ดนตรีบำบัด-ธรรมะMobile


ความเป็นมาและความสำคัญของนวัตกรรม 

ปัจจุบันความก้าวหน้าในทางวิทยาการทางการแพทย์  ทำให้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยให้อยู่รอดได้มากขึ้น  โดยตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมามีความเชื่อทางวิทยาการทางการแพทย์เหล่านี้สามารถจัดการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิตได้  แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่บุคคลรอบข้าง เช่น ญาติ ครอบครัว คู่สมรส ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์จะรับมือกับการสูญเสีย  เมื่อทราบว่าบุคคลที่ตนรักหรือผู้ป่วยกำลังจะเสียชีวิต  แต่ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ถูกละเลย ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมในวาระสุดท้ายของชีวิต  ดังนั้นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย  จึงมีความสำคัญอย่างมากเพื่อให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเสียชีวิตโดยไม่ต้องทุกข์ทรมาน  และบุคคลรอบข้างสามารถยอมรับได้กับความสูญเสีย

ปัจจุบันมีความพยายามที่จะเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย  และมีหลายแนวคิดเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้การแพทย์ทางเลือกในการบำบัดรักษา

เป้าหมายหลักในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายคือ  ให้ผู้ป่วยมีความสบายกายและมีสุขภาพจิตที่ดี  และในบางครั้งอาจต้องมีการตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยในด้านศาสนาและความเชื่อ  การอนุญาตให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้ใช้ศาสนาและความเชื่อเพื่อให้เกดความรู้สึกผ่อนคลายสบายใจอาจทำให้การเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วยราบรื่นขึ้น  ผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิตมักจะค้นพบสัจธรรมของชีวิต  ศาสนาจะทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะสงบและมีสมาธิ  ทำให้การจากไปอย่างสงบโดยไม่ทุรนทุรายหรือทุกข์ทรมาน

การนำดนตรีมาใช้รักษาความเจ็บป่วยได้มีมานานหลายพันปีแล้วในยุคกรีกโบราณ  ซึ่งเชื่อว่าเทพเจ้าแห่งดนตรีมีชื่อว่า Apolo จะช่วยรักษาความเจ็บป่วย ขับไล่วิญญาณชั่วร้ายได้โดยใช้เสียงดนตรีขับกล่อมผู้ป่วย  ได้มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยผลของดนตรีในแง่การรักษาอย่างจริงจังมากว่า 50 ปีแล้ว Buckwalter et.al.1985 พบว่าดนตรีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์  สามารถนำมาใช้ร่วมกับการรักษาทางการแพทย์ และได้ผลดีในเรื่องความเจ็บปวด  ลดความวิตกกังวล ความกลัว เพิ่มกำลังการเคลื่อนไหว สร้างแรงจูงใจให้เกิดสติความนึกคิด  อารมณ์จิตใจที่ดี  ช่วยให้ร่างกายสดชื่นผ่อนคลาย

หอผู้ป่วยพิเศษเฉลิมฯ4 เป็นหอผู้ป่วยแผนกอายุรกรรมจึงพบว่ามีผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นจำนวนมาก  ดังนั้นหอผู้ป่วยพิเศษเฉลิมฯ4  จึงคิดนวัตกรรมการดูแลผู้ปวยระยะสุดท้ายขึ้นเป็นการพัฒนาต่อจากการดูแลจากทีม Palliative care แนวทางการดูแลผู้ป่วยเน้นให้ผู้ป่วยได้รับความสุขสบายและตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ

ผู้ป่วย มีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีศักดิ์ศรีและใช้ชีวิตที่เหลืออยู่มีค่ามากที่สุด  ได้อยู่ใกล้บุคคลอันเป็นที่รัก อบอุ่นหลุดพ้นจากความเครียด  ความวิตกกังวล  และความเจ็บปวด เพื่อจากไปอย่างสงบ

วัตถุประสงค์ 

1.เพื่อให้ผู้ป่วยลดความรู้สึกเจ็บปวด  มีความทนทานต่อความเจ็บปวดได้มากขึ้น ลดความวิตกกังวลและความกลัว

2.เพื่อให้ผู้ป่วยได้ผ่อนคลายจิตใจ มีความสุขเพลิดเพลิน ลืมความทุกข์ ความเจ็บปวดได้ชั่วขณะ เป็นการน้อมจิตของผู้ป่วยให้บังเกิดความสงบ

กลุ่มเป้าหมาย

ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยที่มีความเจ็บปวด ผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวล ที่Admitอยู่ในหอผู้ป่วยพิเศษเฉลิมฯ4

ขั้นตอนวิธีการใช้ดนตรีบำบัดและธรรมะMobile

1. ประเมินความต้องการของผู้ป่วยก่อนว่าผู้ป่วยมีความพร้อมที่จะรับฟังดนตรี/ธรรมะ  ควรหลีกเลี่ยงในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ชอบ

2.สำรวจความคิดเห็นผู้ป่วยในเรื่องประสบการณ์ทางด้านดนตรี หรือธรรมะที่ผู้ป่วยชอบซึ่งจะช่วยให้การจัดกิจกรรมได้ง่ายขึ้น

3.จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สุขสบายที่สุด โดยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สบายไม่อึดอัด  ใช้หมอน ผ้าห่ม พยุงปรับให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่เหมาะสม

4.ควรให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก  อุณหภูมิเย็นสบาย  ไม่มีเสียงรบกวน  สะอาดเรียบร้อย

5.  จัดให้เจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือดูแล สอน ให้คำแนะนำการใช้เครื่องเสียง ผู้ป่วยและญาติสามารถใช้เครื่องเสียงได้ด้วยตนเองตามสะดวก

6.มีการประเมินความเจ็บปวด ความวิตกกังวล ความพึงพอใจ ก่อนและหลังทำ

7.การฟัง อาจให้ฟังตามอาการผู้ป่วยหรือเปิดฟังเป็น Background เบาๆตลอด  ร่วมกับการใช้เทคนิคการผ่อนคลาย  คือให้ผู้ป่วยนอนในท่าที่สบายผ่อนคลายหลับตาสงบนิ่ง ไม่เกร็ง ทำให้เกิดความรู้สึกคลายตัวของกล้ามเนื้อตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า  ควบคุมลมหายใจให้ราบเรียบไม่มีเสียงดังในขณะหายใจเข้าออก  สูดหายใจลึกๆยาวๆช้าๆ  จังหวะสม่ำเสมอ ให้ผู้ป่วยจินตนาการนึกถึงภาพที่ทำให้มีความสุข สิ่งที่ผู้ป่วยชอบ

8.ให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการคัดเลือกดนตรี เทปธรรมมะ บทสวดมนต์ ที่ผู้ป่วยชอบและคุ้นเคย

9.ลักษณะของดนตรีที่ใช้เป็นเพลงบรรเลง  ไม่มีเนื้อร้อง  มีเสียงธรรมชาติ เช่น น้ำตก เสียงนกร้อง มีจังหวะที่ช้า มั่นคง สม่ำเสมอ ระดับเสียงไม่ดังมาก ทำนองราบเรียบ นุ่มนวลผ่อนคลาย

          นอกจากจะใช้ดนตรีบำบัดและฟังบรรยายธรรมะ/บทสวดมนต์แล้ว หอผู้ป่วยพิเศษเฉลิมฯ4ยังเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้มีการประกอบศาสนกิจได้ในหอผู้ป่วย เช่น การทำบุญสังฆทาน

การทำบุญตักบาตร  จัดทำแผ่นบทสวดมนต์ติดไว้ที่หัวเตียงผู้ป่วย  และในผู้ป่วยที่ถึงแก่กรรมมีการแต่งหน้าให้สวยงาม(ในกรณีที่ญาติผู้ป่วยอนุญาตหรือเป็นความประสงค์ของผู้ป่วยที่สั่งไว้)

นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยพิเศษเฉลิมฯ4ร่วมกันจัดทำดอกไม้ประดิษฐ์จากกระดาษวัสดุสำนักงานที่เหลือใช้เพื่อใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยถึงแก่กรรม

งบประมาณ

1.รับบริจาคเครื่องเล่นเทป /CD จากคุณพรรณทิพย์

2.รับบริจาคแผ่นเสียง CD/ เทป ดนตรีบรรเลง การบรรยายธรรมะ การสวดมนต์

จากคุณพรรณทิพย์ และวราภรณ์

3.ขอเสนอโรงพยาบาลจัดทำตู้ใส่เครื่องเล่นเทป/CD ที่มีล้อสามารถเคลื่อนที่ได้

4.รับบริจาคเครื่องสำอางจากวราภรณ์

5.เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยพิเศษเฉลิมฯ4จัดทำดอกไม้ประดิษฐ์จากวัสดุสำนักงานที่เหลือใช้

 

หมายเลขบันทึก: 403971เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2010 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 00:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท