ประเภทของการวิจัย


ประเภทของการวิจัย

................................................

  • · แบ่งตามแนวคิดพื้นฐานการวิจัย

o การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) มิได้หมายความว่าการวิจัยประเภทนี้จะมีแต่ปริมาณ วัดกันด้วยจำนวนหน้าของรายงานการวิจัย หรือมีความหมายไปในทางที่ไม่มีคุณภาพ การวิจัยเชิงปริมาณหมายความถึงการวิจัยที่เน้นการใช้

(ก) ข้อมูลที่เป็นตัวเลขเป็นฐานยืนยันความถูกต้องของข้อค้นพบและข้อสรุปต่างๆ ของเรื่องที่ทำการศึกษาและวิจัย

(ข) ความใช้ได้กว้างขวางทั่วไปของข้อค้นพบการวิจัยประเภทนี้สามารถเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพดีถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าให้คำตอบได้ถูกต้องจากการใช้ระเบียบวิธีที่เหมาะสมและข้อค้นพบสามารถนำไปใช้กว้างขวางทั่วไป

o การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) การวิจัยประเภทนี้มิได้มีความหมายว่า เป็นการวิจัยที่มีคุณภาพดีตามความหมายที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน แต่หมายถึงการวิจัยที่ไม่เน้นข้อมูลที่เป็นตัวเลขเป็นหลัก เป็นการวิจัยที่เน้นการหารายละเอียดต่างๆ ของกลุ่มประชากรที่ทำการศึกษา ที่จะก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องนั้นๆ ข้อมูลหรือข้อค้นพบอาจได้มาจากการสังเกตหน่วยที่ต้องการศึกษาเพียงไม่กี่หน่วย หรือเพียงไม่กี่กลุ่มหรือชุมชน การวิจัยชนิดนี้มิได้มุ่งเก็บข้อมูลที่เป็นหรือสามารถทำให้เป็นตัวเลขจากกลุ่มประชากรเป้าหมายที่ศึกษามาทำการวิเคราะห์เชิงปริมาณเพื่อให้ได้คำตอบใช้ได้กว้างขวางทั่วไป 

  • · แบ่งตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย

o การวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) หรือวิจัยบริสุทธิ์ (Pure Research) เป็นการวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายในการหาความรู้ใหม่เพื่อขยายความรู้ทางวิชาการเพื่อสร้างทฤษฎีใหม่หรือตรวจสอบทฤษฎีเดิมที่มีอยู่แล้ว

o การวิจัยประยุกต์ (Applied Research) เป็นการวิจัยที่ผู้วิจัยมุ่งหวังในการค้นหาความรู้เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ หรือใช้ในการกำหนดนโยบายและตัดสินใจ กล่าวคือเป็นการวิจัยมุ่งเน้นนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติเป็นสำคัญ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

§ การวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) เป็นการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือการวิจัยที่จะนำผลการวิจัยไปใช้ในการทำงาน และปรับปรุงงานที่ตนเองปฏิบัติอยู่ให้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

§ การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) เป็นการวิจัยที่มีการดำเนินงานหลายขั้นตอน นำความรู้ที่ได้ไปสู่การพัฒนาเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ ๆ ที่มาไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม รูปแบบ กระบวนการใหม่ ๆ

§ การวิจัยเชิงประเมิน (Evaluation Research) เป็นการวิจัยที่มุ่งค้นหาความรู้เพื่อใช้ในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เช่น ในการดำเนินโครงการ การปรับปรุงโครงการต่าง ๆ

  • · แบ่งตามขอบเขตของศาสตร์ต่าง ๆ

o การวิจัยเฉพาะศาสตร์ในการแบ่งประเภทการวิจัยตามสาขาวิชานี้ เย็นใจ (2522) ได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

§ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์สำหรับกลุ่มวิชาที่จัดเป็นวิทยาศาสตร์ ในที่นี้หมายถึง วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) ซึ่งแบ่งออกได้สองกลุ่มคือ วิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Science) และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Biological Science) วิชาที่จัดกลุ่มเข้าเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาตินั้น ตัวอย่างเช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ดาราศาสตร์ ธรณีวิทยา เกษตรศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น ลักษณะการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์นั้น ส่วนมากผู้วิจัยสามารถจะดำเนินการทดลองภายในห้องทดลองได้ง่าย เพราะสิ่งที่นักวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์ทำการศึกษานั้นเป็นสิ่งของหรือสัตว์ ซึ่งสามารถทำการควบคุมและดำเนินการทดลองได้สะดวกกว่าการทดลองกับมนุษย์

§ การวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์สำหรับสาขาวิชาที่จัดเป็นกลุ่มสังคมศาสตร์นั้น ตัวอย่างเช่น สังคมวิทยา ศึกษาศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ มานุษยวิทยา เป็นต้น ลักษณะการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์นั้นมักจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และพฤติกรรมของมนุษย์ และมีการนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการวิจัยในบางสาขาวิชาด้วย

§ การวิจัยทางด้านมนุษยศาสตร์สำหรับสาขาวิชาที่จัดเป็นกลุ่มมนุษยศาสตร์นั้น ตัวอย่างเช่น ปรัชญา ตรรกศาสตร์ ภาษาศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ วรรณคดี โบราณคดีและศาสนา เป็นต้น ลักษณะการวิจัยทางด้านมนุษยศาสตร์นั้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษานั้นอาจจะเป็นสิ่งของหรือมนุษย์ก็ได้ การวิจัยบางสาขาวิชาไม่อาจจะทำการทดลองได้ เพราะลักษณะของวิชานั้น มีความสมบูรณ์ในตัว เช่น ตรรกศาสตร์ เป็นต้น

o การวิจัยสหวิทยาการ ในการดำเนินการวิจัยบางครั้งผู้วิจัยอาจจะต้องการคำตอบจากการวิจัยหลายแง่มุมด้วยกัน จึงมีการวิจัยร่วมสาขาวิชาเกิดขึ้น การวิจัยที่มีการดำเนินการร่วมระหว่างสาขาวิชาสองสาขาวิชานั้น เรียกว่า การวิจัยสหวิทยาการ (interdisciplinary research) ตัวอย่างเช่น การวิจัยที่ได้รับจัดสรรทุนวิจัยจากโครงการพัฒนาสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งโครงการวิจัยเหล่านี้เป็นการวิจัยที่ประสมประสานความรู้ระหว่างทางด้านการศึกษาและทางด้านสังคมศาสตร์ เพื่อหาคำตอบต่อหัวข้อปัญหาในการวิจัย ในกรณีที่งานวิจัยมีการดำเนินงานร่วมระหว่างสาขาวิชาเกินสองสาขาวิชาขึ้นไปเรียกว่า การวิจัยพหุวิทยาการ (multidisciplinary research)

  • · แบ่งตามความเข็มงวดของการควบคุมตัวแปร

o การวิจัยในห้องปฏิบัติการ

o การวิจัยสนาม

o การวิจัยเอกสาร

  • · แบ่งตามเวลาที่ใช้ในการวิจัย

o การวิจัยแบบตัดขวาง Cross sectional research การวิจัยซึ่งอาศัยรูปแบบการวิจัยสำรวจโดยวางแผนการรวบรวมข้อมูลเพียงครั้งเดียวในช่วงมิติของเวลา ตามปกติ การวิจัยตัดขวางมักได้รับการประยุกต์ใช้เพื่อศึกษาประชากรที่ขนาดใหญ่ โดยอาศัยการสุ่มตัวอย่างครั้งเดียวเพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของประชากร ในความเป็นจริง การวิจัยตัดขวางมีความหมายใกล้เคียงกับการวิจัยสัมพันธ์

o การวิจัยระยะยาว Longtitudinal research การวิจัยซึ่งอาศัยรูปแบบการวิจัยสำรวจโดยวางแผนการรวบรวมข้อมูลหลายครั้งในช่วงมิติของเวลาช่วงห่างของการรวบรวมข้อมูลแต่ละครั้งอาจกำหนดเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปีก็ย่อมขึ้นกับจุดมุ่งหมายและปัญหาของการวิจัยเป็นสำคัญ อนึ่งการวิจัยระยะยาวยังหมายความรวมถึงการศึกษาแนวโน้ม (Trend study) การศึกษากลุ่มตัวอย่างเดียวหลายครั้ง (Panel study) และการศึกษาหลายกลุ่มตัวอย่างหลายครั้ง (Cohort study)

  • · แบ่งตามระเบียบวิธีวิจัย

o การวิจัยเชิงวิเคราะห์

§ การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์ (Historical research) เป็นการวิจัยที่เน้นถึงการศึกษาค้นคว้า รวบรวมข้อมูลหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต (what was ?) ประโยชน์ของการวิจัย ชนิดนี้ก็คือ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการศึกษาเหตุการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน หรือสามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ด้วย

§ การวิจัยเชิงปรัชญา

o การวิจัยเชิงพรรณา (Descriptive research) เป็นการวิจัยที่เน้นถึงการศึกษารวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (what is ?) ในการดำเนินการวิจัย นักวิจัยไม่สามารถที่จะไปจัดสร้างสถานการณ์หรือควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ การวิจัยแบบนี้เป็นการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเพศ และความสนใจต่อการเมือง มีการวิจัยหลายชนิดที่จัดไว้ว่าเป็นการวิจัยเชิงบรรยายได้แก่

§ การวิจัยเชิงสำรวจการวิจัยเชิงสำรวจนั้นผู้วิจัยจะเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ที่ทำการศึกษา ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นของบุคคลก็ได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะบรรยายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา การวิจัยเชิงสำรวจนั้น ผู้วิจัยจะนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาทั้งหมด มาวิเคราะห์เพื่อหาลักษณะส่วนรวมของกลุ่มที่ทำการศึกษา ลักษณะการวิจัยเชิงสำรวจที่นิยมดำเนินการในปัจจุบัน เช่น การสำรวจชุมนุมชนในชนบท การสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา และการสำรวจประชามติเป็นต้น ผลจากการวิจัยเชิงสำรวจมักจะนำไปใช้ช่วยในการตัดสินใจ หรือนำไปเป็นความรู้พื้นฐานในการดำเนินงานวิจัยของนักวิจัยในแต่ละกลุ่มสาขาวิชา ในการดำเนินโครงการวิจัยลักษณะพหุวิทยาการ

§ การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์การวิจัยเชิงความสัมพันธ์นั้นเป็นการศึกษาเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร นักวิจัยทางการศึกษานั้นส่วนมาก เมื่อรวบรวมข้อมูลและแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ทำการศึกษาแล้ว ก็จะพยายามศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อเท็จจริงนั้นๆ ซึ่งจะทำให้มีความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับปรากฏการณ์นั้นๆ มากขึ้น ลักษณะการวิจัยเชิงความสัมพันธ์ เช่น การวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ และการพยากรณ์

§ การวิจัยเชิงเปรียบเทียบสาเหตุในการศึกษาวิจัยเชิงเปรียบเทียบนั้น ผู้วิจัยจะเปรียบเทียบความแตกต่าง ความคล้ายคลึงกันระหว่างสภาพการณ์ หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะทราบถึง องค์ประกอบหรือตัวแปรที่จะไปส่งเสริมหรือเกี่ยวกับสภาพการณ์หรือปรากฏการณ์ที่ต้องการศึกษา การวิจัยชนิดนี้พยายามที่จะค้นคว้าหาความสัมพันธ์ในเชิงเหตุและผลระหว่างตัวแปรต่างๆ ซึ่งกระทำโดยการศึกษาย้อนหลังของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนมากนักวิจัยจะดำเนินการวิจัยชนิดนี้ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการวิจัยเชิงทดลองได้ เนื่องจากจะทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่ถูกทดลอง อย่างไรก็ดีการศึกษาเพื่อหาความสัมพันธ์เชิง เหตุ-ผล ระหว่างตัวแปรต่างๆ โดยที่ไม่ได้มีการควบคุมตัวแปรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการศึกษาและดำเนินการอย่างระมัดระวัง ดังเช่น การวิจัยเชิงทดลองนั้น ผู้วิจัยควรจะต้องระมัดระวังในการแปลความหมาย และสรุปความผลที่ได้จากการวิจัย

§ การวิจัยรายกรณีการศึกษาเฉพาะกรณีนั้น สิ่งที่นักวิจัยทำการศึกษาอาจจะเป็นบุคคลคนเดียว กลุ่มบุคคล หรือชุมนุมชน แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ และในการศึกษาดังกล่าว นักวิจัยจะเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัจจุบันของบุคคลหรือชุมนุมชน ประสบการณ์ในอดีต สภาพแวดล้อมที่มีผลต่อชุมนุมชนหรือพฤติกรรมของบุคคล หลังจากที่ได้วิเคราะห์ความต่อเนื่อง ลำดับเหตุการณ์และความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้นแล้ว นักวิจัยก็จะเขียนบรรยายลักษณะที่เป็นส่วนรวมของสิ่งที่ตนทำการศึกษา เราจะสังเกตเห็นว่าลักษณะการศึกษาเฉพาะกรณีนั้นมีส่วนคล้ายคลึงกับการวิจัยเชิงสำรวจในบางประการ แต่ก็มีข้อแตกต่างไปก็คือ การศึกษาเฉพาะกรณีนั้นทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนจำกัด แต่ตัวแปรที่ทำการศึกษาสำหรับกลุ่มตัวอย่างนั้น ทำการศึกษาหลายด้าน และมีการศึกษาสถานการณ์ต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ข้อมูลที่ทำการรวบรวมมักจะเป็นข้อมูลเชิงคุณลักษณะหรือข้อมูลเชิงคุณภาพ การแปลความหรือสรุปผลการวิจัยก็จะจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มที่ทำการศึกษานั้น สำหรับการวิจัยเชิงสำรวจนั้นการรวบรวมข้อมูลจะกระทำกับกลุ่มตัวอย่างที่คัดเลือกจากประชากรที่ต้องการศึกษา และกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนมากกว่าการศึกษาเฉพาะกรณี แต่ตัวแปรที่ทำการศึกษามีน้อยกว่า ผลของการวิจัยเชิงสำรวจก็อาจจะอ้างอิงไปยังประชากรที่ต้องการสำรวจได้

§ การวิจัยเชิงพัฒนา เป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นที่จะนำผลการวิจัยมาเพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพ การทำงานปกติในองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ โดยอาศัยยุทธศาสตร์ วิธีการหรือเทคนิคต่าง ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะธรรมชาติของงานหรือหน่วยงานนั้น ๆ

§ การวิจัยแนวโน้ม

o การวิจัยเชิงทดลอง (experimental research) เป็นการวิจัยเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ (what will be ?) โดยมีการจัดกระทำกับตัวแปรอิสระเพื่อศึกษาผลที่มีต่อตัวแปรตาม และมีการควบคุมตัวแปรอื่นมิให้มีผลกระทบต่อตัวแปรตาม ซึ่งนิยมมากทางด้านวิทยาศาสตร์ สำหรับทางด้านการศึกษา ค่อนข้างลำบาก ในแง่ของการควบคุมตัวแปรเกิน

§ การวิจัยเชิงกึ่งทดลอง

§ การวิจัยเชิงทดลองแท้

  • · แบ่งตามวิธีดำเนินการเกี่ยวสมมติฐานในการวิจัยในการดำเนินการวิจัยนั้น ลำดับขั้นบางตอนของกระบวนการของการวิจัยบางประเภทอาจจะแตกต่างกัน เช่น ขั้นตอนการตั้งสมมติฐานในการวิจัย เป็นต้น ประเภทของการวิจัยที่แบ่งตามวิธีดำเนินการเกี่ยวกับสมมติฐานในการวิจัย มีดังต่อไปนี้

o การวิจัยเชิงอนุมาน (นิรนัย, deductive research)การวิจัยประเภทนี้ ลำดับขั้นตอนของกระบวนการวิจัยนั้น ผู้วิจัยจะเริ่มกำหนดสมมติฐานในการวิจัยจากการศึกษาทฤษฎีและรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นจะเลือกรูปแบบการวิจัย ทำการรวบรวมข้อมูล แล้วทดสอบสมมติฐานเพื่อหาคำตอบสำหรับการวิจัย ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิธีดำเนินการเกี่ยวกับสมมติฐานในการวิจัยนั้น เป็นวิธีการทดสอบสมมติฐานในการวิจัย (hypothesis-testing method)

o การวิจัยเชิงอุปมาน (อุปนัย, inductive research)การวิจัยเชิงอุปมานนี้ นักวิจัยจะเริ่มต้นกระบวนการวิจัยในทางตรงกันข้ามกับการวิจัยเชิงอนุมาน (Kidder, 1981) โดยที่จะรวบรวมข้อมูลในการวิจัยจากการสังเกต หรือศึกษาผู้ที่อยู่ในกลุ่มตัวอย่าง แล้วสร้างสมมติฐานและทฤษฎีจากข้อมูลนั้นๆ จะเห็นได้ว่าวิธีดำเนินการเกี่ยวกับสมมติฐานในการวิจัยนั้น เป็นวิธีการสร้างสมมติฐาน (hypothesis-generating method) นักวิจัยเชิงสำรวจส่วนมากจะดำเนินการวิจัยโดยวิธีการอุปมาน และบางครั้งนักวิจัยเชิงทดลองและนักวิจัยเชิงบรรยายก็อาจจะดำเนินการวิจัยเชิงอุปมานก็ได้ ถ้าหากสมมติฐานที่ตั้งไว้ก่อนทำการทดลองนั้นไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการศึกษาและที่ได้รวบรวมในการทดลอง ดังนั้น ผู้วิจัยก็จะทำการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน หาคำตอบจากการศึกษานั้น แล้วก็สร้างสมมติฐานขึ้นมาใหม่เพื่อทำการศึกษาต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 401183เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2010 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท