กสท ลังเลซื้อฮัทช์ หรือทุ่มทำ'เอชเอสพีเอ'


นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง
กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท สองใจ ขอวิเคราะห์เม็ดเงินก่อนทุ่มให้ 2 ทางเลือก ระหว่าง ซื้อฮัทช์ หรือ ทำเอชเอสพีเอ และบอกจุติแล้วว่าจะซื้อฮัทช์แค่ 4 พันล้านบาท แต่ต้องท่าทีฮัทช์ก่อน พร้อมเผยรายได้รวม 8 เดือน 31,657 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ จากสัมปทาน 60%...

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ ได้ตั้งคณะทำงานไปศึกษาเปรียบเทียบการให้บริการ 3 จี บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ตซ ด้วยเทคโนโลยีเอชเอสพีเอ จากเดิมที่ให้บริการมือถือในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วยเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอ ซึ่งเป็นแผนสำรอง หากบริษัทไม่สามารถซื้อกิจการ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด หรือ ฮัทช์ ผู้ให้บริการซีดีเอ็มเอภาคกลาง 25 จังหวัดได้ โดยต้องได้ข้อสรุปภายในเดือน ต.ค.นี้

"กำลังทำวิเคราะห์ว่าจะเอาเงินที่ซื้อฮัทช์ มาทำเอสเอชพีเอแทนหรือไม่ โดยมีสองทางเลือกถ้าซื้อฮัทช์ได้ก็ต้องอัพเทคโนโลยีมาเป็นเรฟบี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดของซีดีเอ็มเอ แต่ถ้าซื้อไม่ได้ก็จะมาทำเอชเอสพีเอแทน ก็ช่วยแก้ปัญหาเรื่องเครื่องลูกข่าย ซีดีเอ็มเอที่ต้องผลิตขึ้นมาอย่างเฉพาะเจาะจง กสท ต้องนำเข้ามาเอง ขณะที่ ถ้าเปลี่ยนมาเป็นระบบเอชเอสพีเอ จะช่วยแก้ปัญหานี้" กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าว

สำหรับแนวทางการเปลี่ยนมาเป็นระบบเอชเอสพีเอนั้น คาดการณ์ว่า จะใช้เงินลงทุนประมาณ 2 ล้านบาทต่อสถานีฐาน ขณะที่ กสท มีโครงข่ายซีดีเอ็มเอจำนวน 1,600 สถานีใน 51 จังหวัด นอกจากนี้ เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศก็ต้องไปเช่าใช้สถานีฐานด้วย โดยงบประมาณที่ใช้ก็น่าจะใกล้คียงกับมูลค่าการซื้อฮัทช์ในวงเงิน 7.5 พันล้านบาท

นายจิรายุทธ กล่าวต่อว่า รูปแบบการทำตลาดนั้น เบื้องต้นจะเป็นรูปแบบเดียวกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยทำตลาดเองด้วยและเปิดให้เอกชนมาเช่าใช้โครงข่ายเพื่อทำตลาดแบบบริการขายส่งบริการ หรือเอ็มวีเอ็นโอ ที่จะใช้คลื่นความถี่บนย่าน 850 เมกะเฮิร์ตซ ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 5 เมกะเฮิร์ตซ และต่างจังหวัดจำนวน 15 เมกะเฮิร์ตซ เมื่อเปลี่ยนระบบแล้วก็จะโอนย้ายลูกค้าให้มาใช้ระบบเอชเอสพีเอด้วย

กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าวอีกว่า ได้แจ้งให้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที รับทราบเกี่ยวกับการซื้อฮัทช์แล้วว่า ต้องการซื้อในราคาไม่เกิน 4 พันล้านบาท จากเดิมมูลค่าโครงการอยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท ซึ่งมูลค่าที่ต่อรองไปไม่แน่ใจว่าฮัทช์ยังต้องการจะขายอีกหรือไม่ หาก กสท ไม่สามารถซื้อฮัทช์ได้ก็จะเปลี่ยนมาเป็นมาเป็นเทคโนโลยีเอชเอสพีเอแทน

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานสำหรับงวด 8 เดือน (ม.ค-ส.ค) ที่ผ่านมา กสท มีรายได้รวม 31,657 ล้านบาท มีรายได้จากการให้บริการของบริษัท จำนวน 10,394 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจำนวน 21,263 ล้านบาท เป็นรายได้จากสัมปทาน หรือ คิดเป็น 60% จากรายได้รวมทั้งหมด.

คำสำคัญ (Tags): #ข่าว it
หมายเลขบันทึก: 402481เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2010 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท