รำลึก ๑๐๐ ปี วันสวรรคต ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง ไปดูงานสื่อสารที่ยุโรป


จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาดูงานวิทยาการด้านการสื่อสารอันทันสมัยจากการประภาสยุโรปทั้งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ได้นำมาสู่การสถาปนาระบบการสื่อสารในประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2418 โดยมีการลงมือสร้างทางสายโทรเลข จนสามารถเปิดให้บริการรับ-ส่งโทรเลขแก่สาธารณชนได้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2426 และอีก 3 ปีต่อมาได้เริ่มเปิดให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและธนบุรี เช่าใช้เครื่องโทรศัพท์ระบบ “แม๊กนิโต (Magneto System)”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประภาสยุโรปครั้งที่ 2  เมื่อปีมะแม รัตนโกสินทรศก 126 หรือพุทธศักราช 2450 การประพาสยุโรปครั้งนั้นรวมระยะเวลา 225 คืน พระองค์ท่านได้ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับพระราชภารกิจแต่ละวันนับตั้งแต่เสด็จลง “เรือพระที่นั่งมหาจักรี” เมื่อวันพุฒที่ 27 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 ออกจากกรุงเทพมหานคร ผ่านสถานที่ต่างๆ ในแต่ละประเทศตามเส้นทางที่กำหนดในการเสด็จประพาสดังกล่าว โดยทางเรือและรถไฟตามลำดับ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยียม เดนมาร์ก และประเทศนอร์เวย์

            ขณะนั้นเป็นช่วงที่เทคโนโลยีโทรเลขแบบไร้สาย หรือที่เรียกว่า วิทยุโทรเลข (Radio Telegraph, Wireless Telegraph หรือ Continuous Wave ย่อว่า CW)- เป็นเทคโนโลยีอันทันสมัย เป็นที่นิยมและตื่นเต้นของผู้คนในยุคนั้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรและดูงานเกี่ยวกับวิทยาการอันทันสมัยนี้ เพื่อนำมาใช้งานในการสื่อสารของสยามในเวลาต่อมา

            พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน พระราชหัตถเลขาฉบับที่ 32 คืนที่ 133 วันอังคารที่ 6 สิงหาคม รัตนโกสินทรศก 126 (พ.ศ. 2450) ณ เมืองเบอลิน  ประเทศเยอรมันนี  พระองค์ท่านได้มีพระราชหัตถเลขาความตอนหนึ่งไว้ว่า “...เวลา 4 โมง ไปขึ้นรถไฟทางที่มานั้นเอง ไปตำบลเนาเอน ซึ่งเป็นที่ตั้งเสาโทรเลขไม่มีสาย อยู่นอกเมืองเบอลิน เมื่อผ่านมาก็แลเห็นระยะทาง 45 มินิต ไม่มีสเตชั่นในที่นั้น เขาจัดรถโมเตอคาร์มารับหลายหลัง  ไดเรกเตอบาชมันน์เป็นผู้รับรองกับเคานต์อาร์โก ซึ่งเป็นผู้คิด เป็นผู้สันทัดในเรื่องไฟฟ้า แลผู้อื่นๆ อิกหลายคนในพวกกัมปนีนั้น การที่ต้องออกไปโมเตอคาร์ตามถนน จนถึงที่น่าเสาสูง ต้องไปในท้องทุ่งซึ่งไม่มีถนน แล่นดื้อๆ ไปอิกจนถึงที่เสานั้น มีโรงหลังหนึ่งสองชั้น ชั้นล่างเป็นที่ตั้งเครื่องที่จะใช้โทรเลข ชั้นบนเป็นที่ตั้งแบตเตอรี่ไฟฟ้า มีกระบอกแก้วสูงประมาณสองศอกเศษมาก มีลวดขดแบตเตอรี่ใหญ่ๆ 4 เครื่องจักรสำหรับหมุนแบตเตอรี่เปนโรงติดอยู่กับโรงสองชั้นนั้น เป็นเครื่องจักรแปดสิบแรงม้า เวลาเปิดให้ไฟฟ้าเดินเสียงดังเปรียะลั่นสดุ้งได้ สายไฟโต ไดเรกเตอบาชมันน์ เลกเชอเทศนาในวิธีที่ใช้เครื่องโทรเลขไม่มีสาย จบแล้วจึงกลับลงมาลองบอกไปหัวเมืองข้างฝ่ายตวันตกเฉียงใต้  รับแลตอบกันแล้วจึงได้ไปดูที่เสาเสานั้นทำเป็นโครงเหล็ก รูปสามเหลี่ยมเหมือนตะใบ แต่ก้านที่ปักลงดินนั้นเปนก้านเดียวเหมือนตะใบ ปักลงในด้าม ฐานเปนศิลา มีรยางค์ใหญ่สายเหล็กสามรยางค์ แล้วขึงลวดจากเสานั้นออกไปเหมือนร่มรูปเปนกระโจม มีสายทีทแยงออกไปจากเสาอิก เขาก็เรียกว่าร่ม ด้วยรูปมันเหมือนร่ม ที่ขึงสายลวดออกไปเช่นนั้น แลมีสายลวดออกไปจากเสา ติดกับสายที่ขึงเป็นร่มนั้น เพื่อจะไม่ให้เคอรันต์คือสายไฟฟ้าเดินแพร่ไป

                อันเรื่องโทรเลขไม่มีสายนี้ เปนข้อที่วิวาทถุ้มเถียงกันอยู่มากในระหว่างผู้คิด ซึ่งเปนชาวอิตาเลียนคนหนึ่ง ชื่อมาโคนี แลเคานต์อาร์โกคนหนึ่ง ซึ่งเปนเยอรมัน ฝ่ายเยอรมันกล่าวว่า ในเรื่องที่คิดเห็นว่าสายของไฟฟ้าเดินได้ในอากาศไม่ต้องมีสายลวดนั้น เปนความคิดของโปรเฟสเซอแมกสเวลคนอังกฤษ แต่โปรเฟสเซอฮารซ คนเยอรมันเปนคนที่คิดว่าจะใช้พูดกันได้ โปรเฟสเซอฮารซตายเสียเร็ว มาโคนีซึ่งเปนคนหนุ่มที่โปรเฟสเซอฮารซใช้อยู่รู้ความคิดอันนั้น จึงไปอเมริกาและไปคิดเรื่องโทรเลขไม่มีสายนี้ขึ้น ฝ่ายเคานต์อาร์โกเยอรมันก็คิดอยู่ทางหนึ่ง แต่มาโคนีสำเร็จได้ทดลอง อังกฤษรับใช้จนกระทั่งถึงอเมริกาแลฝรั่งเศสรับใช้ เป็นอันโทรเลขอย่างมาโคนีเกิดขึ้น ใช้แพร่หลายอยู่แถบทางนั้น ข้างฝ่ายเคานต์อาร์โกคิดอยู่ทางหนึ่งข้างเยอรมัน ก็มีที่ใช้ฝ่ายหนึ่ง แต่กัมปนีทั้งสองกัมปนีนั้นลอยกัน ข้างมาโคนีไม่ยอมรับโทรเลขอย่างอาร์โก ว่าไม่เข้าใจ แต่ข้างฝ่ายอาร์โกบอกว่าข้อซึ่งผิดกันในระหว่างโทรเลขอย่างมาโคนีกับของเขา ผิดกันเพียงเกลียวไฟฟ้ายาวแลสั้น ซึ่งเขาจับได้แล้ว โทรเลขทั้งสองชนิดนี้ควรจะใช้ด้วยกันได้ เพราะเหตุอันนี้ จึงต้องให้เกิดประชุมคอนเฟอเรนซ์นานาประเทศที่จะนัดสัญญากันเปิดสเตชั่นใช้โทรเลขไม่มีสายใช้ให้ถึงกันได้ แต่มาโคนีไม่ยอม อังกฤษซึ่งเปนผู้ลงเงินทองทำอย่างมาโคนีขึ้นไว้มาก จึงต้องไม่ยอมใช้ด้วย ในการที่มาโคนีแกล้งบิดเบือนเพื่อจะไม่รับโทรเลขข้างฝ่ายอาร์โกนั้น ยังมีเรื่องต่อไปอิก คือ เรือลูกค้าชาวเยอรมันไปอับปางใกล้ฝั่งอเมริกา ได้ส่งโทรเลขไม่มีสายไปที่สเตชั่นมาโคนี กัมปนีมาโคนีแกล้งทำไม่เข้าใจเพิกเฉยเสียจนเรือนั้นอับปาง รัฐบาลอเมริกันได้ตั้งข้าหลวงตรวจสอบ ได้ความชัดเจนจึงได้เลิกไม่ใช้โทรเลขมาโคนี ข้อความทั้งหมดนี้เป็นฝักฝ่ายข้างเยอรมันเขากล่าว 

                แต่ในข้อซึ่งจะเข้าใจว่าโทรเลขไม่มีสายเปนอย่างไรนั้น ยากที่จะอธิบายด้วยหนังสือไม่มีรูปเขียน แต่ถ้าจะว่าโดยย่อพอเปนเค้าลองดูเห็นจะพอเข้าใจได้บ้างกระมัง ตั้งต้นคือแสงอย่างเช่นแสงพระอาทิตย์กับสายคือเคอรันต์ของไฟฟ้าเปนอย่างเดียวกัน ถ้าหากว่าแสงพระอาทิตย์ก็ดี ไฟฟ้าก็ดี ไม่กระทบอีเท่อ ก็ไม่มีปรากฏ อีเท่อนั้นเปนปรมาณูอันหนึ่ง ซึ่งอยู่ในลมอากาศที่ไม่อาจจะชั่งได้ ส่วนลมอากาศอาจจะชั่งได้ เช่น ลมแกสเบากว่าลมสามัญ เมื่อเป่าเข้าไว้ในลูกบาลูนก็อาจที่จะลอยขึ้นไปได้บนลม เพราะเหตุที่เบากว่าลมเช่นนี้เปนต้น ส่วนอีเท่อนั้นชั่งไม่ได้ แต่รู้ได้ว่าอีเท่อนั้นมีอยู่ เมื่อแสงพระอาทิตย์มากระทบอีเท่อก็ทำให้แสงสว่างได้ ฉันใดไฟฟ้าไปกระทบอีเท่อ ก็ทำให้เกิดแสงสว่างปลาบๆ สายไฟฟ้านั้น เมื่อตัวผู้กับตัวเมียกระทบกันทำให้เสียงลั่นเปรียะๆ แต่ถ้าหากว่าจะตั้งเสาขึ้นไว้สองเสา เปิดให้เคอรันต์เดินไปหากัน จะเดินพร่าไปหมดออกโดยรอบเปนวงกลม เปรียบเหมือนเอาก้อนศิลาโยนลงไปในน้ำ น้ำก็จะกระเซนรอบไป ไม่สำเร็จกิจในการที่จะบอกข่าวคราวอันใดกันได้  ข้อซึ่งไปรู้ว่าจะใช้ได้นั้น คือมีหลอดแก้วอันหนึ่ง เอาโลหะที่กรางเลอียดเล็กๆ เหล็กฤาทองใช้ได้หมด บรรจุเข้าในกลักแก้วนั้นเอาเข้าไว้ในระหว่างกลางแบตเตอรี่ไฟฟ้าต่อกันทั้งสองข้าง ไฟฟ้านั้นจะไม่เดินเพราะไม่ผ่านอีเท่อ เพราะเหตุที่รู้ทางที่จะกันไฟฟ้าไม่ให้เดินได้เช่นนี้ จึงเอาสายขึ้นไปล่อไว้ที่เสาสองต้น ไม่โยงลวดให้ถึงกัน แล้วใช้แรงไฟฟ้าให้ขึ้นไปที่ปลายลวดนั้น ไฟฟ้าที่ปลายลวดนั้นเดินผ่านอีเท่อโดยเร็วที่สุด ไปกระทบลวดอิกข้างหนึ่ง แล้วลงในกระบอกแก้วซึ่งกรอกโลหะไว้นั้น ไปลงในเครื่อง ไฟฟ้าที่จะเดินไปลงในกระบอกแก้วนั้น ได้แต่เฉภาะที่ผ่านอีเท่อ ถ้าไม่ได้ผ่านอีเท่อก็ไม่เดินในกระบอกแก้วนั้นได้เช่นกล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะเหตุฉะนั้น จึงกันเสียงไม่ให้พร่าไปอื่นได้ ไฟฟ้าที่ผ่านโดยอีเท่อแล้วก็ไปลงในกระบอกแก้วนั้นไปลงเครื่องทีเดียวเพราะเหตุฉะนั้น เมื่อเปิดไฟฟ้าให้เดินเปนระยะยาวแลสั้นตามวิธีบอกโทรเลขก็เปนอันกำหนดได้ด้วยเสียง แลมีเครื่องให้เขียนได้เหมือนอย่างโทรเลขที่เดินด้วยสายลวด ข้อซึ่งใช้ลัทธิแปลกกันต่างๆ ไปนั้นต่างด้วยเกลียวไฟ คือธรรมดาไฟฟ้าที่เดินไปไม่เดินตรง ต้องคดเปนเกลียวเรียกว่าฉวัดเฉวียน แตกเปนสองเส้นแล้วรวมกันเปนเส้นเดียว บางลัทธิใช้เปลวยาวไปรวมกันห่างหน่อย บางลัทธิใช้เปลวสั้นไปรวมกันเร็วหน่อย ในการที่ระยะไม่เท่ากันนี้ทำให้ผิดต่างกันเปนคนละลัทธิที่ว่าเข้าใจกันไม่ได้ แต่ข้างฝ่ายเยอรมันเขายืนว่าเข้าใจได้ โดยลองหันเขมในเครื่อง จับดูให้พอรู้ว่าใช้เคอรันต์ยาวฤาเคอรันต์สั้นเพียงเท่าไร ถ้ารู้แล้วก็เปนอันใช้กันได้ ข้อที่ว่าไม่รู้นั้นไม่จริง รวบรวมใจความว่า ข้อที่โต้เถียงกันอยู่ทั้งนี้ก็เรื่องแย่งกันหากิน ที่จะได้รับเหมาทำการ เขามีแผนที่ปักธงลงไว้บอกว่ากัมปนีนี้ได้ทำแห่งใดแห่งใดบ้าง แลคิดจะขยายการต่อไปอิก ที่ห้างบีกริมเอาเข้าไปลองที่เกาะสีชังแลบางกอกก็ไปจากกัมปนีนี้ แลกัมปนีนี้ยังอยากจะได้ทำการให้สำเร็จอยู่นั้น โดยว่าเดี๋ยวนี้ได้ทำดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก การที่เล่าเรื่องนี้พ่อไม่สู้สันทัดที่จะชี้แจงให้เลอียดได้ ทั้งไม่ได้เขียนรูป เล่าแต่พอให้เข้าใจเปนเค้าตามที่พ่อเข้าใจ ถ้าพูดเห็นจะอธิบายได้อิกบ้าง

คราวนี้พอดูเครื่องใหญ่นี้สำเร็จแล้ว ออกไปดูเครื่องที่สำหรับบรรทุกหลังม้าไปใช้ในการศึก  ต้องออกไปตั้งในกลางทุ่งห่างจากกระโจมร่มใหญ่นั้น ท้องทุ่งยังแฉะอยู่ เพราะฝนตกมา 4 วิก พึ่งจะหยุดเมื่อวันพ่อมาถึง เอมเปอเรอเสด็จมาทอดพระเนตรเมื่อเร็วๆ นี้ต้องลุยน้ำ ม้า 4 ตัวนั้นสิ่งของบรรทุกอยู่บนนั้นหมด เขาจ้างนายร้อยโทคนหนึ่งมาเปนผู้ดูการ เมื่อไปถึงที่นั้นแล้วเปลื้องเครื่องลงจากหลังม้า จูงม้าไปไว้เสียให้ห่าง แล้วลงมือตั้งเสา เสานั้นทำด้วยอาลูมินัมเปนท่อนๆ มีปลอกสวม มีสายลวดโยงเปนร่มเหมือนกันกับเสาใหญ่กว่าจะเอาขึ้นไปได้ประดักประเดิดมิใช่เล่น สูงประมาณสักสามวาเศษเกือบ 4 วา ไม่ได้ปักดิน ใช้แผ่นศิลามีอินสุเลเตอรอง ตั้งบนดิน ในระหว่างที่คุมเสาอยู่นั้น อิกพวกหนึ่งคุมรถไบสิเกอล มีไดนาโมอันเล็กๆ ตั้งอยู่ข้างน่าเครื่องลงในหีบหนังเล็กๆ สองใบ ล่ามสายลวดติดกับไดนาโม ใช้คนถีบรถไบสิเกอลนั้นเปนแรงให้เกิดไฟฟ้าใช้ได้เหมือนอย่างกับสายใหญ่ แต่ระยะแคบเข้าเพียง 20 กิโลเมเตอ

                เมื่อดูเครื่องหลังม้านี้แล้วไปดูเครื่องที่ตั้งอยู่ในล้อรถซึ่งอยู่ระยะห่างกันต่อไปอิก รถนั้นเปนสองหลังต่อกันเหมือนอย่างปืนใหญ่ เสาใช้สูงกว่าหน่อยแรงที่ให้เกิดไฟฟ้าใช้เครื่องรถโมเตอคาร์ วิธีลักษณะบอกเล่าก็เหมือนกัน เดี๋ยวนี้มีวิเศษออกไปที่ใช้เปนโทรศัพท์ได้ ฟังเสียงคนพูดได้ยิน แลเสียงหีบเพลงได้ยินแต่ยังเบาเต็มที เขาว่าเปนเวลายังเปนเด็กอ่อนอยู่ ต่อไปคงจะดีขึ้น พ่อก็เชื่อ** ทรงแทนพระองค์ด้วยคำว่า “พ่อ” เนื่องจากเป็นพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี

            จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาดูงานวิทยาการด้านการสื่อสารอันทันสมัยจากการประภาสยุโรปทั้งครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2  ได้นำมาสู่การสถาปนาระบบการสื่อสารในประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2418 โดยมีการลงมือสร้างทางสายโทรเลข จนสามารถเปิดให้บริการรับ-ส่งโทรเลขแก่สาธารณชนได้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2426 และอีก 3 ปีต่อมาได้เริ่มเปิดให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและธนบุรี เช่าใช้เครื่องโทรศัพท์ระบบ แม๊กนิโต (Magneto System)” ซึ่งได้ใช้งานติดต่อกันมาเป็นเวลา 20 ปีเศษ เครื่องโทรศัพท์ชนิดนี้ จะเป็นเครื่องแบบไม่มีหน้าปัด สามารถติดต่อเบอร์อื่นได้เพียงเบอร์เดียว เวลาจะติดต่อให้หมุนคันหมุนไปอีกเบอร์หนึ่ง ทุกๆ เครื่องจะต้องมีแบตเตอรี่ต่ออยู่กับตัวเครื่อง เพื่อป้อนกระแสไฟในการพูดกัน ส่วนในด้านสัญญาณ (Signaling) นั้น เมื่อผู้ใช้จะเรียกโทรศัพท์กลาง หรือพนักงานต่อสายก็ต้องหมุน “แม๊กนิโต” ที่ติดอยู่กับตัวเครื่อง จึงจะมีสัญญาณเกิดขึ้นที่ตู้ต่อของพนักงาน ยิ่งกว่านั้นเวลาเลิกพูด ก็ต้องหมุน “แม๊กนิโต” อีกครั้งเพื่อให้เกิดสัญญาณเลิกพูดขึ้นที่ตู้ต่อ เพื่อให้พนักงานถอดปลั๊กที่ต่อออก

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ได้ทรงมีต่อการพัฒนาสังคมไทยไปสู่ความเจริญเฉกเช่นเดียวกับนานาอารยะประเทศ.

หมายเลขบันทึก: 403769เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2010 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

เข้ามาอ่านความเป็นมา ของการสื่อสารในสยามประเทศ

พระพุทธเจ้าหลวง เป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถในหลายๆด้าน อย่างที่เราคนไทยรู้จักกันดี

สมกับคำว่า"พระปิยะมหาราช" จริงๆค่ะ

..............จาก HS3 PFU....จ.ชัยภูมิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท