โนเกียสู้ยิบตา


โนเกีย"สู้ยิบตา"


โนเกียประกาศกลางเวทีงาน Nokia World 2010 ยอมรับว่าบริษัทเข้าสู่ยุค"สู้ยิบตา"เพื่อทวงบัลลังก์การเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนเต็มตัว ระบุ"กลับมาแล้ว"พร้อมกับย้ำว่าผลิตผลจากโนเกียมีคุณภาพเหนือค่ายอื่น ไม่พูดเปล่าแต่เปิดตัวสมาร์ทโฟน 3 รุ่นซึ่งทำงานบนระบบปฏิบัติการใหม่ล่าสุดเพื่อลุยตลาดปีหน้า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นรับข่าวการผลัดใบทีมผู้บริหารโนเกียซึ่งออกมาประกาศลาออกและเปลี่ยนตัวยกใหญ่
       

 

Purnima Kochikar รองประธานฝ่ายชุมชนนักพัฒนาโนเกีย


       Niklas Savender รองประธานฝ่ายขายของโนเกีย กล่าวบนเวทีงาน Nokia World 2010 งานประชุมนักพัฒนาและพันธมิตรประจำปีซึ่งจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ว่าขณะนี้โนเกียได้วางรากฐานเพื่อการแข่งขันอย่างจริงจังในตลาดสมาร์ทโฟน โดยแสดงความมั่นใจว่าโนเกียจะสามารถรักษาตำแหน่งเบอร์ 1 ในตลาดไว้ได้ เนื่องจากช่วงไตรมาสที่ผ่านมา โนเกียสามารถจำหน่ายสมาร์ทโฟนได้มากกว่าคู่แข่งทุกรายในตลาดโลก
       
       "ตลาดสมาร์ทโฟนไม่เคยมีการแข่งขันในแบบที่เราอยากให้เป็นมานาน และขณะนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว วันนี้ เราจึงเริ่มเดินเครื่องเต็มที่เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนให้ได้" Savender กล่าว
       
       ส่วนหนึ่งของแผนการเดินเครื่องในโหมด 'สู้กลับ' (Fight Back) ของโนเกียที่ถูกเปิดเผยในงานนี้มี 2 แผนใหญ่ นั่นคือการออกโทรศัพท์มือถืออัจฉริยะรุ่นใหม่บนระบบปฏิบัติการล่าสุด และการเพิ่มความสามารถในด้านบริการซอฟต์แวร์ อย่างไรก็ตาม คำแถลงใน Nokia World 2010 นั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการประกาศแผนลาจากตำแหน่งในปี 2012 ของ Jorma Ollila ประธานโนเกีย ทั้งหมดนี้ทำให้นักสังเกตการณ์มองว่า อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่โนเกียจะใช้ในการสู้กลับก็คือการเปลี่ยนตัวทีมงานผู้ขับเคลื่อนโนเกียยกชุด
       
       โดยก่อนหน้าการประกาศแผนลาจากตำแหน่งของประธานโนเกีย ตัวซีอีโอโนเกีย หัวหน้าฝ่ายโซลูชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และหัวหน้าทีมออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้หรือ user experience ของโนเกียล้วนลาออกจากตำแหน่งเพื่อหลีกทางให้เลือดใหม่โนเกียมาขับเคลื่อนบริษัทต่อไป
       
       3 สมาร์ทโฟนใหม่ปลุกตลาด
       
       โนเกียนำสมาร์ทโฟน 3 รุ่นใหม่มาเปิดตัวในงาน Nokia World 2010 ได้แก่ รุ่นรุกนักธุรกิจ Nokia E7 พร้อมด้วยรุ่นเอาใจคอนซูเมอร์กระเป๋าหนัก Nokia C7 และกระเป๋าเบากว่า Nokia C6 ทั้งหมดมาพร้อมระบบปฏิบัติการ Symbian^3 OS ระบบปฏิบัติการที่โนเกียจะเปิดศักราชอย่างเต็มตัวในปีนี้ด้วย Nokia N8
       
       ทั้ง 3 รุ่นมาพร้อมหน้าจอ AMOLED ระบบสัมผัส capacitive ขนาด 3.2 นิ้วขึ้นไป กล้องดิจิตอล 8 ล้านพิกเซลพร้อมแฟลช LED คู่ซึ่งสามารถถ่ายวิดีโอความละเอียดสูง 720p สนนราคาเริ่มต้นที่ 335 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 11,000 บาท) โดยรุ่นใหญ่สุดคือ Nokia E7 ซึ่งมีช่องต่อยูเอสบีความเร็วสูง Bluetooth 3.0 รองรับ GPS และเครือข่ายไร้สายไว-ไฟ 802.11 b/g/n มีช่องต่อ HDMI out สำหรับเชื่อมต่อทีวีเพื่อเล่นวิดีโอความละเอียดสูง พร้อมพอร์ทไมโคร USB 2.0
       
       ดันซอฟต์แวร์ให้กว้างขึ้น
       
       งานนี้โนเกียให้ความสำคัญกับการปูทางให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถสร้างซอฟต์แวร์เพื่อโทรศัพท์มือถือโนเกียได้ง่าย ประหยัด และสะดวกสบายยิ่งขึ้น ที่สำคัญ โนเกียยังเปิดช่องให้นักพัฒนาสามารถรุกตลาดผู้ใช้รากหญ้าที่ใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นราคาไม่สูงของโนเกียได้ด้วย เชื่อจะสามารถดึงผู้ใช้รายใหม่ให้มาอยู่กับโนเกียได้ ขณะเดียวกันก็รักษาฐานตลาดที่มีให้สามารถใช้งานโนเกียได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น
       
       Purnima Kochikar รองประธานฝ่ายชุมชนนักพัฒนาโนเกียให้ข้อมูลในงานนี้ว่า โทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการซิมเบียน (Symbian) ของโนเกียนั้นถูกจำหน่ายไปมากกว่า 175 ล้านเครื่องแล้วในปัจจุบัน โดยยอดจำหน่ายในแต่ละวันอยู่ที่ 260,000 เครื่อง ตัวเลขเหล่านี้ถูกประกาศเพื่อจูงใจให้นักพัฒนาสนใจสร้างซอฟต์แวร์เพื่อทำงานบนระบบปฏิบัติการซิมเบียนมากขึ้น ซึ่งเมื่อซิมเบียนมีแอปพลิเคชันในมือมากขึ้น ความสามารถในการสู้กับคู่แข่งอย่างแอปเปิลและกูเกิลย่อมมีมากขึ้นด้วย
       
       การปูทางที่โนเกียทำคือการให้เครื่องมือที่ดีขึ้นแก่นักพัฒนา ซึ่งจะทำให้การเขียนซอฟต์แวร์สามารถทำได้ง่ายขึ้นบนต้นทุนการพัฒนาที่น้อยลง โดยปรับให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันเพื่อใช้งานบนสมาร์ทโฟนโนเกียหลากรุ่นยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะสมาร์ทโฟนแต่จะรวมถึงรุ่นที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าเช่นเครื่องระบบปฏิบัติการ Series 40 และ Series 60 ด้วย
       
       เหตุที่โนเกียปูทางให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับระบบปฏิบัติการ Series 40 เนื่องจากโนเกียต้องการรักษาฐานตลาดดั้งเดิมไว้ด้วยความสามารถที่หลากหลาย โดยปีที่ผ่านมา โนเกียสามารถจำหน่ายโทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการ Series 40 ได้มากถึง 364 ล้านเครื่อง ซึ่งแผนที่โนเกียวางไว้ในการทำตลาดแอปพลิเคชัน Series 40 คือการเปิดทางให้ผู้ใช้กลุ่มนี้ซื้อแอปพลิเคชันกับโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการ แทนที่จะเป็นการซื้อจากการจ่ายเงินทางบัตรเครดิตแบบในสมาร์ทโฟน
       
       ที่สำคัญ งานนี้โนเกียเปิดตัวชุดพัฒนา Qt Software Development Kit (SDK) ซึ่งจะทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถสร้างซอฟต์แวร์เพื่อทำงานได้ทั้งบนโทรศัพท์มือถือ Nokia และอุปกรณ์ระบบปฏิบัติการ MeeGo ซึ่งโนเกียร่วมกับอินเทลพัฒนาต่อยอดจากระบบปฏิบัติการลินุกส์ และมีแผนจะใช้งานบนโทรศัพท์รุ่น N9 ซึ่งจะเป็นรุ่นพิเศษเปิดศักราชใหม่ของโนเกียในอนาคตด้วย
       
       ต้องลุ้นกันว่าโนเกียจะสามารถรักษาแชมป์ในตลาดต่อไปได้หรือไม่ เนื่องจากทิศทางการเติบโตของโนเกียในขณะนี้นั้นส่อแววไปในทางที่ไม่ดีนัก โดยก่อนหน้านี้ บริษัทวิจัยอย่างการ์ทเนอร์ได้พยากรณ์ว่าในปี 2014 ซิมเบียนของโนเกียจะมีสัดส่วนตลาดลดลงเหลือ 30.2% ไล่เลี่ยกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ของกูเกิลซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนแบ่ง 29.6% ถือเป็นตัวเลขหมิ่นเหม่ที่ซิมเบียนจะถูกแซงหน้าได้อย่างง่ายดาย
       
       สำหรับแบล็กเบอรี่โอเอส (BlackBerry OS) การ์ทเนอร์เชื่อว่าจะมีส่วนแบ่งลดลงเหลือ 11.7% ขณะที่ไอโอเอส (iOS) ของแอปเปิลจะมีส่วนแบ่งราว 14.9%

คำสำคัญ (Tags): #ใบหม่อน
หมายเลขบันทึก: 402962เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2010 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท