นก สมพร
นางสาว สมพร สมพร ศรีกระสังข์

ลูกยอ


ลูกยอ (noni) และคุณสมบัติ

สารานุกรม Wikipedia อธิบายลูกยอไว้ว่า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Morinda citrifolia ชื่อนี้เรียกกันทั่วไปในภาษาอังกฤษ คือ great morinda, Indian mulberry, beach mulberry, Tahitian noni หรือเรียกตามแหล่งที่ขึ้น หรือภาษา เช่น noni (จากฮาวาย) nono (ตาฮิติ) meng kudu (จากมาเลย์) nonu (ในภาษาของชาวทองก้า) และ ach (ในภาษาฮินดู)

ยอ เป็นไม่พุ่มหรือไม้ขนาดเล็กในตระกูล Rubiaceae เป็นไม้พื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มีผู้นำไปแพร่พันธุ์จนกระจายไปทั่วอินเดีย และตามหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิค และหมู่เกาะอินดัสตะวันตก

ต้นยอขึ้นได้ทั้งในป่าทึบหรือตามชายฝั่งทะเลที่เป็นโขดเขาหรือพื้นทราย ต้นโตเต็มที่เมื่ออายุครบ 18 เดือน และให้ผลซึ่งมีน้ำหนักรวมกันระหว่าง 4-8 กิโลกรัมต่อเดือน ตลอดทั้งปี ยอเป็นพืชทนทานต่อดินเค็ม สภาวะแห้งแล้ง และดินทุติยภูมิ ยอจึงพบแพร่หลายทั่วไป ต้นยออาจสูงถึง 9  เมตร ใบและผลยอมีลักษณะเด่นที่เป็นแล้วบอกได้โดยง่ายว่าเป็นยอ

ใบยอมีขนาดใหญ่ รูปใบธรรมดาและเส้นใบลึก ใบมีสีเขียวเข้มและเป็นมัน

ยอออกดอกและผลตลอดปี ดอกของมันเล็กๆ มีสีขาว ผลยอเป็นผลรวม กลิ่นฉุนเมื่อสุก บางครั้งจึงมีผู้เรียกชื่อผลยอในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึง ลูกเนยแข็งหรือลูกอ้วก (cheese fruit หรือ vomit fruit) ผลยอคล้ายรูปไข่ และเหมือนมีตารอบผล ความยาวของผลอยู่ระหว่าง 4-7  เซนติเมตร เมื่อผลยังอ่อนมีสีเขียว แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองไปจนเกือบขาวเมื่อสุก แม้ผลยอจะมีกลิ่นแรงและรสขม แต่ก็มีการบริโภคผลยอกันมาก ทั้งดิบ ๆ หรือปรุงแต่ง บางหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิค กินผลยอเป็นอาหารหลัก ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และชาวพื้นเมืองออสเตรเลียกินผลยอดิบจิ้มเกลือ หรือปรุงกับผงกระหรี่ เมล็ดของยอคั่วรับประทานได้

การใช้ประโยชน์ยอ

1. การใช้ประโยชน์ยอแต่ดั้งเดิม

ต้นยอใช้ประโยชนได้ทั้งต้น ไม่ว่า ใบ ผล ลำต้น ดอก เมล็ด หรือราก แต่ดั้งเดิมมามีผู้นำยอไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้

1.1 ใบยอ

(ก) ใบสด ใช้ห่อเนื้อและทำให้เนื้อมีรสยอ ใช้ทำอาหาร เช่น ห่อหมก ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ หรือเลี้ยงตัวหนอนไหม แก้แผลพุพอง รักษาอาการปวดศีรษะ หรือไข้

(ข) ใบทำยาพอก รักษาโรคมาลาเรีย แก้ไข้ แก้ปวด รักษาวัณโรค อาการเคล็ดยอก แผลถลอกลึกๆ อาการปวดในข้อ แก้ไข้ แก้พิษจากการถูกปลาหินต่อย แก้กระดูกแตก กล้ามเนื้อแพลง

(ค) น้ำสกัดใบยอ รักษาความดันโลหิตสูง เลือดออกที่เกิดจากกระดูกร้าว แก้ปวดท้อง เบาหวาน เบื้ออาหาร ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ช่องท้องบวม ไส้เลื่อน อาการขาดวิตามินเอ

1.2 ผลยอ

(ก) ไอระเหยจากลูกยอ ใช้รักษากุ้งยิง

(ข) ลูกยอดิบ ใช้รักษาอาการเจ็บ หรือแผลตกสะเก็ดรอบปากหรือข้างในปาก

(ค) ลูกยอสุก ใช้รับประทาน ลูกยอบดละเอียดใช้กลั้วคอแก้คอเจ็บ ลูกยอบดใช้ทาเท้าแก้เท้าแตก ใช้ทาผิวฆ่าเชื้อโรค หรือรับประทานเพื่อฆ่าพยาธิในร่างกาย รักษาบาดแผลและอาการบวม แก้ปากและเหงือกอักเสบ แก้ปวดฟัน กระตุ้นความอยากอาหารและสมอง ใช้ทำอาหารหมู

(ง) ผลทำยาพอก ใช้แก้หัวสิว ตุ่ม ฝีฝักบัว แก้วัณโรค อาการเคล็ด แผลถลอกลึก โรคปวดในข้อ

(จ) น้ำมัน น้ำมันสกัดจากลูกยอใช้แก้ปวดกระเพาะ

(ฉ) น้ำสกัดลูกยอ แก้ความดันโลหิตสูง

1.3 ลำต้น

(ก) เปลือกต้ม แก้โรคดีซ่าน

(ข) น้ำสกัดต้นยอ แก้โรคความดันโลหิตสูง

1.4 เมล็ดยอ น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดยอใช้รักษาเหาและป้องกันแมลง

1.5 ดอกยอ ใช้รักษากุ้งยิง

1.6 รากยอ

(ก) นำมาใช้แกะสลัก

(ข) ทำรงควัตถุสีเหลือง

(ค) น้ำคั้นจากรากใช้แก้แผลที่อักเสบรุนแรง

1.7 ทุกส่วนของต้นยอ สามารถใช้ทำยาระบายท้อง

 

 

2. การใช้ประโยชน์ยอสมัยใหม่

ปัจจุบันมีการนำลูกยอมาใช้ในทางแพทย์ทางเลือก (complementary alternative medicine, CAM) กันอย่างแพร่หลายในการรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคติดสุราหรือยาเสพติด อาการแพ้ โรคข้ออักเสบ โรคหอบหืด โรคสมอง แผลพุพอง มะเร็ง โรคเส้นโลหิตหล่อเลี้ยงหัวใจ อาการแพ้สารเคมี โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร โรคเซลล์เจริญเติบโตนอกมดลูก (endometriosis) โรคเก๊า โรคความดันโลหิตสูง ภูมิคุ้มกันต่ำ อาการอักเสบต่างๆ อาการปวดบวม อาการอ่อนเพลียจากการนั่งเครื่องบินนานๆ โรคเส้นโลหิตตีบ อาการปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ โปลิโอ โรคปวดในข้อ ไซนัส และใช้เป็นยารักษาสัตว์

 

คุณค่าทางด้านอาหารของลูกยอฮาวาย

ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาวาย แสดงให้เห็นคุณค่าทางอาหารของลูกยอ (ในรูปผง) ดังตารางข้างล่างนี้

องค์ประกอบสำคัญ

ร้อยละต่อน้ำหนักผงลูกยอ 100 กรัม

   โปรตีน

   5.8

   ไขมัน

   1.2

   ความชื้น

   9.3

   เถ้า

   10.3

   เส้นใยอาหารโดยรวม

   36

   คาร์โบไฮเดรต

   71

 

องค์ประกอบสำคัญ

น้ำหนักมิลลิกรัมต่อผงลูกยอ 1200 มิลลิกรัม

   โปรตีน    69.6
   ไขมัน    15.5
   คาร์โบไฮเดรต    843
   เส้นใยอาหารโดยรวม    419
   แคลอรี    3
   วิตามิน เอ    2.26 IU
   วิตามิน ซี    9.81
   ไนอะซิน    0.048

   ไทอะมิน

   -

   ไรโบเฟลวิน

   -

   เหล็ก

   0.02

   แคลเซียม

   0.88

   โซเดียม

   2.63

   โพแทสเซียม

   32.0

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ลูกยอมีปริมาณคาร์โบไฮเดรต เส้นใย และโพแทสเซียมสูง แต่มีไขมันค่อนข้างต่ำ

ลูกยอมีสารเคมีที่เรานิยมเรียกกันว่าพฤกษาเคมี (phytochemical) อยู่มากมาย ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยกันอย่างกว้างขวางตลอดมานับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ตัวอย่างพฤกษาเคมีในลูกยอ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานการบริโภค (Dietary Reference Intakes, DRI) มีดังนี้

  • น้ำตาลโมโลกุลยาวประเภทโอลิโกแซคคาไรด์ หรือโพลีแซคคาไรด์ ที่แบคทีเรียในลำไส้ย่อยสลายออกเป็นกรดไขมันโมเลกุลสั้นๆ คุณสมบัติในเชิงสุขภาพของมันมีทางเป็นไปได้สูง ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ โดยการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ให้กระจ่างขึ้นอีก
  • สารประเภทไกลโคไซด์ ซึ่งจัดเป็นสารประกอบฟีนอลที่เป็นน้ำตาล ได้แก่ เฟลโวนอยด์ เช่น rutin และ asperulosidic acid ยังไม่มีการศึกษา จนทราบคุณสมบัติแน่ชัดเช่นกัน
  • Trisaccharide fatty-acid esters หรือ noniosides เกิดจากการรวมตัวระหว่างอัลกอฮอล์กับกรดชนิดหนึ่งในผลยอ โนนิไซด์ คือสารเคมีที่ทำให้ลูกยอมีกลิ่นและรสที่เราไม่ชอบ
  • scopoletin สารชนิดนี้อาจเป็นสารปฏิชีวนะ งานวิจัยยังอยู่ในระดับเริ่มต้น
  • beta-sito sterol เป็นสเตอรอลในพืช มีศักยภาพลดคอเลสเทอรอล แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่พิสูจน์ได้ในคน
  • clamma canthal เป็น anthraquinone ชนิดหนึ่ง มีศักยภาพในการยับยั้งโปรตีนของเชื้อเอ็ชไอวี
  • แอลคาลอยด์ เป็นอะมีนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในพืช มักทำให้มีรสขม และจำนวนมากมีส่วนทำให้ลูกยอมีรสชาติไม่น่ากิน แหล่งข้อมูลในอินเทอร์เนตบางแห่งกล่าวถึง xeronine หรือ proxeronine ว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของลูกยอ แต่ยังไม่พบการตีพิมพ์เกี่ยวกับสารทั้งสองชนิดนี้ในวารสารด้านการแพทย์ ดังนั้นศัพท์สองคำนี้จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับในทางวิทยาศาสตร์

 

ความเห็นและข้อเสนอแนะ

ถึงแม้จะมีการศึกษาการก่อให้เกิดผลทางชีวภาพ (bioactivity) สารพฤกษาเคมีแต่ละประเภทที่กล่าวข้างต้นในลูกยออย่างมากมาย แต่งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ยังถือว่าอยู่ในระดับเริ่มต้นเท่านั้น และยังเร็วเกินไปที่จะสรุปใดๆ ออกมาในเชิงประโยชน์ต่อสุขภาพของผลยอ หรือน้ำคั้นจากผลดังกล่าว นอกจากนี้สารเหล่านี้เกือบทุกชนิดล้วนมีอยู่ในพืชที่ใช้เป็นอาหารจำนวนมาก ดังนั้นจึงยังไม่ใช่สารเฉพาะสำหรับลูกยอ

ถึงแม้การศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์ เนื้อหาผลที่มีต่อสุขภาพของลูกยอเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและยังไม่พบข้อพิสูจน์อย่างแน่ชัดก็ตาม แต่การใช้ลูกยอเป็นยาพื้นบ้านชาวโพลีนิเชียน พบคุณสมบัติทางยาของลูกยอซึ่งนำมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานกว่า 2000 ปี แล้ว ชาวจีน อินเดีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฯลฯ ใช้ยอ (ใบ ดอก ผล เปลือก ราก) ในการรักษาโรคต่างๆ เช่น ตา โรคผิวหนัง เหงือก โรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ แก้ท้องผูก ปวดท้อง โรคปวดเอว โรคขัดหรือท้องร่วง เป็นต้น

ในปัจจุบันลูกยอกลายเป็นยาทางเลือกที่ได้รับความนิยมสูงมาก ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากคุณสมบัติของลูกยอในทางการรักษาแบบพื้นบ้านสืบมา บวกเข้ากับประสบการณ์ที่สั่งสมสืบทอดกันมา และผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ยังถือว่าเป็นเบื้องต้นสรรพคุณของลูกยอหรือน้ำลูกยอได้ขยายออกไปสู่การรักษาโรคต่างๆ เช่น ในเว็บไซด์เกี่ยวกับลูกยอของอินเดียกล่าวว่า ลูกยอช่วยลดพิษในร่างกาย ทำให้เซลล์อ่อนเยาว์ลง ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ป้องกันเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ลดอาการปวด ดูดซึมอาหารและยาได้ดีขึ้น ควบคุมน้ำหนัก ทำให้นอนหลับสบาย ทำให้เลือดบริสุทธิ์ ควบคุมการทำงานของเซลล์ให้ดีขึ้น ซ่อมแซมเซลล์ที่เสื่อมโทรม เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ร่างกายรักษาตัวเองได้ดีขึ้น ลดความเครียด ทำให้จิตใจสงบและเยือกเย็น ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น ทำให้ตื่นตัว มีความจำและสมาธิดี ช่วยรักษาผิว ผม และหนังศีรษะ ลดโอกาสของการเป็นโรคที่เกี่ยวกับสูงวัย เช่น โรคเส้นโลหิตตีบ โรคหัวใจ เบาหวาน และอัมพฤกษ์

เราจะพบการโฆษณาขายน้ำลูกยอหรือแคปซูลลูกยอ ไม่ว่าในอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย หรือเอเชีย อย่างแพร่หลาย นอกเหนือจากรักษาโรคที่ได้กล่าวมาตามเว็บไซด์จากอินเดียแล้ว ยังมีที่กล่าวถึงความสามารถในการรักษาโรคเนื้องอกและมะเร็งอีกด้วย

จากประวัติอันยาวนานของการใช้ลูกยอในการรักษาโรค ก็น่าจะเป็นเหตุผลว่าลูกยอสามารถรักษาโรคบางโรคได้ แต่ความแน่ชัดในเชิงวิทยาศาสตร์ยังต้องรอการพิสูจน์ในวันข้างหน้า ลูกยอจึงเป็นทางหนึ่งของการรักษาโรค ดังคำโบราณว่า “ลางเนื้อชอบลางยา” ซึ่งขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของหมอผู้รักษาและคนไข้

 

ที่มา : จาก http://www.charpa.co.th/articles/noni.asp

 

คำสำคัญ (Tags): #ลูกยอ
หมายเลขบันทึก: 399635เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท