การพัฒนาเครื่องมือ: การวัดทัศนคติ/ความเชื่อ/ความเห็น/ความพึงพอใจ


ความเชื่อ/ความเห็น/ความพึงพอใจ ไม่มี “ถูก/ผิด”

การวัดทัศนคติ/ความเชื่อ/ความเห็น/ความพึงพอใจ

การประเมินทัศนคติหรือความเชื่อที่คุ้นเคยกันมักมีกรอบแนวคิด ความรู้/ทัศนคติ/พฤติกรรม (KAP) หรือ ทัศนคติ/พฤติกรรม (AP) รองรับ และยังนำมาใช้ประเมินความเห็น/ความพึงพอใจ   

ที่ควรต้องระลึกเสมอคือ ความเชื่อ/ความเห็น/ความพึงพอใจ  ไม่มี “ถูก/ผิด” แต่บอกให้ทราบว่า ระดับหรือน้ำหนักของความเชื่อ/ความเห็นนั้น เป็นอย่างไร ในบริบทนั้นๆ สอดคล้อง/สวนทางหรือส่งเสริม/บั่นทอน ต่อเรื่องที่กำลังศึกษาอย่างไร และหากจะตอบสนองความเชื่อ/ความเห็นนั้นๆ เราควรมีแนวทางดำเนินการอย่างไร

ก. มาตรวัด  

    มีวิธีการ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

  1. Likert scale (assumption คือ ความเห็นของคนเรามีการแจกแจงเป็น normal curve) เป็นการกำหนดน้ำหนักในคำถามแต่ละข้อเป็น 3 หรือ 5 ระดับ  ในทางสถิติ ค่า 5 ระดับมีอำนาจแจกแจงได้ดีกว่า 3 ระดับ  แต่สำหรับผู้ตอบแล้ว การแยกแยะเพียง 3 ระดับ (มาก ปานกลาง น้อย) ย่อมง่ายกว่า 5 ระดับ (มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย น้อยที่สุด)         สังเกตว่า ระดับที่เป็นเลขคี่ จะมีค่ากลางเพื่อให้ผู้ที่ไม่ตัดสินใจ (เช่น ปานกลาง เฉยๆ) นักวิชาการที่ไม่ชอบการตอบแบบแทงกั๊กก็จะกำหนดระดับเป็นเลขคู่ (มากที่สุด มาก น้อย น้อยที่สุด) เท่ากับกำหนดให้ผู้ตอบต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ในที่นี้คือ มาก หรือน้อย 
  2. ประยุกต์จากวิธีวัดระดับความเจ็บปวดซึ่งเป็นข้อมูลนามธรรมหรืออัตตวิสัย (subjective) หลักการคือ อธิบายความหมายของระดับการเจ็บปวดน้อยไปมากเช่น 0 ถึง 5  หรือ 0 ถึง 10 แล้วให้คนไข้ระบุว่า ตนปวดในระดับไหน จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยเพื่อให้สามารถประเมินได้อย่างถูกต้อง  หากผู้ตอบมีปัญหาการรับรู้และทำความเข้าใจในการสื่อสารก็ใช้วิธีนี้ไม่ได้  ที่ต้องระลึกอีกอย่างคือ การจำแนกระดับจำนวนมากอาจทำให้ผู้ตอบเลือกตอบยากโดยเฉพาะกับคนชนบทหรือผู้สูงอายุที่ไม่คุ้นกับการทำแบบทอสอบต่างๆ อาจให้ข้อมูลเพียง “ก็ดี” หรือ “ใช่/ชอบ” “เฉยๆ” “ไม่ใช่/ไม่ชอบ”

ข. การตั้งคำถาม  

  • หลักการตั้งคำถามง่ายๆ ให้ลองนึกถึงประสบการณ์ของตัวเราเอง  ถ้าเราเองเคยเป็นผู้ตอบและเคยเจอคำถามที่ตอบยากเช่น อ่านคำถามแล้วไม่เข้าใจว่าถามอะไร/ ไม่แน่ใจว่าผู้ถามหมายถึงแบบไหนเพราะตีความได้หลายแบบ  เราก็อย่าตั้งคำถามในลักษณะที่ตอบยากอย่างนั้น  
  • ข้อคำถามทัศนคติ/ความเชื่อ/ความเห็น ไม่จำเป็นต้องมีคำว่า “ท่านคิดว่า/เชื่อหรือไม่ว่า/เห็นด้วยหรือไม่ว่า” และภาษาที่ใช้ควรเป็นภาษาที่ผู้ตอบเข้าใจได้ง่าย  ไม่ควรเป็นปฏิเสธซ้อนปฏิเสธเพราะจะพากัน “งง” โดยไม่จำเป็นทั้งคนตอบและตอนที่คนถามจะคิดคะแนน
  • ควรมีข้อคำถามที่ cross check ว่าตอบขัดแย้งกันเองหรือไม่   เป็นการตรวจสอบความน่าเชื่อถือและ ความสม่ำเสมอ (consistency) ในการตอบ
  • กรณีที่ถามความเห็นต่อ “พฤติกรรม” ในสถานการณ์สมมติ ควรมีข้อความให้ผู้ตอบเข้าใจชัดเจนว่า “เป็นสถานการณ์สมมติทั่วไป” ไม่ได้หมายถึง “พฤติกรรมที่ผ่านมา” ของผู้ตอบ เช่น

@ขณะท้อง ไม่ควรรับบริการทันตกรรมใดๆ เลย---ถามความเชื่อต่อการทำฟันขณะท้อง

@ขณะท้องท่านเคยรับบริการทันตกรรมใดๆ หรือไม่---ถามพฤติกรรมการทำฟันเมื่อท้อง

ค. การวิเคราะห์และนำเสนอผล

1)   แบบ ranking ไม่ว่าจะเป็นระดับ 1-5 หรือ 1-10 เนื่องจากข้อมูลเป็น ordinal scale จึงนำเสนอว่า มีผู้ตอบแต่ละระดับคะแนน (เช่น มากและมากที่สุด) คิดเป็นกี่เปอร์เซนต์  

2)   แบบค่าน้ำหนักคะแนนเฉลี่ย (Weight Mean Score) เช่น มีความพึงพอใจเฉลี่ย a จากคะแนนเต็ม 5 โดยมองว่าข้อมูลเป็น ratio scale   สมมติว่า น้ำหนักของค่าคะแนน มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด เท่ากับ 5, 4, 3, 2, และ 1 ตามลำดับ  หากตอบข้อคำถามที่หนึ่งว่า “มาก” จะมีคะแนน “4”  ถ้าตอบ “น้อยที่สุด” เท่ากับคะแนน “1”  เมื่อรวมคะแนนทุกข้อแล้วหารด้วยจำนวนข้อก็จะเป็นคะแนนเฉลี่ยที่ผู้ตอบคนนั้นให้ไว้  ถ้ามีผู้ตอบ b คน ก็จะได้ค่าคะแนนรายบุคคล b ค่าซึ่งเมื่อนำมารวมกันแล้วหารด้วย b ก็จะได้ค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่เราศึกษา   เป็นหลักการเดียวกับการคิดเกรดเฉลี่ยสมัยเราเรียนหนังสือนั่นเอง

รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ http://gotoknow.org/file/phenkhael/OH_R2R_Attitude_measurement.pdf

หมายเลขบันทึก: 402599เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2010 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีค่ะ เป็นประโยชน์มาก

อยากทราบเพิ่มว่าเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสุขภาพช่องปากที่ง่ายและนิยมใช้กันในปัจจุบันคือเครื่องมือ(แบบฟอร์ม)ใดบ้างคะ

เป็นประโยชน์มากเลยครับ จะได้นำไปใช้ต่อไป ขอบคุณมากครับ คืออยากรบกวนเป็นที่ปรึกษาวิจัยได้ไหมครับ [email protected]

เรียน คุณNong

เครื่องมือ/แบบฟอร์ม จะเป็นแบบไหน อย่างไร ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการตรวจค่ะ

ตัวอย่างหาดูได้จากวิทยสารทันตสาธารณสุข หรือลองถามหาจากรุ่นพี่ๆ ในพื้นที่ ที่เคยทำกัน

เรียน คุณ Lucky

ติดต่อได้ทาง e-mail ค่ะ งานหนึ่งของนักวิชาการคือ บริการวิชาการ

(ผู้มาปรึกษาก็ต้องมีความตั้งใจที่จะเป็นนักวิชาการด้วยนะคะ จะได้สมดุลกันทั้ง 2 ฝ่าย)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท