ครั้งที่ 14 งานวิจัยเชิงประวัติสาสตร์(ตอนที่1)


การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์เป็นวิธีแสวงหาข้อเท็จจริงของสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาแล้วในอดีต โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้การรวบรวมข้อมูล

      งานวิจัยเชิงอนาคตเพื่อนได้อ่านทราบข้อมูลเบื้องต้นแล้วนะครับส่วนจะวิจัยอย่างไร เพื่อนต้องลองค้นคว้าเพิ่มเติมนะครับ

      คราวนี้ลองอ่านและศึกษาแนวคิดในงานวิจัยเชิงประวัติศาสตร์สักหน่อยนะครับ เผื่อเพื่อนๆจะสนใจคิดจะวิจัยในงานวิจัยประเภทนี้กันบ้าง

การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์

       การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์เป็นวิธีแสวงหาข้อเท็จจริงของสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาแล้วในอดีต โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้การรวบรวมข้อมูล การสืบเสาะหาข้อเท็จจริง การตรวจสอบข้อเท็จจริง การวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนการสรุปผลเป็นไปอย่างถูกต้อง สมเหตุสมผล และสามารถนำผลที่ได้มาใช้ในการอธิบายสภาพความเป็นจริงในอดีต หรือบันทึกเหตุการณ์ในอดีตในรูปใหม่ที่มีระบบและมีความเป็นปรนัยยิ่งขึ้น ต่อไปนี้จะขอกล่าวถึงประเด็นสำคัญ ๆ ของการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์

1. ชนิดของการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์

การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์เป็นการวิจัยที่พยายามวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อหาข้อเท็จจริงในอดีต นักวิจัยได้แบ่งการวิจัยออกเป็น 3 ชนิดคือ

1.1 การศึกษาเป็นรายกรณี เป็นการศึกษาที่ชี้เฉพาะลงไปโดยอาจศึกษากับบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือสถาบัน เอกสารหรือกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งก็ได้

1.2 การศึกษาพัฒนาการ เป็นการศึกษาความแตกต่างของเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในระยะใดระยะหนึ่ง โดยอาจศึกษาเหตุการณ์ทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนของเหตุการณ์นั้นก็ได้

1.3 การศึกษาความเปลี่ยนแปลง การศึกษาแบบนี้คล้ายคลึงกับแบบที่สอง แต่เป็นการเปรียบเทียบลักษณะการเปลี่ยนแปลงในเรื่องราวหรือเหตุการณ์ในอดีตกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายทางการศึกษา โดยในอดีตการศึกษาต้องการเตรียมคนเข้ารับราชการ แต่ปัจจุบันเป็นการเตรียมคนเข้าประกอบอาชีพต่าง ๆ หลายอาชีพ ไม่ชี้เฉพาะแต่การเข้ารับราชการเท่านั้น

2. ความมุ่งหมายทั่วไปของการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์

โดยทั่วไปแล้วการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์จะมีความมุ่งหมายดังนี้

2.1 เพื่อค้นหารากฐานหรือจุดกำเนิดของสิ่งที่ต้องการศึกษาวิจัย

2.2 เพื่อศึกษาและชี้ให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริง ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ในอดีต

2.3 เพื่อให้เข้าใจสภาพเหตุการณ์ในปัจจุบัน อันอาจจะมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งจะช่วยให้สามารถตั้งกฎเกณฑ์หรือปรับปรุงงานในปัจจุบันให้มีมาตรฐานได้

2.4 เพื่อใช้เหตุการณ์ในอดีตหรือความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ในอดีต เป็นแนวโน้มที่จะชี้บ่งหรือทำนายเหตุการณ์ในอนาคตที่คล้ายคลึงกัน

2.5 เพื่อค้นหาข้อสมมติฐานที่ตั้งขึ้นบนรากฐานของความรู้และประสบการณ์ในอดีตที่จะนำไปใช้ในอนาคตได้

2.6 เพื่อศึกษาต้นตอของทฤษฎีต่าง ๆ อันจะทำให้เกิดความกระจ่างในเรื่องราวหรือทฤษฎีที่สำคัญ ๆ ในปัจจุบัน

2.7 เพื่อให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน และเรื่องราวที่จะเกิดในอนาคต

2.8 เพื่อเสริมสร้างความรู้ความจริงให้มากขึ้นตามลำดับ และเป็นการตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของบุคคลที่มีต่อเหตุการณ์หรือเรื่องราวในอดีต

2.9 เพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียของเหตุการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

3. แหล่งที่มาของข้อมูลในการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์

ในการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์จะเก็บรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะได้จากแหล่งของข้อมูล 2 ประเภทด้วยกันคือ

3.1 แหล่งของข้อมูลชั้นต้นหรือข้อมูลปฐมภูมิ (Primary sources) เป็นแหล่งของข้อมูลที่ผู้วิจัยได้จากหลักฐานเดิมหรือหลักฐานที่เป็นต้นตอ โดยผู้วิจัยเป็นผู้สังเกตการณ์ที่บันทึกโดยตรงหรือเป็นข้อมูลที่ได้จากคำบอกเล่า การบันทึกหรือรายงานของคนที่มีส่วนร่วมหรือเป็นพยานในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้น แหล่งของข้อมูลชั้นต้น ได้แก่

1) เอกสารต่าง ๆ (Documents) หรือบันทึกที่รายงานโดยผู้อยู่ในเหตุการณ์หรือเป็นพยานของเหตุการณ์ ข้อมูลชั้นต้นที่จัดอยู่ในประเภทนี้ได้แก่

- เอกสารหรือบันทึกของทางราชการ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการเสียภาษี กฎหมายต่าง ๆ ประกาศ ระเบียบ สถิติต่าง ๆ ประกาศนียบัตร คำพิพากษา คำให้การ สารตรา โฉนด ใบอนุญาต ใบรับรอง เป็นต้น

- เอกสารหรือบันทึกของคนในสมัยนั้น เช่น จดหมาย จดหมายเหตุ ไดอารี สัญญาต่าง ๆ พินัยกรรม หนังสือ จุลสาร เรื่องราวในหนังสือพิมพ์ นิตยสารหรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ บันทึกของสำนักงาน อัตชีวประวัติ คำสอน งานวิจัย เป็นต้น

- หลักฐานทางภาพและเสียงในประวัติศาสตร์ เช่น ภาพนิ่ง ภาพยนตร์ ภาพถ่าย ภาพวาด แผนที่ แผนภูมิ เทปบันทึกเสียง เป็นต้น

2) ซากโบราณวัตถุ (Remains or Relics) ได้แก่ ซากสิ่งปรักหักพัง ซากพืช ซากสัตว์ที่กลายเป็นหิน โครงกระดูก เครื่องมือเครื่องใช้ ภาพชนะ อาวุธ เครื่องประดับ เครื่องตกแต่ง ถ้วย โล่ เสื้อผ้า เหรียญต่าง ๆ เหรียญตรา อาคาร อนุสาวรีย์ เป็นต้น แหล่งข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นหลักฐานที่ชี้บ่งถึงการดำเนินชีวิต ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมของคนในสมัยนั้นด้วย

3) คำให้การหรือหลักฐานทางคำพูด (Oral testimony) ได้แก่ เรื่องที่พูดโดยพยานหรือผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์

3.2 แหล่งของข้อมูลชั้นรองหรือข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary sources) เป็นแหล่งของข้อมูลที่ได้จากรายงาน หรือถ่ายทอดมาจากข้อมูลชั้นต้น หรือข้อมูลปฐมภูมิ คือข้อมูลหรือหลักฐานนั้นถูกรายงานโดยผู้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือเป็นพยานในเหตุการณ์นั้น ผู้เขียนจะรายงานหรือถ่ายทอดในสิ่งที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์พูด หรือเขียน หรือถ่ายทอดในลักษณะต่าง ๆ ไว้ หรืออาจจะถ่ายทอดมาหลายทอดก็ได้ ดังนั้นการนำมาใช้ในการวิจัยจึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ แหล่งของข้อมูลชั้นรองได้แก่ ตำราเรียนทางประวัติศาสตร์ หนังสือพงศาวดาร วารสาร สารานุกรม เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้ว นักประวัติศาสตร์ นักวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ มักจะใช้ข้อมูลชั้นต้นหรือข้อมูลปฐมภูมิ เพราะมีความเชื่อถือได้มากกว่าและจะใช้ข้อมูลชั้นรองหรือข้อมูลทุติยภูมิก็ต่อเมื่อไม่สามารถจะหาข้อมูลชั้นต้นได้

4. ลักษณะของการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์

ลักษณะที่สำคัญของการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ พอจะสรุปได้ดังนี้

4.1 การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์พยายามอธิบายเหตุการณ์ในอดีตเพื่อประโยชน์ของการอธิบายเหตุการณ์ในปัจจุบัน และอาจใช้ทำนายเหตุการณ์ในอนาคตได้

4.2 การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์มักไม่ใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล แต่จะใช้วิธีการวิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลเพื่อตีความหมายข้อมูลและสรุปผล

4.3 ลักษณะข้อมูลของการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์จะเป็นหลักฐานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตและข้อมูลส่วนใหญ่จะได้มาจากแหล่งทุติยภูมิมากกว่าแหล่งปฐมภูมิ

4.4 การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์เป็นการวิจัยที่ใช้เอกสารและห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงอาจเรียกการวิจัยนี้อีกอย่างหนึ่งว่า การวิจัยเอกสาร (Documentary research) หรือการวิจัยห้องสมุด (Library research)

4.5 การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ผู้วิจัยไม่สามารถสร้างสถานการณ์เพื่อทดสอบผลการวิจัยได้

4.6 การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ผู้วิจัยไม่มีส่วนร่วมในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพียงแต่นำเอาสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วมาวิเคราะห์เท่านั้น

4.7 หลักฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์นั้นเกิดขึ้นเองตามเหตุการณ์ ไม่สามารถจัดให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของผู้วิจัยได้

5. ลำดับขั้นของการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์

ระเบียบวิธีวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ มีลำดับขั้นในการทำดังนี้

5.1 เลือกหัวข้อปัญหาที่จะทำการวิจัย จุดประสงค์ก็คือ

1) เพื่อช่วยในการกำหนดขอบข่ายของงานวิจัย

2) เพื่อช่วยให้สามารถพิจารณาได้ว่าหัวข้อปัญหาในการวิจัยนี้เหมาะสมหรือไม่ จะหาข้อมูลได้จากที่ไหน

3) เพื่อช่วยให้สามารถพิจารณาได้ว่า ผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์หรือมีคุณค่าต่อการศึกษาหรือไม่

5.2 ตั้งจุดมุ่งหมายของการวิจัย โดยอาจจะตั้งเป็นสมมติฐานเพื่อช่วยให้สามารถกำหนดรูปแบบของการวิจัยได้

5.3 รวบรวมข้อมูล ซึ่งอาจจะได้จากแหล่งปฐมภูมิหรือแหล่งทุติยภูมิ ในขั้นนี้ผู้วิจัยจะต้องทราบว่า จะศึกษาข้อมูลนั้นได้จากไหน ค้นคว้าได้โดยวิธีใด

5.4 จัดกระทำข้อมูลที่รวบรวมได้ให้เป็นหมวดหมู่เพื่อสะดวกในการวิเคราะห์ วิจารณ์ข้อมูล

5.5 ประเมินผลข้อมูล โดยทำการวิจารณ์หรือประเมินคุณค่าทั้งภายนอกและภายใน

5.6 เขียนรายงานการวิจัย ซึ่งอาจเขียนได้เป็น 2 แบบด้วยกันคือ

1) เสนอตามลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง

2) เสนอตามกรอบหรือโครงร่างของเนื้อหาวิชา

 

อ้างอิงจาก  

ศาสตราจารย์นิภา ศรีไพโรจน์
http://www.watpon.com/Elearning/res14.htm
หมายเลขบันทึก: 399258เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สนใจงานวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ ได้สาระมาก ขอบคุณค่ะ ขอบันทึกไว้เพื่อเป็นข้อมูลนะค่ะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท