ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่นาข่าบุรี (รพ.สมเด็จพระยุพราชบ้านดุง)


จิตแจ่มใสกายแข็งแรง

   เมื่อ 18-20 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา ได้ไปร่วมจัดกิจกรรมให้กับพี่น้องชาวบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพผู้มีความเสี่ยงโรคเมตาบอลิคซินโดรม ที่นาข่าบุรีรีสอร์ท ผู้เข้าอบรมเป็นข้าราชการครู กรอบสำหรับการอบรมในครั้งนี้คือ หลักการ 3 อ.เช่นเคย

  สมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมมีประมาณ 80 คน ทีเคยอบรมมาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2552 ก็มีรอบนี้ก็มาพบกันอีก ถามว่าอบรมไปแล้วไม่ทำให้ดีขึ้นหรือ เขาบอกว่าดีขึ้น น้ำหนักลด นำตาลลด แต่ที่มาเพราะอยากเห็นหน้า(นั่น..! หวานซะ..น้ำตาลในเลือดวิทยากรกระเพื่อมเลย)

  หลายแห่งที่ไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้วิธีการออกกำลังกายไป โดยแต่ละวิธีก็ล้วนแล้วแต่อยู่ใกล้ชิดกับการใช้ชีวิตประจำวันทั้งนั้นเช่น

                                     เก้าอี้ประกอบจังหวะ

                                  ยางยืดประกอบดนตรี

                                           ลีลาไทยกายแข็งแรง

และอีกหลากหลายวิธีที่นำเสนอตลอด 3 วัน พร้อมทั้งช่วยเสนอแนะว่าถ้าต้องการเริ่มต้นอย่างจริงจังและต้องการให้ยั่งยืน สำหรับมือใหม่หัดออก(กำลังกายเพื่อสุขภาพ)ขอเสนอแนะดังนี้ครับ

1. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน หลายคนตั้งเป้าหมายว่าเข้าร่วมอบรมคือต้องการมีสุขภาพดี ฟังดูดี แต่ยังคลุมเครือ เพราะคำว่าสุขภาพดียังกว้างเกินไป ในความคิดของผม เป้าหมายที่ชัดเจนต้องสามารถวัดได้ออกมาเป็นหน่วยวัด จะชัดเจนที่สุดเช่น น้ำหนัก รอบเอว ปริมาณน้ำตาลหรือคลอเรสเตอรอลในเลือดเป็นต้น ให้เวลาในการกลับไปทำการบ้าน แล้วเรียกกันมาประเมินอีกครั้ง ก็จะทราบผล ว่าพัฒนามากน้อยเพียงใด

2. เริ่มปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะกับตนเอง(ที่ชื่นชอบ) ไม่ว่าจะเป็นแบบสากล หรือแบบภูมิปัญญาก็ได้ เป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องลงทุนมากนัก ไม่ต้องใช้สถานที่ หรืออุปกรณ์ที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน  ท่าทางขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แล้วลงมือทันทีที่นึกได้(อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง)

3. เสริมแรงใจตัวเองโดย  

3.1 พยายามเข้าร่วมกลุ่มกับคนที่มีความชอบกิจกรรมแบบเดียวกับที่เรากำลังปฏิบัติอยู่ขณะนั้น เราจำเป็นต้องอาศัยพลังของกลุ่มมาช่วยกระตุ้นให้เราฮึดสู้ (ปฏิบัติคนเดียวไม่ค่อยยั่งยืนหรอกครับ ไปถามท่านที่ซื้ออุปกรณ์การออกกำลังกายจาก TV Direct เอาเองก็จะรู้ เครื่องมือเหล่านั้นถูกทิ้งให้ใยแมงมุมขึ้น มามากมายแล้วเพราะขาดพลังกลุ่มมาช่วยดึง)

3.2 ให้รางวัลทุกครั้งที่ทำสำเร็จ  ทุกครั้งที่เกี่ยวกับการออกกำลังกาย เช่น รองเท้าสวยๆ อาหารเสริมสุขภาพ อุปกรณ์กีฬาใหม่ๆ สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ เป็นต้น

3.3 พูดและเชียร์ตัวเองทุกครั้งที่มีโอกาส คงเคยเห็นนักกีฬาที่กำลังแข่งขันบ้างนะครับ สังเกตเห็นบ้างไหมครับ เมื่อเขากำลังถูกคู่แข่งขันกดดัน หรือทำคะแนนได้ เขาจะตะโกนดังๆ นั่นแหละครับพูด หรือเชียร์ตัวเอง จะทำให้เรารู้สึกฮึกเหิม

3.4 ความเบื่อ มีด้วยกันทุกคน เพราะธรรมชาติทุกคนก็อยากสบายด้วยกันทั้งนั้น การตื่นมาวิ่งแต่เช้าตรู่ หรือการต้องมาออกกำลังกายหลังเลิกงาน เป็นอะไรที่ฝืนจริงๆ ยิ่งต้องปฏิบัติกิจกรรมซ้ำซาก ยิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้น เปลี่ยนกิจกรรมบ้าง หรือเปลี่ยนเส้นทางบ้างจะทำให้รสชาดเปลี่ยนไปในทางที่ดี

     4. ประเมินตัวเองเป็นระยะ  ฟังเสียงของร่างกายตลอด หมายถึงมีอาการผิดปกติหรือไม่ในขณะที่ปฏิบัติกิจกรรม บาดเจ็บตรงบริเวณใดหรือไม่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับเรา ขณะเดียวกันให้ตรวจสอบผลที่ได้รับจากการออกกำลังกายว่า ตอบสนอง กับเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้มากน้อยเพียงใด

     พร้อมรึยังครับที่จะออกกำลังกาย ถ้าพร้อมแล้วเราไปออกกำลังกายด้วยกันเถอะ

 

                                            ด้วยรัก

                                               ไทญ้อ เมืองท่า

 

หมายเลขบันทึก: 403890เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2010 08:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท