Dhamma in English (11)


The Law of Kamma

       รายการ Dhamma in English ตอนที่ ๑๑ นี้ ผู้เขียนขอนำเรื่องกรรมมาเล่าต่ออีกครั้งหนึ่ง  เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องที่ค้างคาใจของหลายคนในสังคมไทย  โดยตั้งชื่อเรื่องว่า "The Law of Kamma" แปลว่า กฎแห่งกรรม

       บ่อยครั้งที่เราได้ยินคนนั้นคนนี้พูดทำนองน้อยเนื้อต่ำใจหรือปรับทุกข์ว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน  ทำชั่วได้ดีมีถมไป" ประโยคนี้สะท้อนความสงสัยในใจลึกๆ ว่า กฎแห่งกรรมมีจริงหรือ? ถ้ามีจริงแล้วทำไมไม่ให้ความเป็นธรรมแก่คนทำดีอย่างเราบ้าง? ทำไมบางคนซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเป็นคนไม่ดี แต่กลับได้ดิบได้ดี? 

       ก่อนที่จะตอบคำถามเหล่านี้  ขอเริ่มต้นด้วยการพูดถึงกฎธรรมชาติก่อน (natural law/the law of nature) เวลาที่เราพูดถึงอะไรก็ตามที่เป็นกฎธรรมชาติ  เราหมายถึงความเป็นระเบียบสม่ำเสมอที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น การหมุนรอบตัวเองของโลก  การโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก การโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ เป็นต้น ถามว่าความสม่ำเสมอนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร  ตอบว่าเกิดจากกฎธรรมชาติอย่างหนึ่งที่กำกับ (govern) ให้โลกและดวงจันทร์แสดงพฤติกรรมแบบนั้น  เรียกว่า "กฎแรงโน้มถ่วง" (law of gravity) กฎนี้มีพลังอำนาจดึงดูด (attractive force) ให้โลกและดวงจันทร์อยู่ในวิถีโคจรที่แน่นอน  ทำให้น้ำทะเลขึ้นลงสม่ำเสมอ  ทำให้ลูกไม้หล่นลงสู่พื้นโลก ทำให้สิ่งทั้งหลายรวมทั้งตัวเราเองไม่หลุดลอยออกไปจากโลกนี้          

       กฎแห่งกรรม ในพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง เรียกว่า "กรรมนิยาม" (Kammaniyama) แปลว่า ความแน่นอนสม่ำเสมอ (certainty/orderliness) เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์และผลของการกระทำนั้น หรือที่คนไทยนิยมพูดว่า "ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว" (Good deeds bring good results, bad deeds brings bad results) ถามว่าเมื่อกฎแห่งกรรมมีความแน่นอนสม่ำเสมอ ทำไมหลายคนจึงประสบปัญหาทำดีแล้วไม่ได้ดี  เป็นเพราะกฎแห่งกรรมไม่ทำงานหรือทำงานแต่ไม่สม่ำเสมอหรืออย่างไร ผู้เขียนขอตอบคำถามโดยยกตัวอย่างเรื่องสมมติต่อไปนี้-

      ๑. เด็กชายแดงเป็นนักเรียนที่ขยันขันแข็งมาก  ดูหนังสืออย่างต่อเนื่อง  เข้าขั้นเรียนสม่ำเสมอแทบไม่เคยขาด ผลสอบปลายภาคปรากฏว่าเขาไม่ได้เกรด "B" แต่เพื่อนที่ขยันน้อยกว่าเขากลับได้ "A"  เขาผิดหวังอย่างแรง  รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี 

      ๒. นางเขียวเป็นพนักงานเทศบาล  มีหน้าที่ทำความสะอาดถนนหนทาง  เธอเป็นคนขยันขันแข็ง  เอาการเอางาน  พอเวลาขึ้นเงินเดือนปรากฏว่าเธอได้น้อยกว่าเพื่อนอีกคนที่ขยันน้อยกว่า เธอผิดหวังอย่างแรง  รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำได้แล้วไม่ได้ดี 

      ๓. ตำรวจคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างขยันขันแข็ง  ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  ไม่เคยรีดไถประชาชน  พอถึงเวลาพิจารณาเลื่อนยศ  ปรากฏว่าเขาถูกมองข้ามไป  ขณะที่เพื่อนอีกคนหนึ่งที่ไม่ค่อยทำงาน  แต่เข้าหาผู้ใหญ่เก่ง  กลับได้รับการพิจาณาให้เลื่อนยศ  เขารู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี 

      จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นว่า คำว่า "ได้ดี" ในทัศนะของเด็กชายแดง นางเขียว และตำรวจ คือ บำเหน็จรางวัล (reward) ที่พวกเขาอยากได้ นั่นคือการได้เกรดเอ ได้ขึ้นเงินเดือน และได้เลื่อนยศ ตามลำดับ  ซึ่งพวกเขาคิดว่ากฎแห่งกรรมควรอำนวยให้แก่คนทำงานหนักและซื่อสัตย์อย่างพวกเขา  ถามว่าทำไมกฎแห่งกรรมให้ส่งผลให้พวกเขาได้ดีอย่างที่หวัง  ผู้เขียนขอแยกตอบเป็นข้อๆ ดังนี้-

     ๑. การได้ดีในแง่รางวัล (reward): ผลการทำดีหรือรางวัลที่คนทั้งสามอยากได้นั้นไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลตามกฎแห่งกรรมอย่างตรงไปตรงมา  หากแต่เป็นเรื่องที่สังคมมนุษย์กำหนดกันขึ้นแล้วมอบให้แก่กัน  ซึ่งการที่จะได้หรือไม่ได้ผลดีแบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับมนุษย์ผู้มีอำนาจในที่นั้นๆ ว่าจะมอบให้แก่กันตามกฎกติกาหรือไม่      

     ๒. การได้ดีในแง่กฎแห่งกรรม: การได้ดีในแง่นี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับผลการกระทำอย่างตรงไปตรงมา  การทำดีของบุคคลทั้งสามในตัวอย่างข้างต้นได้ส่งผลดีแก่พวกเขาอย่างตรงไปตรงมาแล้ว  เด็กชายแดงทุ่มเทอ่านหนังสืออย่างตั้งใจ  ด้วยความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องที่อ่าน (กรรม) ส่งผลให้เขามีความรู้ความเข้าใจเรื่องนั้นอย่างดี (วิบาก) แต่จะได้เกรดเอหรือไม่เป็นเรื่องของครูที่สอน  นางเขียวลงมือกวาดถนนอย่างตั้งใจและขยันขันแข็ง (กรรม) ส่งผลให้ถนนที่เธอรับผิดชอบสะอาดสวยงาม  ตัวเธอเองก็ได้เพิ่มพูนทักษะและความเชี่ยวชาญในหน้าที่การงานพร้อมกันไปด้วย (วิบาก) แต่จะได้ขึ้นเงินเดือนหรือไม่เป็นเรื่องของเจ้านายเธอ ตำรวจทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน ด้วยความตั้งใจและขยันขันแข็ง (กรรม) ส่งผลให้อาชญากรรมในสังคมลดน้อยถอยลง ประชาชนมีความร่มเย็นเป็นสุขมากขึ้น (วิบาก) แต่จะได้เลื่อนยศหรือไม่เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาของเขา  

      อย่างไรก็ตาม บางครั้งแม้ว่าเราจะตั้งใจทำกรรมดีและลงมือทำอย่างดีแล้วก็ตาม  แต่ผลอาจไม่เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ก็ได้ เหมือนเราตั้งใจปลูกมะม่วงและรดน้ำพรวนดินอย่างดี  แต่มะม่วงอาจไม่ออกผลตามที่เราคาดหวังไว้ก็ได้  ตรงนี้พระพุทธศาสนาสอนให้กลับไปตรวจสอบดูว่าเราได้สร้างเหตุปัจจัย (conditions) พอเหมาะพอควรที่จะทำให้เกิดผลอย่างที่หวังไว้หรือไม่  เช่นอาจรดน้ำพรวนดินดี  แต่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยอย่างเหมาะสม และสภาพภูมิอากาศอาจไม่เหมาะสมสำหรับปลูกมะม่วงก็ได้  สิ่งที่ควรนำมาพิจารณาประกอบในการทำกรรมดี เรียกว่า สมบัติ ๔ (Four Advantages) ดังนี้-

       ๑. คติสมบัติ  (Favourable Environment/Location) หมายถึงสภาพแวดล้อมหรือทำเลที่ตั้งเหมาะสมเกื้อกูลต่อการเกิดผลตามที่ต้องการหรือไม่

       ๒. อุปธิสมบัติ (Favourable Body/Personality) หมายถึงสภาพร่างกายหรือบุคลิกภาพของผู้ทำเหมาะสมต่อการที่จะให้เกิดผลตามที่ต้องการหรือไม่

       ๓. กาลสมบัติ (Favourable Time) หมายถึงกาลเวลาหรือจังหวะเวลา (timing) ที่ทำกรรมนั้น เหมาะสมต่อการที่จะให้เกิดผลตามต้องการหรือไม่

       ๔. ปโยคสมบัติ (Adequate Undertaking) หมายถึงความเพียรพยายาม และความทุ่มเทในการทำกรรมนั้นๆ เพียงพอต่อการที่จะให้เกิดผลตามต้องการหรือไม่  

        กล่าวโดยสรุป เรื่องกฎแห่งกรรมเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนมาก คงไม่อาจอธิบายให้แจ่มแจ้งปรุโปรงได้ภายในเวลาสั้นๆ จึงขอสรุปสาเหตุที่คนดีแล้วไม่ได้ดีโดยภาพรวมดงนี้- (๑) กรรมที่ทำ กับ ผลที่อยากได้ไม่สัมพันธ์กัน กรณีนี้กรรมอาจให้ผลเรียบร้อยแต่ผู้ทำคิดว่าตัวเองไม่ได้ เพราะสิ่งที่ตนอยากได้ไม่สัมพันธ์กับกรรมที่ทำ เช่น คนทำบุญเพราะอยากถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง พอไม่ถูกก็คิดว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี กรณีนี้คือเขาอาจได้บุญเรียบแล้ว แต่คิดว่าตนไม่ได้ดี เพราะสิ่งที่เขาอยากได้ (ถูกหวย) ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่กฎแห่งกรรมสามารถให้ได้ (๒) สร้างเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดผลดีไม่ครบถ้วน เช่น อยากบรรลุนิพพานแต่รักษาศีลอย่างเดียว ถึงจะเคร่งครัดในศีลอย่างไรก็บรรลุไม่ได้ เพราะการรักษาศีลอย่างเดียวยังไม่เพียงพอต่อการบรรลุนิพพาน ต้องเจริญสมาธิและพัฒนาปัญญาควบคู่กันไปด้วย  (๓) ทำเหตุปัจจัยครบแต่ทำไม่ถึงที่สุด เช่น คนที่รักษาศีล เจริญสมาธิ และพัฒนาปัญญา ครบทุกอย่าง แต่ยังทำไม่ถึงที่สุด ทำครึ่งๆ กลางๆ หรือทำแล้วหยุดกลางครัน เป็นต้น และ (๔) ทำเหตุปัจจัยครบแล้วและพยายามถึงที่สุดแล้ว แต่มีเหตุปัจจัยแทรกซ้อน เช่น คนปลูกพืชถูกต้องตามหลักวิชาการทุกอย่าง ขยันหมั่นเพียร เอาใจใส่ดูแล้วอย่างดี แต่พอพืชกำลังจะออกผล กลับมีพายุฝนพัดกระหน่ำเข้ามาพอดี ทำให้น้ำท่วมพืชตายเสียหายหมด อย่างนี้เรียกว่าเหตุสุดวิสัย

       รายการ Dhamma in English ครั้งที่ ๑๑ นี้ คิดว่าน่าจะพอสมควรแก่เวลาแล้ว  ก่อนจากขอฝากพุทธภาษิตที่เกี่ยวกับกฎแห่งกรรมไว้ว่า-

 

กมฺมุนา  วตฺตตี  โลโก 

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

The world is directed by kamma   

 

หมายเหตุ:

       มีพุทธภาษิตบทหนึ่งที่เปรียบกฎแห่งกรรมกับกฎการหว่านพืชไว้อย่างสนใจ ดังนี้

                       ยาทิสํ  วปเต  พีชํ     ตาทิสํ  ลภเต  ผลํ

                       กลฺยาณการี  กลฺยาณํ  ปาปการี  จ ปาปกํ 

               หว่านพืชเช่นใด  ได้ผลเช่นนั้น  ผู้ทำดีได้ดี  ผู้ทำชั่วได้ชั่ว

               One reaps whatever one has sown. Those who do good 

               receive good, those who do bad receive bad.

       ขอให้สังเกตว่า พุทธภาษิตนี้ได้อุปมากฎการหว่านพืช กับ กฎแห่งกรรม ข้อความที่ว่า "หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น" หมายความว่า ถ้าปลูกมะม่วง ก็ได้ผลมะมวง ปลูกมะพร้าว ก็ได้ผลมะพร้าว ไม่ใช่ปลูกมะม่วงหรือมะพร้าวแล้วได้ทรัพย์สินเงินหรือโล่ห์รางวัล  นี้คือการให้ผลแบบตรงไปตรงมาตามกฎธรรมชาติ ส่วนประเด็นว่าเมื่อได้ผลผลิตแล้วจะขายได้ราคาดีหรือไม่ เป็นเรื่องกลไกตลาดในสังคมมนุษย์ ข้อความต่อมาที่ว่า "ผู้ทำดีได้ดี  ผู้ทำชั่วได้ชั่ว" ในที่นี้หมายถึงการได้ดีได้ชั่วแบบตรงไปตรงมาตามกฎแห่งกรรม  กล่าวคือเมื่อทำความดีก็ได้ความดี  เมื่อทำความชั่วก็ได้ความชั่ว  ไม่ใช่ได้บำเหน็จรางวัลหรือทร้พย์สินเงินทอง   

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #dhamma in english (11)
หมายเลขบันทึก: 403324เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2010 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เป็นการอธิบายธรรมที่ยอดเยี่ยมและลึกซึ้งแบบ Postmodern มากครับ

ว่าไปแล้วสมบัติ ๔ ก็เหมือนกับว่าให้เรารู้จักใช้ปัญญา มีกุศโลบายในการดำเนินชีวิต แล้วเข้าใจชีวิต

ไม่งั้นการกระทำก็เป็นแบบทื่อๆ ตรงๆ แข็งๆ ไม่เข้ากับสังคมเหตุการณ์ รู้แต่ไม่ทั่วไม่รอบ

แล้วพอเป็นอย่างนี้ เรามาไม่ถูกจังหวะ เราจึงชี้โบ้ชี้เบ้โทษไปเรื่อยเลย

ก็ทำแล้ว แต่ไม่ดี... อะไรแบบนี้ใช่มั้ยคะ

อย่างเช่น อ่านหนังสือได้เกรดบี ก็เราเป็นนักศึกษาที่ยึดกรอบความคิดของตน เพียงการอ่านหนังสือชีวิตการเรียนรู้ยังมีอีกมาก และเรียนไปเพื่ออะไร เกรดนั้นจึงได้มาบนพื้นฐานความรู้ไม่รอบตอบได้แต่ตำรา (พูดเฉพาะครูที่ดีให้เกรดแบบไม่มีอคตินะคะ) เมื่อนั้นเรามองแต่ตำราครูก็เลยว่า ไอ้นี่ขาดๆเกินๆ ยังไม่พร้อม

ส่วนเทศบาลขยันขันแข็ง กวาดถนนหนทาง เธอมักเป็นคนที่ดีเสมอ แต่ไม่ทันที่จะได้คิด ทำสิ่งตรงหน้า สมมติว่าเจ้านายมีเรื่องที่เขาให้ความสำคัญมากกว่า เช่น ขณะนี้ปัญหาของเทศบาลอยู่ที่การรณรงค์รักษาแหล่งน้ำ เมื่อเธอดูๆอยู่แต่ถนน ถ้ามีสองคนทำเหมือนกัน แต่ว่าอีกคนไปทำงานเข้ากับแคมเปน เข้าก็ได้ไปตรงใจกรรมการ ดังนั้นการกระทำของเธอเจ้านายเห็น แต่มีรางวัลเดียว จึงต้องรอไว้ก่อน

กรณีสุดท้ายสมมติว่าเราเป็นพวกชอบมองไปที่แต่คนอื่น แน่นอนว่าการทำงานของเราดีตามหน้าที่ แต่เราเห็นอีกคนหนึ่ง อยู่กับเจ้านายตลอดเวลา แน่นอนว่ามีหลายกรณีที่เป็นไปได้ งานที่เราไม่รู้ว่าเขาทำอะไร จึงมองว่าเขาประจบ เข้าหาผู้ใหญ่ แล้วที่สำคัญ ทำไมเราไปเข้าหาด้วยเล่า ไม่มีการประจบ แต่หากว่า ถ้าเจ้านายคนนั้นมีลูกน้องเยอะแยะ งานก็มาก คนทำงานเยอะ การทำงานของเราก็เป็นส่วนหนึ่งเราคิดว่าเราดีเราเจ๋ง แต่ก็เป็นการกระทำในส่วนน้อยๆ ของงานภาพรวมใหญ่นั้น คิดไม่รอบ...

เราไม่รู้ว่าเราเข็มขัดสั้น(มีเรื่องคาดไม่ถึงและเราเองก็ไม่รู้อีกสิเนี่ย) เราเลยทุกข์ พอทุกข์ก็ต้องหาทางระบาย อย่างน้อยสุดเลยทำให้กรรม มีความหมายอันน่าเป็นห่วงอย่างที่เป็นอยู่หรือปล่าวนะ ก็มันไม่ได้ดั่งใจ เลยโทษผลของกรรมซะเลย... ฮ่าๆๆๆ

กราบนมัสการค่ะ

ถึงคุณ BuddhaLogos ขอชมว่าเป็นคนที่มีความคิดเชิงวิเคราะห์ดี เรื่องกฎแห่งกรรมมีความสลับซับซ้อนมาก การที่คนทำดีแล้วรู้สึกว่าไม่ได้ดีอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น

๑. กรรมที่ทำ กับ ผลที่อยากได้ไม่สัมพันธ์กัน กรณีนี้กรรมอาจให้ผลเรียบร้อยแต่ผู้ทำคิดว่าตัวเองไม่ได้ เพราะสิ่งที่ตนอยากได้ไม่สัมพันธ์กับกรรมที่ทำ เช่น คนทำบุญเพราะอยากถูกรางวัลที่หนึ่ง พอไม่ถูกหวยก็คิดว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี กรณีนี้คือเขาได้บุญเรียบแล้ว แต่คิดว่าตนไม่ได้ดี (ถูกหวย) เพราะความสับสนระหว่างกรรม กับ ผลของกรรม

๒. สร้างเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดผลดีไม่ครบถ้วน เช่น อยากบรรลุนิพพานแต่รักษาศีลอย่างเดียว ถึงจะเคร่งครัดในศีลอย่างไรก็บรรลุไม่ได้ เพราะการรักษาศีลอย่างเดียวยังไม่เพียงพอต่อการบรรลุนิพพาน ต้องเจริญสมาธิ และพัฒนาปัญญาควบคู่กันไปด้วย

๓. ทำเหตุปัจจัยครบแต่ทำไม่ถึงที่สุด เช่น คนที่รักษาศีล เจริญสมาธิ และพัฒนาปัญญา ครบทุกอย่าง แต่ยังทำไม่ถึงที่สุด ทำครึ่งๆ กลางๆ หรือทำแล้วหยุดกลางครัน เป็นต้น

๔. ทำเหตุปัจจัยครบแล้วและพยายามถึงที่สุดแล้ว แต่มีเหตุปัจจัยแทรกซ้อน เช่น คนปลูกพืชถูกต้องตามหลักวิชาการทุกอย่าง ขยันหมั่นเพียร เอาใจใส่ดูแล้วอย่างดี แต่พอพืชกำลังจะออกผล กลับมีพายุฝนพัดเข้ามาพอดี ทำให้น้ำท่วมพืชตายเสียหายหมด อย่างนี้เรียกว่าเหตุสุดวิสัย

       อาจารย์มหาสี สยาดอว์  ปราชญ์ใหญ่ทางพระพุทธศาสนา  ชาวพม่า ได้อธิบายเรื่องกรรมไว้อย่างสนใจว่า "ตามหลักพระพุทธศาสนา คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน ไม่ใช่เพียงเพราะพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม  หรือธรรมชาติและการเลี้ยงดู (nature and nurture) หากมาจากกรรมด้วย  นั่นก็คือกรรมในอดีตและกรรมปัจจุบันของเรานั่นเอง  เราเองเป็นผู้รับผิดชอบต่อความสุขและความทุกข์ของเรา เราสร้างสวรรค์และสร้างนรกของตัวเอง เราเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบชตาชีวิตของเราเอง" 

      According to Buddhism, this inequality is due not only to heredity, environment, "nature and nurture", but also to Karma. In other words, it is the result of our own past actions and our own present doings. We ourselves are responsible for our own happiness and misery. We create our own Heaven. We create our own Hell. We are the architects of our own fate.

กราบนมัสการค่ะ

มาฝึกใช้สมองซีกซ้ายให้คิดตาม เป็นการวิเคาะห์ที่สมเหตุสมผลมากค่ะ หากวันหนึ่งตื่นขึ้นมาเจอต้นส้มในกระถางออกผลเป็นลูกฝรั่งเมื่อไหร่ จะรีบแจ้นไปขอเจ้านายเลื่อนตำแหน่งค่ะ แต่หากวันไหนตื่นขึ้นมาทุกอย่างยังเหมือนเดิม ต้นส้มยังไม่ออกลูก ก็จะออกไปทำงานเพื่อความหมายและความสุขที่ได้จากงานและเพื่อนร่วมงาน ขอบพระคุณค่ะ..

P.S. ลูกหมาน่ารักมากค่ะ

นมัสการเจ้าค่ะ

ขวัญอยากรู้ชื่อของบุคคล จริต ต่าง ๆ ค่ะ เช่น พระสารีบุตรมีสัทธิวิหาริกเป็นคนราคะ องค์คุลีมารเป็นคนโทสะแต่ขวัญไม่รู้ว่าเอามาจาไหนพระอาจารย์กรุณาตอบขวัญทั้ง ๖ จริตนะเจ้าคะ

ที่พระอาจารย์ฬห้อ่าน พรรณณา ของพระอาจารย์ด้าน ซ้ายมือ มีประโยชน์มากค่ะ โดยเฉาะการกำหนดอารมณ์ไม่ทันก็จะขาดเหตผล

นมัสการขอบพระคุณ

khwan

มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับพระคุณเจ้า

เจริญพร โยมปริม ทัดบุปผา และทุกคนที่เข้ามาทักทาย  อาตมาหายไปนาน เนื่องจากมีช่วงหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศ ก็เลยทั้งช่วงไปนานเลย

พระมหาสมบูรณ์

นมัสการเจ้าค่ะ

มานมัสการเนื่องในวันมาฆะบูชา

นมัสการลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท