รูปแบบการพัฒนากระบวนการเรียนรู้


กระบวนการเรียนรู้

รูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาทักษะกระบวนการ (Process Skills)

 

ในการจัดการเรียนการสอนไม่ว่าจะเป็นการสอนในระดับใดก็ตาม ครูผู้สอนไม่สามารถใช้วิธีการสอนใดวิธีการสอนหนึ่งสอนทุกเนื้อหาวิชา หากแต่เนื้อหาวิชาเพียงเรื่องเดียวก็สามารถใช้รูปแบบและวิธีการสอนได้หลากหลายวิธีด้วยกัน ดังนั้นเพื่อให้การเรียนการสอนเกิดประสิทธิภาพครูผู้สอนจึงควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีความหลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการคิดค้นคว้า ท้าทาย และรอคอยว่าวันนี้ครูจะให้ทำกิจกรรมใดในการเรียน ดังนั้นในการเลือกวิธีสอนหรือกิจกรรมการสอน ครูจึงควรให้ความสำคัญและศึกษาหาความรู้ ทักษะ เทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความสามารถของตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้ระบบการจัดการศึกษาได้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้ โดยมุ่งให้นักเรียนเป็นคนดี คนเก่ง และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข  และรูปแบบการสอนที่น่าสนใจรูปแบบหนึ่งที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนคิดอย่างมีเหตุผล ยอมรับฟังความคิดของผู้อื่น ซึ่งจะทำให้เขาเป็นคนดี และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ก็คือ รูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาทักษะกระบวนการ ซึ่งเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับวิธีดำเนินการต่าง ๆ เช่น การสืบเสาะแสวงหาความรู้ วิธีการคิดหาคำตอบและเหตุผลของคำตอบ และเพื่อฝึกกระบวนการทางสังคมของผู้เรียน ซึ่งก็ถือว่าเป็นการพัฒนาตนเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขได้เช่นกัน และในการจัดรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาทักษะกระบวนการนี้ ก็มีอยู่หลายวิธีการด้วยกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาวิชา ทักษะและเทคนิคการสอนของครูเอง นั่นก็แสดงว่าครูในยุคปฏิรูปการศึกษาสมัยใหม่นั้นจะต้องทำงานในเวลาเดียวกันอย่างน้อย 3 อย่างด้วยกันคือ เป็นนักวิชาการ เพื่อให้ความรู้ เป็นนักปฏิบัติกิจกรรม และนักบริหารจัดการที่เก่ง   

ดังนั้นรูปแบบการเรียนการสอนที่ข้าพเจ้าสนใจและคิดว่าเป็นการสอนเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการ(Process Skills) มีดังนี้

 

  1. 1.      รูปแบบการเรียนการสอนแบบสืบเสาะแสวงหาความรู้เป็นกลุ่ม

( Group Investigation Instruction Model )

 เป็นการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถในการแสวงหาความรู้ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสรุปเป็นคำตอบ ฝึกความรับผิดชอบในการทำงานเป็นกลุ่ม และเรียนรู้ร่วมกันในการแก้ปัญหา  การจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ เป็นการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในการทำงาน และยังเป็นการจัดกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล  บทบาทหน้าที่ของครูคือเป็นผู้อำนวยความสะดวกและสร้างบรรยากาศให้น่าศึกษาค้นคว้า สร้างสถานการณ์หรือปัญหาเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความขัดแย้งทางความคิด สงสัย และร่วมกันระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาอย่างหลากหลายวิธี  ซึ่งดวงกมล  สินเพ็ง ( 2551: 190-192 )ได้เสนอขั้นตอน สำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนรูปแบบ “การสืบเสาะแสวงหาความรู้เป็นกลุ่ม” ไว้ดังนี้

 

1.  ขั้นเสนอปัญหาหรือเผชิญปัญหา

                                1.1 เป็นการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้เผชิญปัญหาหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะทำให้นักเรียนเกิดความงุนงงสงสัย

                                1.2 คำถามหรือประเด็นปัญหา หรือสถานการณ์ที่นำมาเสนอเพื่อให้

นักเรียนเกิดความงุนงงสงสัยควรมีลักษณะดังนี้

1.2.1.1      เป็นประเด็นปัญหาทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ใช่เรื่องขัดแย้งทางศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ซึ่งจะมีผลกระทบทางด้านจิตใจ เพื่อให้นักเรียนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น

1.2.1.2      คำถามหรือประเด็นปัญหานั้นเหมาะสมกับวัย  ความรู้ ความสามารถของนักเรียนที่จะแสวงหาความรู้ได้

 

2. ขั้นพิจารณาปัญหา

2.1   เป็นกิจกรรมที่ครูจะกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความขัดแย้งในความคิดเห็นของสมาชิกในกลุ่มให้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยวิธีที่หลากหลาย

2.2  ครูควรให้โอกาสนักเรียนในการแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุด โดยไม่แสดงอาการหรือคำพูดที่ขัดขวางความคิดเห็นของนักเรียนหรือทำให้นักเรียนกลัวไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น

 

3.  ขั้นคิดวิธีแสวงหาความรู้

                                3.1 เป็นกิจกรรมที่ครูจะกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความอยากรู้ อยากเห็น อยากแสวงหาคำตอบ แสวงหาความรู้

3.2   ครูให้นักเรียนร่วมกันวางแผน คิดวิธีการที่จะค้นคว้าหาความรู้  

3.3   ควรเป็นกิจกรรมกลุ่ม มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ในแต่ละกลุ่มเพื่อแสวงหาความรู้

 

4.  ขั้นค้นคว้าแสวงหาความรู้

                                4.1นักเรียนดำเนินการแสวงหาความรู้ตามบทบาทหน้าที่ที่นักเรียนได้รับจากกลุ่ม

                                4.2 ครูให้คำแนะนำนักเรียนเรื่องสื่อการเรียนรู้ แหล่งค้นคว้าหาความรู้ และช่วยหาข้อมูลความรู้ให้นักเรียนด้วย

                                4.3 ครูดูแลการทำงานของนักเรียนแนะนำให้นักเรียนร่วมมือกันอย่างจริงจังในการทำงานเพื่อค้นคว้าแสวงหาความรู้ และติดตามการทำงานของนักเรียน

 

5. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผล นำเสนอ และอภิปรายผล

                                5.1 ครูจัดกิจกรรมประชุมกลุ่มให้นักเรียนนำข้อมูลความรู้ที่แต่ละกลุ่มไปค้นคว้าแสวงหามาได้ นำมาวิเคราะห์โดยการอภิปราย วิเคราะห์ข้อมูลความรู้ และสรุปผล

                               5.2 ให้แต่ละกลุ่มอภิปราย วิเคราะห์การทำงานของกลุ่ม ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน

                                5.3  ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งผู้แทนนำเสนอผลการศึกษาแสวงหาความรู้ ทั้งกระบวนการแสวงหาความรู้ และผลของคำตอบ

 

  1. 6.       ขั้นสืบเสาะแสวงหาความรู้ในเรื่องต่อไป

6.1    ครูส่งเสริมสนับสนุนหากนักเรียนยังต้องการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมต่อไป

6.2     ครูแนะนำแหล่งค้นคว้าหาความรู้ เพื่อประโยชน์ต่อนักเรียนในการแสวงหาความรู้ต่อไป

 

         2.  รูปแบบการเรียนการสอนแบบคิดอุปนัย
 ( Inductive Thinking Instructional Model)

            เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่จะต้องเริ่มจากตัวครูยกตัวอย่างหลาย ๆ ตัวอย่างและให้นักเรียนค่อย ๆ คิดและสังเกตไปพร้อมกัน ครูควรยกตัวอย่างเหล่านั้นอย่างมีเหตุผล ค้นหารูปแบบและสรุปเป็นกฎเกณฑ์ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาความคิดรวบยอดหรือมโนทัศน์ มีความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง มีความสนใจในการติดตาม ค้นหาเหตุผลและค้นพบข้อสรุปได้ด้วยตนเอง  ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ชัดเจน และสามารถจดจำได้ยาวนาน สามารถนำวิธีการเรียนรู้นี้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี  ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารูปแบบการเรียนการสอนนี้ครูจะต้องมีการเตรียมการสอนที่ดี และเข้าใจในรูปแบบการสอนนี้เป็นอย่างดีและชัดเจน สามารถยกตัวอย่างได้มากพอที่จะทำให้นักเรียนได้สังเกต คิด และพิจารณาหาเหตุผลเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นสากล ซึ่งสอดคล้องกับวิธีการสอนแบบอุปนัยของ เบญจวรรณ  กี่สุขพันธ์ ( 2551 : 105 ) ที่กล่าวว่า  การสอนแบบอุปนัย เป็นการสอนจากรายละเอียดปลีกย่อยไปหากเกณฑ์ การสอนแบบนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนรู้จักค้นหาข้อเท็จจริง และหลักการต่าง ๆ จากการสังเกตตัวอย่างที่สัมพันธ์กันอย่างเพียงพอ การสอนแบบอุปนัยมีขั้นตอน 5 ขั้นตอนดังนี้

 

 

            ขั้นที่ 1  การเตรียม เป็นขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับที่จะรับความรู้ใหม่ที่จะเรียน

 

            ขั้นที่ 2  การสอน ขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้สอนให้ตัวอย่างแก่ผู้เรียนจำนวนหลาย ๆ ตัวอย่างให้มากพอที่ผู้เรียนจะสังเกต พิจารณาและหาข้อสรุปจากตัวอย่างนั้น ๆ ได้นอกจากการให้ตัวอย่างแล้วผู้สอนอาจจะให้ผู้เรียนสังเกตจากการทดลองด้วยตัวเองก็ได้

 

            ขั้นที่ 3 การเปรียบเทียบ ขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนนำสิ่งที่ได้จากการพิจารณาสังเกตตัวอย่างต่าง ๆ หรือจากการทดลองมาวิเคราะห์ แยกแยะข้อแตกต่าง เพื่อเปรียบเทียบและหาความสัมพันธ์ของรายละเอียดในส่วนที่เหมือนกัน เพื่อนำไปสู่ การสรุป การให้คำนิยามและการตั้งเป็นกฎเกณฑ์ไว้

 

            ขั้นที่ 4 การสรุป ขั้นนี้เป็นการสรุปจากตัวอย่างต่าง ๆ หรือการทดลองมาเป็นกฎเกณฑ์ นิยาม หรือสูตร

 

            ขั้นที่ 5 การนำไปใช้ เป็นขั้นทดสอบผู้เรียนเกี่ยวกับความเข้าใจในกฎเกณฑ์หรือขั้นที่สรุปได้ว่าสามารถนำไปใช้ในการทำแบบฝึกหัดหรือนำไปใช้ในการแก้ปัญหาอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันได้หรือไม่

 

            ทิศนา  แขมมณี ( 2552  : 251-252)  ได้เสนอกระบวนการเรียนการสอนรูปแบบ “กระบวนการคิดอุปนัย” ไว้ดังนี้

 

            1. ขั้นการสร้างมโนทัศน์หรือความคิดรวบยอด ประกอบด้วย 3 ขั้นย่อยดังนี้

                                1.1 ให้ผู้เรียนสังเกตสิ่งที่จะศึกษา และเขียนรายการสิ่งที่สังเกตเห็น หรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ เช่น ตั้งคำถาม ให้ผู้เรียนตอบในขั้นนี้ผู้เรียนจะต้องได้รายการของสิ่งต่าง ๆที่ใช่หรือไม่ใช่ตัวแทนของมโนทัศน์ที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้

                                1.2 จากรายการของสิ่งที่เป็นตัวแทนและไม่เป็นตัวแทนของมโนทัศน์นั้น ให้ผู้เรียนจัดหมวดหมู่ของสิ่งเหล่านั้น โดยการกำหนดเกณฑ์ในการจัดกลุ่ม ซึ่งก็คือคุณสมบัติที่เหมือนกันของสิ่งเหล่านั้น  ผู้เรียนจะจัดสิ่งที่มีคุณสมบัติเหมือนกันไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน

                                1.3  ตั้งชื่อหมวดหมู่ที่จัดขึ้น ผู้เรียนจะต้องพิจารณาว่าอะไรเป็นหัวข้อใหญ่อะไรเป็นหัวข้อย่อย และตั้งชื่อหัวข้อให้เหมาะสม

 

 

 

            2.  การตีความและสรุปข้อมูล ประกอบด้วย 3 ขั้นย่อยดังนี้

                                2.1 ระบุความสัมพันธ์ของข้อมูล ผู้เรียนศึกษาข้อมูลและตีความข้อมูลเพื่อให้เข้าใจข้อมูล และเห็นความสัมพันธ์ที่สำคัญ ๆ ของข้อมูล

                                2.2 สำรวจความสัมพันธ์ของข้อมูล ผู้เรียนศึกษาข้อมูลและความสัมพันธ์ของข้อมูลในลักษณะต่าง ๆ  เช่นความสัมพันธ์ในลักษณะของเหตุและผล  ความสัมพันธ์ของข้อมูลในหมวดนี้กับข้อมูลในหมวดอื่น  จนสามารถอธิบายได้ว่าข้อมูลต่างๆ สัมพันธ์กันอย่างไรและด้วยเหตุผลใด

                                2.3 สรุปอ้างอิง เมื่อค้นพบความสัมพันธ์หรือหลักการแล้ว ให้ผู้เรียนสรุปอ้างอิง โดยโยงสิ่งที่ค้นพบไปสู่สถานการณ์อื่น ๆ

 

            3. การประยุกต์ใช้ข้อสรุปหรือหลักการ

                                3.1 นำข้อสรุปมาใช้ในการทำนาย หรืออธิบายปรากฏการณ์อื่น ๆ ฝึกตั้งสมมติฐาน

                                3.2 อธิบายให้เหตุผลและข้อมูลสนับสนุนการทำนายและการตั้งสมมติฐานของตน

                                3.3 พิสูจน์ ทดสอบ การทำนายและสมมติฐานของตน

 

3. รูปแบบการเรียนการสอนแบบคิดสร้างสรรค์
( Synectics Instructional
Model)

            เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนเกิดความคิดที่แตกต่างไปจากเดิม และหากผู้เรียนได้มีโอกาสในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ไม่เคยคิดมาก่อนอาจจะสามารถแก้ปัญหาได้ และถ้าหากวิธีการแก้ปัญหานั้นมาจากหลายคน ซึ่งแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์มาช่วยกันแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการคิดสร้างสรรค์ดังกล่าวแล้ว ก็จะยิ่งทำให้ได้วิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การเรียนการสอนจึงเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แก้ปัญหาด้วยวิธีการคิดที่หลากหลาย แปลกใหม่ไม่ซ้ำเดิม ซึ่งอาภรณ์ ใจเที่ยง ( 2546 : 156-157 ) ได้ทำการเปรียบเทียบตามรูปแบบการสอนความคิดสร้างสรรค์มี 3 ชนิด คือ

 

                1.  การเปรียบเทียบทางตรง (Direct Analogy) เป็นการเปรียบเทียบแบบง่าย ๆ ระหว่างสิ่งของสองสิ่ง ความคิดสองความคิด สิ่งที่นำมาเปรียบเทียบกันจะเป็นอะไรก็ได้ที่เราต้องการเปรียบเทียบ เช่น คนพืช  สิ่งของ สถานที่ ความคิดหรืออื่น ๆ การเปรียบเทียบชนิดนี้ช่วยให้นักเรียนมองเห็นบทเรียนในแนวทางและความคิดใหม่ ๆ เช่นเปรียบเทียบการเขียนจดหมายกับหนอน การเขียนจดหมายกับรถไฟ การเขียนจดหมายกับเมฆ เป็นต้น

 

2.  การเปรียบเทียบแบบบุคคล (Personal Analogy) เป็นการเปรียบเทียบโดยเอาตัวผู้เรียนไปเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ครูยกขึ้น การเปรียบเทียบเช่นนี้ช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในบทเรียน มองเห็นบทเรียนเป็นสิ่งไม่ไกลจากตัว  มองเห็นแนวในการคิดสร้างสรรค์จากฐานความคิดของตัวเอง และฐานความคิดจากสิ่งที่ให้เปรียบเทียบ ตัวอย่างการเปรียบเทียบแบบบุคคล เช่น สมมติให้นักเรียนเป็นรถไฟ เป็นหนอน หรือเป็นเมฆ แล้วรู้สึกอย่างไร

 

3.  การเปรียบเทียบคู่คำขัดแย้ง (Compressed Conflict) เป็นการเปรียบเทียบชนิดหนึ่งที่นำเอาคำที่ขัดแย้งกันสองคำมาสร้างเป็นคำใหม่และเป็นความคิดรวบยอดใหม่  ซึ่งลักษณะการสอนแบบนี้จึงเป็นรูปแบบที่ผู้เรียนมีอิสระในการคิดอย่างเต็มที่ ในการที่จะนำคำเพื่อมาเปรียบเทียบในแต่ละขั้นตอน ดังนั้นผู้สอนจึงควรเปิดโอกาสให้อิสระกับผู้เรียนในการคิดแก้ปัญหา

 

            ชนาธิป  พรกุล ( 2543 : 179 – 181)  ได้กล่าวว่า ในการกระตุ้นให้เกิดการคิดสร้างสรรค์ ครูควรส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักการสรุปอ้างอิง  รู้จักคิดได้เอง โดยใช้เทคนิคการสอนแบบสืบเสาะและค้นพบ การสรุปอ้างอิงที่แสดงการสร้างสรรค์มี 3 ประเภท คือ

 

  1. การขยายความของมโนทัศน์ ประเภท หรือลักษณะ เช่น ครูบอกลักษณะของสิ่งของที่ถูกต้อง และไม่ถูกต้อง ผู้เรียนใช้วิธีการสรุปอ้างอิงบอกความหมายของสิ่งของนั้นได้

 

  1. การขยายความของสาเหตุ เช่น อะไรคือสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 2

 

  1. การขยายความของข้อมูลเดิม เช่น การสรุปอ้างอิงเกี่ยวกับผลกระทบของเหตุการณ์ โดยใช้เหตุการณ์ในอดีตมาช่วยในการตัดสินใจและแก้ปัญหา

 

            ทิศนา  แขมมณี (2552 : 252-253) ได้เสนอกระบวนการเรียนการสอนรูปแบบ “กระบวนการคิดสร้างสรรค์” ไว้ดังนี้

 

1. ขั้นนำ  ผู้สอนให้ผู้เรียนทำงานต่าง ๆ ที่ต้องการให้ผู้เรียนทำ เช่น ให้เขียน บรรยาย เล่า ทำ แสดง วาดภาพ สร้าง ปั้น เป็นต้น ผู้เรียนทำงานนั้น ๆ ตามปกติที่เคยทำ เสร็จแล้ว ให้เก็บผลงานไว้ก่อน

 

2. ขั้นการสร้างอุปมาแบบตรงหรือเปรียบเทียบแบบตรง ผู้สอนเสนอคำคู่ให้ผู้เรียนเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่าง เช่น ลูกบอลกับมะนาว เหมือนหรือต่างกันอย่างไร คำคู่ที่ผู้สอนเลือกมาควรให้มีลักษณะที่สัมพันธ์กันกับเนื้อหาหรืองานที่ผู้เรียนทำในขั้นที่ 1 ผู้สอนเสนอคำคู่ให้ผู้เรียนเปรียบเทียบหลาย ๆ คู่ และจดคำตอบของผู้เรียนไว้บนกระดาน

 

3. ขั้นการสร้างอุปมาบุคคลหรือเปรียบเทียบบุคคลกับสิ่งของ ผู้สอนให้ผู้เรียนสมมติตัวเองเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และแสดงความรู้สึกออกมา เช่น ถ้าเปรียบเทียบผู้เรียนเป็นเครื่องซักผ้า จะรู้สึกอย่างไร ผู้สอนจดคำตอบของผู้เรียนไว้บนกระดาน

 

4. ขั้นการสร้างอุปมาคำคู่ขัดแย้ง ผู้สอนให้ผู้เรียนนำคำ หรือวลีที่ได้จากการเปรียบเทียบในขั้นที่ 2 และ 3 มาประกอบกันเป็นคำใหม่ที่มีวามหมายขัดแย้งกันในตัวเอง เช่น ไฟเย็น น้ำผึ้งขม มัจจุราชสีน้ำผึ้ง เชือดนิ่ม ๆ เป็นต้น

 

5. ขั้นการอธิบายความหมายของคำคู่ขัดแย้ง ผู้สอนให้ผู้เรียนช่วยกันอธิบายความหมายของคำคู่ขัดแย้งที่ได้

 

6. ขั้นการนำความคิดใหม่มาสร้างสรรค์งาน ผู้สอนให้ผู้เรียนนำงานที่ทำไว้เดิมในขั้นที่ 1 ออกมาทบทวนใหม่ และลองเลือกนำความคิดที่ได้มาใหม่จากกิจกรรมขั้นที่ 5 มาใช้ในงานของตน ทำให้งานของตนมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

 

            ดังนั้นจะเห็นได้ว่า รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการคิดสร้างสรรค์ นั้นเป็นรูปแบบที่มีความหลากหลาย  ผู้สอนจะต้องมีความอดทน และรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียน ซึ่งแต่ละคนย่อมมีวิธีคิดไม่เหมือนกัน และในการที่ผู้เรียนจะเกิดความคิดนั้นๆ ได้ จะต้องอาศัยบรรยากาศในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะบางคนอาจจะเกิดความคิดและเข้าใจเมื่อมีกิจกรรมที่เร้าใจ หรือบางคนอาจจะเกิดความคิดและเข้าใจเมื่ออยู่เงียบ ๆ ก็ได้

 

4. รูปแบบการเรียนการสอนแบบคิดแก้ปัญหา
 ( Problem Solving Instructional Model )

            เป็นการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการคิดแก้ปัญหา และตระหนักในปัญหา เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน โดยผู้สอนจะต้องจัดบรรยากาศของการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียน  วางแผนการสอนให้รอบคอบและเตรียมปัญหาให้น่าสนใจ ท้าทาย ความคิดความสามารถของผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกฝน และเกิดทักษะ กระบวนการแก้ปัญหา  และเพื่อให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียน  ผู้สอนจะต้องมีการพัฒนาทักษะกระบวนการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน สามารถแก้ปัญหาและถ่ายโยงความรู้จากการเรียนไปสู่การแก้ปัญหาในสถานการณ์อื่น ๆ ในชีวิตประจำวันได้

             สิริพร  ทิพย์คง (2544 : 38-40) ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ผู้เรียนต้องใช้ความคิด ซึ่งอาศัยกระบวนการทางสมอง ประสบการณ์ ความรู้ที่ได้ศึกษามา ความพยายาม การหยั่งรู้ เพื่อจะตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการใดในการแก้ปัญหานั้น องค์ประกอบที่ช่วยในการแก้ปัญหาได้แก่ ประสบการณ์ จิตพิสัย และสติปัญญา ผู้เรียนบางคนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องจากไม่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้น ขาดความกระตือรือร้น มีความเครียดสูง ไม่คุ้นเคยกับปัญหาลักษณะนั้น นอกจากนี้คนสองคนอาจจะคิดได้คำตอบที่เหมือนกัน แต่วิธีการคิดแตกต่างกัน ในการแก้ปัญหาจึงเป็นสิ่งที่ยากที่จะตัดสินใจวิธีการใดดีที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของปัญหานั้น ครูที่มีความชำนาญในการสอนและรอบรู้ในเนื้อหาวิชาจะเป็นครูที่สอนการแก้ปัญหาได้ดีที่สุด

            การแก้ปัญหาเป็นกระบวนการที่ใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ ปัญหาของคนหนึ่งอาจจะไม่ใช่ปัญหาของอีกคนหนึ่ง ในการแก้ปัญหาจะต้องมีการวางแผน การรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ การกำหนดสารสนเทศที่ต้องการเพิ่มเติม มีการแสดงความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลาย และตรวจสอบวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่ข้อสรุป กระบวนการแก้ปัญหาที่เป็นที่เชื่อถือและยอมรับกันโดยทั่วไป คือ กระบวนการแก้ปัญหาของ โพลยา (George Polya ปี ค.ศ. 1887-1985 ) ซึ่งได้เขียนไว้ในหนังสือ “ How to Solve It ”  ในปี ค.ศ. 1957 เป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงมาก โดยได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลกไม่น้อยกว่า 15 ภาษา กระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน คือ

 

            1.  การทำความเข้าใจปัญหา (Understanding the problem) ต้องเข้าใจว่าโจทย์ถามอะไร โจทย์กำหนดอะไรมาให้ และเพียงพอสำหรับการแก้ปัญหานั้นหรือไม่ สามารถสรุปปัญหาออกมาเป็นภาษาของตนเองได้ ถ้ายังไม่ชัดเจนในโจทย์อาจใช้การวาดรูปและแยกแยะสถานการณ์ หรือเงื่อนไขในโจทย์ออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งจะช่วยทำให้เข้าใจโจทย์ปัญหามากขึ้น

 

            2.  การวางแผนแก้ปัญหา ( Devising a plan) ผู้เรียนมองเห็นความสำคัญของข้อมูลต่าง ๆ ในโจทย์ปัญหาอย่างชัดเจนมากขึ้น เป็นขั้นที่ค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่โจทย์ถาม กับข้อมูลหรือสิ่งที่โจทย์กำหนดให้ ถ้าหากไม่สามารถหาความสัมพันธ์ได้ ก็ควรอาศัยหลักการของการวางแผนการแก้ปัญหาดังนี้

                - โจทย์ปัญหาในลักษณะนี้เคยพบมาก่อนหรือไม่ มีลักษณะคล้ายคลึงกับโจทย์ปัญหาที่เคยทำมาแล้วอย่างไร

                - เคยพบโจทย์ในลักษณะนี้เมื่อไร และใช้วิธีการใดในการแก้ปัญหา

                -  ถ้าอ่านโจทย์ปัญหาครั้งแรกแล้วไม่เข้าใจ ควรอ่านโจทย์ปัญหาอีกครั้ง แล้ววิเคราะห์ความแตกต่างของปัญหานี้กับปัญหาที่เคยทำมาก่อน

 

            3.  การดำเนินการตามแผน (Carrying out the plan) ลงมือปฏิบัติการตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้ได้คำตอบของปัญหาด้วยการรู้จักเลือกวิธีการคิดคำนวณ สมบัติ กฎ หรือสูตร ที่เหมาะสมมาใช้

 

            4. การตรวจสอบผล (Looking back ) เป็นการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าผลลัพธ์ที่ได้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยการพิจาราและตรวจดูว่าผลลัพธ์ถูกต้องและมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือได้หรือไม่ ตลอดจนกระบวนการในการแก้ปัญหา ซึ่งอาจจะใช้วิธีการอีกวิธีหนึ่งตรวจสอบเพื่อดูว่าผลลัพธ์ที่ได้ตรงกันหรือไม่ หรืออาจใช้การประมาณค่าของคำตอบอย่างคร่าว ๆ

 

5. รูปแบบการเรียนการสอนแบบโครงงาน
 ( Project Instructional Model )

            การสอนแบบโครงงานเป็นลักษณะการสอนที่ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง จากการลงมือปฏิบัติจริงในลักษณะของการศึกษา สำรวจ ทดลอง ประดิษฐ์คิดค้น โดยมีครูเป็นผู้คอยกระตุ้นแนะนำ รวมทั้งการให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด วิธีสอนแบบโครงงานนี้เป็นการบูรณาการให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงระหว่างห้องเรียนกับกับโลกภายนอก กับสังคมที่ผู้เรียนจะต้องดำรงอยู่ในอนาคต เป็นชีวิตจริงของผู้เรียนที่เป็นลักษณะการแสวงหาความรู้ด้วยการสร้างจุดสนใจ การค้นพบ และการแก้ปัญหาด้วยตนเอง การนำวิธีการสอนแบบโครงงานไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ใช้ได้ในทุกระดับ ทุกกลุ่มสาระวิชา ซึ่งจะเป็นการบูรณาการภายในกลุ่มวิชา หรือเป็นโครงงานที่เป็นการบูรณาการข้ามกลุ่มสาระวิชา ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในลักษณะเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม ลักษณะสำคัญของรูปแบบการเรียนการสอนแบบโครงงานคือต้องเป็นไปตามความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน แต่ละกลุ่ม แต่ละระดับชั้น ลักษณะของโครงงานที่ใช้ อาจแบ่งได้เป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้ (ชูชาติ เชิงฉลาด, 2546 : 245 )

 

  1. ลักษณะของโครงงานที่เป็นการประดิษฐ์คิดค้น
  2. โครงงานที่เป็นการค้นคว้าทดลอง
  3. โครงงานที่เป็นการสำรวจรวบรวมข้อมูล
  4. โครงงานที่เป็นการศึกษาความรู้ ทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิดใหม่

 

อย่างไรก็ตามการทำโครงงานประเภทต่างๆ มีขั้นตอนในการทำโครงงาน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การคิดและเลือกหัวข้อเรื่อง เป็นการคิดหาหัวข้อเรื่องที่จะทำโครงงาน โดยผู้เรียนต้องตั้งต้นด้วยถามที่ว่าจะศึกษาอะไร ทำไมต้องศึกษาเรื่องดังกล่าว สิ่งที่จะนำมากำหนดเป็นหัวข้อโครงงานจะได้มาจาก ปัญหา คำถามหรือความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องต่าง ๆ ของผู้เรียนเอง  ซึ่งจะเป็นผลจากการที่ผู้เรียนได้อ่านหนังสือ เอกสาร บทความ ฟังการบรรยาย การสนทนา หรือจากการที่ได้ไปดูงาน ทัศนศึกษาชมนิทรรศการ หรือสังเกตปรากฏการณ์ต่าง ๆ รอบข้าง

 

ขั้นตอนที่ 2 การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการขอคำปรึกษา หรือข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ จากผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ด้วย

ขั้นตอนที่ 3 การเขียนเค้าโครงงานการดำเนินงาน เป็นการนำเอาภาพของงาน และภาพของความสำเร็จของโครงงานที่วิเคราะห์ไว้มาจัดทำรายละเอียด เพื่อแสดงแนวคิด แผน และขั้นตอนการทำโครงงาน

 

ขั้นตอนที่ 4 การปฏิบัติโครงงาน หลังจากโครงงานได้รับความเห็นชอบจากผู้สอนหรืออาจารย์ที่ปรึกษา และได้รับอนุมัติจากสถานศึกษาแล้ว ผู้เรียนต้องลงมือปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ ประหยัดและปลอดภัยในการทำงาน ระหว่างปฏิบัติต้องมีการจดบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ ไว้เป็นข้อมูล เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาครั้งต่อไป

 

ขั้นตอนที่ 5 การเขียนรายงาน เป็นการสรุปรายงานผลเพื่อให้ผู้อื่นได้รับทราบถึงแนวคิด วิธีการดำเนินงาน ผลที่ได้รับตลอดจนข้อสรุปและเสนอแนในครั้งต่อไป

 

ขั้นตอนที่ 6 การแสดงผลงาน และประเมินผลโครงงาน เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำโครงงานเพื่อทราบผลของการศึกษา กระบวนการเรียนรู้ กระบวนการทำงานหรืออื่น ๆ ให้ผู้อื่นได้รับทราบ  ซึ่งสามารถจัดได้หลายรูปแบบ

 

                    อย่างไรก็ตามในการเลือกรูปแบบการเรียนการสอนผู้สอนควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล แต่ละคนมีบุคลิกภาพ รสนิยม ความชอบ และวิธีการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน
ซึ่งเปรียบเสมือนสายรุ้งที่มีหลากสี ในห้องเรียน ผู้ปกครองก็ต้องมองเห็นคุณค่าของความแตกต่างกันเช่นกัน เพื่อค้นพบว่า เด็กมีลักษณะการเรียนรู้หรือความสามารถที่จะเรียนในทางใด เพื่อจะได้ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาเด็กอย่างเต็มความสามารถและเกิดประโยชน์สูงสุด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                                                           บรรณานุกรม

 

ชนาธิป  พรกุล.  2543.  แคทส์ : รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  291 หน้า.

ชูชาติ  เชิงฉลาด.  2546.  รูปแบบการจัดการเรียนรู้.  กรุงเทพฯ : คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏธนบุรี. 

ดวงเดือน  สินเพ็ง.  2551.  การพัฒนาผู้เรียนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ : การจัดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  286 หน้า.

ทิศนา  แขมมณี.  2552.  ศาสตร์การสอน : องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.พิมพ์ครั้งที่ 9.  512 หน้า.

เบญจวรรณ  กี่สุขพันธ์.  2551.  หลักสูตรกับการจัดการเรียนรู้.  กรุงเทพฯ : คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.  202 หน้า.

สิริพร  ทิพย์คง. 2536.   เอกสารคำสอนวิชา 158522 : ทฤษฎีและวิธีสอนวิชาคณิตศาสตร์. กรุงเทพฯ : ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 231 หน้า.

___________ .  2544.  การแก้ปัญหา : คณิตศาสตร์.  กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. 123 หน้า.

อาภรณ์  ใจเที่ยง.  2546.  หลักการสอน.  กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตรส์. 255 หน้า.

 

คำสำคัญ (Tags): #บริหาร สน.4
หมายเลขบันทึก: 400073เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท