การอนุรักษ์สัตว์ป่า(การจัดการสัตว์ป่าในสวนสัตว์) 7


การอนุรักษ์

 

การอนุรักษ์ 

ประโยชน์ของการอนุรักษ์สัตว์ป่า

ในแต่ละปีมีสัตว์ป่าต้องสูญพันธุ์ไป หรือเสี่ยงต่อการใกล้จะสูญพันธุ์ และบ่อยครั้งโดยไม่มีใครทราบ อย่างไรก็ตามสัตว์บางชนิดได้รับการช่วยเหลือให้รอดพ้นจากการสูญพันธุ์ ด้วยความช่วยเหลือจากนักอนุรักษ์ นักชีววิทยา และสัตวแพทย์

ทุกครั้งที่สัตว์พันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งรอดพ้นจากการสูญพันธุ์ ย่อมหมายถึง มรดกที่จะตกทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานของเรา กล่าวคือ ลูกหลานเราจะได้มีโอกาสสัมผัสกับสัตว์ป่าเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่ได้อ่านจากในหนังสือ สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์บางชนิดมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหารช่วยรักษาสมดุล ประชากรสัตว์ ให้สอดคล้องกับระบบนิเวศของป่า อย่างเช่น นกฮูก ซึ่งเป็นผู้ล่าหนู ช่วยทำให้ประชากรหนูไม่ขยายจำนวนมากจนเกินไป เป็นต้น

สัตว์นั้น หากมีสายพันธุ์ ที่มีความเป็นมายาวนาน จะสามารถแตกสายออกเป็นสกุลใหม่ วงศ์ใหม่ หรือบางทีอาจมีการอพยพไปอยู่ในถิ่นใหม่ ทำให้แตกเป็น พันธุ์ย่อยออกไปได้อีก แต่ถ้ามันสูญพันธุ์ไปเสียก่อนการแตกพันธุ์นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้

การอนุรักษ์สัตว์ป่าทุกพันธุ์ให้ดำรงอยู่ต่อไปจึงมีความจำเป็นต่อความ สมบูรณ์ และ สมดุลทางธรรมชาติ โดยเฉพาะเพื่อให้สัตว์ป่าเองนั้นมีพัฒนาการ เป็นไปโดยธรรมชาติ 

การอนุรักษ์สำหรับเยาวชน

โปรแกรมการอนุรักษ์สำหรับเด็กและเยาวชน มุ่งเน้นการปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กและเยาชนรู้จักหน้าที่ของทุกคนที่มีใน ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะได้มีทัศนะและรู้จักวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อสัตว์ป่าและที่อยู่ อาศัยของสัตว์ป่า

วิธีการปลูกฝังจิตสำนึกดังกล่าวทำโดยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมโดยตรง การมีส่วนร่วมโดยตรงจะทำให้เขาเข้าใจด้วยตัวเองเป็นอย่างดี ตัวอย่างกิจกรรมซึ่งทางสวนสัตว์จัดขึ้นมีดังนี้

1. นักเรียนมาทัศนศึกษาที่สวนสัตว์ (องค์การสวนสัตว์มีสวนสัตว์ 5 แห่ง)
2. การประกวดภาพวาดเขียน ภาพระบายสีที่มีสาระเกี่ยวกับสัตว์ สำหรับแต่ละระดับการศึกษา
3. การสัมผัสกับสัตว์อย่างใกล้ชิด (ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สวนสัตว์)

การอนุรักษ์สำหรับบุคคลทั่วไป

โปรแกรมการอนุรักษ์สำหรับผู้สนใจการอนุรักษ์สัตว์ป่ามีจุดมุ่งหมายที่จะถ่าย ทอดความรู้และ ประสบการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งเอื้อประโยชน์ด้าน สถานที่ในสวนสัตว์ทั้ง 5 แห่งให้กับผู้สนใจ เจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และสัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์พร้อมให้ข้อมูล และ ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสัตว์ป่า การจัดการ โภชนาการ และการขยายพันธุ์ กับนักวิชาการหรือผู้ที่สนใจการอนุรักษ์ ผู้ที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ โดยการสัมผัสกับสัตว์ด้วยตนเองสามารถติดต่อ สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา หรือ สวนสัตว์สงขลาได้ เพื่อจัดกิจกรรม เช่น ชมนก หรือซาฟารีกลางคืน เป็นต้น

การขยายพันธุ์สัตว์ป่า

สวนสัตว์ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่าทุกชนิด ทุกสายพันธุ์ เราจึงมีหน้าที่ขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่อาจสูญพันธุ์ อันเนื่องมาจากเหลือจำนวนน้อย ถูกคุกคามไล่ล่า ไม่สามารถแพร่พันธุ์เองได้ทันตามสภาพธรรมชาติ ให้สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ลูกหลานก็จะมีโอกาสรู้จักสัมผัสกับสัตว์ป่าเหล่านั้น ซึ่งจะก่อให้เกิด ความเข้าใจและมีเมตตาธรรมต่อสัตว์ป่าต่อไป

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกสวนสัตว์ที่มีอยู่ในทุกประเทศทั่วโลก ทางเราจึงมีหน้าที่ขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่สวนสัตว์ในประเทศต่าง ๆ ต้องการ โดยเน้นสัตว์ป่าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และหาไม่ได้ในประเทศอื่น เพื่อให้ผู้ชมสวนสัตว์ในต่างประเทศสามารถสัมผัสเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่า ไทย เช่นเดียวกับที่คนไทยสามารถชม ช้างแอฟริกา ยีราฟ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าแอฟริกา หรือนกเพนกวิน ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในแถบประเทศโซนหนา

 

การคืนสัตว์กลับสู่ธรรมชาติ

เป้าหมายสำคัญเมื่อขยายพันธุ์สัตว์สำเร็จแล้ว คือ การคืนสัตว์นั้นสู่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นงานที่มีขั้นตอนละเอียดอ่อน เริ่มจากการฝึกให้สัตว์ ซึ่งอาจไม่เคย ต้องต่อสู้เพื่อการเลี้ยงชีพตนเองในป่าปรับตัวให้เข้ากับสภาพธรรมชาติ รู้จักหาอาหารให้ตัวเองกิน บางทีก็ไม่อาจสามารถนำสัตว์บางตัวกลับสู่ป่าได้ หรือบางกรณีพออยู่ไปได้สักพักหนึ่งก็ดูแลตัวเองต่อไปไม่รอด เจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงมีส่วนคอยดูแลสัตว์เหล่านี้ ดังนั้น สวนสัตว์จึงมีหน้าที่ฝึกสัตว์ซึ่งจะกลับคืนสู่ป่าให้มีสภาพจิตใจ และ กายพร้อมที่จะเอาตัวรอดในป่า โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ดูแลเอาใจใส่สัตว์เหล่านั้นให้มีชีวิตความเป็นอยู่ตามสภาพ ธรรมชาติของสัตว์นั้น ๆ 

แนวทางอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าแห่งชาติ 

การมีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 และต่อมาเป็นพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 นับเป็นนิมิตดีสำหรับประเทศไทยที่จะได้มีทรัพยากรสัตว์ป่าอย่างอุดมสมบูรณ์ต่อไป ในเมื่อได้มีกฎหมายเพื่อเป็นแนวทางสำหรับปฏิบัติ หน้าที่ต่อไปก็คือการควบคุมและดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว และหาทางที่จะปรับปรุงให้กฎหมายนี้มีความสมบูรณ์และเหมาะสมยิ่งๆ ขึ้นไป การที่จะให้การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น จำเป็นต้องมีหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลที่รับผิดชอบในด้านนี้ที่เข็มแข็งและมีความสามารถ อีกทั้งยังต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างจริงจังอีกด้วย ปัจจุบันได้มีหน่วยงานโดยตรงในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าคือส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า (กองอนุรักษ์สัตว์ป่าเดิม) กรมป่าไม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่เนื่องจากส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่ายังเป็นหน่วยงานใหม่ ยังขาดทั้งทางด้านงบประมาณและกำลังคนที่ใช้ในการบริหารและรักษากฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการที่มีความรู้ทางด้านนี้อย่างแท้จริง ในด้านของประชาชนนั้น ส่วนใหญ่ยังเข้าใจและเห็นความสำคัญของทรัพยากรสัตว์ป่าน้อยมาก

 

 

 

แนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่านั้น พอสรุปได้ดังนี้

              1)   มีกฎหมายที่เหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์

2)   การวางแผนการจัดการสัตว์ป่า การวางแผนการจัดการสัตว์ป่าให้ได้ผลดีต้องประกอบด้วยความรู้ทางทฤษฎี ความชำนาญในท้องที่ และข้อมูลในด้านต่างๆของสัตว์ป่าแต่ละชนิด ที่สำคัญคือต้องมีจุดมุ่งหมายหรือนโยบายที่แน่นอนในการอนุรักษ์สัตว์ป่า

3)    การเตรียมกำลังคนและนักวิชาการทางด้านสัตว์ป่า

4)    การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ทรัพยากรสัตว์ป่าเป็นทรัพยากรที่ถูกใช้ประโยชน์มานานแต่ประชาชนทั่วไป
ยังขาดความรู้สึกสำนึกถึงคุณประโยชน์ของสัตว์ป่าดังนั้นรัฐบาลโดยเฉพาะกรมป่าไม้ควรเน้นหนักในด้านเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้ถึงความสัมพันธุ์และประโยชน์ของทรัพยากรนี้เพื่อที่จะได้ให้ความร่วมมือต่อรัฐบาลในด้านการอนุรักษ์ต่อไป

5)   การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์ป่าดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่าสัตว์ป่า
เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนได้ จึงควรที่จะใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าแทนที่จะปล่อยให้หมุนเวียนไปในระบบนิเวศโดยไร้ประโยชน์ต่อมนุษย์ แต่การใช้ประโยชน์นี้จะต้องให้ถูกต้องตามวิธีการที่เหมาะสม ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากทรัพยากรนี้โดยทั่วถึงกัน

6)    การเพาะพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อให้ทรัพยากรสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนที่จะใช้ประโยชน์ตลอดจนใช้เป็นสินค้าออกของประเทศและรักษาพันธุ์ให้คงไว้ รัฐบาลควรจัดตั้งหน่วยเพาะพันธุ์สัตว์ป่าขึ้น สัตว์ป่าที่ได้จากการเพาะพันธุ์นี้อาจปล่อยเข้าป่าในฤดูกาลที่เหมาะสมและอาจเปิดให้ล่าในกาลต่อไป จะเห็นได้ว่านโยบายทางวิชาการและการเตรียมบุคลากรจำเป็นต้องสอดคล้องอย่างยิ่งกับเรื่องนี้ด้วย    

 

 

----------------

 

บรรณานุกรม

ฝ่ายอนุรักษ์ วิจัย  สวนสัตว์สงขลา, ผู้บรรยาย.  การอนุรักษ์สัตว์ป่า.[งานนำเสนอ]. สงขลา : สวนสัตว์สงขลา, 2553.

ฝ่ายอนุรักษ์ วิจัย  สวนสัตว์สงขลา, ผู้บรรยาย.  การจัดการสัตว์ป่าในสวนสัตว์.[งานนำเสนอ]. สงขลา : สวนสัตว์สงขลา, 2553.

สวนสัตว์ระการ อุบลราชธานี.  ทรัพยากรสัตว์ป่า. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.ubonzoo.com/wild_animals/wild_worth_main.htm  (วันที่ค้นข้อมูล :  6 กันยายน 2553).

ป่าดงดอย การท่องเที่ยว.  สัตว์ป่าสงวน. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.ku.ac.th/AgrInfo/wild/index.html (วันที่ค้นข้อมูล :  6 กันยายน 2553).

The zoological park. ประวัติของสวนสัตว์ไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.zoothailand.org/index.php?option=com_content&view=article&id=1194&Itemid=580&lang=th  (วันที่ค้นข้อมูล : 7 กันยายน 2553)

หมายเลขบันทึก: 400588เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2010 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สัตว์ป่าทุกชนิดนั้นจะค่อยๆหายไปจากโลก เพราะมนุษย์เป็นผู้ทำลายป่า หรือที่อาศัยของมัน  เราต้องร่วมกันอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ไว้ให้คนรุ่นหลัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท