หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

พรบ.หลักประกันสุขภาพ : กฏหมายที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ?


อ่านได้ที่นี่ครับ

หลายท่านเข้าไปอ่านไม่ได้ ขอคัดลอกมาให้อ่านในนี้นะครับ

 

พรบ.หลักประกันสุขภาพ : กฏหมายที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ?
(๓๐ บาทรักษาทุกโรค “หมอไม่ชอบ แต่คนจนชอบ”)

ทวน จันทรุพันธุ์

            ผมเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตุการณ์กับคณะกรรมการส่งเสริมความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข ไป ๒ ครั้ง เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๓ และวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๓ ที่กระทรวงสาธารณสุข ด้วยความตั้งใจที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดัน พรบ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายฯ กับเครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ ที่ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องกฏหมายนี้มาอย่างยาวนานด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์

            การประชุมครั้งแรก ผมจับประเด็นเนื้อหาอะไรได้ไม่มากนัก แต่ก็ได้พบเห็นแพทย์คนหนึ่งนำชาวบ้านเกือบ ๑๐ คน เข้ามาป่วนที่ประชุม ตัวแทนชาวบ้านคนหนึ่งได้กล่าวพาดพิงกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในเชิงตำหนิติเตียน ทั้งในแง่เนื้อหาและกลไกดำเนินงาน (คณะกรรมการ สป.สช.) และแพทย์ท่านดังกล่าว ยังได้กล่าวกับสื่ออีกว่า การคัดค้าน พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ นี้ เป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ที่เขากำลังผลักดันอยู่คือการยกเลิกกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

            ในการประชุมครั้งที่สอง ผมรับรู้และเข้าใจเนื้อหาการพูดคุยมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการทำการบ้านก่อนเข้าประชุม ซึ่งการพูดคุยกันคราวที่สองนี้ มีเรื่องราวและเนื้อหาไม่น้อยที่ทั้งแสลงหูและขุ่นเคืองใจ ที่มากที่สุดก็คือ การพูดจากล่าวโทษให้ร้ายกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างสาดเสียเทเสีย แพทย์คนหนึ่งถึงกับกล่าวว่า “กฏหมายที่เป็นกฏหมายที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย”

             ตัวผมเอง แม้มิใช่ชาวบ้านระดับล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ก็มีบัตรทองเช่นเดียวกันแม้ว่าจะยังไม่เคยใช้บริการ

            วิถีชีวิตของผมสัมผัสและใกล้ชิดชาวบ้านระดับล่างมายาวนาน พบเห็นความยากลำบากของประชาชนในชนบทโดยเฉพาะเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยมามากมาย

            แน่นอนว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองและญาติมิตร แต่มันก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน และยิ่งในภาวะที่สังคมเปลี่ยนผ่าน วิถีการผลิตและบริโภคที่เปลี่ยนไป สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ว่ากันว่าเป็นปัจจัยทำให้ผู้คนเกิดการเจ็บป่วยมากขึ้นรวมทั้งรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่ทางเลือกในการบำบัดรักษาก็ถูกขีดเส้นให้แคบลงมาเหลือเพียงบริการสาธารณสุขสมัยใหม่ ความรู้ภูมิปัญญาในการบำบัดรักษาแบบพื้นบ้านที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่ายเมื่อในอดีตก็ค่อยถูกกีดกันออกไป กระทั่งเลือนหายไปจนเกือบหมดสิ้น

            ทางเลือกในการบำบัดอาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน หากเป็นไม่มากก็มักจะปล่อยให้หายไปเองด้วยการนอนพักผ่อนอยู่กับบ้าน หนักขึ้นมาหน่อยก็หาซื้อหยูกยาจากร้านค้าในหมู่บ้านมากิน บางหมู่บ้านอาจหาซื้อได้จาก อสม. ที่นำยามาจากสถานีอนามัยมาจำหน่าย ฯลฯ ปฏิบัติตนไปแบบนี้แล้วหากอาการไม่ดีขึ้นก็มักจะไปพบเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย หรือกระทั่งอาการหนักมากขึ้นก็จะถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลจังหวัดตามแต่กรณี

            ในอดีตนั้นการออกไปรักษาการเจ็บป่วยของชาวบ้านในโรงพยาบาลนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่โต เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอยู่ค่ากิน ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งหากไม่หนักหนาจริง ๆ ก็มักจะเลี่ยงไม่ไปโรงพยาบาล หลายคนปล่อยไว้จนอาการหนักแล้วค่อยไปโรงพยาบาลทำให้การบำบัดรักษาทวีความยุ่งยากมากขึ้น และแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็เพิ่มตามขึ้นมา เข้าข่าย “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย”

            ดังที่กล่าวไว้ว่าการเจ็บป่วยในปัจจุบันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก คนยากคนจนจำนวนมากที่เจ็บป่วยแล้วต้องหมดสิ้นประดาตัว ผมเองมีญาติสนิทอย่างน้อยสองราย ที่ต้องขายวัว-ควาย และนำที่นาไปจำนองเพื่อนำเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล คนหนึ่งตายจากไปทิ้งภาระหนี้สินให้ลูกเมีย อีกคนหนึ่งต้องกลับมาทำงานเพื่อหาเงินมาไถ่ที่นา ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่สามารถไถ่ถอนกลับคืนมาได้ นี่เป็นความเจ็บปวดรวดร้าวอย่างที่สุดของคนระดับล่าง

            นอกจากนั้นยังมีอีกหลายคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัยที่สามารถรักษาและชะลอการตายได้ เช่น โรคไตวายเรื้อรัง แต่เป็นเพราะความยากจนทำให้เขาไม่สามารถเข้ารับการฟอกเลือด และล้างไตทางช่องท้องได้ ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงลิบลิ่ว ผู้รู้คนหนึ่งบอกผมว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยเหตุนี้จำนวนมากมายทีเดียว

            ภายหลังการเกิดนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” ซึ่งเป็นไปตามกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนยากคนจนเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึงมากขึ้น เป็นไปตามเจตนารมย์ของกฏหมายที่กำหนดไว้

            แน่นอนว่าการเกิดนโยบายเช่นนี้ทำให้ประชาชนตัดสินใจไปรักษาพยาบาลแต่เนิ่น ๆ มากขึ้น ลดภาวะ “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในอดีตได้จำนวนไม่น้อย ทั้งนี้แน่นอนว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยของชาวบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เดิมใช้วิธีการรักษาตนเองก็กลับกลายมาพึ่งการรักษาจากโรงพยาบาลมากขึ้น เป็นภาระให้โรงพยาบาลทำงานหนักมากขึ้น และประการนี้นี่เองที่เป็นเหตุผลประการสำคัญที่ทำให้แพทย์จำนวนไม่น้อยออกมาวิพากษ์วิจารณ์กฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

            ผมเห็นใจเป็นอย่างยิ่งกับภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดของแพทย์และพยาบาล แต่มันจะใช้เป็นข้ออ้างได้กระนั้นหรือ ?

            การใช้เหตุผลนี้เป็นข้ออ้างเท่ากับว่าเห็นด้วยกับการให้คนเจ็บป่วยนอนรอคอยอยู่ที่บ้าน รอให้อาการเพียบเสียก่อนจึงค่อยมาหาหมอ เป็นการกีดกันการบำบัดรักษาเจ็บป่วยของชาวบ้านยากจนที่เข้าไม่ถึงบริการมาก่อน กระทั่งยินดีกับการให้ชาวบ้านเหล่านั้นรับภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเอง

            ผมคิดว่าเราอาจต้องเข้าใจกันก่อนว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยของชาวบ้านมิได้เพิ่มขึ้นหลังจากการประกาศใช้กฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพียงแต่กฏหมายนี้ทำให้คนยากคนจนที่นอนป่วยอยู่กับบ้านตัดสินใจเข้ามารับการรักษาจากโรงพยาบาลมากขึ้น ทั้งนี้หลายรายเป็นการรักษาตัวแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่อาการจะลุกลามใหญ่โต

            แต่อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ของผม ไม่มีใครอยากมาโรงพยาบาลหรอกครับ แม้ว่าจะเสียเงินค่ารักษาเพียง ๓๐ บาท แต่ก็มิใช่ว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก ทั้งค่ารถรา ค่ากินค่าอยู่ในระหว่างมาโรงพยาบาลซึ่งต้องใช้เงินอีกไม่น้อย ต้องเสียเวลาทำมาหากิน อีกทั้งสภาพแวดล้อมภายในโรงพยาบาลก็ไม่น่าดึงดูดอย่างยิ่งให้ก้าวเข้ามา นี่ยังไม่รวมถึงอากัปกิริยาของแพทย์พยาบาลผู้ให้บริการบางคนที่ไม่มีความเป็นมิตร ดังที่ผมเองประสบมากับตัวเอง

            นอกจากนั้นผู้ป่วยยากจนหรือผู้ป่วยอนาถา แต่ก่อนนั้นต้องนอนรอความตาย อย่างเช่นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยเอดส์ ฯลฯ การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ก็สามารถยืดอายุเขาออกไปได้อีกมากมาย ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ดีงามมิใช่หรือ ?

            แน่นอนว่าการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลจำนวนมาก ๆ ย่อมทำให้เกิดความแออัด และกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ แต่คนยากคนจนเหล่านี้เขาก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากไปกว่าการได้รับการรักษาจากโรงพยาบาล การเข้าถึงการรักษาโดยที่ไม่เป็นภาระในการใช้จ่ายมากนัก เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหวังของพวกเขาอยู่แล้ว

            กล่าวโดยรวมแล้วชาวบ้านระดับล่างที่มีฐานะยากจนเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข มีหลักประกันสุขภาพ และที่สำคัญทำให้ครัวเรือนทั่วประเทศสามารถลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล รวมทั้งการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ โดยการยืนยันผลจากงานวิจัย “การใช้ข้อมูลการสำรวจมาวัดผลกระทบ ของโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรคและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและการลดความยากจน และการสร้างดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมด้านสุขภาพ” โดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร TDRI ซึ่งผลการวิจัย พบว่า

            ในเรื่องผลกระทบของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและการลดความยากจน พบว่า ในปี ๒๕๔๕ หลังจากมีโครงการฯ ครัวเรือนทั่วประเทศ สามารถลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลได้ ประมาณ ๗,๔๒๕ – ๑๐,๒๔๗ ล้านบาท และในปี ๒๕๔๗ ลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ ๑๒,๘๒๔ – ๑๔,๑๑๑ ล้านบาท

            ส่วนผลกระทบของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงปี ๒๕๒๙ – ๒๕๓๑ กับช่วงปี ๒๕๔๕ – ๒๕๔๗ พบว่า ครัวเรือนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประมาณ ๒๑,๒๒๓ – ๔๔,๔๘๒ ล้านบาทในปี ๒๕๔๕ และเพิ่มขึ้นประมาณ ๒๙,๑๕๐ – ๕๓,๐๐๔ ล้านบาท ในปี ๒๕๔๗

            ผมได้กล่าวไว้ตอนต้นว่า มีแพทย์ท่านหนึ่งพยายามจะเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการยกเลิกกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหากเดาไม่ผิดก็จะมีกลุ่มทุนที่สูญเสียและได้รับผลกระทบจากกฏหมายนี้ รวมไปถึงกลุ่ม องค์กรและสถาบันทางการแพทย์-สาธารณสุข ออกมาสนับสนุนทั้งในทางลับและทางแจ้ง และก็อาจจะมีนักการเมืองที่อาจจะบ้าจี้ไปกับการเคลื่อนไหวของแพทย์กลุ่มนี้

            จึงขอเสนอข้อมูลจากการวิจัยของ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง จากงานวิจัยเดียวกันข้างต้นนี้เพิ่มเติมว่า

            รัฐบาลได้ใช้งบประมาณ ๖ หมื่นล้าน สำหรับเป็นสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งครอบคลุมคนแค่ ๔ ล้านคน ในขณะที่โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ใช้งบประมาณแสนกว่าล้านบาท แต่ครอบคลุมคนถึง ๔๗ ล้านคน และจากการสำรวจความพึงพอใจพบว่า คนร้อยละ ๘๐ มีความพอใจ

            ผมจึงขอถามว่าจะมีพรรคการเมืองไหนบ้าจี้ไปกับแพทย์กลุ่มนี้บ้าง...

จาก http://www.facebook.com/note.php?note_id=10150296141720243&id=100000129561015

หมายเลขบันทึก: 403050เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2010 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

พี่อยากเข้าไปอ่านค่ะ เข้าไม่ใด้ ทำอย่างไรแนะนำด้วยนะคะ

[email protected]

 

พี่หนุ่ยครับ

ผมได้คัดลอกมาไว้ในบันทึกนี้แล้วครับ

ดาวขอเสนอในอีกแง่มุมหนึ่งนะคะ

พรบ.หลักประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ดีที่ให้คนที่รายได้น้อยได้เข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขมากขึ้น มาพบแพทย์เร็วขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนไข้ไม่ใส่ใจกับการดูแลรักษาสุขภาพ เพราะว่ายาสามารถได้มาฟรี ไม่ต้องจ่ายตังค์ เน้นการรักษามากกว่าการสร้างเสริมสุขภาพ

มีคนไข้จำนวนมากหวังพึ่งยามากขึ้นทั้งที่ไม่ได้เจ็บป่วยอะไรมาก...เช่น ท้องผูกต้องกินยาระบาย นอนไม่หลับต้องกินยานอนหลับ อยากได้วิตามินบำรุง แต่พอหมอแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เรื่องการออกกำลังกาย ให้เลิกดื่มสุรากลับไม่ปฏิบัติตาม...เป็นเบาหวาน ความดัน ไขมันสูง โรคหัวใจ กินยาไม่สม่ำเสมอ เกิดหัวใจวายเสียชีวิต ญาติกลับว่าหมอรักษาไม่ดี ฟ้องร้องหมอ...คนไข้ปกปิดประวัติ แอบไปทำแท้ง ติดเชื้อในกระแสเลือด เสียชีวิต ก็โทษหมอว่ารักษาไม่ดี รักษาไม่เร็วพอ

สิ่งที่เล่ามาเคยเกิดเรื่องมาแล้ว เป็นอีกมุมของคนในวงการสาธารณสุขทีต้องเผชิญ ยามเมื่อเกิดเหตุมีการฟ้องร้องขึ้น มีนำเสนอข่าวทางโทรทัศน์โดยยังไม่ได้สอบสวนข้อเท็จจริง แน่นอน คนไข้ผู้ที่อยู่ในฐานะได้รับความเสียหาย ย่อมได้รับความเห็นอกเห็นใจ...แต่หากสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของแพทย์เล่า...เคยมีการออกมาแก้ข่าวให้แพทย์ทางโทรทัศน์มั้ย? เงินค่าทำขวัญ ค่ามนุษยธรรมที่จ่ายไปบางครั้งเพียงเพราะไม่ต้องการให้เรื่องมันยืดยาว ไม่ใช่ว่าเป็นความผิดพลาดของโรงพยาบาล

พรบ.หลักประกันสุขภาพ พรบ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายฯ ก็ดี ล้วนเป็นกฎหมายที่มาจากเจตนารมย์ที่ดี แต่ก็เพิ่ม work load ให้แพทย์...ในขณะที่ต้องการให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้น จะเป็นไปได้เหรอ? ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ รพ.ชุมชนนะคะ...ตรวจคนไข้นอกวันละเกือบร้อย อย่างเก่งก็ได้พบหมอคนละ 3-5 นาที (รวมเวลาเขียนใบสั่งยาและบันทึกเวชระเบียน) แต่ต้องการให้คุยกับคนไข้อย่างละเอียด ตรวจร่างกายให้ครบทุกระบบ ดูแลแบบ humanized แบบองค์รวม ให้คำแนะนำ...ในความเป็นจริงทำได้มั้ย??? ที่เล่าให้ฟังเพราะเป็นความคิดเห็นจากอีกมุมมองหนึ่งค่ะ...^v^

สวัสดีครับหมอดาว

ขอบคุณมาก ๆ เลยครับกับความคิดเห็นที่แลกเปลี่ยนมา

ทำให้ได้รับรู้และเห็นมุมมองอีกมุมหนึ่ง

สำหรับผมคิดว่าความคิดเห็นนี้เป็นคำอธิบายที่ดีมาก ๆ ครับ สำหรับระบบที่เป็นอยู่

ทั้งในส่วนผู้ป่วยและทำหน้าที่รักษาพยาบาล

อ่านแล้วรู้สึกคล้อยตามและเห็นด้วยกับคุณหมอครับ

แต่ก็เมือนรู้สึกติดขัดอะไรสักอย่าง คิดไม่ออก

คิดออกจะกลับมาบอกนะครับ...

หมอดาวครับ

          ผมอ่านความเห็นหมอดาวด้วยความรู้สึกเห็นด้วยอย่างยิ่ง รวมทั้งเห็นใจบุคลากรทางการแพทย์กับภาระที่หนักอึ้งในคราวเดียวกันครับ

          เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าทุกวันนี้ผู้คนเจ็บป่วยมากขึ้น รวมทั้งไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการเจ็บป่วยส่วนใหญ่ของผู้คนในสังคม

          อย่างไรก็ตาม ผมเองก็ยังไม่สู้จะแน่ใจนักว่าการเกิดขึ้นของ พรบ.หลักประกันสุขภาพฯ จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านไม่ใส่ใจกับการดูแลสุขภาพ เพราะสามารถเข้าถึงบริการรักษาได้ง่ายและไม่เสียเงิน

          ลึก ๆ แล้วผมยังค่อนข้างเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ล้วนไม่มีใครอยากเจ็บป่วย ไม่มีใครอยากเข้าไปรับการรักษาแม้ว่าจะไม่ต้องเสียเงินค่ารักษา แต่การเจ็บป่วยสำหรับชาวบ้านนั้นเป็นเรื่องใหญ่โต นอกจากจะเสียแรงงานของครอบครัวจากคนที่เจ็บป่วยแล้ว ยังต้องเสียแรงงานเพื่อมาเฝ้าไข้ ไปรับ ไปส่ง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมา ทั้งค่ารถค่ารา ค่าใช้จ่ายจิปาถะเมื่อต้องเดินทางและมาอยู่โรงพยาบาล ฯลฯ

          ความเจ็บป่วยของชาวบ้าน (โดยเฉพาะในระดับล่าง) จากสาเหตุที่ป้องกันด้วยการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพนั้น มีปัจจัยแวดล้อมที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน

          จากประสบการณ์ที่ทำงานคลุกคลีกับชาวบ้านระดับล่าง ผมมั่นใจพอที่จะกล้าสรุปได้ว่าการเจ็บป่วยของชาวบ้านส่วนใหญ่นั้นมาจากการถูกกระทำจากโครงสร้างสังคมที่ไม่ค่อยจะเป็นธรรม หรือจะเรียกว่า “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” มากกว่าเกิดจากการกระทำของตนเอง

          การถูกกระทำนั้น ทำให้ความสามารถในการพึ่งตนเองและพึ่งพากัน กระทั่งสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่เป็นต้นทุนสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวบ้านถูกริดรอนลงไปจนแทบจะหมดสิ้น และนี่คือต้นเหตุสำคัญการเจ็บป่วยของชาวบ้านระดับล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

          ตามความเข้าใจของผมนั้น ผมคิดว่าการเจ็บป่วยที่เป็นผลพวงมาการวิถีการดำเนินชีวิต (อาทิ เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง โรคหัวใจ ฯลฯ)  เริ่มปรากฏขึ้นและชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงวิถีทำมาหากินจากการผลิตเพื่อยังชีพไปสู่การผลิตเพื่อการค้า ซึ่งเกิดจากการผลักดัน ชักจูงและการครอบงำจากกลไกรัฐและทุนที่ร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างแนบแน่น

          การเร่งผลผลิตอย่างไม่ลืมหูลืมตา โดยคาดหวังจะได้ผลตอบแทนสูงตามคำชวนเชื่อทั้งหลาย ก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านทั้งหลายตกที่นั่งลำบากกันถ้วนหน้า

          การใช้สารเคมีในการผลิตอย่างบ้าระห่ำด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผลกรรมไม่เพียงย้อนกลับมาทำร้ายตนเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสาหัส และนี่น่าจะเป็นต้นตอประการสำคัญญของการเจ็บป่วยที่สำคัญของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

          ความทุ่มเทในการผลิตเพื่อการค้า ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากละเลยในการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองในด้านอาหาร หันไปพึ่งพาอาหารจากตลาดภายนอก ทั้งความเขียมเจียมและขีดความสามารถในการจับจ่ายอาหารของชาวบ้าน ทำให้เข้าถึงได้เพียงอาหารคุณภาพต่ำ ที่เต็มไปด้วยสารปนเปื้อนนานาชนิด ทั้งนี้ไม่ต้องถามถึงคุณค่าทางโภชนาการ และนี่ก็คืออีกต้นตอหนึ่งของการเจ็บป่วยที่เกิดจากการกิน

          นี่คือปัจจัยหลัก ๆ ที่ส่งผลต่อการเจ็บป่วยของชาวบ้านระดับล่างในชนบท แต่สิ่งที่หนักหนาสาหัสกว่านั้นคือ การจำกัดและริดลอนสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่เป็นต้นทุนในการยังชีพของชาวบ้านให้มีคุณภาพชีวิตเป็นไปตามอัตภาพ ในขณะที่รัฐและทุนรุกคืบเข้าไปดูดซับเอาทรัพยากรเหล่านั้นออกไปบำรุงความเติบโตซึ่งมีคนไม่กี่หยิบมือได้รับประโยชน์

          ทรัพยากรที่รัฐจัดสรรให้เป็นบริการสาธารณะและสวัสดิการให้แก่ประชาชน ในความเป็นจริงก็มิได้ลงไปถึงชาวบ้านระดับล่าง ดังมีเรื่องเล่าทีเล่นทีจริงว่า งบประมาณรัฐก็เปรียบเสมือนแท่งไอศครีม ที่กว่าจะลงไปถึงชาวบ้านก็เหลือเพียงแท่งไม้เปล่า ๆ

          ความทุกข์ยากของชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ๆ มักมิได้รับการเหลียวแลจากรัฐ ความลำบากเดือดร้อนจึงเกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน คนที่อยู่ในสถานภาพได้เปรียบในสังคมซึ่งมีอยู่เพียงเล็กน้อยก็พยายามรักษาสถานภาพของตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่นและถีบตัวเองสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศต่างก็เผชิญชะตากรรมเดียวกันคือทรุดลงเรี่ยติดดิน ช่วงว่างแห่งความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างออกไปเรื่อย ๆ จนสุดกู่ สำหรับผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กันกับความเจ็บป่วยกันอย่างแยกไม่ออก

          และในเรื่องบริการสาธารณสุขนั้น ประเทศได้ทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาล ทั้งการผลิตบุคลากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดหาหยูกยา การว่าจ้างบุคลากร ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการเหล่านั้น ชาวบ้านยากจนจำนวนไม่น้อยที่ต้องล้มตายเพียงเพราะไม่มีเงิน และที่สำคัญการเจ็บป่วยจำนวนมากมายเหล่านั้น หากสืบสาวลึกลงไปอย่างจริงจังก็จะพบว่าเกิดจาก “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” นั่นเอง

          ความพยายามในการทำให้ชาวบ้านยากจนจำนวนค่อนประเทศเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐโดยกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น แม้ว่าในระยะแรกจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่ถ้าเข้าใจไม่ผิดนี่เป็นความพยายามในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวประการหนึ่งนั่นเอง

          การเกิดขึ้นของกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าจริง ๆ แล้วมีคนยากจนข้นแค้นที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่าง ๆ เต็มประเทศ ผู้คนแห่แหนมาโรงพยาบาลจนแน่นขนัด เพิ่มภาระของแพทย์พยาบาลจนงานล้นมือแทบรับไว้ไม่ไหว ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยลดลง

          ทั้งนี้ก็อาจจะมีผลกระทบบ้างที่จะทำให้ผู้คนไม่ใส่ใจในการดูแลรักษาสุขภาพ เน้นการรักษามากกว่าการสร้างเสริมสุขภาพ

          เท่าที่ศึกษากฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาบ้าง ผมเข้าใจว่ากฏหมายนี้ไม่เพียงมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการตั้งรับการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ยังมุ่งไปที่การทำงานเชิงรุกในการสร้างเสริมสุขภาพซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย เพียงแต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ถูกละเลยมานานจนฝังรากลึก การบรรเทาปัญหาจึงให้เบาบางจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัสและจำเป็นต้องใช้เวลา และด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดก็ยังทำให้การทำงานสร้างเสริมสุขภาพยังดำเนินการได้ไม่เต็มที่นัก

          แต่แม้ว่าการทำงานเชิงรุกหรือการสร้างเสริมสุขภาพจะยังมีข้อจำกัด แต่ก็ปรากฏว่าในบางโรงพยาบาลชุมชนได้เริ่มต้นดำเนินงานมาพักใหญ่และเริ่มเห็นผลบ้างแล้ว ผมมักยกตัวอย่างที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่อธิบายแนวคิดที่สามารถขับเคลื่อนให้เป็นไปได้ตามเจตนารมย์ของกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

          ร.พ.อุบลรัตน์ เริ่มต้นให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่คนไข้ยังไม่มาก ชาวบ้านมักไม่มาหาหมอ แต่จะพึ่งพาการรักษาจากหมอพื้นบ้าน รวมทั้งการรักษาตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ ทางโรงพยาบาลต้องทำงานเชิงรุกเพื่อให้ชาวบ้านมารักษาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาล

          คำแนะนำ “เป็นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่ารักษาเอง ให้รีบมาหาหมอ” ได้ผลเป็นอย่างยิ่ง เพียงไม่นานชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็เข้ามารักษาโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยความทุ่มเททำหน้าที่อย่างจริงจังในการทำหน้าที่ของแพทย์และพยาบาล ก็ยิ่งทำให้ปริมาณผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น จากคนไข้ยี่สิบกว่าคนเพิ่มเป็นสองร้อยกว่าคนต่อวันภายในเวลาไม่กี่ปี โรงพยาบาลก็เริ่มตั้งคำถามว่าที่ทำงานมาอย่างหนักนั้นถูกทางแล้วหรือ ทำไมยิ่งรักษาคนก็ยิ่งเยอะขึ้น น่าจะเกิดความผิดพลาดอะไรสักอย่างแน่ ๆ ข้อสังเกตุในวันนั้นทำให้โรงพยาบาลกลับมาตั้งหลักทบทวนการทำงานเสียใหม่

          การตั้งหลักของ ร.พ.อุบลรัตน์ เริ่มจากการทำความเข้าใจความเจ็บป่วยของชาวบ้าน ซึ่งก็พบว่าการเจ็บป่วยของชาวบ้านนั้น มีทั้ง รักษาหายไม่รักษาก็หาย รักษาหายไม่รักษาตาย และรักษายังไงก็ไม่หาย นอกจากนั้นยังพบว่าความปรารถนาดีของโรงพยาบาลทำให้ภูมิคุ้มกันและศักยภาพการดูแลคนเองด้านสุขภาพของผู้คนและชุมชนลดลงอีกเป็นอันมาก

          ในขณะเดียวกันว่าทางออกที่น่าจะเป็นไปได้อย่างยั่งยืนนั้นคืออะไร และในที่สุดก็พบว่าวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากปู่ย่าตายายนั้นคือคำตอบของ “สุขภาวะ” และยิ่งศึกษาลงลึกก็พบว่าบรรดาปัญหาความเจ็บป่วยของชาวบ้านนั้นล้วนมีต้นตอมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง จากการพัฒนาที่ผิดทิศทางของประเทศที่มุ่งเน้นเงินเป็นใหญ่

          สิ่งที่ ร.พ.อุบลรัตน์ ได้ปรับเปลี่ยนทิศทางการทำงานมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาคือ “การคืนความสามารถในการดูแลตนเองด้านสุขภาพให้แก่ชาวบ้านและชุมชน” ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว ผลจากการขับเคลื่อนของโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จากผู้ป่วยที่แน่นขนัดเหลือเพียงเบาบาง ในช่วงบ่ายของแต่ละวันแทบไม่มีคนไข้

          แม้ว่าความสำเร็จของ ร.พ.อุบลรัตน์ จะมิได้เป็นผลมาจากกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ที่ยกตัวอย่างโรงพยาบาลนี้ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าเจตนารมย์ของกฏหมายฯ นี้เป็นไปได้จริง

          นี่เป็นความเห็นที่ผมขอแลกเปลี่ยนด้วยในเรื่องกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับกฏหมายคุ้มครองผู้เสียหายฯ จะขอเขียนอีกตอนนึงนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท