การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา


การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา

การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา ชื่อนี้หลายท่านคงไม่ค่อยคุณ แต่จะมาขอแนะนำให้รู้จัก

การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา เป็น 1 ในรูปแบบ การวิจัยเชิงคุณภาพ ที่มีอยู่ 6 รูปแบบด้วยกันคือ

1 การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา  (Ethnographic study)
2 การวิจัยแนวปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology study)
3 การศึกษาเฉพาะกรณี ( Case study method)
4 การวิจัยชีวประวัติบุคคล (Biographical study)
5 การวิจัยแบบสร้างทฤษฎจากข้อมูล (Grounded theory study)
6 การวิจัยแบบสนทนากลุ่ม (Focus group study)

การศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnographic Studies) เป็นวิธีการศึกษาของสาขาวิชามานุษยวิทยา (Anthropological Method) ต่อมานักวิจัยและนักวิชาการทางการศึกษาในสาขาอื่นๆ เช่น ด้านสังคมศาสตร์ และด้านการศึกษาได้นำวิธีการนี้มาใช้ในศาสตร์ของตนเอง การศึกษาชาติพันธุ์วรรณนาในยุคแรกๆ ความสนใจจำกัดอยู่เฉพาะการศึกษากลุ่มชนบางกลุ่มในสังคม เช่น กลุ่มชนที่ล้าหลัง และชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาวนา กลุ่มชนในชนบท ต่อมาเริ่มขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ขยายความสนใจศึกษาไปยังกลุ่มทางสังคม วัฒนธรรม สถาบัน และองค์กรร่วมสมัย แทบทุกรูปแบบ เช่น สังคมเกษตรกรรม กลุ่มกรรมาชีพ กลุ่มสตรี พระสงฆ์ สถาบันวัด ครอบครัว โรงเรียน ชุมชนในเมือง ฯลฯ  โดยได้ทำการศึกษาวัฒนธรรม ความคิด ความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง แต่ที่ผ่านมาการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดจากทั้งคนในวงการวิจัยเชิงคุณภาพและจากภายนอก ประเด็นที่ภายนอกวิพากษ์กันมากก็คือ เรื่องความไม่เข้มงวดของระเบียบวิธีวิจัย ทั้งประเด็นการเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล และมีการตอบโต้ในประเด็นดังกล่าวโดยพยายามปรับปรุงวิธีการ แต่โดยภาพรวมแล้ววิธีการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาก็ยังคงความเป็น “เชิงคุณภาพ” อย่างเต็มรูปแบบ (ชาย โพธิสิตา. 2550: 153)

ความหมาย

          ชาย โพธิสิตา (2548:34) ให้ความหมายของชาติพันธุ์วรรณนาไว้ว่า  ชาติพันธุ์วรรณนา หมายถึง กระบวนการสังเกตพฤติกรรม และวิถีชีวิตของกลุ่มทางสังคมและวัฒนธรรมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วรายงานโดยละเอียดถึงพฤติกรรม ความเชื่อ ความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ ตลอดจนค่านิยมอันเป็นผลมาจากพฤติกรรมของคนในกลุ่มนั้นๆ  กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ชาติพันธุ์วรรณนาเป็นการพรรณนาถึงวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของคนในสังคมใดสังคมหนึ่ง โดยปกตินักชาติพันธุ์วรรณนากับนักมานุษยวิทยาเป็นคนๆ เดียวกัน ทั้งนี้ก็เพราะชาติพันธุ์วรรณนาเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาใช้ศึกษา “วัฒนธรรม” ของคนในสังคม

          อลิศรา ศิริศรี (2541:20) ให้ความหมายของการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnographic Research) ว่า เป็นการศึกษาวัฒนธรรม โดยวัฒนธรรม หมายถึง ลักษณะของการดำเนินชีวิตของบุคคล หรือของกลุ่มบุคคลในสังคมหนึ่งๆ หรือในชุมชนหนึ่งๆ ตามความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา และภาษา

          ศุภกิจ วงศ์วิวัฒนนุกิจ (2550: 90-91) กล่าวว่า Ethnography เป็นการศึกษาทางชนชาติวิทยา และการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา เป็นแนวทางหนึ่งในการวิจัยเชิงคุณภาพที่มุ่งอธิบาย และตีความข้อมูลทางสังคม เจตคติ ความเชื่อ ความรู้สึก วัฒนธรรม และพฤติกรรมของมนุษย์ โดยมีวิธีการเก็บข้อมูลหลายๆ วิธีในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นักวิจัยต้องแฝงตัวเองเข้าไป คลุกคลีอยู่กับประชากรในชุมชนหรือท้องถิ่นที่ต้องการศึกษา เพื่อได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการแสดงออกของความรู้สึกและพฤติกรรมต่างๆ ของประชากรจนได้ข้อมูลเพียงพอที่จะนำไปวิเคราะห์ แปลผล  สรุปผลหรือสร้างทฤษฎีเพื่อใช้อธิบายพฤติกรรมทางวัฒนธรรมของประชากรได้ โดยทั่วไปการศึกษาทางชนชาติวิทยาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) ระดับมหัพภาค (macroethnography) ที่เน้นถึงวัฒนธรรมในภาพกว้าง และ (2) ระดับจุลภาค (microethnography) ที่เน้นวัฒนธรรมที่แคบลงมาในขนาดประชากรที่น้อยลง หรืออาจเป็นการศึกษาเฉพาะกรณีในหน่วยงาน

          Geertz (อลิศรา ศิริศรี.2541: 250. อ้างอิงจาก Geertz: 1975) กล่าวว่า การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา คือ การนำตัวเราหรือผู้วิจัยเข้าไปสู่ สิ่งที่ Geertz เรียกว่า “Thick Description” หมายถึง ความพยายามที่จะบรรยายหรือพรรณนา (Describe) อย่างละเอียดลึกซึ้งถึงเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ หรือสิ่งที่เกิดขึ้น การตีความหมายหรือหาความหมาย (Interpretation) เพื่อที่จะอธิบายถึงลักษณะและความเป็นไปอันสลับซับซ้อนของสังคมนั้นๆ

          LeCompte and Schensul (ชาย โพธิสิตา. 2550: 148. อ้างอิงจาก LeCompte and Schensul.1999a: 1) เห็นว่า ชาติพันธุ์วรรณนาเป็น “วิธีการศึกษาชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน สถาบัน รวมถึงกลุ่มหรือองค์กรในรูปแบบอื่นๆ วิธีการนี้มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นการค้นคว้าหาข้อเท็จจริง ใช้ตัวนักวิจัยเป็นเครื่องมือหลักในการเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้วิธีการเก็บข้อมูลที่เคร่งคัดเพื่อหลีกเลี่ยงอคติและเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของประชาชนผู้ให้ข้อมูล ใช้วิธีดำเนินการวิจัยแบบอุปนัย สร้างทฤษฎีขึ้นมาจากท้องถิ่นที่ศึกษาเพื่อทำการทดสอบและปรับใช้ภายในท้องถิ่นและกับที่อื่น

          Stewart (ชาย โพธิสิตา.2550: 148. อ้างอิงจาก LeCompte and Schensul. 1998) หลีกเลี่ยงที่จะให้ความหมายในเชิงนิยาม แต่กล่าวถึงลักษณะสำคัญของวิธีการนี้ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้คือ ใช้การสังเกตแบบมีส่วนร่วม เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการวิจัยที่เน้นความเป็นองค์รวม เป็นการวิจัยที่ให้ความสำคัญแก่บริบท รวมทั้งมีการพรรณนาและการวิเคราะห์ที่เน้นปัจจัยทางวัฒนธรรมและสังคมเป็นตัวแปรสำคัญ

            William Wiersma (1986: 16) ได้กล่าวถึงชาติพันธุ์วรรณนาว่าเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง  เป็นเรื่องของการพรรณนาวิเคราะห์สถานการณ์ทางวัฒนธรรมที่เฉพาะเจาะจง   ส่วนความหมายกว้างๆ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมของการศึกษา การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาจึงเป็นเรื่องทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับมานุษยวิทยาแต่มีการนำมาใช้ในการศึกษา 

          จากความหมายข้างต้นสรุปได้ว่า ชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnography) เป็นการศึกษาทางชนชาติวิทยา และการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาเป็นแนวทางหนึ่งของการวิจัยเชิงคุณภาพที่มุ่งอธิบายและตีความข้อมูลทางสังคม เจตคติ ความเชื่อ ความรู้สึก วัฒนธรรม ภาษา และพฤติกรรมของมนุษย์ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในสังคม โดยใช้วิธีการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้วิจัย     จะเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการเก็บข้อมูลที่เคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงอคติและให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง          การวิเคราะห์ข้อมูลเน้นการพรรณนา และการวิเคราะห์ที่เน้นปัจจัยทางวัฒนธรรมและสังคมเป็นตัวแปรสำคัญ โดยทั่วไปการศึกษาทางชนชาติวิทยาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) ระดับมหัพภาค (macroethnography) ที่เน้นถึงวัฒนธรรมในภาพกว้าง และ (2) ระดับจุลภาค (microethnography) ที่เน้นวัฒนธรรมที่แคบลงมาในขนาดประชากรที่น้อยลง หรืออาจเป็นการศึกษาเฉพาะกรณีในหน่วยงาน

 

จุดมุ่งหมาย

          ในช่วงแรกชาวตะวันตกเป็นผู้ริเริ่มศึกษาวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ที่จะมีความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชนกลุ่มอื่น เพื่อประโยชน์ในการติดต่อและเปลี่ยนแปลงสังคม (อลิศรา ศิริศรี. 2541: 249)  ดังนั้นในระยะแรกจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวัฒนธรรมของกลุ่มชนหรือสังคมว่าเป็นอย่างไร (นิศา ชูโต.2548: 38; อลิศรา ศิริศรี.2541: 249; ชาย โพธิสิตา. 2550: 150;      ทรงคุณ จันทจร. 2549: 7)  เป็นการศึกษาถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิต ความเชื่อ ของกลุ่มชนหนึ่งๆ อย่างละเอียด  (นิศา ชูโต.2548: 38; อลิศรา ศิริศรี.2541: 249; ทรงคุณ จันทจร. 2549: 7) และในปัจจุบันวัตถุประสงค์ของการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณา มีแนวโน้มที่มุ่งทำความเข้าใจปัญหาเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง (problem-oriented) มากขึ้น แทนที่จะเป็นการศึกษาเพื่อพรรณนาหรือทำความเข้าใจชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยรวมๆ เช่นที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม  ประเด็นเจาะจงที่ศึกษาอาจมีหลากหลาย เช่น พฤติกรรมเสี่ยงต่อ HIV/AIDS ของคนในชุมชน การรับนวัตกรรมทางการเกษตร พฤติกรรมการใช้ยาในชุมชน ความรุนแรงในครอบครัว การเลี้ยงดูเด็กในชุมชนเมือง ฯลฯ จากพัฒนาการใหม่นี้ทำให้มีการใช้ชาติพันธุ์วรรณนาเป็นการวิจัยประยุกต์ คือ ทำการวิจัยเพื่อหาทางแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งมากขึ้น นั่นหมายความว่า เนื้อหาและการดำเนินการวิจัยก็จะมุ่งการวิเคราะห์และใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะเจาะจงปัญหาในการวิจัย แต่ลักษณะสำคัญของการเป็นชาติพันธุ์วรรณนา   ก็ยังเป็นเรื่องของการมุ่งทำความเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มชน  ไม่ใช่ของบุคคล  และการวิเคราะห์เชิงชาติพันธุ์วรรณนานั้น ให้ความสำคัญแก่ปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรมเป็นพิเศษ แม้จะรวมเอาปัจจัยอื่นเข้ามาด้วยก็ตาม ทั้งนี้เพราะมโนทัศน์ทางวัฒนธรรมและสังคมยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (ชาย โพธิสิตา. 2550: 153)

           จะเห็นได้ว่า การศึกษาวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาเป็นการศึกษาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาวัฒนธรรมของกลุ่มชนหรือสังคม ไม่ใช่บุคคล ถึงแม้พัฒนาการของการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร จุดมุ่งหมายของการศึกษาก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า  การศึกษาวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มชนหรือสังคม

สรุป

           การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาเป็นแนวทางหนึ่งของการวิจัยเชิงคุณภาพที่มุ่งอธิบายและตีความข้อมูลทางสังคม เจตคติ ความเชื่อ ความรู้สึก วัฒนธรรม ภาษา และพฤติกรรมของมนุษย์ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในสังคม โดยใช้วิธีการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้วิจัยจะเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการเก็บข้อมูลที่เคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงอคติและให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง          การวิเคราะห์ข้อมูลเน้นการพรรณนา และการวิเคราะห์ที่เน้นปัจจัยทางวัฒนธรรมและสังคมเป็นตัวแปรสำคัญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มชนหรือสังคม มีขั้นตอนการทำวิจัย 4 ขั้นตอน คือ (1) การเข้าสู่สนามและการกำหนดบทบาทผู้วิจัย (2) การเก็บรวบรวมข้อมูล (3) การวิเคราะห์ข้อมูล และ (4) การเสนอผลสรุปการวิจัย  การวิจัยรูปแบบนี้สามารถนำไปใช้ในหลากหลายสาขาวิชา เช่น ด้านการศึกษา สังคมวิทยา สาธารณสุข เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ผู้วิจัยจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการอธิบายและตีความผลของการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้การสังเกตแบบมีส่วนร่วมเป็นวิธีการหลักและใช้วิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อให้มีความเที่ยง (Reliability) และความตรง (Validity) ในเรื่องที่ศึกษา โดยมีผู้วิจัยเป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญในการเก็บข้อมูล วิธีการวิจัยแบบนี้เหมาะสำหรับแสวงหาความรู้ประเด็นใหม่ๆ หรือ ความรู้ที่ยังมีข้อมูลจำกัด เกี่ยวกับกลุ่มทางสังคมและวัฒนธรรมที่เรายังไม่คุ้นเคย วิธีการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณามีข้อจำกัดของการนำไปใช้งานที่จะต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลภาคสนามเป็นเวลานาน มีความยุ่งยากในการวิเคราะห์และตีความของผลการศึกษา แต่ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายและเป็นทางเลือกให้นักวิจัยได้สืบค้นหาความรู้ได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ทางสังคมตรงตามความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 401159เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2010 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท