ตัวแปร


ตัวแปร

ตัวแปร : Variable  มาจากคำว่า  vary = ผันแปร เปลี่ยนแปลง  able = สามารถ   Variable = สิ่งที่สามารถแปรค่าได้ 
                ตัวแปร คือ คุณลักษณะหรือสภาวะการณ์ต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็นพวกหรือเป็นระดับหรือมีค่าได้หลายค่า       ตัวแปร คือ สิ่งที่โดยสภาพทั่วไปแล้วสามารถแปรค่าได้ค่าที่แปรออกมาของตัวแปรย่อมมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป
                ตัวแปร คือ สิ่งที่ผู้วิจัยสนใจที่จะวัดเพื่อให้ได้ข้อมูลออกมาในรูปใดรูปหนึ่ง       โดยสรุปแล้ว ตัวแปร หมายถึง คุณลักษณะของสิ่งต่างๆ ที่สามารถแปรเปลี่ยนค่าได้ เช่น เพศ แปรค่าได้เป็น เพศชายและเพศหญิง ระดับการศึกษาอาจแบ่งเป็นระดับต่ำกว่าปริญญาตรี และระดับปริญญาตรีขึ้นไป เป็นต้น สิ่งที่แปรเปลี่ยนค่าไม่ได้ไม่ถือว่าเป็นตัวแปรเช่น คน แมว แต่ถ้าเป็น เชื้อชาติของคน สีของแมว จะกลายเป็นสิ่งที่แปรเปลี่ยนค่าได้จึงจะถือว่าเป็นตัวแปร 
                 ประเภทของตัวแปร 
                เกณฑ์ในการจำแนกประเภทของตัวแปรมี4 ลักษณะคือ

       1. พิจารณาคุณสมบัติของค่าที่แปรออกมาแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ 
                1.1 ตัวแปรเชิงปริมาณ(Quantitative Variables) เป็นตัวแปรที่แตกต่างกันในระหว่างพวกเดียวกันหรือค่าที่แปรออกมาแตกต่างกันออกไปตามความถี่จำนวนปริมาณมากน้อยหรือลำดับที่ เช่น 
             ค่าใช้จ่ายของนักศึกษาต่อคน ต่อวัน (10,15,20,...(บาท)) 
             บุตรคนที่ (1, 2, 3,...) 
             คะแนนของนักเรียน (17, 18, 19,....) 
             จำนวนบุตรในครอบครัว (0, 1, 2,....) 
                1.2 ตัวแปรเชิงคุณภาพ(Qualitative Variables) เป็นตัวแปร ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันในแง่ของชนิดหรือประเภทโดยใช้ชื่อเป็นภาษาที่แสดงถึงคุณลักษณะของสิ่งต่าง ๆ ในพวกนั้น เช่น 
             อาชีพ (ข้าราชการ ค้าขาย เกษตรกร รับจ้าง) 
             เพศ  (ชาย หญิง) 
             ภูมิลำเนา (ในเมือง ชนบท) 
       2. พิจารณาความต่อเนื่องตามธรรมชาติของตัวแปรแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ 
                2.1 ตัวแปรค่าต่อเนื่อง (Continuous Variables) เป็นตัวแปรที่มีค่าต่อเนื่องกันตลอด เช่น ส่วนสูงน้ำหนัก คะแนนสอบ เป็นต้น ค่าของตัวแปรเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเลขเต็มหน่วยพอดีอาจเป็นทศนิยมหรือเป็นเศษส่วนได้ 
                2.2 ตัวแปรค่าไม่ต่อเนื่อง(Discrete Variables) ตัวแปรประเภทนี้มีค่าเฉพาะตัวของมัน แยกออกจากกันเด็ดขาดวัดค่าเป็นจำนวนเต็ม เช่น จำนวนหนังสือ เพศ (ชายแทนด้วย 0, หญิงแทนด้วย 1)เป็นต้น 
       3. พิจารณาความเป็นไปได้ของผู้วิจัยที่จะจัดกระทำกับตัวแปรแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ 
                3.1 ตัวแปรที่กำหนดได้(Active Variables) เป็นตัวแปรที่ผู้วิจัยสามารถกำหนดให้กับผู้รับการทดลองได้เช่น วิธีสอน การจัดสอนซ่อมเสริม การจัดสภาพห้องเรียนและอื่น ๆ เป็นต้น 
                3.2 ตัวแปรที่จัดกระทำขึ้นไม่ได้(Attribute of Organismic Variables) เป็นตัวแปรที่ยากจะกำหนดให้ผู้รับการทดลองได้ตัวแปรเหล่านี้เป็นลักษณะของผู้รับการทดลอง เช่น เพศ สภาพเศรษฐกิจ ความถนัดเป็นต้น 
       4. พิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรในเชิงเหตุผลเป็นการแบ่งตามลักษณะการใช้เป็นวิธีแบ่งตัวแปรที่นิยมกันมากที่สุดแบ่งเป็น 
                4.1 ตัวแปรอิสระหรือตัวแปรต้น(Independent Variables) เป็นตัวแปรที่จะทำให้เกิดสิ่งอื่นตามมา เป็นตัวแปรที่เป็นเหตุตัวแปรที่มาก่อน 
                4.2 ตัวแปรตาม(Dependent Variables) เป็นตัวแปรที่เป็นผลเป็นตัวแปรที่เป็นผลมาจากตัวแปรต้น 
                4.3 ตัวแปรแทรกซ้อน(Extraneous Variables) เป็นตัวแปรอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อตัวแปรตาม โดยผู้วิจัยไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นโดยผู้วิจัยต้องพยายามควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน เช่น ควบคุมด้วยการเลือกกลุ่มตัวอย่างควบคุมโดยวิธีการทางสถิติหรือ ผู้วิจัยอาจนำตัวแปรแทรกซ้อนมาศึกษาเป็นตัวแปรอิสระอีกตัวแปรหนึ่งไปเลย 
          ตัวอย่าง
          1) สถานการณ์: ครูคนหนึ่งมีความสนใจจะเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นม.1 ที่เรียนโดยใช้บทเรียนสำเร็จรูปและแบบธรรมดามีผลแตกต่างกันหรือไม่ 
            ตัวแปรต้น  คือ วิธีสอน 
            ตัวแปรตาม คือ  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย 
            ตัวแปรแทรกซ้อน  ที่น่าจะต้องควบคุม คือการเรียนพิเศษการศึกษาเพิ่มเติมพื้นฐานของนักเรียน 
          2) จุดมุ่งหมายการวิจัย: เพื่อเปรียบเทียบความถนัดด้านเครื่องจักรกลระหว่างนักเรียนชาย 
                                       และนักเรียนหญิง 
            ตัวแปรต้น   คือ  เพศของนักเรียน 
            ตัวแปรตาม  คือ  ความถนัดด้านเครื่องจักรกล 
            ตัวแปรแทรกซ้อน  ความตั้งใจเรียน พื้นฐานนักเรียน 
          3) สมมุติฐานการวิจัย: นักเรียนที่มีผู้ปกครองรับราชการ และนักเรียนที่มีผู้ปกครองประกอบ อาชีพเกษตรกรรมมีพฤติกรรมความเป็นผู้นำแตกต่างกัน 
            ตัวแปรต้น    คือ  อาชีพของผู้ปกครอง 
            ตัวแปรตาม   คือ  พฤติกรรมความเป็นผู้นำ

คำสำคัญ (Tags): #ตัวแปร
หมายเลขบันทึก: 401172เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2010 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 01:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท