การพัฒนาเครื่องมือ: การวัดพฤติกรรม


เจาะจงให้ผู้ตอบเข้าใจว่า กำลังถามถึง“การกระทำของตัวเขาเอง" ไม่ใช่คนอื่น และไม่ได้ถาม“ความเห็น”

การพัฒนาเครื่องมือ: การวัดพฤติกรรม

การประเมินพฤติกรรมหรือการกระทำ โดยทั่วไปเป็นไปตามกรอบแนวคิด KAP หรือ AP ซึ่งมักกำหนดให้ พฤติกรรม เป็นตัวแปรตาม   พึงระลึกว่า ความรู้และทัศนคติหรือความเชื่อ เข้ากับ พฤติกรรม มาจากข้อมูลที่เก็บ ณ ช่วงเวลาเดียวกัน สามารถนำมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ แต่หากนำพฤติกรรมไปเชื่อมโยงกับสภาวะสุขภาพโดยเฉพาะโรคเรื้อรังจะมีจุดอ่อน เนื่องจากต้องสั่งสมพฤติกรรมมาระยะหนึ่งจึงจะส่งผลต่อสภาวะสุขภาพ  ขณะที่คำตอบพฤติกรรมที่ได้อาจเพิ่งปรับเปลี่ยนเมื่อไม่นานมานี้   คือมีปัญหาสุขภาพก่อนจึงปรับพฤติกรรมตามมา ภาวะสุขภาพจึงหล่อหลอมให้เกิดการปรับพฤติกรรมได้เช่น เป็นโรคความดันโลหิตสูงเลยงดอาหารมัน  ถ้าไม่เข้าใจเรื่องกรอบเวลา ก็จะแปลผลได้ว่า ขนาดกินอาหารไขมันต่ำยังเป็นโรคความดันโลหิตสูงอีกแน่ะ  หรือถ้าวิเคราะห์เชิงสาเหตุ (แบบผิดๆ ) ก็จะได้ว่า การกินอาหารไขมันต่ำทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไปโน่น  จึงต้องระมัดระวัง

วิธีการเก็บข้อมูลพฤติกรรม  

1.  การสังเกต (observation) มักใช้ในการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพอาจเป็นแบบที่ผู้สังเกตมีหรือไม่มีส่วนร่วมกับสถานการณ์ที่ศึกษา โดยผู้ให้ข้อมูลอาจรู้หรือไม่รู้ตัว  อาจบันทึกเป็นภาพเคลื่อนไหวของผู้ให้ข้อมูลแล้วนำดูก็เป็นการสังเกตรูปแบบหนึ่ง   ในการศึกษาเชิงปริมาณมักมีแบบบันทึกข้อมูล (เช่น checklist ว่า ทำ/ไม่ทำ มี/ไม่)              โดยทั่วไป มักใช้ร่วมกับวิธี/ข้อมูลชุดอื่นๆ เช่น สังเกตว่า แปรงฟันตามขวาง สามารถนำไปใช้ประกอบหรืออธิบาย สภาวะเหงือกร่นหรือคอฟันสึกได้ (แม้ว่า แปรงถูกวิธี ก็อาจมีคอฟันสึกได้ หากเดิมแปรงฟันตามขวางแล้วเพิ่งเปลี่ยนมาแปรงถูกวิธี เมื่อไม่นานมานี้)

ข้อพึงระวังคือ หากผู้ให้ข้อมูลรู้ตัวแล้วฝืนทำหรือไม่ทำพฤติกรรมบางอย่าง ข้อมูลที่ได้ก็ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เกิด information bias หรือ Hawthorne effect ได้ (ควรอ่านเรื่อง Bias เพิ่มเติม)    

2. การสัมภาษณ์หรือสอบถามโดยตรง เครื่องมือของวิธีนี้ มักเป็นแบบสัมภาษณ์/สอบถาม มีข้อคำถามจำนวนหน่ึง สำหรับพฤติกรรมที่ประกอบด้วยหลายขั้นตอนควรซอยถามแต่ละขั้นตอนเพื่อไม่ให้ตีความคลุมเครือ  พฤติกรรมที่มีข้อจำกัดในการบรรยายให้เห็นภาพชัดเจน อาจให้ผู้ตอบแสดงหรือกระทำให้ดู จะได้ข้อมูลที่ตรง/ถูกต้อง/น่าเชื่อถือกว่าเช่น อยากทราบวิธีการแปรงฟัน ก็ฝห้แปรงให้ดูแล้วผู้สัมภาษณ์บันทึกข้อมูล อาจมีผู้ทักท้วงว่า ถ้าผู้ตอบทราบวิธีแปรงฟันที่ถูกวิธีอาจบรรจงแปรงทั้งที่ในชีวิตจริงไม่ได้แปรงแบบนั้น (เพื่อไม่ให้เสียภาพลักษณ์ของตัวเองหรือเพื่อเอาใจผู้วิจัย) เท่ากับว่ามีโอกาสเกิด information bias แต่การอธิบายวิธีการเป็นตัวหนังสือแล้วให้ผู้ตอบเลือกตอบ ก็เกิด bias ลักษณะนี้ได้เช่นกัน

การตั้งคำถามหมวดพฤติกรรม

1. การวัดค่าเป็น ใช่/ไม่ใช่ หรือ ทำ/ไม่ทำ หรือมีข้อคำตอบให้เลือก (choices) ผู้ตอบจะตอบได้ง่ายกว่าและได้ข้อมูลตรงกว่า การวัดแบบ Likert’s scale (เช่น ทำบ่อยที่สุด ทำบ่อย ปานกลาง ทำน้อย ทำน้อยที่สุด)    

2. ต้องใช้คำที่เจาะจงให้ผู้ตอบเข้าใจว่า กำลังถามถึง “การกระทำของตัวเขาเอง” ไม่ใช่คนอื่น และไม่ได้ถาม “ความเห็น”      

3. สงสัยไหมว่าข้อคำถามควรมีอะไรบ้างและข้อเลือกตอบมาจากไหน ถ้าสงสัยแสดงว่า ข้ามขั้นตอนการทำวิจัยแน่เลย   หากทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องครอบคลุมเพียงพอ จะทราบชนิด/ค่าตัวแปรจากการศึกษาอื่นๆ และนำมาตั้งเป็นข้อคำถามและข้อเลือกตอบ  หลักการข้อนี้ ใช้กับเครื่องมืออื่นๆ ด้วย

4. เครื่องมือทุกชนิดต้องผ่านการทดสอบ/ปรับปรุง ก่อนนำไปใช้จริง มีน้อยกรณีที่ไม่สามารถทดสอบได้    

การนำเสนอผล

@ ระบุแยกเป็นรายพฤติกรรมเช่น ร้อยละ ...... ของผู้ตอบมีพฤติกรรม a

@ จัดกลุ่มว่า ร้อยละ.... ของผู้ตอบมีพฤติกรรมที่เอื้อหรือไม่เอื้อต่อสุขภาพช่องปาก

ตัวอย่างข้อคำถาม

♥ ในระยะ .... เดือนที่ผ่านมา ท่านเคยฟอกสีฟันให้ขาวหรือไม่                          

ก.   เคย                   ข. ไม่เคย                 ค. จำไม่ได้ ไม่แน่ใจ

♥ ท่านตัดสินใจเลือกแปรงสีฟันให้ลูก จากข้อใด                                           

ก. ราคาแพง        ข. ขนแปรงนุ่ม        ค. ด้ามแปรงสวยน่ารัก      ง. ด้ามแปรงโค้ง   จ. เลือกยี่ห้อ      ฉ. หมอแจกให้ ไม่ได้ซื้อเอง     ช. จำไม่ได้ ไม่แน่ใจ     ซ. อื่นๆ โปรดระบุ ...........................

♥ ปกติ ท่านแปรงฟันเวลาไหน                                                                

ก. ตอนเช้า   ข. ก่อนนอน    ค. ตอนเช้าและตอนอาบน้ำ   ง. ตอนเข้าและก่อนนอน จ. ตอนเช้า หลังอาหารกลางวันและก่อนนอน    ฉ. อื่นๆ โปรดระบุ ...........................

♥ ในหนึ่งสัปดาห์ ลูกท่านดื่มน้ำอัดลมหรือไม่ อย่างไร                                      

ก. ไม่ดื่มเลย    ข. ดื่ม, 1 วัน    ค. ดื่ม, 2-3 วัน    ง. ดื่ม, 4-5 วัน    จ. ดื่ม, 5-6 วัน ฉ. ดื่มทุกวัน       ช. ไม่แน่ใจ

♥ ในหนึ่งสัปดาห์ ลูกท่านอมลูกอม/ท๊อฟฟี่ หรือไม่ อย่างไร                              

ก. ไม่อมเลย    ข. อม, 1 วันวันละ .....เม็ด    ค. อม, 2-3 วันวันละ .....เม็ด   ง. อม, 4-5 วันวันละ....เม็ด   จ. อม, 5-6 วันวันละ.....เม็ด   ฉ. อมทุกวันวันละ..... เม็ด     ช. ไม่แน่ใจ

♥ ในรอบปีที่ผ่านมา ท่านเคยรับบริการทันตกรรม หรือไม่                                   

ก. เคย                         ข. ไม่เคย                    ค. จำไม่ได้ ไม่แน่ใจ

♥ ถ้าเคย ท่านใช้บริการครั้งล่าสุดที่ไหน                                                     

ก. สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน   ข. โรงพยาบาลชุมชน   ค.โรงพยาบาลจังหวัด  ง. โรงพยาบาลภาครัฐอื่นๆ        จ. คลินิกเอกชน     ฉ. โรงพยาบาลเอกชน          ช. จำไม่ได้ ไม่แน่ใจ      ซ. อื่นๆ โปรดระบุ ..................

 

คำสำคัญ (Tags): #oral health#behavioral#measurement#r2r
หมายเลขบันทึก: 403444เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2010 07:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 01:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท