Dhamma in English (4)


The Sangha

       ตอนนี้รายการ "Dhamma in English" ของเราก็ได้เดินทางมาถึงตอนที่ ๔ แล้ว  สามครั้งที่ผ่านมาได้พูดถึงพระพุทธ กับ พระธรรม เพื่อให้ครบพระรัตนตรัย (The Triple Gem) ครั้งที่ ๔ นี้จะขอนำเรื่อง "The Sangha" พระสงฆ์มาเล่าต่อ  คำว่า "The Sangha" เป็นคำที่ออกเสียงสองพยางค์ตามภาษาบาลีเดิม คือออกเสียงว่า "สังฆะ" เวลานำมาใช้ในภาษาไทยเรานิยมทำให้มีเสียงสั้น (คนไทยไม่ชอบอะไรยาวๆ เพราะเรามีพื้นฐานภาษาคำโดด) อย่างเช่นคำว่า "สังฆะ" เราก็ออกเสียงพยางค์เดียวว่า "สงฆ์"

      เวลาคนไทยได้ยินคำว่า "สงฆ์" ส่วนใหญ่เราจะนึกถึงพระเป็นรูปหรือเป็นองค์ เรามักนึกถึงสงฆ์ในฐานะเป็นบุคคลผู้ปลงผมนุ่งห่มจีวร นี้อาจจะเรียกว่าความหมายที่พัฒนาขึ้นในสังคมไทยก็ได้  แท้จริงแล้วคำนี้ไม่ใช่คำเรียกพระภิกษุที่เป็นบุคคล  หากแต่เป็นคำเรียกกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มาอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน เพื่อทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น  ในโลกพระพุทธศาสนาภาษาอังกฤษ  เขาจึงนิยมแปลคำว่า "Sangha" เป็นภาษาอังกฤษว่า "Group" (กลุ่ม) "Community" (ชุมชน) "Assembly" (ชุมชุมชน)  "Association" (สมาคม)  "Order" (คณะสงฆ์) คำเหล่านี้ล้วนบ่งบอกถึงหมู่คณะหรือการรวมตัวของกลุ่มคน  ไม่ได้หมายถึงพระรูปใดรูปหนึ่งในฐานะปัจเจกบุคคลเลย 

     ในสังคมไทยเรามักได้ยินคนนั้นคนนี้ไปทำ "สังฆทาน" โดยเอาถังหรือห่อของสีเหลืองๆ ไปถวายพระที่วัด  นัยว่าเมื่อทำแล้วจะได้บุญมากหรือมีอานิสงส์มาก  ส่วนใหญ่ทำเพื่อสะเดาะเคราะห์ต่อชาตาอะไรทำนองนั้น หรือเพื่อให้ได้โชคลาภอะไรบางอย่าง  ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีแล้วที่ได้ทำบุญ   แต่อาจไม่เข้าใจเจตนารมณ์ (Intention/Will) ของสังฆทาน  คำว่า "สังฆทาน" ก็คือทานที่เราให้แก่หมู่คณะหรือชุมชนของพระภิกษุเป็นการส่วนรวม (Offering to the Order)  ไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง พูดง่ายๆ การไปทำสังฆทานก็คือการไปทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมนั่นเอง  เจตนารมณ์คือต้องการให้เราเป็นคนใจใหญ่ใจกว้าง (broad-minded) เอาหมู่คณะเอาส่วนรวมเป็นตัวตั้ง  ไม่ยึดติดที่ตัวบุคคล (Individual)  เมื่อใจใหญ่ใจกว้าง แน่นอนว่าผลแห่งทานนั้นก็ย่อมมีประโยชน์กว้างขวางเป็นเงาตามตัว  การทำสังฆทานในสังคมไทย ฟังชื่อแล้วดูใหญ่จริง แต่วิธีการกระทำและเจตนารมณ์ของคนทำไม่รู้ว่ากว้างใหญ่จริงสมชื่อหรือไม่  อันนี้ยังน่าสงสัย?

     ในพระพุทธศาสนา เวลาเราต้องการใช้คำว่า "สังฆะ" ให้หมายถึงคนกลุ่มใด  มักจะเอาชื่อของกลุ่มคนนั้นๆ มาต่อข้างหน้า เช่น ภิกขุสังฆะ หมู่/ชุมชนของพระภิกษุ (Monks' Community) ภิกขุณีสังฆะ หมู่ของภิกษุณี (Bhikkhunis' Community)  สาวกสังฆะ หมู่ของพระสาวก (Disciples' Community) อริยส้งฆะ หมู่ของพระอริยะ (Noble Ones' Community) เป็นต้น

     พูดมาก็ยืดยาวพอสมควร  ขืนพูดมากกว่านี้เกรงว่าผู้อ่านจะเบื่อเสียก่อน  ก่อนจากขอฝากพุทธภาษิตเกี่ยวกับเรื่องหมู่คณะสักเล็กน้อยว่า

                                    สุขา  สงฺฆสฺส  สามคฺคี

                  ความพร้อมเพียงของหมู่คณะ (สังฆะ) นำสุขมาให้

                            Happy is the Sangha’s harmony 

อ่านตอนต่อไปคลิก http://gotoknow.org/blog/budhamcu/400320

คำสำคัญ (Tags): #dhamma in english (4)
หมายเลขบันทึก: 399903เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ท่านรองคณบดีฯ

เนื้อหาของท่านรองฯ อุดมไปด้วยสาระจริงๆ เลยน่ะ  หวังว่าพวกเราที่เรียนภาษาอังกฤษแนวธรรมะจะได้ประโยชน์จากแนวทางเช่นนี้   สรุปคือ "ภาษาอังกฤษเพื่อชีวิตที่ดีงาม" ครับ  รออ่านตอนต่อไปนะครับ

ชอบคุณมากและยินดีต้อนรับครับท่านผู้ช่วยฯ นับว่าเป็นสิริมงคลที่ท่านมาเยี่ยมเยียน

รายงานเยอะตาลายอ่านผิดเป็น Singha(เบียร์สิงห์)... Cheers!!! @_@

ได้ความรู้อีกแล้ว เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ดีจังค่ะ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท