หลักการออกแบบการสอนแบบบูรณาการเป็นอย่างไร?


เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญจัดประสบการณ์ตรงให้กับผู้เรียนจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนกล้าคิด กล้าทำให้ผู้เรียนได้ร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม

 การออกแบบการสอนแบบบูรณาการ

                                                             

                                              

                 การออกแบบการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เป็นอย่างไร ?

                                             มีขอบข่ายเนื้อหา คือ

                   1. ขั้นตอนการบูรณาการและ วิธีการสอนแบบบูรณาการ

                   2. หลักการการออกแบบการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ

 ขั้นตอนและวิธีการ

            การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ  ทั้งการบูรณาการภายในวิชาและบูรณาการระหว่างวิชา  มีหลักการเช่นเดียวกัน โดยมีขั้นตอนและวิธีการดังต่อไปนี้

           สำลี รักสุทธิ และคณะ (2544:57) กล่าวถึงขั้นตอนการจัดทำการบูรณาการเนื้อหาและการจัดการเรียนการสอนว่า ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตร เป็นการหาความสัมพันธ์ของเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อนำมากำหนดเป็นปัญหาหรือหัวเรื่องในการเรียนการสอน

ขั้นตอนที่ 2 วิเคราะห์หลักสูตร เป็นการศึกษาจุดประสงค์ของวิชาหลักและวิชารองที่จะนำมาบูรณาการ จะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนในการดำเนินการเรียนการสอน รวมทั้งการวัดและประเมินผล

ขั้นตอนที่ 3 จัดทำกำหนดการสอน เป็นการวางแผนการสอนแบบกว้างๆ โดยนำรายละเอียดที่ได้จากการวิเคราะห์คำอธิบายในหลักสูตรมาแยกย่อยเนื้อหา จุดประสงค์ กิจกรรม รวมทั้งกำหนดคาบในการสอน ซึ่งกำหนดการสอนแบบบูรณาการจะเพิ่มช่องบูรณาการและมีเนื้อหาบูรณาการแบบภายในวิชาหรือเนื้อหาบูรณาการระหว่างวิชาต่างๆ เข้าไปด้วย

ขั้นตอนที่ 4 เขียนแผนการสอน เป็นการกำหนดรายละเอียดของการสอนตั้งแต่ต้นจนจบ ประกอบด้วย สาระสำคัญ จุดประสงค์ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล โดยยึดหลักความสอดคล้องของแต่ละวิชาในการเรียนการสอนในช่วงเวลาเดียวกัน

ขั้นตอนที่ 5 ปฏิบัติการสอน เป็นการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนการสอนที่กำหนดไว้ในแผนการสอน โดยมีการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียน ความสอดคล้องสัมพันธ์กันของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน รวมทั้งผลสำเร็จของการสอนตามจุดประสงค์ เป็นต้น โดยมีการบันทึกจุดเด่นและข้อปรับปรุงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อไป

ขั้นตอนที่ 6 ประเมิน ปรับปรุง และพัฒนาการสอน เป็นการนำผลที่ได้จากการบันทึกรวบรวมไว้ในขณะปฏิบัติการสอนมาวิเคราะห์เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาแผนการสอนแบบบูรณาการให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

                           ชาตรี เกิดธรรม (2545:39-40) กล่าวไว้ว่า การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการมีขั้นตอนดังนี้

              1. กำหนดหัวข้อสาระการเรียนรู้ โดยเริ่มจากโครงสร้างของหลักสูตรในระดับท้องถิ่น หรือที่ใช้อยู่ด้วยการระดมสมองจากผู้เรียนและครูเป็นการดึงให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้มากขึ้น หัวข้อที่จะนำมาสอนแบบบูรณาการได้ดีควรเป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันมากที่สุด

              2. กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ ครูต้องกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ให้ชัดเจน ว่าเมื่อเรียนรู้เรื่องนี้จบแล้วผู้เรียนควรจะได้อะไรบ้าง ซึ่งควรจะสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ตามช่วงชั้นด้วย ถ้าจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรใหม่ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

              3. กำหนดเนื้อเรื่อง โดยขยายเนื้อหาให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสาระการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น แต่ละวิชา

              4. กำหนดขอบเขตการเรียนรู้ กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียน และจัดคาบเวลาให้เหมาะสมกับเนื้อหา กิจกรรม และต้องมีความยืดหยุ่นตามกิจกรรมการเรียนรู้และเนื้อหาโดยเฉพาะถ้าเป็นการบูรณาการระหว่างวิชา การจัดเวลาให้เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญมาก

              5.ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ด้วยวิธการที่หลากหลายและให้มีการศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งภายในท้องถิ่นและชุมชนและจากแหล่งข้อมูลภายนอก

             6. ประเมินผล โดยเน้นการประเมินผลตามสภาพจริงและประเมินด้วยวิธีการที่หลากหลาย อาจจะประเมินในลักษณะของการใช้แฟ้มสะสมผลงานของนักเรียน การสังเกตกิจกรรมการปฏิบัติจริง การสนองตอบต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนและการพัฒนาความรู้ของผู้เรียนได้

                  ทิศนา แขมมณี และคณะ (2548: 192-194)ได้กล่าวถึงแนวทางนำเสนอขั้นตอนวิธีการการสอนแบบบูรณาการไว้ดังนี้

             ขั้นที่ 1 เลือกเรื่องที่จะสอนแบบบูรณาการ โดยพิจารณาความเหมาะสมกับท้องถิ่นและความเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน

             ขั้นที่ 2 กำหนดจุดประสงค์การสอน เนื้อหาสาระและความคิดรวบยอดในเรื่องนั้นตามความคิดเห็นของผู้สอน โดยพิจารณาถึงความเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนของตน และปัญหาความต้องการของท้องถิ่น

            ขั้นที่ 3 ตรวจสอบจุดประสงค์ เนื้อหาสาระ และความคิดรวบยอดที่ผู้สอนกำหนดกับจุดประสงค์และกรอบเนื้อหาสาระที่กำหนดไว้ในหลักสูตร หากที่กำหนดไว้มีไม่ครบตามที่หลักสูตรกำหนดให้เพิ่มให้ครบ

            ขั้นที่ 4 สำรวจพื้นฐานเดิมของผู้เรียน เพื่อจะได้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ให้เชื่อมโยงกับความรู้เดิม และไม่สอนซ้ำในสิ่งที่ผู้เรียนรู้แล้ว

            ขั้นที่ 5 กำหนดแนวการสอนหรือวางยุทธศาสตร์ในการสอนที่จะทำให้การสอนไม่หลงทาง และบรรลุตามจุดประสงค์ครบถ้วน

            ขั้นที่ 6 กำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนในรายละเอียดโดยอาศัยหลักการเรียนรู้วิธีสอน และเทคนิคการสอนต่างๆ

             ขั้นที่ 7 บูรณาการความรู้/สาระ ทักษะ เจตคติ และอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรหรือโครงการ หรือกิจกรรมต่างๆที่มีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันกับสาระและกิจกรรมที่กำหนดไว้

                                ขั้นตอนในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการบูรณาการ

          Lardizabal and others (1970: 142) ได้นำเสนอขั้นตอนในการสอนบูรณาการ ไว้ดังนี้

     1. ขั้นนำ (Initiating the unit) เป็นขั้นที่ครูเร้าความสนใจหรือนำทางให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงปัญหาที่ผู้เรียนประสบอยู่ ครูอาจมีวิธีเริ่มหน่วยได้หลายวิธี เช่นการจัดสภาพห้องเรียนให้เร้าความสนใจใคร่รู้ ใช้โอกาสพิเศษและเหตุการณ์สำคัญ เป็นการเริ่มหน่วยการศึกษานอกสถานที่ปัญหาต่างๆในครอบครัวหรือโรงเรียน อาจนำการเริ่มต้นหน่วย การใช้สื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ สไลด์ เทปบันทึกเสียง เทปโทรทัศน์ การเล่าเรื่องบทความหรือบทประพันธ์นำมาใช้เริ่มต้นหน่วยได้ หน่วยการเรียนอาจเริ่มต้นจากข้อเสนอแนะบางด้านของโรงเรียนท้องถิ่น ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การกระทำ ครูอาจตั้งคำถามว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เราจะต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง และอะไรเป็นปัญหาย่อยที่เราต้องแก้ไขก่อนปัญหาใหญ่

       2. ขั้นปฏิบัติ (Point of experience) เป็นขั้นที่ครูเสนอแนะกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้วางแผนตั้งจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาตามกิจกรรมต่างๆที่ครูเสนอแนะ การทำกิจกรรมอยู่ภายใต้การให้คำแนะนำจากครูมีการแบ่งกลุ่มและหน้าที่กัน ในขั้นนี้ การแนะนำของครูเป็นสิ่งจำเป็น ครูจะต้องมีทักษะและความสามารถในการแนะนำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การค้นคว้า การเก็บรวบรวมข้อมูล การรวบรวมวัสดุอุปกรณ์ การอ่าน การทัศนศึกษา การเขียนและการแปลความจากภาพสถิติ การสัมภาษณ์ เป็นต้น

       3. ขั้นสรุปกิจกรรม (Culminating Activities) ขั้นนี้ครูเน้นที่บูรณาการ (Integration) หน่วย ผู้เรียนสรุปกิจกรรม โดยครูเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำในการทำกิจกรรมแบบหน่วย ผู้เรียนต่างแบ่งงานกันทำดังนั้นการผสมผสานทุกด้านเข้าด้วยกันเป็น สิ่งสำคัญยิ่ง ผู้เรียนควรได้รับคำแนะนำให้สังเกตค้นคว้าหาว่ากิจกรรมของตนเอง สามารถตอบคำถามของกลุ่มใหญ่ได้อย่างไร และการเสนอผลงานของตนเองให้ เพื่อนๆที่ไม่ได้ทำกิจกรรมตรง ส่วนนั้นได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง การใช้การสื่อความหมายอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ วิธีการกลุ่มแลกเปลี่ยนหรือการรายงานการค้นคว้าของตนเป็นโอกาสของการเรียนรู้ที่มีคุณค่า ฝึกการแสดงออกในทางสร้างสรรค์(Creative Expression) การที่ผู้เรียนโยงความสัมพันธ์ของกิจกรรมหน่วยย่อยเข้ากันเป็นงานของกลุ่มใหญ่ ทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ด้านเนื้อหา ฝึกทักษะความสามารถในการพัฒนาเจตคติ ในการเสนอผลงานของผู้เรียนสามารถทำได้หลายวิธี เช่น จัดแสดงนิทรรศการ การสาธิต การทดลอง การแสดงละคร การรายงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามผลงานเหล่านี้ จะต้องมีการอภิปรายกลุ่มตามมา

         4. ขั้นประเมินผล (Evaluation) การประเมินผลถือเป็นกระบวนการต่อเนื่องในทุกระยะของการเรียน การสอนไม่ได้หมายถึงการวัดผลขั้นสุดท้ายเท่านั้น การประเมินผลอาจแบ่งออกเป็นการวัดความรู้ความเข้าใจด้านวิชาการ ประเมินความสามารถในการทำงานร่วมกันภายในกลุ่ม และความสามารถระหว่างกลุ่ม ผู้เรียนจะต้องได้รับการกระตุ้นให้ตระหนักว่าการประเมินผลของกลุ่ม เป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง กว่าสิ่งที่ครูประเมินเพราะในขณะที่ผู้เรียนต้องประเมินผลการทำงานของตน จะช่วยให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึง จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบ และเป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานของตนและกลุ่มได้

           จากขั้นตอน และวิธีการในการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการบูรณาการทั้งหมดที่กล่าวมาพอสรุปเป็นขั้นตอนได้ 4 ขั้นตอน ดังนี้

         1. ขั้นนำ ครูเป็นผู้สร้างประเด็นหรือนำนักเรียนเข้าสู่ปัญหา โดยนำนักเรียนเข้าสู่สถานการณ์จริงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของตัวนักเรียนเอง

         2. ขั้นปฏิบัติ นักเรียนนำผลจากการได้รับ ประสบการณ์จริง ที่ได้จากขั้นนำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา หรือพัฒนางานโดยกระบวนการกลุ่ม แล้วบูรณาการเนื้อหาวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกันไว้ด้วยกัน

          3. ขั้นสรุป นักเรียนแต่ละกลุ่มนำผลการวิเคราะห์ มาแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนานั้นไปสู่การปฏิบัติจริงตามขั้นตอนการแก้ไข หรือพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม โดยมีผู้สอนเป็นผู้แนะแนวทาง

          4. ขั้นประเมินผล ทุกกลุ่มนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชิ้นงานที่ได้รับการแก้ไขหรือปรับปรุงแล้วต่อทุกกลุ่มร่วมกัน ผู้สอนเป็นผู้ชี้แนะแนวทาง ที่ถูกต้อง และเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางานแต่ละกลุ่มให้เกิดการบูรณาการระหว่างกัน

                                 หลักการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
              การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยการบูรณาการ เป็นส่วนที่สำคัญของหลักสูตรแบบบูรณาการ การออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนจะต้องคำนึงถึงหลักของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนซึ่งมีผู้เสนอแนวคิดไว้ ดังต่อไปนี้

                    อรทัย มูลคำ และคณะ (2542:13)ได้เสนอ หลักในการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรบูรณาการ ได้แก่
                 1. จัดการเรียนการสอนโดยเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการ
เรียนการสอนอย่างกระตือรือร้น
                 2. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ร่วมกันทำงานกลุ่มด้วยตนเอง โดยส่งเสริมให้มีกิจกรรมกลุ่ม ลักษณะต่างๆ หลากหลายในการเรียนการสอน และส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ลงมือทำ
                 3. จัดประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นรูปธรรมเข้าใจง่ายตรง กับความจริง สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีเหตุผล
                 4. จัดบรรยากาศในชั้นเรียนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกกล้าคิดกล้าทำ ส่งเสริมให้ ผู้เรียนได้แสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดของตนเองต่อสาธารณะชนหรือเพื่อนร่วมชั้นเรียน
                 5. เน้นการปลูกฝังจิตสำนึก ค่านิยม และจริยธรรมที่ถูกต้องดีงาม ให้ผู้เรียนสามารถ วางแผนแยกแยะความถูกต้องดีงามและความเหมาะสมได้ สามารถขจัดความขัดแย้งได้ด้วยเหตุผล มีความกล้าหาญทางจริยธรรม และแก้ไขปัญหาด้วยปัญญาและสามัคคี

           สำลี รักสุทธิ และคณะ (2544 : 27-18) ได้เสนอ หลักการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนในหลักสูตรแบบบูรณาการ ดังนี้
               1. จัดกิจกรรมที่ใช้ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทุกด้าน ได้แก่ ร่างกาย สติปัญญา สังคม และ อารมณ์
               2. ยึดการบูรณาการวิชาเป็นสำคัญ โดยการบูรณาการทั้งภายในวิชาเดียวกันหรือระหว่าง วิชาเชื่อมโยงหรือบูรณาการเข้าด้วยกันให้เป็นความรู้แบบองค์รวม
               3. ยึดกลุ่มเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ โดยให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กันในกลุ่ม ปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
               4. ยึดการค้นพบด้วยตนเองเป็นสำคัญ
               5. เน้นกระบวนการควบคู่ไปกับผลงานโดยการส่งเสริมให้ผู้เรียนวิเคราะห์ถึง กระบวนการต่างๆ ที่ทำให้เกิดผลงาน โดยคำนึงถึงประสิทธิผลของงานด้วย
               6. เน้นการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติจริงและ การติดตามผลการปฏิบัติของผู้เรียน
               7. เน้นการเรียนรู้อย่างมีความสุขและมีความหมาย
               8. เน้นการเป็นคนดีและมีคุณค่า ต่อสังคม ประเทศชาติ เห็นคุณค่าของสรรพสิ่งหรือ ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน 
                  วลัย พาณิช ( 2544 : 167-169) ด้เสนอแนวทางการออกแบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการออกเป็น 2 ลักษณะ
                 1. ลักษณะที่เป็นหัวเรื่อง (Theme) แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
    1.1 การจัดการเรียนการสอนแบบจัดหน่วยบูรณาการ (Integrated Unit)ซึ่งจะต้องมี เนื้อหาและกระบวนการ วิธีการ และเนื้อหาวิชาที่จะบูรณาการตั้งแต่ 2 วิชาขึ้นไป
    1.2 การจัดการเรียนการสอนแบบมีหัวเรื่อง (Theme) จะไม่มีการบูรณาการเชิง เนื้อหาวิชา เรียกว่า เป็นการบูรณาการแบบหน่วยการเรียนหรือหน่วยรายวิชา
                 2. ลักษณะที่เป็นโครงการ เป็นการสอนตั้งแต่ 2 วิชาขึ้นไป ให้ผู้เรียนสามารถจัดในรูป ของโครงการที่บูรณาการเชื่อมโยงเนื้อหา ความรู้จากหลายหลากวิชาในเรื่องเดียวกัน มอบหมายให้ผู้เรียนทำโครงการร่วมกัน ครูวางแผนการสอนร่วมกัน และกำหนดงานหรือโครงการร่วมกัน
          จากที่กล่าวมาข้างต้นสรุปว่า กระบวนการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรบูรณาการนั้น จะต้องมีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นการสอนที่เป็นบูรณาการ (Integrative Teaching Styles) ซึ่งต้องมีวิธีการที่หลากหลายให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ใช้เทคนิคการเรียนการสอนที่ผสมผสานกัน ฝึกให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบด้วยวิธีสืบสอบ (Inquiry) หรือใช้วิธีการแก้ปัญหา (Problem Solving) เน้นการทำงานร่วมกัน มีงานกลุ่มหรืองานเดี่ยวผสมผสานกันไป เน้นการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในประสบการณ์จริง ประสบการณ์การเรียนรู้ควรอยู่ในขอบเขตสมรรถภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียน จึงต้องพิจารณาขอบเขตการเรียงลำดับของเนื้อหาของลักษณะวิชารวมทั้งลักษณะของผู้เรียนด้วย และให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง 
      เป็นอย่างไรบ้างคะได้รู้หลักการออกแบบและขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการที่มีประโยชน์สามารถนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานในการจัดการเรียนรู้ได้แบบครบองค์ความรู้ได้ไม่น้อยเลยทีเดียวหวังว่าทุกท่านที่แวะเข้ามาอ่านคงได้องค์ความรู้เพิ่มเติมไม่มากก็น้อย..มีตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้ให้ติดตามบันทึกต่อไป..ค่ะ

                               

หมายเลขบันทึก: 401026เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2010 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท