พระอภิธรรม


พระอภิธรรม

ความเป็นมาของพระอภิธรรม 

คำว่า อภิธรรม มีความหมาย ๕ อย่าง คือ ๑.ความเจริญ, ๒.ความกำหนด, ๓. ควรบูชา, ๔. กำหนดไว้, ๕. เป็นที่ยิ่ง ในพระอภิธรรมนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมทั้งหลายที่มีความเจริญ เช่น ภิกษุย่อมเจริญมรรคเพื่อเข้าถึงรูปภพ มีจิตประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปสู่ทิศหนึ่งอยู่ ตรัสธรรมทั้งหลายที่ควรกำหนดด้วยอารมณ์ทั้งหลาย เช่น รูปารมณ์ หรือสัททารมณ์ เป็นต้น ตรัสธรรมทั้งหลายที่น่าบูชา เช่น เสกขธรรม อเสกขธรรม  โลกุตตรธรรม คือธรรมที่ควรบูชา  ตรัสธรรมที่ทรงกำหนดไว้ เช่น ผัสสะย่อมมี เวทนาย่อมมี เป็นต้น ตรัสธรรมทั้งหลายอันยิ่ง เช่น มหัคคตธรรม  อัปปมาณธรรม อนุตตรธรรม[1] และหมายถึง ธรรมชั้นสูง[2]  การเกิดขึ้นของพระอภิธรรมนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่ชาวพุทธ ซึ่งยังหาข้อยุติไม่ได้  เมื่อยังหาข้อยุติที่ถูกต้องให้แก่ตนไม่ได้  จึงรู้สึกลังเล ชาวพุทธบางกลุ่มได้กล่าวว่า “อภิธรรม  พระพุทธเจ้าสอนเทวดาไม่ได้สอนมนุษย์” ชาวพุทธบางกลุ่มได้กล่าวว่า “อภิธรรม  พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนมนุษย์โดยสอนรวมๆ อยู่ในพระสูตร” กำเนิดของพระอภิธรรมนี้มีคติความเชื่ออยู่  ๒  ประเด็น คือ  เกิดที่เทวโลก  และเกิดที่มนุสสโลก    ประเด็นที่เกิดในเทวโลกมีความเชื่อว่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ทรมานเดียรถีย์นิครนถ์ ณ ภายใต้ควงไม้คัณฑามพฤกษ์แล้วทรงดำริว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว เสด็จจำพรรษา ณ ที่ใด เมื่อทรงทราบด้วยพระญาณว่าเสด็จอยู่จำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์โปรดพระพุทธมารดาตลอดไตรมาส  ซึ่งเป็นพุทธประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต ดังนั้นพระพุทธองค์จึงเสด็จไปแสดงอภิธรรมที่เทวโลกชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระพุทธมารดาเริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ตามลำดับจนครบไตรมาสในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ  เดือน  ๑๑ [3] อนึ่ง  วัน และเดือนที่กล่าวในที่นี้หมายถึง วันและเดือนในมนุสสโลก ไม่ใช่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะ ๑ วัน ๑ คืนในสวรรค์ชั้นนี้ เท่ากับ ๑๐๐ ปีของมนุษย์

                  ประเด็นที่เกิดในมนุสสโลกมีความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขที่ควงไม้ต่างๆ  ๕ สัปดาห์ คือ

         สัปดาห์ที่  ๑  ประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์คือไม้ที่ได้ตรัสรู้

         สัปดาห์ที่  ๒  ประทับนั่งที่ควงไม้นิโครธ คือ ควงไม้ไทร

         สัปดาห์ที่  ๓  ประทับนั่งที่ควงไม้มุจจลินทะคือควงไม้จิก

         สัปดาห์ที่ ๔   ประทับนั่งที่ควงไม้ราชายตนะ คือควงไม้เกตุ

         สัปดาห์ที่  ๕  ประทับนั่งที่ควงไม้ไทรอีก[4]

                  พระอรรถกถาจารย์ได้แสดงแทรกไว้ในคัมภีร์อรรถกถาอีก  ๓  สัปดาห์ จากสัปดาห์ที่หนึ่งในบาลีดังนี้

         สัปดาห์ที่  ๒ เสด็จจากไม้มหาโพธิไปทางทิศอีสานทรงยืนถวายเนตร คือว่าจ้องดูพระมหาโพธิในที่นั้นเรียกว่าอนิมิตตเจดีย์

         สัปดาห์ที่  ๓  เสด็จจากที่นั้น มาหยุดอยู่ระหว่างมหาโพธิกับอนิมิตตเจดีย์ ทรงนิรมิตที่จงกรมขึ้นแล้ว เสด็จจงกรม  ณ ที่นั่นที่นั้นเรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์

         สัปดาห์ที่ ๔ ประทับนั่งขัดบัลลังก์ในทิศปัจจิมหรือทิศพายัพแห่งมหาโพธิ ทรงพิจารณาอภิธรรมจึงเรียกว่า รัตนฆรเจดีย์[5]

         เมื่อท่านแทรกเข้ามาอีก  ๓  สัปดาห์ดั่งนี้  สัปดาห์ที่   ๒  ตามที่แสดงในบาลีก็ต้องเลื่อนไปเป็นที่  ๕  และก็เลื่อนไปโดยลำดับ

                  พระอภิธรรมได้เกิดพร้อมกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ โดยถือความตามอรรถกถาว่า “ในสัปดาห์ที่  ๔  เสด็จประทับในเรือนแก้ว (รตนฆระ) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วทรงกำหนดพิจารณาพระปกรณ์ทั้ง  ๗  พระคัมภีร์”[6]              อีกประเด็นหนึ่งในส่วนของมนุสสโลก พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระได้ไปปรนนิบัติพระพุทธองค์ที่ป่าไม้จันทนใกล้สระอโนดาตนั้น พระพุทธองค์ได้ประทานนัยแห่งพระอภิธรรมแก่พระสารีบุตร ส่วนพระสารีบุตรเถระได้นำอภิธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วมาแสดงแก่ภิกษุ  ๕๐๐  รูป ผู้เป็นสัทธิวิหาริกของตน[7]

                 

            การศึกษาพระอภิธรรมในสมัยพุทธกาล

 

                  จากหลักฐานในพระไตรปิฎกพบว่าการศึกษาพระอภิธรรมเคยมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเหมือนกับการศึกษาพระวินัยและพระสูตร  หลักฐานที่ปรากฏในมหาโคสิงคสูตรในมัชฌิมนิกายได้บันทึกเรื่องราวการสนทนา ระหว่างพระสารีบุตรเถระกับพระมหาโมคคัลลานเถระ  ขณะที่พักอยู่ป่าโคสิงคสาลวัน พระสารีบุตรได้ถามพระโมคคัลลานเถระว่า “ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมณ์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”พระโมคคัลลานเถระตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุ ๒ รูป ในพระธรรมวินัยนี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้งสองรูปนั้น ถามปัญหากันและกันแล้วย่อมแก้กันเองไม่หยุดพัก และธรรมีกถาของเธอทั้ง ๒ นั้น ก็ดำเนินไป ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”[8]

                  มีข้อความที่ปรากฏในภิกขุนีวิภังค์ตอนหนึ่งว่า “ภิกษุณีขอโอกาสในพระสูตรแต่ ถามพระวินัยหรือพระอภิธรรมต้องปาจิตตีย์   ขอโอกาสในพระวินัย แต่ถามพระสูตรหรือพระ อภิธรรมต้องปาจิตตีย์ ขอโอกาสในพระอภิธรรมแต่ถามพระสูตรหรือพระวินัยต้องปาจิตตีย์[9]          ข้อความที่ปรากฏในมหาวิภังคบาลีตอนหนึ่งว่า“จัดแจงเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้ทรงอภิธรรมรวมกันไว้แห่งหนึ่ง ด้วยประสงค์ว่า ภิกษุเหล่านั้นจะสนทนาพระอภิธรรมกัน"[10]

                  ในอังคุตตรนิกาย ข้อความตอนหนึ่งว่า“สมัยนั้นแล ภิกษุเถระจำนวนมากกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้วนั่งประชุมสนทนาอภิธรรมกถากันอยู่ในโรงฉัน”[11]     ในขุททกนิกายอปทาน มีข้อความว่า “พระองค์มีพระวินัย พระสูตร  พระอภิธรรม และพระพุทธพจน์มีองค์  ๙ แม้ทั้งมวล นี้เป็นธรรมสภา”[12]

                  ในเถรีอปทานมีข้อความว่า “ (พระเขมาเถรี) กล่าวว่า หม่อนฉัน เป็นผู้ฉลาดใน    วิสุทธิทั้งหลาย  คล่องแคล่ว ในกถาวัตถุ  รู้แจ้งนัยแห่งพระอภิธรรม”[13]        

                  หลักฐานที่กล่าวมานี้เป็นหลักฐานที่ปรากฏในพระไตรปิฎกจึงกล่าวได้ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสอภิธรรมสอนภิกษุทั้งหลายด้วยพระองค์เอง หลักฐานในหนังสือมาติกาโชติกะธัมมสังคณีสรูปัตถนิสสยะหลักสูตรการเรียนการสอนชั้นจูฬเอกกล่าวว่า พระอภิธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงตลอดพรรษากาลนี้ แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทคือที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่หมู่เทพยดา อินทร์ พรหมทั้งหลายนั้นชื่อว่าวิตถารนัย เพราะการแสดงนั้นพิศดารมาก ที่พระพุทธองค์แสดงแก่พระสารีบุตรที่ป่าไม้จันทน์นั้นชื่อว่าสังเขปนัยเพราะการแสดงนั้นย่อมาก ส่วนอภิธรรมที่พระสารีบุตรแสดงแก่ศิษยานุศิษย์ ๕๐๐ องค์ที่เคยเป็นค้างคาวมาแต่อดีตชาตินั้นชื่อว่านาติวิตถารนาติสังเขปนัย เพราะการแสดงนั้นเป็นกลางไม่พิศดารและไม่ย่อ พระอภิธรรมที่ปรากฏในมนุษยโลกจนถึงบัดนี้เป็นนัยที่เรียกว่านาติวิตถารนาติสังเขปนัยซึ่งพระสารีบุตรแสดงไว้นั้นเอง[14]

พระอภิธรรมกับการสังคายนา

 สังคายนาครั้งที่  ๑

หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วประมาณ ๓ เดือน ณ เมืองราชคฤห์ พระอรหันต์  ๕๐๐ รูป ซึ่งมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ได้ประชุมกันทำสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นเป็นครั้งแรก ในสังคายนาครั้งที่ ๑ พระมหากัสสปะได้กล่าวในที่ประชุมว่า “พวกเราจะสังคายนาพระธรรมและวินัยกัน[15]      

 ในอรรถกถาพระวินัยได้กล่าวอธิบายในสังคายนาครั้งที่  ๑ ว่า “พระพุทธพจน์มี ๓ ปิฎก คือพระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก [16] ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาได้กล่าวว่า พระพุทธพจน์ทั้งหมดที่หมู่สงฆ์ผู้มีวสีมีพระมหากัสสปะเป็นประมุขเมื่อจะสังคายนาในเวลาทำปัญจสติกสังคีติ ได้สังคายนากำหนดประเภทชัดลงไปดังนี้ว่า นี้เป็นปฐมพุทธพจน์ นี้เป็นมัชฌิมพุทธพจน์ นี้เป็นปัจฉิมพุทธพจน์ นี้เป็นวินัยปิฎก นี้เป็นสุตตันตปิฏก นี้เป็นอภิธรรมปิฎก[17]

สังคายนาครั้งที่ ๒

 เหตุเกิดเมื่อปีพุทธศักราช ๑๐๐  ซึ่งสมัยนั้นตรงกับสมัยของพระเจ้ากาฬาโศก ครองแคว้นวัชชี มีนครไพศาลีเป็นเมืองหลวง ได้เกิดกรณีสั่นคลอนพระวินัยบัญญัติ กล่าวคือ ภิกษุวัชชีบุตร เสนอวัตถุ  ๑๐ ประการ ซึ่งขัดกับหลักพระวินัย เป็นเหตุให้พระอรหันต์  ๗๐๐ รูป มีพระยสกากัณฑกบุตรเป็นประธานต้องดำเนินการทำสังคายนาเป็นครั้งที่ ๒ ที่วัดวาลุการาม ใช้เวลา  ๘  เดือนจึงสำเร็จ[18]

 สังคายนาครั้งที่  ๓

 ปีพุทธศักราช  ๒๑๘ หลังจากที่พระเจ้าอโศกขึ้นครองราชย์ที่พระนครปาฏลีบุตรได้ ๑๕ ปี ได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายในพระศาสนา สาเหตุของความวุ่นวายนั้นคือ พวกเดียรถีย์ปลอมบวชเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้พระอรหันต์  ๑๐๐๐ รูป  มีพระมหาโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่อโศกการาม ในการสังคายนาครั้งนี้พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้รจนาคัมภีร์กถาวัตถุเพิ่มจากที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้โดยย่อ(มาติกา) เป็นเหตุให้คัมภีร์กถาวัตถุมีเนื้อหายาวกว่าเดิมหลายเท่า[19] 

 หลังจากที่ทำสังคายนาเสร็จสิ้นแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณทูต  ๙  สายออกไปประกาศพระศาสนา สมณทูตเหล่านั้นเป็นผู้ทรงจำพระไตรปิฎก หลักฐานในอรรถกถาอัฏฐสาลินีได้กล่าวถึงพระเถระที่ทรงจำอภิธรรม คือพระสารีบุตร พระภัททชิ พระโสภิต พระปิยชาลี พระปิยปาละ พระปิยทัสสี พระโกสิยบุตร พระสิคควะ พระสันเทหะ พระโมคคัลลีบุตร พระติสสทัตตะ พระธัมมิยะ พระทาสกะ พระโสนกะ พระเรวตะ[20]  จากหลักฐานตรงนี้แสดงให้ทราบว่าการเรียนการสอนอภิธรรมรุ่งเรืองมาจนถึงสังคายนาครั้งที่ ๓ เพราะมีพระเถระผู้ทรงไว้ซึ่งพระอภิธรรมหลายรูป เมื่อการสังคายนาครั้งที่ ๓  เสร็จเรียบร้อยแล้วพระ       มหินทเถระ พระอิฏฏิยเถระ พระอุตติยเถระ พระสัมพลเถระ พระภัททเถระ ได้นำอภิธรรมมาสู่เกาะลังกา คณะศิษยานุศิษย์ของพระเถระเหล่านั้นได้ทรงจำสืบต่อกันมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้  พระเถระกลุ่มที่พระเจ้าอโศกส่งไปประกาศศาสนาที่เกาะลังกานอกจากจะทรงจำทางด้านพระอภิธรรมแล้วยังเป็นผู้ทรงพระวินัยด้วย ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎกคัมภีร์ปริวารว่า พระเถระผู้ประเสริฐมีปัญญามากเหล่านี้คือ พระมหินทะ พระอิฏฏิยะ พระอุตติยะ พระสัมพละ และพระภัททะ เดินทางจากชมพูทวีปมาที่เกาะสิงหลนี้  ท่านเหล่านั้นสอนพระวินัยปิฎกที่เกาะตามพปัณณิ สอนนิกาย ๕ และปกรณ์ ๗[21]

เมื่อครั้งที่พระพุทธศาสนามาสู่ประเทศลังกาใหม่ๆพระสงฆ์ในศรีลังกามีความเชื่อว่า วินัยบัญญัติเป็นเสมือนชีวิตของพระพุทธศาสนา ถ้าวินัยดำรงอยู่ พระศาสนาก็ดำรง ดังนั้นจึงเน้นหนักไปในการศึกษาพระวินัย แต่ครั้นพระพุทธศาสนาได้หยั่งรากมั่นคงแล้วจึงเริ่มหันมาสนใจศึกษาพระอภิธรรม พระพุทธโฆสเถระมีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙ เป็นบุคคลแรกในประเทศศรีลังกาที่ทำการรวบรวมเรียบเรียงคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม เป็นผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นพุทธมตัญญู  “ผู้หยั่งรู้พุทธประสงค์” นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้เรียบเรียงคัมภีร์อรรถกถาฝ่ายเถรวาท อีกหลายคัมภีร์          คัมภีร์อรรถกถาแห่งพระอภิธรรมที่ท่านเรียบเรียง มีดังนี้

             ๑.  อัฏฐสาลินี  (อรรถกถาอธิบายพระบาลีพระไตรปิฎก เล่มที่  ๓๔  คือ ธัมมสังคณี)

             ๒.  สัมโมหวิโนทนี  (อรรถกถาอธิบายพระบาลีวิภังค์ พระไตรปิฎก  เล่มที่  ๓๕ )

             ๓. ปัญจปกรณ์ (อรรถกถาอธิบายพระบาลีพระไตรปิฎก เล่มที่  ๓๖– ๔๕  คือ อภิธรรม  ๕ คัมภีร์ที่เหลือ)

                  นอกจากอรรถกถาของพระอภิธรรมเหล่านี้แล้ว คัมภีร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระอภิธรรมอีกคัมภีร์หนึ่ง  ที่สร้างชื่อเสียงแก่ตัวท่าน  คือ คัมภีร์วิสุทธิมรรค

                  แม้ว่าอรรถกถาของพระอภิธรรม  จะเพิ่งปรากฏในยุคของพระพุทธโฆสเถระ  แต่ความจริงแล้วข้อมูลส่วนที่เป็นแนวการศึกษาพระอภิธรรมนั้นได้มีสืบทอดมานานแล้ว เพียงแต่พระพุทธโฆสเถระท่านได้นำข้อวินิจฉัยเหล่านั้นมาจัดระบบใหม่ในรูปของคัมภีร์เท่านั้นเอง ดังจะเห็นได้ว่าในคัมภีร์อัฏฐสาลินีอรรถกถาเองได้ระบุมติของพระเถระผู้เชี่ยวชาญพระอภิธรรม เช่น

            ๑. พระติปิฏกจูฬนาคเถระ

            ๒. พระโมรวาปิวาสีมหาทัตตเถระ

            ๓. พระติปิฏกมหาธัมมรักขิตเถระ

            ๔. พระติปิฏกจูฬาภยเถระ

พระคันถรจนาจารย์ผู้มีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกับพระพุทธโฆสเถระรูปหนึ่งคือพระพุทธทัตตเถระ ท่านผู้นี้มีความโดดเด่นในวิชาพระอภิธรรมมาก ดังจะเห็นได้ว่าท่านได้รจนาคัมภีร์ที่เกี่ยวกับพระอภิธรรมไว้หลายคัมภีร์ เช่น

            อภิธัมมาวตาร  -  คัมภีร์นี้ท่านรจนาเพื่อมุ่งช่วยให้ผู้ศึกษาสามารถใช้เป็นคู่มือพื้นฐาน เพื่อที่จะก้าวเข้าไปศึกษาพระอภิธรรมปิฎกได้โดยไม่ยาก

            รูปารูปวิภาค -  เป็นคัมภีร์เล็กๆ ที่ท่านมุ่งย่อปรมัตถธรรมให้เหลือไว้เพียง ๒  ประเภท  คือ นามกับรูป เพื่อให้นักศึกษาสามารถมองเห็นภาพย่อของพระอภิธรรม

                  คัมภีร์ทั้งสองนี้จัดอยู่ในระดับคัมภีร์ชั้นอรรถกถาประเภทสังเขป  มิได้อธิบายพระไตรปิฎกตามลำดับบทพระบาลี มีเนื้อหาอรรถกถาพระอภิธรรมของพระพุทธโฆสเถระ ซึ่งต่อมาทั้ง ๒ คัมภีร์นี้กลายเป็นแม่แบบและเป็นที่อาศัยในการรจนาคัมภีร์พระอภิธรรมรุ่นหลัง เช่น  ในการรจนาคัมภีร์อภิธรรมมัตถสังคหะ ของพระอนุรุทธาจารย์  ก็ได้อาศัยคัมภีร์ของพระพุทธทัตตเถระเป็นแนวในการรจนา ดังนั้น  จึงนับได้ว่า  พระพุทธทัตตเถระเป็นบิดาแห่งอรรถกถาพระอภิธรรมผู้หนึ่งในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท[22]    

                  การทำสังคายนาทั้ง ๓ ครั้งนั้น ทำที่ประเทศอินเดีย และในการทำสังคายนาครั้ง      ที่ ๑ ถึงแม้ว่าจะไม่ระบุชื่อพระเถระที่ทรงอภิธรรมเหมือนที่ระบุชื่อพระอุบาลีเถระผู้ทรงพระวินัย และในการสังคายนาครั้งแรกนั้นในที่ประชุมมีมติให้สังคายนาพระวินัยก่อนเพราะมีความเห็นว่าพระวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทิ้งความสำคัญของพระธรรมไปเสียยังให้ความสำคัญพระธรรมในฐานะเป็นศาสดา   การทำสังคายครั้งนี้พระอานนท์เถระทรงจำพระธรรมไว้มาก พระธรรมนี้หมายถึงพระสูตรและพระอภิธรรม และมีความเป็นไปได้ว่าจำนวนพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ รูป จะต้องมีพระอรหันต์ที่ทรงจำพระอภิธรรมช่วยให้ข้อมูลในด้านพระธรรมในที่ประชุมในครั้งนั้น

 


        [1] อภิ.สงฺ.อ.๑/๔.

        [2] Richard H. Robinson, Willardl  Johnson, The  Buddhist  Religion,(Wadsworth  Publishing Company, 1994), p 54.

        [3] อภิ.สงฺ. ๓๔ บทนำ.

        [4] วิ.มหา.(ไทย) ๔/๑/๑,(บาลี) ๔/๑/๑.

        [5] วิ.อ. ๓/๘๓.

        [6] อภิ.สงฺ.อ. ๑/๑๓/๑๔.

        [7] อภิ.สงฺ.อ. ๑/๑๗–๑๘,ขุ.ธ.อ.๖/๘๘.

        [8] ม.มู. (ไทย) ๑๒/๓๓๗/๓๖๙,(บาลี) ๑๒/๓๓๗/๓๐๐.

        [9] วิ.ภิกฺขุนี.(ไทย) ๓/๑๒๒๑/๓๘๐, (บาลี) ๓/๑๒๒๑/๒๒๐.

        [10] วิ.มหา. (ไทย) ๑/๓๘๒/๔๑๔, (บาลี) ๑/๓๘๒/๒๘๖.

        [11] องฺ.ฉกฺก.(ไทย) ๒๒/๖๐/๕๕๔,(บาลี) ๒๒/๖๐/๓๗๖.

        [12] ขุ.อป. (ไทย) ๓๒/๕๓๗/๘๑/,  (บาลี) ๓๒/๕๓๗/๘๑.

        [13] เถรี.อป. (ไทย) ๓๓/๓๗๗/๔๓๗, (บาลี) ๓๓/๓๗๗/๓๓๘.

        [14] พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ, มาติกาโชติกะ ธัมมสังคณีสรูปัตถนิสสยะ,(กรุงเทพมหานคร:๒๕๓๕), หน้า  ต.

        [15] วิ.จู. (ไทย) ๗/๔๗๙/๓๗๖, (บาลี) ๗/๔๗๙/๒๗๖–๒๗๗.

        [16] วิ.อ. ๑/๑๗.

        [17] อภิ.สงฺ อ.(ไทย) ๑/๕๙.พระไตรปิฏกและอรรถกถา ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๓๐.

        [18] วิ.อ. ๑/๓๒–๓๓.ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย,๒๕๓๒.

        [19] วิ.อ. ๑/๖๑.

        [20] อภิ.สงฺ.อ. (ไทย) ๑/๖๗. พระไตรปิฎกและอรรถกถาฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๐.

        [21] วิ.ป. (ไทย) ๘/๒๒/๒๕–๒๖, (บาลี) ๘/๒๒/๑๔–๑๖.

        [22] จำรูญ  ธรรมดา, ประวัติการเผยแผ่พระอภิธรรม, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์วิญญาณ,

๒๕๔๒)หน้า ๘–๑๑.

คำสำคัญ (Tags): #อภิธรรม
หมายเลขบันทึก: 400028เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ อาจารย์แม่ (ผู้เมตตา) มาศึกษาเรียนรู้อภิธรรมเพื่อหาแก่นแท้กับคุณแม่ค่ะ รับศิษย์ไว่พิจารณา

เข้าสังกัดด้วยน๊ะเจ้าค่ะ

ด้วยความเคารพค่ะ

ชยานันต์ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท