ลิขสิทธิ์ทางวิชาการและจริยธรรมบนอินเทอร์เน็ต


งานวิชาการที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต กฎหมายลิขสิทธิ์ได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกับงานสร้างสรรค์อื่น ๆ

        ได้อ่านบทความของท่าน อ.สุภาภรณ์  ศรีดี อ่านแล้วมีประโยชน์ดี ได้ข้อคิดเวลาเรานำงานทางโลกไซเบอร์ไปใช้ประโยชน์

ลิขสิทธิ์ทางวิชาการและจริยธรรมบนอินเทอร์เน็ต

            ปัจจุบันคำว่า ละเมิดลิขสิทธิ์  หรือทรัพย์สินทางปัญญา มักเป็นคำที่กล่าวถึงเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่องานดังกล่าวได้เผยแพร่สู่สาธารณะ แล้วมีบุคคลอื่นซึ่งไม่มีสิทธิ์เข้ามากระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิดังกล่าว งานที่ปรากฏทางสื่อมวลชนว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์และมีการฟ้องร้องเป็นคดีความ ส่วนมากมักเป็นลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวกับ เพลง ภาพยนตร์ หนังสือ เป็นต้น แต่มีลิขสิทธิ์อีกประเภทหนึ่งที่มีการละเมิดกันตลอดเวลา ทั้งที่ผู้กระทำทราบและไม่ทราบ แต่มักไม่มีการฟ้องร้องกัน เนื่องจากผู้ละเมิดและผู้ถูกละเมิดอยู่ในแวดวงวิชาการด้วยกัน นั่นก็คือ การละเมิดลิขสิทธิ์ทางวิชาการ  เมื่อผนวกกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มีการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการบนอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง จึงเป็นการง่ายที่จะคัดลอก ดัดแปลง หรือรวบรวม ฯลฯ งานดังกล่าวโดยผู้กระทำอาจไม่ทราบว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือบางกรณี เป็นเพียงการประพฤติผิดทางจริยธรรมหรือมารยาททางวิชาการ  บทความนี้จะได้กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นเพื่อฝากให้ผู้ที่ทำงานในแวดวงวิชาการได้นำไปพิจารณาต่อไป

 

กฎหมายลิขสิทธิ์ ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า งานอันมีลิขสิทธิ์ ไว้ว่า “งานอันมีลิขสิทธ์ได้แก่ งานด้านวรรณกรรม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ นาฎกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ และงานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะของผู้สร้างสรรค์ ไม่ว่างานจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด”

( พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 วรรค 1) จะเห็นว่า ลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษ เป็นสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ ที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น

เจตนารมดั้งเดิมของกฎหมายลิขสิทธิ์ก็เพื่อให้ความคุ้มครองผู้สร้างสรรค์งานให้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ โดยได้รับประโยชน์ตอบแทนจากงานดังกล่าวอย่างคุ้มค่า  ถ้าหากไม่ได้มีการคุ้มครองลิขสิทธิ์ไว้ ผู้ที่ทุ่มเทสติปัญญาค้นคว้าข้อมูลด้วยความเหนื่อยยากย่อมหมดกำลังใจ เมื่อผลงานดังกล่าว ถูกนำไปใช้หรือแสวงหาประโยชน์จากผู้อื่น และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ การนำไปใช้ผิด ๆ ขาดองค์ความรู้ที่แท้จริง หยิบไปบางส่วน ใช้แบบผิด ๆถูก ๆ เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้ย่อมสร้างความเสียหายให้กับเจ้าของงานเดิม รวมทั้งสังคมโดยส่วนรวมด้วย

 

                สำหรับงานทางวิชาการ ในที่นี้ขอกล่าวถึงโดยเน้นไปที่งานวิชาการที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต กฎหมายลิขสิทธิ์ได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกับงานสร้างสรรค์อื่น ๆ  โดยที่งานดังกล่าวอาจอยู่ในหมวดใดหมวดหนึ่งตามคำนิยามข้างต้น แต่จุดมุ่งหมายของผู้สร้างสรรค์งานมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ งานทางวิชาการ เป็นการสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา และประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยมิได้มุ่งหวังผลประโยชน์ด้านการค้าเป็นหลัก  การให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ปรากฏในมาตรา 15  ซึ่งขอยกมาเพียงส่วนที่จะกล่าวถึง ดังนี้

(1)   ทำซ้ำหรือดัดแปลง

(2)   เผยแพร่ต่อสาธารณะชน

……………

(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

1.1   การทำซ้ำ หมายถึง การคัดลอกไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ  เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่

พิมพ์  บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพจากต้นฉบับ จากสำเนา หรือจากการโฆษณาในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน….(คำนิยามในมาตรา 4 )

            การทำซ้ำทางวิชาการจึงน่าจะหมายถึง การคัดลอกงานวิชาการไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ จากต้นฉบับ หรือจากสำเนา โดยงานวิชาการดังกล่าวอาจอยู่ในรูปใด ๆ ก็ได้ เช่น หนังสือ บทความ ภาพถ่าย แบบจำลอง ภาพและเสียง ฯลฯ รวมทั้งงานที่ปรากฏบนเว็บไซต์ด้วย

            1.2 การดัดแปลง หมายถึง ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน…(คำนิยามในมาตรา 4)

            ตัวอย่างการดัดแปลงงานทางวิชาการ

            ดัดแปลงวรรณกรรม

            -แปล  เช่น แปลตำรา งานเขียน บทความ งานวิจัย จากภาษาไทย เป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่น ๆ  หรือจากภาษาอื่น ๆ เป็นภาษาไทย เป็นต้น

-เปลี่ยนรูป เช่น  นำตำราเล่มมาจัดทำเป็นบทความ หรือทำเป็นการนำเสนอด้วยรูปแบบอื่น ๆ เช่น เป็น Power Point จัดทำเป็นแผ่นใส หรือเป็นเอกสารอัดสำเนา หรือ นำไปจัดทำเป็นสื่อการสอนอื่น ๆ เช่น เผยแพร่ทางเว็บไซต์ ทำเป็นเทปเสียง เป็นการเรียนการสอนแบบ E-Learning เป็นต้น

ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์

หมายถึง การทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำขึ้นใหม่

ดัดแปลงนาฏกรรม

-เปลี่ยนงานที่ไม่ใช่นาฏกรรมให้เป็นนาฏกรรม

-เปลี่ยนงานที่เป็นนาฏกรรมให้เป็นงานที่ไม่ใช่นาฏกรรม

-การเปลี่ยนดังกล่าวรวมทั้งที่เป็นภาษาเดิม หรือต่างภาษากัน

ดัดแปลงงานศิลปกรรม

-เปลี่ยนงานที่เป็นรูปสองมิติหรือสามมิติ ให้เป็นงานสามมิติ หรือ

สองมิติ หรือทำหุ่นจำลองจากต้นฉบับ

ดัดแปลงดนตรีกรรม

-จัดลำดับเรียบเรียงเสียงประสาน

-เปลี่ยนคำร้อง แต่ทำนองคงเดิม

-เปลี่ยนทำนอง แต่คำร้องคงเดิม

หลักการเรื่อง  การดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์

1.ผู้ดัดแปลงต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนเสมอจึงจะได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดัดแปลงแล้ว

2.งานดัดแปลงนั้น ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของงานเดิม ในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์งานเดิม ผู้ดัดแปลงต้องขออนุญาตทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ และผู้สร้างสรรค์เดิม

(2)   เผยแพร่ต่อสาธารณชน หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน โดยการแสดง

การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น

ทั้งนี้ ไม่ว่างานดังกล่าวจะอยู่ในรูปวรรณกรรม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ นาฏกรรม

ศิลปกรรม ดนตรีกรรม หรือศาสตร์ด้านใด ๆ ก็ตาม หากเนื้อหาเป็นงานด้านวิชาการ ย่อมตีความตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ข้างต้นทั้งสิ้น

            ในส่วนที่เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ทางวิชาการ แบ่งได้เป็น 2 ทาง ตามที่กฎหมายได้บัญญัติหลักโดยทั่วไปไว้ ได้แก่ การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง และโดยอ้อม ดังนี้ (สุภาภรณ์  ศรีดี 2547: (หน่วยที่ 6) หน้า 67-69)

1.การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง หมายถึง  การกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ คือ

1.1 ในงานทั่วไป ได้แก่          

-ทำซ้ำ  หรือดัดแปลง

            -นำออกโฆษณา

1.2 ในงานโสตทัศนวัสดุ หรือ ภาพยนตร์

          -ทำซ้ำ  หรือดัดแปลง

            -นำออกโฆษณา

(นำออกโฆษณาเฉพาะภาพ หรือ เฉพาะเสียง หรือทั้ง 2 อย่าง โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์)

1.3ในงานแพร่เสียง แพร่ภาพ                                                 

          -จัดทำภาพยนตร์ โสตทัศนวัสดุ หรืองานแพร่เสียง แพร่ภาพ ทั้งหมดหรือบางส่วน

            -แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำ ทั้งหมดหรือบางส่วน

            -จัดให้ประชาชนฟังและ/ หรือชมงานแพร่เสียงแพร่ภาพ โดยเรียกเก็บเงิน หรือผลประโยชน์ในทางการค้า

2.การละเมิดโดยอ้อม หมายถึงการกระทำโดยที่รู้อยู่แล้วว่างานใดทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ แล้วกระทำการดังต่อไปนี้

2.1  ขาย ให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอขาย เสนอให้เช่า หรือเสนอให้เช่าซื้อ

2.2 นำออกโฆษณา

2.3 แจกจ่ายในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์

2.4 นำหรือสั่งเข้ามาในอาณาจักร เพื่อการอื่นที่มิใช่เพื่อส่วนตัว

 

หลักดังกล่าวข้างต้น เป็นหลักที่กฎหมายลิขสิทธิ์ได้บัญญัติไว้เป็นแนวทาง เมื่อพิจารณา

กับงานวิชาการแล้ว อาจนำมาใช้ได้ไม่ทั้งหมด แต่หลักการบางประการเป็นหลักสำคัญที่จะได้นำมาพิจารณา โดยเฉพาะเมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับหลักข้อยกเว้น ที่จะได้กล่าวถึงต่อไป

แม้โดยหลักการ กฎหมายจะให้ความคุ้มครองผู้สร้างสรรค์งาน แต่กฎหมายก็ได้ยกเว้นให้

ในกรณีต่าง ๆที่เป็นการกระทำเพื่อการศึกษา เพื่อส่วนตัว หรือเพื่อประโยชน์ด้านอื่น ๆ ที่ไม่กระทบกระเทือนต่องานของเจ้าของลิขสิทธิ์ ตาม มาตรา 32 ซึ่งยกสาระสำคัญมา ดังนี้

วรรคแรก   การกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นโดย

(1)   ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานนั้น และ

(2)   ไม่กระทบต่อสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร

มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ โดยวรรคแรกใช้เป็นหลักทั่วไปสำหรับข้อยกเว้น

อื่น ๆ ด้วย

วรรคสอง 

        (1)  การกระทำเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาหรือวิจัย โดยมิใช่ เพื่อหากำไร

(กรณีการคัดลอกแม้โดยการอ้างอิงและรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ต้องคัดลอกตามสมควร)

(2)   เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ของตนและครอบครัว

(3)   ติชม วิจารณ์ หรือ แนะนำผลงาน โดยรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

(4)   เพื่อเสนอรายงานข่าวทางสื่อมวลชน โดยรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

(5)   ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดงเพื่อประโยชน์ของศาลและเจ้าพนักงาน

(6)   ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดงโดยผู้สอน มิใช่เพื่อหากำไร

(7)   ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุป โดยผู้สอนหรือสถาบันการศึกษา มิใช่เพื่อหากำไร

(8)   ใช้ในการถามและการตอบในการสอบ

(ส่วนที่เน้น มีความเกี่ยวข้องกับงานวิชาการที่บทความนี้ครอบคลุมถึง)

            จะเห็นว่า การยกเรื่องการศึกษามาเป็นข้อยกเว้น เพื่อจะไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ มีขอบเขตของ “ความสมควร” และ “มารยาททางวิชาการ” อยู่ด้วย เช่น การคัดลอกงานวิชาการของอาจารย์ ก มาใส่ไว้ในบทความของตน โดยใส่ชื่ออาจารย์ ก ไว้ เป็นการอ้างอิง แต่ถ้าคัดลอกงานอาจารย์ ก มา 5 หน้า หรือเป็นเนื้อหาโดยส่วนใหญ่ กรณีนี้เป็นการคัดลอกเกินสมควร

แม้จะอ้างอิงแล้วก็ตาม

            อย่างไรก็ตาม ยังปรากฏว่า มีผู้ที่คัดลอก หรือดัดแปลง หรือเผยแพร่งานทางวิชาการ โดยมิได้อ้างอิง ทั้งนี้ อาจด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือการรู้โดยเข้าใจผิดว่า การใช้เพื่อการศึกษานั้น สามารถใช้ได้โดยอิสระ โดยถือว่า งานที่นำมาคัดลอกก็ดี นำมาดัดแปลงก็ดี หรือเผยแพร่ก็ดี ตนมิได้รับประโยชน์ในทางการค้าหรือเพื่อหากำไร ย่อมไม่มีความผิด ซึ่งความเข้าใจดังกล่าว เป็นความเข้าใจที่ผิด และน่าแปลกที่ว่า ยังมีความเข้าใจผิดดังกล่าวอยู่ในแวดวงวิชาการจำนวนไม่น้อยทีเดียว

            การกระทำดังกล่าวข้างต้น หากพิจารณาโดยกฎหมาย ถือว่า เป็นการทำซ้ำ หรือดัดแปลง ซึ่งผิดตามมาตรา 27 วรรค 2  ดังนี้

(1)   ทำซ้ำหรือดัดแปลง

(2)   เผยแพร่ต่อสาธารณชน

เมื่อพิจารณาจากกรณีที่มีผู้คัดลอกงานผู้อื่นแล้วนำมาใส่ไว้ในเว็บไซต์ของตน โดยมิได้ระบุหรืออ้างอิงผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงเป็นการกระทำผิดทั้งตาม (1) และ (2)

ส่วนการนำงานวิชาการของผู้อื่นไปทำสำเนาเป็นจำนวนมาก หรือดัดแปลง หรือนำไปเผยแพร่ เพื่อประกอบการสอนในชั้นเรียน เช่น จัดทำเป็นเอกสารประกอบการสอน หรือใช้ในการสอบหากได้มีการอ้างอิง ย่อมได้รับความคุ้มครองตามข้อยกเว้นในมาตรา 32 (6),(7) และ(8)  แต่ในกรณีที่ไม่ได้อ้างอิง โดยเจตนาหรือไม่เจตนาให้ผู้อื่นเข้าใจว่างานดังกล่าวเป็นของตน ย่อมเป็นการผิดจริยธรรมและมารยาททางวิชาการเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ผู้ที่ทำงานในด้านนี้ จึงควรได้ศึกษาเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะผู้ที่ทำงานด้านการศึกษาหรือทำงานด้านวิชาการ เป็นทั้งต้นแบบให้กับเด็กและเยาวชน และเป็นทั้งแบบอย่างให้กับสังคม   “การกระทำที่มิได้มุ่งหวังทางการค้าหรือหากำไร” อาจเป็นข้อบัญญัติทางกฎหมายที่วางขอบเขตไว้เพื่อให้แวดวงด้านการศึกษาได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางก็จริงอยู่ แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า  การนำงานของผู้อื่นมาเป็นงานของตนนั้น แม้จะไม่ได้รับประโยชน์ในทางการค้าหรือหากำไร แต่ยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ  ไม่ว่าจะเป็นผลงานทางวิชาการ ตำแหน่ง  ภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ ฯลฯ  หากประโยชน์ดังกล่าวนั้น เป็นการสร้างสรรค์งานขึ้นเอง ย่อมเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจและน่ายกย่อง แต่หากประโยชน์นั้น ได้มาจากการละเมิดลิขสิทธิ์ทางวิชาการ หรืออาจเป็นเพียงการผิดจริยธรรมหรือผิดมารยาทก็ตาม อาจมีผลต่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิของผู้ที่ต้องทำงานในแวดวงวิชาการทั้งต่อตัวผู้กระทำนั้นเอง และต่อเพื่อนร่วมแวดวง รวมถึงสถาบันที่สังกัดอยู่ด้วยก็ได้

 

http://www.stou.ac.th/thai/schools/sca/document/copyright.htm

หมายเลขบันทึก: 400145เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2010 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท