ปัญหาคาใจ


การแก้ปัญหา

การแก้ปัญหา

โดยทั่วไป ปัญหาหนึ่ง ๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาทางคณิตศาสตร์ จะมีมากกว่าหนึ่งวิธีแก้ และเป็นไปได้ที่จะได้มากกว่าหนึ่งคำตอบเช่นกัน

คำว่า "ปัญหา" ในบทความนี้ ครอบคลุมปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

ผู้ที่เผชิญปัญหาหลากหลาย และสามารถแก้ไขได้ จะยิ่งเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหา

การแก้ปัญหาวิธีแก้ปัญหา ให้ท่านทดลองเลือกใช้ ซึ่งอาจจะแก้ปัญหาได้ มีดังนี้

๑. แก้ตรงจุด

เริ่มด้วยการระบุปัญหาให้ชัดเจนเฉพาะเจาะจงที่สุด เพื่อจะได้รู้จุดที่เกิดปัญหา  ติดขัดตรงไหน แก้ตรงนั้น  แน่นอนที่มีเทคนิคหลายอย่างที่สามารถเลือกใช้ได้ เช่น ดูตัวอย่างที่ดี และใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาง่ายเป็นเครื่องมือช่วย (Tool) หรือใช้ในการแก้ไข (Solution)

และควรแก้ที่ต้นกำเนิดของปัญหา จะมีประสิทธิผลดีกว่าการแก้ปลายเหตุ

๒. ถามจิต

กับบางปัญหา บางท่านอาจสามารถแก้ได้ด้วยการถามจิต เริ่มจากทำใจให้สงบ แล้วตั้งคำถามในใจ คำตอบก็จะออกมาเอง  การถามจิตนี้ส่วนใหญ่ใช้ไม่ได้ผลกับปัญหาการคำนวณทางคณิตศาสตร์

๓. วางแผนแล้วจึงลงมือปฏิบัติ

วิธีนี้เหมาะกับปัญหางานไม่สำเร็จ อันเนื่องมาจากเป้าหมายไม่นิ่ง เพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงบ่อย  ขั้นตอนทำดังนี้

๑) ลงมือวางแผน เริ่มจาก

๑.๑) เลือกชิ้นงานส่วนที่เร่งด่วนเฉพาะหน้าก่อน หรือที่ต้องการทำให้เสร็จ
๑.๒) วาดรูปแบบแปลนของงานและผลลัพธ์ที่ต้องการ     ปรับแก้แบบแปลนจนพอใจ  อาจจะยึดหลัก การปฏิบัติให้สำเร็จได้ง่าย ลดความสับสนทั้งขณะทำงานและในอนาคต (เช่นการใส่ Label และการจดบันทึก) ประหยัด สวยงาม ก่อให้เกิดประสิทธิผล (Performance of the System) สูงสุด  และความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อผลสำเร็จของงาน

๒) เตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือ

๓) ลงมือทำตามแบบแปลนที่วางไว้  แบบแปลนสามารถปรับแก้ได้ แต่ไม่ควรมากเกินไปหากจะทำให้งานไม่สำเร็จในเวลาอันใกล้

ขั้นตอนที่ ๒) และ ๓) อาจทำไปพร้อม ๆ กันได้  ซึ่งอาจจะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น และได้กำลังใจที่เกิดจากการได้เห็นความคืบหน้าในงาน

ในขณะปฏิบัติงาน เราพบปัญหา แล้วคิดแก้ไข อาจจะทำให้เราได้เทคนิคใหม่ ๆ ในการทำงานได้สะดวกขึ้นหรือเพื่อแก้ไขอุปสรรคเล็ก ๆ น้อย ๆ

๔. ทดลอง

ทำการทดลองหรือทดสอบข้อสมมุติฐาน ใช้ได้ผลดีกับการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์

การทดลองเช่น การเคลื่อนย้ายตำแหน่ง แนวตั้ง แนวนอน การเอน เป็นต้น

ตัวอย่าง การหาว่าวัสดุใดใช้ลบคราบกาวสองหน้าจากฝาผนังปูนที่ทาด้วยสีอะครีลิค ชนิดกึ่งเงา  หลังจากทำการทดลองใช้วัสดุหลาย ๆ ชนิดขัดถู เช่น กระดาษทรายละเอียดสำหรับขัดเหล็ก ยางลบชนิดต่าง ๆ เกียง และก้อนยางแข็งใส จะพบว่าก้อนยางแข็งใสใช้ลอกคราบกาวสองหน้าได้หมดจด และทำให้สีหลุดลอกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อนึ่ง โดยทั่วไป เมื่อลงมือปฏิบัติงานตามวิธีหนึ่ง ๆ แล้ว ผลปรากฏว่างานได้ผลน้อยมาก จึงควรคิดเปลี่ยนแปลงเครื่องมือและวิธีทำงาน รวมถึงสอบถามผู้รู้ผู้ที่อยู่ในวงการนั้น

๕. ขอความช่วยเหลือ

การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่ควรเลือกใช้เมื่อจำเป็นจริง ๆ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการรบกวนผู้อื่น และดูสถานการณ์ด้วย เช่นว่าผู้ที่เราจะไปขอความช่วยเหลือพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือหรือไม่ เป็นต้น

๖. ถาม

เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ หรือคิดไม่ออก อาจจะถามผู้รู้ 

อย่างไรก็ตาม การถามควรให้เหมาะกับกาละเทศะ ถามเท่าที่จำเป็น และด้วยความสุภาพ ให้ความเคารพต่อผู้ตอบ  ที่สำคัญต้องระวังว่าคำถามนั้นจะไม่สามารถถูกตีความในเชิงลบได้ เช่น ไม่เป็นการดูถูกผู้ตอบ หรือทำให้ผู้ตอบกระอักกระอ่วนใจ

๗. ค้นหา

สำหรับปัญหาของหาย แก้ด้วยการค้นหา และป้องกันด้วยการจัดระบบการจัดเก็บสิ่งของและเอกสาร

ในการค้นหา ลองนึกย้อนว่าครั้งสุดท้ายใช้และวางสิ่งของนั้นที่ใด และทำการค้นหาในที่เหล่านั้น

เทคนิคในการค้นหาให้ง่ายขึ้นคือนึกถึงรูปหีบห่อที่เป็นจุดเด่นของสิ่งของนั้น   เมื่อหาทั่วทุกแห่งแล้วยังไม่พบ ลองหาซ้ำในที่ต่าง ๆ เหล่านั้น อย่างละเอียด อีกครั้งหนึ่ง

เรื่องระบบการจัดเก็บสิ่งของหรือเอกสาร

สิ่งของใดหาย แสดงว่าเราควรจะต้องใส่ใจกับการจัดเก็บของประเภทนั้นหรือสิ่งนั้นเป็นพิเศษ  จัดเก็บเป็นหมวดหมู่ เป็นที่เป็นทาง และมีสติเพิ่มความระมัดระวังเมื่อมีการหยิบใช้ว่าจะต้องเก็บที่เดิมหรือได้วางไว้ที่ไหนแล้ว

หรืออาจทำสมุดบันทึกเป็น "ดัชนีสิ่งของ" สำหรับจดชื่อสิ่งของกับสถานที่จัดเก็บ  ที่สำคัญคือควรจัดเก็บตามที่จดไว้  และถ้าเปลี่ยนที่เก็บก็ต้องมาแก้ไขในสมุดดัชนีสิ่งของนี้ให้ถูกต้องตามจริง

กับเอกสารบางอย่างที่มักหายบ่อย เช่น ใบขับขี่รถยนต์ บัตรประชาชน เหล่านี้จะต้องเก็บในกระเป๋าสตางค์ทุกครั้งหลังการใช้  บัตรเหล่านี้อาจจะใส่ห่อผลาสติกแล้วเขียนบนห่อว่า "เก็บในกระเป๋าสตางค์" หรือ "เก็บที่เดิมหลังใช้"

๘. ป้องกันดูแล

ปัญหาจำนวนมากเกิดขึ้นเป็นธรรมดาคู่กับสิ่งนั้น ๆ เช่น เพลี้ยแป้งคู่กับต้นชะบา  เมื่อเราเรียนรู้แล้วก็ควรป้องกันและดูแลอย่างสม่ำเสมอก่อนเกิดปัญหาเพลี้ยแป้งเกาะยอดชะบา จะง่ายกว่าการกำจัดในภายหลัง

๙. แน่วแน่

กับปัญหาการที่ไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้โดยง่าย เนื่องมาจากอุปสรรค ได้แก่ มีเวลาน้อย ถูกผู้อื่นรบกวน และสับสนในความคิดตนเอง  อาจจะแก้ด้วยความแน่วแน่ (Focus) ซึ่งแบ่งย่อยเป็น ๑. ลงมือทำทันที  ๒. ป้องกันจัดการกับการรบกวนอย่างมีศิลปะและมีสติ  และ ๓. ตั้งคำถาม แล้วลงมือค้นหาคำตอบ เพื่อจัดการกับความสับสนทางความคิดหรือการมีข้อมูลมากเกินไป

ถ้าไม่ตั้งคำถาม เราอาจจะระบุเป้าหมายลงไปเลย ให้เล็กและชัดเจน ว่าจะทำอะไรหรือเราต้องการอะไร

๑๐. ยกเลิก

การปิดบัญชีอีเมล์ที่ถูกสแปมเมอร์แอบอ้างไปใช้งาน  เป็นทางหนึ่งในการแก้ปัญหาสแปม

๑๑. กระจายงานให้มืออาชีพ

งานแต่ละอย่าง มักมีความยากบางอย่างซ่อนอยู่ ต้องอาศัยผู้มีความรู้ ประสบการณ์ และเครื่องมือเฉพาะ   ดังนั้น การแก้ปัญหาด้วยการให้มืออาชีพทำ แทนที่เราจะลองผิดลองถูก เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

๑๒. หาสิ่งทดแทน

บ่อยครั้งที่มัวติดอยู่กับว่าจะต้องเป็นวัสดุนั้นเท่านั้นจึงจะใช้แก้ปัญหาได้  ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้สักที การค้นหาสิ่งทดแทนจึงเป็นทางออก วิธีการเดิมรูปแบบเดิมแต่เปลี่ยนวัสดุ  หรือทุกอย่างเปลี่ยนหมด แต่สำเร็จตามเป้าหมายสุดท้ายคือแก้ปัญหาได้

๑๓. ได้ทั้งสองฝ่าย (Compromise)

ปรับตัวปรับใจ เปิดใจ (Open mind) ที่จะรับรู้ความต้องการของเขาด้วย ตราบใดที่ความต้องการนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ผิดศีลธรรม  และวิเคราะห์ความต้องการออกมาว่าหลักในการตัดสินใจของเขาและของเราคืออะไร เช่น ของเขาคือความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย ของเราคือความสะดวกในการใช้งาน ดังนั้น เราก็ปรับให้สมประสงค์ทั้งสองฝ่าย ให้ได้ตามทั้งฝ่ายเขาและฝ่ายเรา   ซึ่งอาจจะต้องมีการเรียนรู้ปรับเข้ากับกรอบที่ฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายร่วมกันกำหนด และมีการจัดใส่รายการของแต่ละฝ่ายลงในกรอบนั้น

๑๔. เขียนถามตอบ

เมื่อเกิดความลังเลใจ ยังตัดสินใจไม่ได้แน่นอน เลยทำให้ใจไม่เบาสบาย เราอาจจะพิจารณาตามมุมมองเก้าอี้สี่ขา แล้วเขียนตั้งคำถามเองตอบเองในประเด็นต่าง ๆ ที่เราสงสัย ในที่สุดเราอาจจะสามารถคลายความลังเลสงสัยนั้นได้

๑๕. ทำให้ถูกต้อง

เมื่อเกิดปัญหา พิจารณาว่าสิ่งที่ถูกต้องหรือที่ควรจะเป็น เป็นอย่างไร แล้วกำหนดหนทางที่จะไปสู่จุดนั้น

๑๖. วิเคราะห์ด้วยอริยสัจสี่

การวิเคราะห์และแก้ปัญหา  อาจวิเคราะห์ด้วยอริยสัจสี่ แล้วพบว่าสิ่งที่จะต้องปรับเปลี่ยนอยู่ในอริยมรรค  ในขั้นตอนปฏิบัติให้อริยมรรคไม่บกพร่องเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถมาก เพราะภาวะแวดล้อมในปัจจุบันยากแก่การไปถึงจุดนั้น

คำสำคัญ (Tags): #การแก้ปัญหา
หมายเลขบันทึก: 403281เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2010 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2012 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท