ไปทำไม ? ประเทศญี่ปุ่นมีมาตรฐานวินัย ยังเกิดปัญหา แต่ประเทศไทยวินัยไม่มี และยังไม่ยอมรับความผิดของตัวเอง แล้วเรื่องนิวเคลียร์จะมีวินัยได้อย่างไร ? เจ้าหน้าที่จะเข้ามาทำอะไร ก็ต้องให้เกิดการโปร่งใสกับชาวบ้าน อย่านัดคุยตัวต่อตัว ไม่ต้องแอบทำ ตอบให้ได้ว่าพลังงานสะอาด สะอาดอย่างไร ?

เสียงสะท้อน มุมมอง ในเวทีที่นคร

ปมปัญหาพลังงานไฟฟ้าถ่านหิน-นิวเคลียร์

เรื่อง/ภาพ  สุจิตรา  หนูชู  และจินดารัตน์ เพิ่มลาภวิรุฬห์

ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน

 

       ในเดือนมิถุนายน จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เปิดเวทีเพื่อเรียนรู้ พลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งที่ทวิลโลตัส และ ปั๊มดอนแค อำเภอหัวไทร นี่คือเสียงสะท้อนและมุมมองที่ รัฐไม่อยากรับฟัง

ประเสริฐ  คงสงค์ ตัวแทนชาวบ้าน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช

       การลงไปในพื้นที่ของบริษัท มีการแอบแฝง และ ส่วนใหญ่จะแอบเข้าร่วมกับเวทีอื่น แล้วเหมารวมว่าประชาชนได้เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ของตนเอง โดยที่ อ.หัวไทร กฟผ.ได้เข้าร่วมเวทีวางแผนงานของ อบต.และร่วมกำหนดแผนด้วย โดยจะแจกสิ่งของเพื่อจูงใจประชาชน

การไฟฟ้าของอ.หัวไทร บอกชาวบ้านว่าคนหัวไทรมีไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอ แต่ความจริงการไฟฟ้าไม่ยอมเพิ่มหม้อแปลงให้ชาวบ้านทำให้เกิดไฟฟ้าตก และ บอกว่ามีไฟไม่พอใช้ จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ทุกอย่างมันได้มีการวางแผนไว้หมดแล้ว

       มาตรา 87 ในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีแต่มาตราชาวบ้านไม่เคยได้เข้าร่วม และ ไม่เคยมีบทบาทในการร่วมกำหนดอะไรเลย

       นักวิชาการอย่ามาโกหก  พลังงานลมไม่ได้มีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต  แต่มีปัญหาเรื่องของนโยบาย  ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย  ไม่ใช่เกิดจากการกำหนดของกระทรวงพลังงานอย่างเดียว เพราะคนที่ได้รับผลกระทบคือชาวบ้าน

       นายกได้ร่วมประชุม ที่โคเปนเฮเกน เรื่องสนธิสัญญาในการลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา  จึงได้รับการช่วยเหลือในเรื่องการผลิตไฟฟ้าที่สะอาดเรื่องพลังงานหมุนเวียน  แต่เมื่อกลับมาดูแผน พีดีพี  มีการกำหนดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่เห็นจะมีความสอดคล้องกันเลย

 

 

คุณละม้าย   แสนขวัญแก้ว  รองนายก อบจ.นครศรีธรรมราช

       ศักยภาพของลมที่ดีที่สุดคือที่ จ.นครศรีธรรมราช  แต่ที่ผ่านมายังเป็นกระบวนการทดลอง  ปัญหาก็คือรัฐบาลต้องการให้เกิดสิ่งเหล่านี้จริงหรือไม่? การเกิดสิ่งเหล่านี้จะไปลดทอนผลประโยชน์อะไรใครหรือไม่? 

       พลังงานถ่านหิน และ นิวเคลียร์ น่าจะเป็นพลังงานสุดท้ายที่เลือก เอาไว้เลือกตอนที่ไม่มีอะไรแล้ว เพราะมันเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่มีความยั่งยืน ต้องนำเข้า ไม่ได้ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศเลย การพัฒนาจะต้องทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีด้วย

สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ภายใต้กระบวนการมันจะนำไปสู่ความแตกแยกของคนในชุมชน  อยากฝากทุกฝ่ายหากจะดำเนินการอะไรก็ต้องให้เกิดความเข้าใจ และ ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกกับทุกฝ่าย

ประสพ   จันทร์ทองเดช ชาวบ้าน จาก อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช

        จากข้อมูลในเวทีวันนี้ เหมือนกับเป็นการเขียนเสือให้วัวกลัว ถ้าชาวบ้านที่ไม่ได้ฟังข้อมูล ได้รับรู้เข้าก็จะต้องกลัว และ สับสนอย่างแน่นอน สิ่งที่อยากจะฝาก ทั้งภาครัฐและเอกชน คือ สร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้ชัดเจน พลังงานก็ต้องรู้ข้อมูลสังคม มิฉะนั้นมันก็เกิดการแตกแยกในสังคมไม่สิ้นสุด

 

บุญเดิม เพ็งสวัสดิ์  ชาวบ้านจาก อำเภอนบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช

โครงการไฟฟ้าทำไมต้องลงมาที่ จ.นครศรีธรรมราช  ประชากรของนครศรีธรรมราชหนึ่งล้านห้าแสนกว่าคน ใช้ไฟฟ้าเพียง 3 เปอร์เซ็นต์  ที่เหลือเป็นภาคอุตสาหกรรม  บ้านผมค่าไฟฟ้าเดือนละ 200  แต่ห้างใช้ไฟฟ้าเดือนละ 200, 000 ยุบห้าง ลดการใช้แอร์ ก็สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ 

 

ดุษฎี    ปิยะกาญจน์  ชาวบ้าน จาก อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

ปัญหาเรื่องเชพรอนยังไม่จบ ปัญหากรุงเทพ เรื่องโรงไฟฟ้ายังเข้ามาอีก  กลวิธีถ่านหินสะอาดคนที่พูดว่าถ่านหินสะอาด ได้ไปกี่เปอร์เซ็นต์  ถ้าถ่านหินสะอาดแม่เมาะจะเอาคนออกจากพื้นที่ไปทำไม ? ประเทศญี่ปุ่นมีมาตรฐานวินัย ยังเกิดปัญหา  แต่ประเทศไทยวินัยไม่มี และยังไม่ยอมรับความผิดของตัวเอง แล้วเรื่องนิวเคลียร์จะมีวินัยได้อย่างไร ? เจ้าหน้าที่จะเข้ามาทำอะไร ก็ต้องให้เกิดการโปร่งใสกับชาวบ้าน อย่านัดคุยตัวต่อตัว ไม่ต้องแอบทำ ตอบให้ได้ว่าพลังงานสะอาด สะอาดอย่างไร ?

 

คุณไพโรจน์   รัตนรัตน์ ชาวบ้าน จาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

       หากโรงไฟฟ้าจะเกิดที่นคร ผมเชื่อว่าวิถีชีวิตคนนคร ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นเมืองเกษตร และเป็นพื้นที่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราเห็นตัวอย่างการพัฒนาจากพื้นที่อื่นๆ แล้ว ทำไมต้องเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชายฝั่ง พื้นที่ทรัพยากร ซุปเปอร์มาเกตของประชาชน  ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม

เราไม่ต้องการให้คนนครเหมือนกับมาบตาพุด ที่กุ้งหอยปูปลาในทะเลกินไม่ได้ แล้วเราจะให้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน มาทำให้พระธาตุเมืองนครที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองสูญเสียไปได้อย่างไร

 

จำรูญ เกิดดำ ชาวบ้าน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช

สิ่งที่จะขอฝาก พลังงานจังหวัด กระทรวงต้องประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ข้อมูลเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร และต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจน มีเอกสารให้ชาวบ้านได้รับรู้ข้อมูล

 

ธวัฒน์ ทวีชน (สื่อวิทยุชุมชน คลื่น 103.25 ศูนย์การเรียนรู้ลุ่มน้ำปากพนัง อำเภอหัวไทร)

       พลังงานถ่านหินเป็นพลังงานที่สะอาด ที่ประกอบด้วยขี้เถ้า  ขี้โคลน สารหนู สารปรอท  โครเมี่ยม     แคทเมี่ยม  สารเหล่นี้ถ้ามีการปนเปื้อนไปในน้ำที่เราดื่ม ก็จะไปทำลายอวัยวะ ข้อมูลตรงนี้การไฟฟ้าไม่บอกเรา  บอกแต่ว่าถ่านหินดี  ดีอย่างไร ? ข้อเสนอกังหันลม พึ่งพาพลังงานทางเลือก เราต้องสนับสนุนให้มากขึ้น กังหันลมควรมีมากกว่าแค่การทดลอง  พลังงานคลื่นก็น่าทำเพราะหัวไทรคลื่นดี กินถนนไปเยอะแล้ว อาจจะเป็นการมาแก้ไขเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง  แต่ปัญหาของพลังงานหมุนเวียนคือ คอรัปชั่นได้น้อย 

       พลังงานหมุนเวียนคือพลังงานของประชาชน  พลังงานฟอสซิลคือพลังงานของพ่อค้า

 

มณเฑียร ธรรมวัติ ประธานสภาพัฒนาการเมืองภาคใต้

ตามรัฐธรรมนูญ การจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เราต้องมีการศึกษา รัฐ ได้มีการศึกษาทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่พลังงานเหล่านี้แล้วหรือไม่? เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิเลือกเองได้ ถ้าเราจะมีพลังงานสะอาดใช้ แต่จะต้องเพิ่มค่าไฟฟ้า ชาวบ้านยินดีจ่ายหรือไม่ ชาวบ้านมีสิทธิในการเลือก ลงทุนแพงในครั้งแรก แต่สะอาดและยั่งยืน จะดีกว่าหรือไม่?  ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมาฟังเสียงของคนบ้านเราก่อนจะเกิดการพัฒนาอะไร รัฐบาลกล้าที่จะลงทุนที่จะให้ศึกษาเรื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ทำไมไม่กล้าที่จะใช้ชาวบ้านศึกษาพลังงานทางเลือก เคยมีการสนับสนุนกับชาวบ้านตรงส่วนนี้บ้างหรือไม่?

 

คุณสุรชัย แซ่ด่าน กลุ่มแดงสยาม

ผมพยายามทำใจให้เป็นกลาง ที่จะไม่คัดค้าน  แต่จะขอเสนอแนะว่า ในส่วนของฝ่ายที่จะสร้างนิวเคลียร์ ควรต้องมาพูดเรื่องจริง เพราะเชื้อเพลิงที่จะมาสร้างมันไม่ได้ผลิตให้คนนครอย่างเดียว แต่การผลิตเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรม และ ภาคบริการ “อย่ามาหลอกว่าเป็นทางเลือกของคนนคร มันก็นำไปใช้ให้คนทั้งประเทศอยู่แล้ว ” ส่วนประเด็นที่ว่าทำไมต้องมาเลือกที่นคร ก็เพราะว่า ภาคเหนือที่แม่เมาะปัญหาเรื้อรังยังแก้ไม่ได้ที่  ภาคตะวันออก ที่มาบตาพุด ก็เช่นกัน    แต่ที่ ภาคใต้ 1. เป็นภาคที่นักการเมืองไม่คัดค้าน 2.เขาคิดว่าองค์กรภาคประชาชนไม่เข้มแข็ง 3.พื้นที่หัวไทรเป็นพื้นที่ล่มสลายเรื่องนากุ้งร้าง จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจะสร้างมากที่สุด ทางเลือกอื่นยังมีอีกหรือไม่ ก่อนที่จะเลือกนิวเคลียร์และถ่านหิน ให้มันเป็นทางเลือกสุดท้ายจะสร้างช่วงลูกหลานก็ได้แต่ไม่ใช่ตอนนี้ การผลิตเพื่อสำรองไฟฟ้าเราเข้าใจ แต่การผลิตจะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชน นี่คือเรื่องที่สำคัญที่สุด

 

คุณทรงวุฒิ พัฒแก้ว  ชาวบ้าน จาก อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

ฝากพลังงานจังหวัด ตอนนี้ กฟผ.ลงพื้นที่หัวไทรแล้ว ไปแบบแอบเวทีคนอื่น เอาของมาแจก แจกผ้าถุงกับเสื้อ คนใต้เขาฝากด่าแม่มาว่า” ความรู้อะไรอยู่ในผ้าถุงกับเสื้อ” เรื่องนี้เชื่อว่าพลังงานก็รู้ และ อาจจะรู้เห็นด้วยก็ได้ ระวังชาวบ้านจะฟ้องว่าท่านละเลยหน้าที่ และ ระวังด้วยว่าท่านจะต้องไปพร้อมกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

โรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่ามาแบบเชือกล่ามวัว พูดแบบไอ้เท่งไอ้ทอง คือ เราไม่ได้ขโมยวัว เราเอาเชือกแต่วัวมันตามมาเป็นฝูง เชื้อเพลิงที่จะไปซื้อมาแล้ว ถ้าไม่ได้สร้างใครจะรับผิดชอบเสียค่าโง่ ที่รัฐบาลได้จ่ายไปแล้ว ถ้าไม่ใช่พี่น้องประชาชนทุกคน

ท่าเรือน้ำลึก เป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่าโรงไฟฟ้า ปัญหาการกัดเซาะ ที่จะทำให้ชาวบ้านไม่มีที่อยู่ คนนครน่าจะเสนอข้อคิดเห็นแก่นายกเพื่อเสนอว่าประชาชนมีข้อคิดเห็นต่อโรงไฟฟ้าและการพัฒนาจังหวัดอย่างไร

คุณอุทัย  ภูริพงศธร  สำนักงานพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช

       พลังงานจังหวัด เป็นหน่วยงานปฏิบัติ  ข้อกังวล ข้อห่วงใย ข้อสังเกต ต่างๆที่ได้ฝากให้ไว้ ภาครัฐก็ต้องนำกลับไปพิจารณา สุดท้ายการจะสร้างโรงไฟฟ้าชนิดใดก็ตามจะต้องได้รับความเห็นชอบจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างแท้จริง เราไม่ดึงดันที่จะสร้างอย่างแน่นอน เรื่องนี้ขอยืนยัน ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ฝากข้อกังวล ส่วนของพลังงานจังหวัดก็จะทำหน้าที่ในส่วนที่สามารถทำได้อย่างเต็มที่

คุณศุภกิจ  นันทวรการ      มูลนิธินโยบายสุขภาวะ

สิ่งสำคัญที่สุดคือกระบวนการเรียนรู้ ทำอย่างไรถึงจะให้เกิดได้ ส่วนการเรียนรู้ที่สำคัญอันหนึ่งคือ การลงมือทำ ถ้าพี่น้องจะทำโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่นั้นทำได้ยาก แต่พลังงานหมุนเวียน เราเรียนรู้และลงมือทำได้ นคร ในพื้นที่บ้านคีรีวง  มีการทำพลังงานกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ พัฒนาโครงการจนจะสามารถทำขายเป็นวิสาหกิจชุมชน ,พะโต๊ะ จ.ชุมพร, ตำบลคลองรี จ.สงขลา แก๊สชีวภาพจากมูลวัว, แก๊สชีวภาพจากน้ำเสียยางแผ่น บ้านหัวพลู จ.นครศรี ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ทำได้ 

คุณวิฑูรย์  เพิ่มพงศาเจริญ    มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ

       มีข่าวว่ารัฐบาลจะย้ายโรงไฟฟ้าที่บางคล้า ไปสร้างที่อื่น  อยากฝากพี่น้องชาวนคร ว่า ถ้าท่านสู้เฉพาะจังหวัดถ้าเข้มแข็งจริงก็จะสามารถค้านได้ แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับชาติ เราจะต้องร่วมมือในการค้านเพื่อให้โรงไฟฟ้าถ่านหิน และ นิวเคลียร์ ไม่ต้องเป็นทางเลือกกับคนทั้งประเทศเลย

คำสำคัญ (Tags): #ถ่านหิน#พลังงาน
หมายเลขบันทึก: 405451เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2010 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท