อารมณ์ดีแบบไทญ้อ


สุขทุกข์อยู่ที่ใจ

     ได้มีโอกาสนำอุปกรณ์กีฬาไปมอบให้กับโรงเรียนเทศบาลบ้านส่องนางใย ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆโรงเรียนที่ส่งนักกีฬาไปร่วมวิ่งมินิฮาล์ฟมาราธอนที่ สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตมหาสารคามจัดขึ้น เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา

 

     ผลการจัดการแข่งขันในวันนั้นอาจไม่ประสบความสำเร็จในรูปของตัวเงินเนื่องจากประชาสัมพันธ์น้อย ขาดผู้สนับสนุนรายใหญ่ ฝนตก หรืออะไรก็ช่าง แต่สิ่งที่ได้รับคือความสุขทางใจ เชื่อหรือไม่..!  ลูกศิษย์ที่ไม่ค่อยเรียนในหลายๆวิชา แต่การจัดการแข่งขันครั้งนี้เขากลับต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ เพื่อมาร่วมเป็นกรรมการจัดงาน  ทำให้เห็นว่าจริงๆแล้วส่วนดีเขาก็มีอยู่เหมือนกันนะ

      ในใจของเราคิดว่าเราจะให้เขาตกได้ลงคอละหรือ? ในเมื่อเขาก็มีความดีอยู่ เลยคิดว่ากฎระเบียบที่เราตั้งไว้ก่อนการเรียนน่าจะยืดหยุ่นบ้าง ถ้าเขาเรียนไม่ครบก็คงต้องหาทางออกร่วมกันกับเขาว่า จะทำอย่างไร? ขณะนี้ได้คุยกันแล้วทุกคนเข้าใจ  เราเองก็รู้สึกสบายใจขึ้น อารมณ์ก็ดีขึ้น

      พาคุณแม่ไปทานอาหารที่ในตัวเมือง  แม่อายุ 77 ปีแล้วปวดขามาก เดินลำบากต้องพยุง แต่ถึงอย่างไรแม่ก็ฝืนเดินขึ้นบันไดเลื่อนจนได้ พอตักอาหารมาให้  แม่ก็กินไม่ถนัดเพราะเป็นอาหารแบบญี่ปุ่น(จับไม้ตะเกียบก็ไม่เป็น)เราต้องดูแลเหมือดูแลเด็ก นอกจากนั้นแม่ยังเป็นคนที่ไม่ค่อยได้ออกไปไหน (ถ้าลูกไม่พาไป) ทำอะไรจึงดูเปิ่นๆ เราเคยหงุดหงิดรำคาญใจ แต่มาวันนี้กลับคิดได้ว่ามีแม่ก็ดีกว่าไม่มีนะ  ตัวเราเองต่อไปคงเป็นแบบนี้ แข้งขาที่เคยดีก็คงจะเสื่อมแบบนี้ เราจะหงุดหงิดให้เป็นทุกข์ใจทำไม? ดีเสียอีกเราจะได้ดูแลท่านขณะที่ท่านยังอยู่กับเรา การกินอาหารนอกบ้านกับแม่วันนี้ก็มีความสุขดีเหมือนกัน อารมณ์ก็ดีขึ้น

     กลับจากส่งแม่เข้าบ้านแล้ว ก็ขับรถกลับถึงห้าแยกวุ่นวาย เราก็ขับรถไปจอดรอเพื่อขับข้ามไปยังอีกฝั่ง รถคันที่มาจากในเมืองเบรกอย่างกะทันหัน คนขับหันมามองเราอย่างตำหนิ  ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะแสดงความฉุนเฉียวแล้วตะโกนว่า "เราเห็นท่านอยู่ แต่ท่านตกใจเองทำไม?(ประมาณนี้)  แต่มาวันนี้ก็ได้แต่นึกเห็นใจเขา ว่าถ้าเป็นเราก็คงตกใจเหมือนกันกับเขา เหตุการณ์นี้แทนที่เราจะขุ่นเคืองกลับเห็นใจเขา อารมณ์ก็ดีขึ้น

     จากกรณีที่ได้กล่าวมาเกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ กลับมานั่งทบทวนตนเองก่อนบันทึกถึง gotoknow "ทำไม่เราทนได้" เพราะอะไร? เลยถึงบางอ้อว่าเป็นเพราะสิ่งที่เราได้นำไปแนะนำคนอื่นนั่นเอง ที่ทำให้เราเปลี่ยนไป  สิ่งนั้นคือ เคล็ดลับในการสร้างความสุข ซึ่งมีเพียง 4 ข้อ

1. จินตนาการในสิ่งที่เราต้องการ  ด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้า ด้วยการคิดซ้ำๆ พูดซ้ำๆ(ตามความเข้าใจของผมคือ การ "ภาวนา" นั่นเอง) การคิดซ้ำ พูดซ้ำ เป็นการป้อนข้อมูลเข้าไปในจิตวิญญาณของตนเอง เขาจะสั่งการไปยังร่างกายให้ปฏิบัติตามนั้น มีวิธีการอย่างหนึ่งที่ครูบาจารย์ของผมได้สอนมาถ้าจำไม่ผิด วิธีการเช่นนี้เรียกว่า  การทำ Autogenic  แรงดึงดูดทางความคิดมีแน่นอน คิดอย่างไรจะเป็นอย่างนั้น คิดว่าสุขก็จะสุข คิดว่าโชคดีก็จะโชคดี คิดว่าชนะก็จะชนะ ในทางตรงกันข้ามก็เช่นกัน

2. เลือกคบหาสมาคมกับคนดี  มีความสุข เพราะคนเรานั้นชอบเลียนแบบกันและกัน ใครเคยผ่านแถวบ้านไผ่ - เมืองพล จะเห็น ระหว่างทางมีร้านขาย "หม่ำ" (อาหารที่เป็นเครือญาติกับไส้กรอกอีสาน(แต่ไม่ได้เป็นเครือญาติกับแวว จ๊กมก) เต็มพรืดไปหมด อะไรกันครับ..! นั่นแหละการเลียนแบบละ เช่นกัน อยู่ใกล้อะไรจะเป็นอย่างนั้น อยู่ใกล้คนดี คนมีความสุข เราจะพลอยมีความสุขไปด้วย (เพราะเหตุนี้เองกระมัง ดาราตลกทั้งหลายจึงมีแฟนสวยๆทั้งนั้น เพราะใครใครก็อยากจะมีอารมณ์ดีและมีความสุขเหมือนดาราเหล่านี้)

3. สร้างความรู้สึกที่ดีให้กับตนเอง ผ่านการคิดดี(ทางบวก) พูดดี  และทำดี  (หมั่นให้กำลังใจ/เชียร์ตัวเองทุกครั้งที่ทำบางสิ่งบางอย่างสำเร็จ) ทำบ่อยๆ จะทำให้เรารู้สึกว่าเป็นคนที่มีคุณค่าขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องแข่งวิ่ง (ผมคนชอบวิ่ง(แข่งมินิมาราธอน,ฮาล์ฟมาราธอน 38 สนาม/มาราธอน 2 สนาม)) ก่อนที่ประธานจะปล่อยตัว ให้พูดในใจว่า "เยส..เราทำได้" (กำกำปั้นทุบลงบนอากาศ) เมื่อถึงเส้นชัย จะบอกว่า "เยส...เราทำได้"(กำกำปั้นทุบลงบนอากาศ) จะทำให้เกิดคุณค่าทางใจของเราเอง   รวมไปถึงความรู้สึกสำนึกบุญคุณด้วยการขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างทั้งความสุขหรือทุกข์ที่ผ่านมาในชีวิตถือว่าเขามีบุญคุณ ทั้งนั้น

4. ทำใจเผื่อความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้(ทำใจปล่อยวาง) เมื่อเราได้ปฏิบัติตามข้อ 1-3 แล้วได้ผลสะท้อนกลับมาไม่ครบร้อยเปอร์เซนต์  ให้คิดว่าเท่าไหร่ก็เท่านั้น เมือเราได้ทำดีแล้ว ดังคำกล่าวของครูบาจารย์ ที่ได้ประพันธ์เป็นบทกลอนว่า

ถ้าเราได้ทุกอย่างดังที่คิด  สิ้นชีวิตจะเอาของกองไว้ไหน

ได้บ้างเสียบ้างช่างปะไร เราตั้งใจทำงานเท่านั้นพอ

เคล็ดลับแบบไทญ้อ พอนำไปประยุกต์ใช้ได้ไหมครับ ได้ผลอย่างไร? แวะมาเล่าสู่กันฟังบ้าง

คำสำคัญ (Tags): #สุขภาพองค์รวม
หมายเลขบันทึก: 400508เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2010 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์ค่ะ

หนูเคยเห็นเพื่อนบางคนเขาลดน้ำหนัด...ด้วยการกินข้าวด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด..อาจารย์ว่าจะได้ผลมั๊ยคะ ..แต่จะลองดูค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท