Dhamma in English (5)


The Tipitaka/Tripitaka

       ที่ผ่านมาผู้เขียนได้เล่าเรื่องพระรัตนตรัยที่ใช้ในภาษาอังกฤษครบทั้ง The Buddha, The Dhamma, และ The Sangha แล้ว ต่อไปจะขอเล่าเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง  ซึ่งเป็นที่สถิตของพระรัตนตรัยทั้งหมด ถ้าไม่มีสิ่งนี้เราคงไม่มีทางรู้จักพระพุทธ พระธรรม  พระสงฆ์  และคงไม่มีพระพุทธศาสนาในสังคมไทย  สิ่งที่ว่านี้ก็คือ "Tipitaka/Tripitaka" หรือเรียกตามภาษาบ้านเราว่า "พระไตรปิฎก" นั่นเอง  คำแรกเป็นภาษาบาลีออกเสียงว่า "ติปิฏกะ" คำหลังเป็นภาษาสันสกฤต  ออกเสียงว่า "ตริปิฏกะ" ในโลกพระพุทธศาสนาภาษาอังกฤษนิยมใช้ทั้งสองคำ  ชาวเถรวาทนิยมใช้คำแรก  ส่วนชาวมหายานนิยมใช้คำหลัง 

        คำว่า "Ti" (ติ) หรือ "Tri" (ตริ) แปลว่า สาม  หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมออกเสียงคล้ายคำว่า "three" ในภาษาอังฤษจังเลย  แถมยังแปลว่าสามเหมือนกันด้วย   เหตุผลก็เพราะเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน คือ ตระกูลอินเดีย-ยุโรป (Indo-European) บ้านเรานิยมใช้คำว่า "ตรี" หรือ "ไตร/ตรัย" ก็แปลว่าสามเหมือนกัน เช่น ไตรรงค์ แปลว่า สามสี  ไตรรัตน์/รัตนตรัย แปลว่า แก้วสาม ไตรมาส แปลว่าสามเดือน ตรีโกณ แปลว่า สามมุม  ส่วนคำว่า "Pitaka" (ปิฏกะ) แปลว่า ตะกร้า (basket) หรือภาชนะสำหรับบรรจุสิ่งของ  รวมกันแล้วแปลว่า ตะกร้าสามใบ (three baskets)

        คัมภีร์พระไตรปิฎกนั้น  เกิดจากการรวบรวม (collection) และจัดหมวดหมู่ (grouping/arrangement) คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็น ๓ หมวดใหญ่ เพื่อให้ง่ายในการศึกษาค้นคว้าและสืบทอดไปยังคนรุ่นหลัง คล้ายการทำ KM (Knowledge Management) ของคนปัจจุบัน เหมือนเราเห็นของในบ้านกระจัดกระจายกันอยู่  ไม่เป็นระบบระเบียบ จะหยิบฉวยมาใช้ก็ยากลำบาก  จึงพยายามจัดให้เป็นหมวดหมู่ โดยนำของที่เหมือนกันหรือคล้ายกันใส่ลงไปในตะกร้าใบเดียวกัน  จนได้หมวดหมู่สิ่งของ ๓ ตะกร้าใบใหญ่ 

        คำว่า "Tipitaka/Tripitaka" บางครั้งในวงการพระพุทธศาสนาภาษาอังกฤษก็นิยมใช้คำว่า "The Pali Canon" แปลว่า คัมภีร์บาลี  ถ้าเห็นคำนี้ก็เป็นอันรู้กันว่าหมายถึงพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท  หรือบางครั้งก็ใช้คำว่า "Pali Texts/Scriptures" แปลว่าคัมภีร์บาลีเหมือนกัน  แต่คำหลังนี้หมายรวมพระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ ที่ไม่ใช่พระไตรปิฎกด้วย 

        คัมภีร์พระไตรปิฎก ๓ หมวดใหญ่ คือ

        ๑. หมวดพระวินัย (Vinaya)  หมายถึงหมวดหมู่ที่ว่าด้วยวินัย หรือระเบียบกฎเกณฑ์ของพระภิกษุและภิกษุณี  ภาษาอังกฤษเรียกว่า "The Collection of Rules/Disciplines"  พระวินัยไม่ใช่สัจธรรมที่พระพุทธเจ้าค้นพบ หากเป็นสิ่งที่ทรงบัญญัติหรือจัดวางไว้ (laid down by the Buddha) เพื่อฝึกคนที่เข้ามาบวชให้พัฒนาตน

       ๒. หมวดพระสูตร (Sutta) หมายถึงหมวดหมู่ของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงโปรดบุคคลต่างๆ ในสถานที่ต่างๆ ภาษาอังกฤษเรียกว่า "The Collection of Discourses/Sermons"  พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ คือ อริยสัจ ๔ (The Four Noble Truths) แต่เนื่องจากหมู่คนที่พระองค์สอนมีความแตกต่างหลากหลาย จึงทรงใช้กุศโลบาย (skilfull means) สอนธรรมให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล  

       ๓. หมวดพระอภิธรรม (Abhidhamma) หมายถึงหมวดหมู่ของธรรมที่ยิ่ง  ที่ละเอียดลึกซึ้ง ภาษาอังกฤษเรียกว่า "The Collection of Higher Doctrine) อภิธรรมเป็นเรื่องการอธิบายธรรมในเชิงวิชาการล้วนๆ (scholastic/academic) ไม่เกี่ยวกับบุคคลและสถานที่เหมือนพระสูตร  โดยใช้วิธีการวิเคราะห์แยกแยะ (analytic) และการลดทอน (reduction) สิ่งทั้งหลาย ไปหาองค์ประกอบย่อยๆ  ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือสสาร (matters) จิต (mind) และเจตสิก (mental factors) เพื่อให้เห็นความไม่มีแก่นสารที่เที่ยงแท้ถาวร (non-substantiality) และเห็นความไม่มีตัวตน (selflessness/non-self) พอเทียบกันได้บ้างกับควอนตัมฟิสิกส์ (Quantum Physics) ที่ศึกษาโลกแห่งวัตถุโดยลดทอนลงไปหาอนุภาคมูลฐาน (elementary particle)

       พระไตรปิฎกเป็นเหมือนชีวิต เป็นเหมือนหัวใจ  เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของพระพุทธศาสนา  เป็นผลรวมแห่งความเพียรพยายามของคนรุ่นก่อน  ชาวพุทธหลังพุทธกาลให้ความสำคัญกับการรักษาพระไตรปิฎกอย่างยิ่ง  เห็นได้จากการทำสังคายนาพระไตรปิฎก(Buddhist Council) เป็นระยะๆ เพื่อทบทวนตรวจสอบความถูกต้องเที่ยงตรงของพระไตรปิฎก  ดูอย่างพระถังซัมจั๋ง ท่านรอนแรมตามเส้นทางสายไหม (Silk Road) ท่ามกลางทะเลทรายอันเวิ้งว้าง  ผ่านเอเซียกลาง ปีนป่ายข้ามภูเขาหิมาลัย  บุกป่าฝ่าดง  จนลุถึงอินเดีย แล้วย้อนกลับประเทศจีนบ้านท่าน ใช้เวลาถึง ๑๖ ปี  เป้าหมายของท่านคือเพื่อสืบทอดพระไตรปิฎก  ฉายานามของท่านที่ว่า "ถังซัมจั๋ง" แปลว่า ผู้ทรงพระไตรปิฎกสมัยราชวงศ์ถัง

       ที่เล่ามาคิดว่าพอสมควรแก่เวลาแล้ว ก่อนจากขอฝากข้อความที่แสดงถึงความสำคัญของพระไตรปิฎกว่า-

"A single letter of the Buddha’s teachings

is worth a Buddha image."

อักษรตัวหนึ่งๆ อันเป็นคำสอนของพระศาสดา

มีค่าเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง

(จากคัมภีร์ญาโณทยปกรณ์)

      

 

คำสำคัญ (Tags): #dhamma in english (5)
หมายเลขบันทึก: 400320เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2010 00:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

กราบนมัสการพระอาจารย์ค่ะ

ขออนุญาตติดตามเรียนภาษาอังกฤษด้วยคนค่ะ พออ่านเรื่องที่พระอาจารย์เขียนแล้วรู้สึกว่าคงจะดีไม่น้อยหากมีบล็อกที่นำเสนอความรู้แบบนี้เกิดขึ้นเมื่อ 18 ปีมาแล้ว

ขอบพระคุณค่ะ

เจริญพรโยมปิริมารจ

ยินดีต้อนรับและเจริญพรขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยียน อาตมาได้ไปเยี่ยมอ่าน blog ของโยมแล้วเหมือนกัน รู้สึกชอบวิธีการเขียนเล่าเรื่อง เหมือนได้อ่านผลงานนักเขียนวรรณกรรมมีอาชีพเลยทีเดียว

เจริญพรโยมปิริมารจ

ยินดีต้อนรับและเจริญพรขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยียน อาตมาได้ไปเยี่ยมอ่าน blog ของโยมแล้วเหมือนกัน รู้สึกชอบวิธีการเขียนเล่าเรื่อง เหมือนได้อ่านผลงานนักเขียนวรรณกรรมมีอาชีพเลยทีเดียว

มาร่วมติดตามด้วยคนครับผม

พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร

เจริญพรโยมโสภณ

ยินดีต้อนรับและขออนุโมทนาที่มาเยี่ยมเยียนบล๊อกนี้

กราบนมัสการพระอาจารย์ค่ะ

ขออนุญาตติดตามเรียนภาษาอังกฤษด้วยคนค่ะ

กำลังสนใจ หัดอ่านเรื่องของพระอาจารย์ พระพรหมคุณาภรณ์ด้วยเจ้าค่ะ

เจริญพรคุณโยมภูสุภา

ขออนุโมทนาและยินดีต้อนรับ เห็นว่าโยมสนใจผลงานของพระพรหมคุณาภรณ์ อยากให้แนะให้ไปดาวน์โหลดหนังสือของท่านได้ฟรีที่เวบไซต์ของวัดท่าน http://www.watnyanaves.net/th/book_list

ชยาภรณ์ สุขประเสริฐ

ตามมาเรียนต่อภาคดึก...เจ้าค่ะ

แต่เป็นภาษาอังกฤษนะคะ

อ้วนค่ะ

นมัสการเจ้าค่ะ

ติดตามอ่านเรื่องราวเจ้าค่ะ

ขอบพระคุณที่พระคุณเจ้านำมาเล่าขาน

นมัสการลา

เห็นชื่อพี่อ้วนในความเห็นที่ 8 แล้ว คิดถึงพี่เค้าเชียว

พี่เค้ามีน้ำใจเจ้าค่ะ เค้าเคยส่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)แปลและเรียบเรียงให้ ทั้งๆที่ยังไม่เคยเห็นหน้ากันเลยเจ้าค่ะ (ตอนนั้นพี่เค้าได้มาสองเล่ม ส่งให้มิตรทั้งหมด)

สงสัยตอนนี้กำลังหัวหมุนกับตัวเลขอยู่มังเจ้าคะ

เริ่มๆรู้สึกว่าเป็นชั่วโมงเรียนภาษาศาสตร์เข้าไปแล้วแฮะ... ดีจัง

พระอาจารย์คะ มีคนสนใจเยอะๆดีจังเลย ถ้าไงเวลามีคำบาลี วงเล็บตัวอ่านไว้ก็ดีนะคะ ต่อไปคนสนใจจะได้ความรู้แบบเต็มๆเลย

กราบนมัสการค่ะ m(_ _)m

อรชร ไกรจักร์(โยมปู)

   เข้ามาเยี่ยมผลงาน ท่านรองคณบดี พระมหาสมบูรณ์ ดร.

ภูมิใจที่มีโอกาสมาเป็นลูกศิษย์ท่าน  พื้นฐานภาษาไม่ดี ขอเรียนรู้ในgotoknow.เจ้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท