Siriniran
นางสาว ศิรินิรันดร์ ปัญญาพูนตระกูล

หลักสูตรฝึกอบรม


มนุษย์........... เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กรนะคะ (ต่อ)

หลักสูตรฝึกอบรม (ต่อ)

        มาแล้วค่าาาาาา   ภาคต่อของหลักสูตรฝึกอบรม ที่ทุกคนตั้งใจรอคอยกันมา  คราวนี้อ่านจบแน่นอนค่ะ   เริ่มกันที่หัวข้อที่ 2  หลักสูตรฝึกอบรมที่ดี  มีคุณภาพเป็นอย่างไร  อ่านอย่างมีความสุขนะคะ

2.   หลักสูตรฝึกอบรมที่ดี มีคุณภาพ เป็นอย่างไร     มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

2.1  ประเภทของการฝึกอบรม

           ประเภทของการฝึกอบรม  มีวิธีแบ่งหลายอย่างเช่น  แบ่งตามลักษณะของหลักสูตร  แบ่งตามจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรม  แบ่งตามระดับตำแหน่งของผู้เข้ารับการอบรม  เป็นต้น

           แบ่งการฝึกอบรมออกเป็น  2  ประเภท  คือ

           ประเภทที่  1  การฝึกอบรมก่อนการทำงาน  (Pre – Service  Training)  เป็นการฝึกอบรมก่อนที่บุคคลนั้นจะเริ่มทำงานในตำแหน่งหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งในองค์กร  การฝึกอบรมก่อนการทำงานนั้นแบ่งออกเป็น  2  ประเภท  คือ

1.   การปฐมนิเทศ  (Orientation)  เป็นการฝึกอบรมที่จัดขึ้นเพื่อต้อนรับหรือ  แนะนำเจ้าหน้าที่ใหม่ให้รู้จักหน่วยงาน  องค์กรหรือ  สถาบัน  ได้ทราบวัตถุประสงค์และนโยบายของหน่วยงานองค์การหรือสถาบันนั้น ๆ  แนะนำให้รู้จักผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน  ตลอดจนให้เข้าใจถึงกฎ  ข้อบังคับ  ระเบียบ  วินัยต่าง ๆ  เพื่อจะได้มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่จะปฏิบัติต่อไป

2.  การแนะนำงาน  (Introduction  Training)  เป็นการฝึกอบรมกึ่งปฐมนิเทศ  และสอนวิธีการปฏิบัติงาน   ในตำแหน่งหน้าที่หนึ่งโดยเฉพาะ  ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุผลที่ว่าไม่มีสถาบันการศึกษาใด  ๆ  ที่สามารถผลิตคนให้มีความรู้  ทักษะ  และเจตคติให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กร  เพราะงานประเภทเดียวกันในแต่ละองค์กรอาจมีความแตกต่างกัน  วัตถุประสงค์ของการแนะนำงานนี้  เพื่อสร้างทัศนคติของคนต่องานใหม่ให้เกิดความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานนั้น

              ประเภทที่  2  การฝึกอบรมระหว่างทำงาน  (In  -  Service  Training)  เป็นการฝึกอบรมภายหลังจากที่บุคคลได้เข้ามาปฏิบัติงานในองค์กรหรือหน่วยงานแล้ว   ซึ่งอาจเรียกได้ว่าการฝึกอบรมบุคลากรประจำการก็ได้  การฝึกอบรมระหว่างทำงานนี้แยกออกเป็น  2  ประเภท  คือ

1.  การฝึกอบรมขณะทำการ  (On  the  Job  Training)  เป็นการฝึกอบรมขณะทำการ  มีลักษณะไม่เป็นทางการ  เป็นการอบรมที่เน้นความสำคัญของการลงมือปฏิบัติงาน  คือ เน้นให้ผู้ปฏิบัติงานได้ลงมือฝึกปฏิบัติในสถานการณ์ทำงานจริง  โดยมีเจ้าหน้าที่เพื่อนร่วมงานหรือ  ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่าเป็นผู้สอนให้  ลักษณะการสอนจะเป็นการสอนรายบุคคลหรือจัดแบ่งกลุ่มก็ได้  โดยใช้เทคนิคการสาธิต  และการอภิปรายหลังจากนั้น  ผู้อบรมได้ลงมือปฏิบัติจริง  การฝึกอบรมวิธีนี้จะกระทำเมื่อมีความเป็นเกิดขึ้น  ไม่มีเวลากำหนดแน่นอน  ให้มีการปฏิบัติซ้ำ  ๆ  จนแน่ใจว่าผู้เข้าอบรมสามารถปฏิบัติงานได้ด้วยตนเอง  จึงจะถือว่าเสร็จงานการอบรม  การฝึกอบรมในขณะทำการนี้จะได้ผลมากสำหรับงานประเภทที่ต้องการ

2.  การฝึกอบรมนอกที่ทำการ  (Off  the  Job  Training)  เป็นการฝึกอบรมนอกที่ทำการ  เป็นการอบรมที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ  โดยมีหน่วยงานหรือสถาบันมีเจ้าหน้าที่ในการจัดฝึกอบรม  การฝึกอบรมแบบนี้มักจัดในห้องอบรมหรือ  ห้องประชุม  ทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีเวลาสำหรับการอบรบอย่างเต็มที่  สิ่งที่ผู้เข้าอบรมได้รับจากการอบรมแบบนี้  ผู้เข้าอบรมจะต้องรู้จักนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน

2.2   ขั้นตอนการสร้างหลักสูตรการฝึกอบรม 

                ในการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเมื่อได้ทำการวิเคราะห์ความจำเป็นและความต้องการร่วมทั้งวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมแล้ว  ผู้จัดทำหลักสูตรควรจะดำเนินการเป็นขั้นๆ  ดังต่อไปนี้  คือ

               ขั้นที่  1  ทำการวิเคราะห์สิ่งที่เป็นปัญหา  โดยปกติก่อนที่จะดำเนินการจัดทำหลักสูตรหรือโครงการการฝึกอบรม  ผู้บริหารจะต้องวิเคราะห์สภาพปัญหาต่าง  ๆ  ที่เกิดในองค์กรนั้น  ๆ ว่าอะไรบ้างที่เป็นปัญหา  และปัญหานั้นเกี่ยวข้องกับงานอย่างไร  มีรายละเอียดของงานอย่างไร  โดยจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่างานใดที่เบี่ยงเบนไปจากมาตรฐาน  จนทำให้เกิดปัญหาและปัญหาในการทำงานเหล่านั้นจะต้องทำการแก่ไข้ด้วยการฝึกอบรมหรือไม่และ  ถ้าได้รับการฝึกอบรมแล้วบุคลากรจะสามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามมาตรฐาน  และมีประสิทธิภาพในการทำงานหรือไม่

              ขั้นที่  2  จัดลำดับความสำคัญของงานที่มีปัญหา  เมื่อทำการวิเคราะห์และทราบว่าอะไรบ้าง  คือ  ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน  ขั้นต่อไปควรจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและถ้าไม่รีบทำการแก้ไขจะทำให้งานนั้นเกิดปัญหากับองค์การอย่างใหญ่หลวง  ดังนั้น  ผู้วิเคราะห์ความสำคัญของปัญหาควรจะนำงานที่มีปัญหามาจัดลำดับเรียงความจำเป็นหรือความต้องการก่อนหลัง  หรือลำดับความสำคัญเพื่อจะได้ทำการฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานนั้น ๆ  ก่อนหลังตามลำดับความสำคัญของปัญหา

              ขั้นที่  3  กำหนดหัวข้อการฝึกอบรม  คือ  การกำหนดเนื้อหาสาระที่ต้องการให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับความรู้  ความเข้าใจ  ทักษะและทัศนคติ  ที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยปกติแล้วเมื่อได้มีการกำหนดงานที่มีปัญหา  และจะต้องแก้ไขโดยการฝึกอบรมแล้ว  ขึ้นตอนต่อไปจะเป็นการกำหนดหัวข้อของการฝึกอบรมว่าหัวข้ออะไรที่จะช่วยในการแก้ไขงานที่มีปัญหาและอุปสรรค  เพราะงานที่มีปัญหาบางงานอาจจะต้องใช้หัวข้อวิชาเดียวหรือหลายวิชาผสมผสานกัน  ขึ้นอยู่กับปัญหาว่ามีความสลับซับซ้อนมากน้อยเพียงใด  โดยพิจารณาว่าหัวข้อต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาในการทำงานด้วยการฝึกอบรมนั้นจะต้องชัดเจน  และสะท้อนให้เห็นปัญหาของงานได้อย่างดีจนสามารถทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถเปลี่ยนพฤติกรรม  และสามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในปัจจุบัน  และในอนาคต

              ขั้นที่  4  กำหนดวัตถุประสงค์ของหัวข้อในการฝึกอบรม  ในการฝึกอบรมแต่ละครั้งควรระบุให้ชัดเจนว่า  หัวข้อวิชาที่จะทำการฝึกอบรมนั้นมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดการเรียนรู้หรือ  เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในลักษณะใดหลังจากเข้ารับการฝึกอบรมให้เนื้อหาเหล่านั้น  และวัตถุประสงค์ของแต่ละหัวข้อ  และแต่ละเนื้อหาเมื่อรวมกันควรเป็นวัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรมในภาพรวม

              ขั้นที่  5  กำหนดแนวทางการฝึกอบรม  คือ  การกำหนดว่าภายในเนื้อหาแต่ละหัวข้อควรประกอบด้วยหลักการ  หลักทฤษฎีแนวความคิดอะไรบ้างที่จะให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับความรู้  ความเข้าใจ  ทักษะ  และทัศนคติ  ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่กำหนดไว้  เพราะการกำหนดแนวทางการฝึกอบรมจะช่วยให้วิทยากรรู้ว่าจะต้องเตรียมตัวในการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องอะไร  และเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาวิชา

             ขั้นที่  6  กำหนดวิธีการฝึกอบรม      เทคนิควิธีการฝึกอบรมจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้การฝึกอบรมประสบความสำเร็จได้  เพราะบุคลากรที่เข้ารับการฝึกอบรมโดยปกติจะเป็นผู้ใหญ่  ฉะนั้น  การกำหนดเทคนิควิธีการฝึกอบรมจึงต้องเหมาะสมกับวัย  และเทคนิควิธีแต่ละเทคนิควิธีจะมีจุดเด่นและจุดด้อยภายในตัวเอง  ผู้จัดทำโครงการฝึกอบรมจะต้องวิเคราะห์ดูว่าเทคนิควิธีใดเหมาะสม  หรืออาจจะใช้หลาย ๆ  เทคนิควิธีในการถ่ายทอดความรู้ได้  ถ้าสามารถเลือกเทคนิควิธีที่เหมาะสมก็จะทำให้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดการเรียนรู้  มีทักษะ  และทัศนคติที่ดีต่อการฝึกอบรม  ตลอดจนเป็นการประหยัดทั้งเงินและเวลาในการฝึกอบรมอีกด้วย

             ขั้นที่  7  กำหนดระยะเวลาของแต่ละหัวข้อ  ในการกำหนดว่าหัวข้อหรือเนื้อหาแต่ละเรื่องนั้น  ควรมีระยะเวลามากน้อยเพียงใดอยู่ที่ลักษณะของเนื้อหาวิชานั้น  ๆ  การกำหนดระยะเวลาของแต่ละหัวข้อจะทำให้วิทยากรสามารถเตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม  ไม่ทำให้เยิ่นเย่อ  และน่าเบื่อหน่วย

             ขั้นที่  8  การเตรียมตารางการฝึกอบรม  หลังจากได้มีการกำหนดหัวข้อวิชา  วัตถุประสงค์  แนวทางในการฝึกอบรมและระยะเวลาการฝึกอบรมแล้ว  ควรมีการจัดเตรียมตาราง  การฝึกอบรม  ซึ่งอาจจะเป็นรายวัน  รายสัปดาห์หรือรายเดือนก็ได้  ขึ้นอยู่กับความยาวของหลักสูตร  การฝึกอบรม  ในการฝึกอบรมแต่ละครั้งจะมีการจัดส่งหัวข้อการฝึกอบรมให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทราบล่วงหน้า    แต่ละรายละเอียดของแต่ละหัวข้อผู้เข้ารับการฝึกอบรมทราบในแต่ละวัน  เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ทราบว่า  ในวันนั้น  ๆ จะมีการฝึกอบรมหัวข้ออะไร  ช่วงเวลาไหน  ใครเป็นวิทยากร  และจะใช้เทคนิควิธีการฝึกอบรมอย่างไร  สถานที่และห้องที่ใช้ในการฝึกอบรมที่ไหน

             ขั้นที่  9  การเตรียมข้อแนะนำ  โดยทั่ว  ๆ ไปจะเริ่มตั้งแต่การแสดงความยินดีกับบุคลากรหรือบุคคลที่ได้รับการฝึกอบรม  การแนะนำสถานที่จัดการฝึกอบรม  สถานที่พัก  รายชื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั้งหมด  ตารางการฝึกอบรมอย่างกว้าง  ๆ  รายชื่อวิทยากร  รายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องในการฝึกอบรม

             ขั้นที่  10  การกำหนดการ  ในการดำเนินการฝึกอบรมนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้มีความยืดหยุ่น  ในการดำเนินงานเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดการเรียนรู้  และปฏิกิริยาการสนองตอบในทางสร้างสรรค์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแต่ละวันอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตารางการฝึกอบรมเพ่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

             ขั้นที่  11  การวัดผลการเรียน  เมื่อสิ้นสุดการฝึกอบรมในแต่ละหัวข้อวิชาหรือเสร็จสิ้นการฝึกอบรมทั้งหลักสูตร  ควรมีการทดสอบผู้เข้ารับการฝึกอบรมว่ามีความรู้  ความเข้าใจและทัศนคติตามวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมหรือไม่  โดยอาจใช้แบบทดสอบและถ้าเป็นไปได้ควรแจ้งผลความก้าวหน้า  และผลของการทดสอบให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ทราบทุกคนเมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรม

             ขั้นที่  12  การประเมินผลการฝึกอบรม  การประเมินผลการฝึกอบรมจะทำให้ฝ่ายดำเนินงานสามารถรู้ผลการดำเนินงานในเรื่องต่าง  ๆ  ของการฝึกอบรม  เช่นโครงการสถานที่  วิทยากร  กิจกรรม  ฯลฯ  ว่าสิ่งต่าง  ๆ  เหล่านี้เหมาะสมหรือไม่  และผลการประเมินจะทำให้ได้รับข้อมูลมาปรับปรุงการจัดการฝึกอบรมในครั้งต่อไป

2.3   การประเมินหลักสูตรฝึกอบรม

              ได้จัดลำดับขั้นตอนของการประเมินหลักสูตรอบรมไว้  6  ประการ ดังนี้

               2.3.1  การประเมินเอกสารหลักสูตรฝึกอบรม    เป็นการตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างหลักการจุดมุ่งหมาย  โครงสร้าง  จุดประสงค์  เนื้อหา  การจัดประสบการณ์การฝึกอบรมและการประเมินว่ามีมากน้อยเพียงใด  ข้อกำหนดในการใช้หลักสูตรฝึกอบรมมีความชัดเจนในการปฏิบัติการหรือไม่  เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย  และระดับการศึกษาหรือไม่   การประเมินแบบนี้มักจะใช้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ

               2.3.2   การประเมินระบบหลักสูตรฝึกอบรม   เป็นการประเมินหลักสูตรฝึกอบรมทั้งระบบพร้อมกัน  โดยการตรวจสอบหลักสูตรว่าบรรลุจุดประสงค์หรือไม่  จุดประสงค์มีความเที่ยงตรงหรือไม่  หลักสูตรที่วางไว้เหมาะสมกับผู้เข้ารับการฝึกอบรมหรือไม่  เนื้อหาสาระเหมาะสมหรือไม่  วิธีการฝึกอบรมสอดคล้องกับจุดประสงค์หรือไม่  โดยใช้รูปแบบการประเมินหลักสูตรฝึกอบรม

               2.3.3  การประเมินระบบบริหารหลักสูตรฝึกอบรม  เป็นการประเมินผลโครงการฝึกอบรม  ที่จะช่วยให้ทราบว่า  การใช้หลักสูตรนั้น  บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่  เช่น  การเตรียมความพร้อมขององค์กรในการใช้หลักสูตรฝึกอบรม   การจัดเตรียมงบประมาณการฝึกอบรม   เป็นต้น

               2.3.4  การประเมินผลสัมฤทธิ์ผู้เข้ารับการฝึกอบรม  เป็นการประเมินคุณภาพ  ความรู้  ทักษะ  และเจตคติของผู้เข้ารับการฝึกอบรมตามเกณฑ์  และมาตรฐานที่กำหนดในหลักสูตรนั้น ๆ

               2.3.5  การประเมินวิทยากรที่มาให้ความรู้  เป็นการประเมินเทคนิคและวิธีการฝึกอบรมว่าบรรลุจุดประสงค์หรือไม่ซึ่งเป็นการประเมินความสามารถในการฝึกอบรมของวิทยากร  ที่จะบ่งชี้ว่ากระบวนการฝึกอบรมได้ดำเนินไปสู่ความมุ่งหมายของหลักสูตร

               2.3.6  การประเมินติดตามผลผู้สำเร็จหลักสูตรฝึกอบรม   เป็นการศึกษาสถานภาพของผู้สำเร็จหลักสูตรการฝึกอบรมในด้านต่าง  ๆ  เช่น  ความรู้ความสามารถ  ทักษะ  และเจตคติต่ออาชีพ  หรือตำแหน่งหน้าที่ของตน  ความสามารถในการปฏิบัติงาน  การแก้ปัญหา  และการปรับตัวให้เข้ากับสังคมในองค์กร  เป็นต้น

           แหละนี่ก็เป็นเรื่องราวต่าง ๆ ของหลักสูตรฝึกอบรมที่เล็กกลั่นกรองด้วยความตั้งใจมากมาย  อยากให้ผู้อ่านมีความสุขกับการอ่านเรื่องหลักสูตรฝึกอบรมนะคะ

           อ๊ะ อ๊ะ ......  ยังค่ะ  ยังไม่จบนะ  ยังมีตัวอย่างหลักสูตรฝึกอบรมดี ดี มาฝากอีก ติดตามได้ในตอนต่อไปนะคะ

หมายเลขบันทึก: 400397เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2010 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท