ประมูล 3G ล่ม


ประมูล"3G"ล่ม! ศาลสั่งคุ้มครอง-กทช.อุทธรณ์สู้


       ศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการประมูล 3G ของกทช.จนกว่าจะมีคำพิพากษา ด้าน'พ.อ.นที' ฮึดสู้เตรียมยื่นอุทธรณ์ฉุกเฉินศาลปกครองสูงสุด 9 โมงเช้าวันนี้ (17 ก.ย.) หวังรู้ผลในวันเดียวกัน ยันเดินหน้าต่อจนกว่าศาลไม่รับอุทธรณ์ ขณะที่บอสใหญ่ 3 ค่ายมือถือ ยังหวังว่าการอุทธรณ์จะเดินหน้าต่อไปได้ หวั่นอาจกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศได้ ด้านจุติ ไกรฤกษ์ มั่นใจ การประมูล 3G จะเกิดขึ้นได้ภายในปีนี้ ส่วนความเคลื่อนไหวราคาหุ้น 3 บริษัท ปรับตัวลงเล็กน้อย
       
       เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น.ศาลปกครองกลาง ได้ส่งโทรสารคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 ก.ย.นี้ เนื่องจากร่างพ.ร.บ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว และยังได้ผ่านการพิจารณาแก้ไขของคณะกรรมาธิการร่วมแล้ว และกำลังจะนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ดังนั้นจะเป็นอุปสรรคในการทำงานขององค์กรอิสระกสทช.ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงมีเหตุที่จะออกมาตรการหรือคุ้มครองชั่วคราวเพื่อบรรเทาทุกข์ โดยให้กทช.ยุติการใช้ประกาศกทช. เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่านความถี่ 2.1 GHz หรือ ใบอนุญาต 3Gออกไปก่อน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
       
       นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าคาดว่ากทช.คงยื่นอุทธรณ์ ซึ่งการที่ กทช.จะยื่นอุทธรณ์ไม่ได้หมายความว่าการประมูลจะเกิดขึ้นได้ เพราะต้องรอจนกว่าศาลจะมีคำสั่ง และการที่บริษัท ทีโอที เตรียมยื่นฟ้องในประเด็นเดียวกันก็ช่วยทำให้เรื่องนี้มีน้ำหนักมากขึ้น
       
       นายวรุธ สุวกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าทีโอทีจะยื่นฟ้องศาลปกครองเหมือนกันในวันที่ 17 ก.ย.นี้พร้อมทั้งขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวด้วย เพื่อให้คดีมีความรัดกุมเข้มแข็งมากขึ้น
       
       โดยทีโอทีจะฟ้อง 2 ประเด็น คือประเด็นแรกได้แก่ประกาศร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz เอื้อประโยชน์เอกชน และทำให้รัฐเสียหาย เพราะการประมูลครั้งนี้ผู้ผ่านเข้าสู่การประมูลคือบริษัทลูกของผู้รับสัมปทานทั้งสิ้น ซึ่งควรที่จะนำพ.ร.บ.ร่วมการงานระหว่างรัฐกับเอกชนฯปี 2535 มาพิจารณาประกอบด้วย แต่กทช.ไม่ได้ระบุถึงประเด็นนี้
       
       นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตทำแผนคืนคลื่นความถี่ 2G ภายใน 45 วัน ซึ่งผู้รับใบอนุญาต จะต้องดำเนินการคืนคลื่นในหัวเมืองใหญ่ก่อนเพราะกทช.ห้าม 2G โรมมิ่งกับ 3G ด้วย ส่งผลให้ผู้ใช้งาน 2G บริเวณที่ถูกคืนคลื่นไม่สามารถใช้โทรศัพท์ 2G ได้ถือเป็นการบีบบังคับให้ใช้ 3G ทันที ซึ่งจะทำให้รัฐเสียประโยชน์หลักแสนล้านบาทและโครงข่ายที่มีอยู่ก็จะเป็นเพียงซากนำไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้
       
       ประเด็นที่สอง ร่างฯดังกล่าวถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 305 ที่มีคำสั่งคุ้มครองสัญญาสัมปทานให้คงอยู่จนกว่าจะหมดอายุสัญญา เพราะข้อบังคับของกทช.ที่กล่าวมาขั้นต้นเป็นการบังคับการสิ้นสุดสัญญาโดยอัตโนมัติเมื่อผู้ให้บริการลงทุนขยายเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศซึ่งเชื่อว่าผู้ให้บริการต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
       
       พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช.และประธานคณะทำงาน 3.9 Gกล่าวว่า กทช.จะเตรียมหนังสือยื่นอุทธรณ์ฉุกเฉินคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางไปยังศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ (17 ก.ย.) เวลา 09.00 น.และคาดว่าจะรู้ผลในวันเดียวกัน ซี่งเป็นไปกระบวนการยุติธรรม โดยระหว่างนี้ขั้นตอนการประมูลต่างๆจะยังคงเดินหน้าต่อไป โดยในวันที่ 20 ก.ย.นี้การประมูลจะเริ่มในเวลา 09.00 น. ซึ่งกทช.ก็จะขอรอจนกว่าศาลฯจะมีคำสั่งว่าจะรับอุทธรณ์หรือไม่ หากศาลรับอุทธรณ์ กทช.ก็จะเดินหน้าประมูลต่อได้ แต่ถ้าศาลปกครองสูงสุดไม่รับอุทธรณ์ กทช.ก็จะหยุดการประมูลทั้งหมดทันที
       
       นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายกลยุทธองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)กล่าวว่า เพิ่งทราบว่าศาลปกครองรับคุ้มครองชั่วคราว จึงไม่สามารถจะเปิดเผยรายละเอียดได้มากนัก เพราะต้องการดูรายละเอียดคำสั่งศาลก่อน เบื้องต้นมองว่าจะเกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรมทั้งหมด เพราะการประมูลถูกหยุดชะงักลงและบริษัทก็จะได้รับผลกระทบด้วย
       
       นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า ไม่น่ามีผลกระทบต่อประเทศ กทช.คงต้องรีบอุทธรณ์และขณะเดียวกันเอกชนก็คงต้องรอลุ้นว่า กทช.จะสามารถยื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่
       
       นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่ารู้สึกผิดหวัง และหวังว่าการอุทธรณ์จะเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าการประมูลเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดจะถือว่าเป็นความล้าหลังของประเทศ
       
       นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวว่ายังมั่นใจว่าจะมีการประมูล 3G เกิดขึ้นภายในปีนี้ กทช.จะต้องยื่นอุทธรณ์ศาลปกครอง คาดว่าการยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวจะใช้เวลาพิจารณาไม่นาน ขณะเดียวกันมั่นใจประชาชนได้ใช้ 3G เนื่องจากทีโอทีได้เปิดให้บริการ ในส่วนการประมูลมั่นใจว่า กทช.คงรีบแก้ปัญหาดังกล่าวโดยรัฐบาลยังมีนโยบายผลักดัน 3G ต่อไป
       
       แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคมเปิดเผยว่าขณะสมาชิวุฒิสภาหรือสว.บ้างส่วนมีแผนจะฟ้องคดีอาญาเพื่อถอดถอนกทช.ออกจากตำแหน่งทั้งคณะ
       
       สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ในตลาดหลักทรัพย์ไทย วานนี้(16ก.ย.) พบว่า ราคาหุ้น บมจ. แอดวานซ์ อินดฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ปิดที่ 98.00 บาท ลดลง 0.75 บาท หรือ -0.76% มูลค่าการซื้อขาย 305.29 ล้านบาท , บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) ปิดที่ 45.50 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ -1.09% มูลค่าการซื้อขาย 98.15 ล้านบาท และหุ้นของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ปิดที่ 6.80 บาท ลดลง 0.20 บาท หรือ -2.86% มูลค่าการซื้อขาย 585.04 ล้านบาท
       
       บทวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคิน ระบุว่า แนะนำ "ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว" ADVANC มูลค่าเหมาะสมรวม 3G เท่ากับ 106 บาทไม่รวม 3G เท่ากับ 102 บาท และ DTAC มูลค่าเหมาะสมรวม 3G เท่ากับ 50 บาท ไม่รวม 3G เท่ากับ 44 บาท ขณะที่ TRUE แนะนำ "ขายทำกำไร" มูลค่าเหมาะสมรวม 3G ที่ 5.10 บาท มูลค่าเหมาะสมไม่รวม 3G เท่ากับ 2.80 บาท

คำสำคัญ (Tags): #ใบหม่อน
หมายเลขบันทึก: 402959เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2010 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท