ความจริงและการค้นพบความจริง


อะไรคือความจริง

         

ความจริงและการค้นพบความจริง 

 การวิจัย  หมายถึง  “การค้นหาความรู้ความจริงด้วยวิธีการที่เป็นระบบ  มีเหตุมีผลเชื่อถือได้”

อะไรคือความจริง

เป็นคำถามเชิงปรัชญาที่ว่า  อภิปรัชญา (Metaphysics)  หรือภวัตวิทยา (Ontology)  คำตอบของนักปรัชญาก็แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

  1. ความจริงเป็นเพียงหนึ่งเดียว  เอกนิยม (Monism)
  2. ความจริงแบ่งเป็นสอง  ทวินิยม (Dualism)
  3. ความจริงมีมากกว่าสองกลุ่ม  พหุนิยม (Pluralism)
  • ความจริงเป็นเพียงหนึ่งเดียว  เอกนิยม (Monism)
  1. ความจริงหนึ่งเดียว  คือ  จิต (Mind)  หรือแบบ (Form)  =  พวกจิตนิยม  (Idealism)
  2. ความจริงหนึ่งเดียว  คือ  กาย (Body)  หรือสสาร (Material)  =  พวกสสารนิยม  (Materialism)
  • พวกทวินิยม (Dualism)  เชื่อความจริงประกอบไปด้วยสองสิ่ง  คือทั้งจิตและกาย  หรือทั้งแบบและสสาร  เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน  หรืออยู่ด้วยกันมีลักษณะเกี่ยวข้องมีปฏิสัมพันธ์กัน  ประดุจสสารและพลังงาน

 กลุ่มพหุนิยม (Pluralism)  เชื่อว่าความจริงสรรพสิ่งมีมากกว่าสองกลุ่ม  ความจริงคือ  ธาตุทั้ง 4 ได้แก่  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ

กลุ่มแรก  นักปรัชญานำคำว่า  จิตและกาย  มาใช้อธิบายความจริงเกี่ยวกับมนุษย์  คือ 

พวกหนึ่งเชื่อว่า......ความจริงของมนุษย์คือจิต  จิตจะอยู่นิรันดร์  กายมาใช่ความจริงกายเน่าสลายไปได้

อีกพวกหนึ่งเชื่อว่า......ความจริงของมนุษย์คือกาย  ร่างกายที่มองเห็นสัมผัสจับต้องได้  จิตไม่ใช่ความจริงเพราะจับต้องไม่ได้   (เอกนิยม (Monism)  แบบจิตนิยม  (Idealism) )

เมื่อกล่าวถึงความจริงของสรรพสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์   ความจริงของสรรพสิ่งนั้นคือ “แบบ”  ที่ว่านี้ก็มีลักษณะเดียวกับจิต  คือ  ไม่สูญหาย  มีอยู่นิจนิรันดร์

เช่น  เราเห็นสุนัขว่าเป็นสุนัข  พวกนี้บอกว่าสุนัขที่เราเห็นว่าไม่ใช่ความจริง  แต่ความจริงก็คือ  “แบบความเป็นสุนัข”  แม้ว่าสุนัขที่เราเห็นจะตายไปแต่  “แบบความเป็นสุนัข”  จะคงอยู่  และเมื่อสรรพสิ่งมาสวมเข้ากับแบบความเป็นสุนัข  เราก็จะมองเห็นสุนัขได้ 

อีกพวกหนึ่งจะบอกว่าความจริงของสรรพสิ่งคือสสาร  หรือคุณสมบัติความเป็นสสารอยู่นั้นเอง  สุนัขที่ตายแล้วแม้ว่าตายไปแล้วจะเน่าเปื่อยก็ยังมีคุณสมบัติของสสาร  (เอกนิยม (Monism) สสารนิยม  (Materialism))

แต่กลุ่มที่สองบอกว่า  ความจริงของมนุษย์  คือ  ทั้งกายและจิต  ทั้งสองส่วนต่างพึงพาและอาศัยกัน  กายเป็นที่อยู่ของจิต  ถ้าไม่มีจิต  กายก็ไม่เคลื่อนไหว  นั่นคือ  จิตบังคับกาย  กลับกันหากกายเสื่อมสลายจิตก็ดับสูญไปด้วย 

ความจริงของสรรพสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์  ก็จะบอกว่าความจริงของสรรพสิ่งประกอบด้วยสองส่วน  คือ  สสารและแบบ (หรือพลังงาน)  ทั้งสองส่วนมีความสัมพันธ์พึงพาอาศัยกัน  เช่นเดียวกับ  กายและจิตนั้นเอง กล่าวคือ  ความเป็นจริงของสรรพสิ่งเป็นทั้งพลังงานและสสาร  เช่น  ก้อนหินเป็นสสารแต่ในก้อนหินก็มีพลังงานอยู่ด้วย  หรือน้ำมีสถานภาพเป็นสสารแต่ก็มีพลังงานอยู่ด้วยเช่นกัน  การอธิบายแบบนี้เรียก  พวกทวินิยม (Dualism) 

กลุ่มที่สาม  บอกว่าความจริงของมนุษย์มีมากกว่าจิตและกาย  เช่น  ความจริงของมนุษย์ประกอบด้วยธาตุทั้ง 4  หรือประกอบด้วยขันธ์ห้า  ในทำนองเดียวกันก็บอกว่า  ความจริงของสรรพสิ่งมิใช่เป็นเพียงสสารและพลังงานเท่านั้น  เช่น  ก้อนหินมิใช่เป็นเพียงสสารและพลังงาน  หากแต่ยังมีแง่มุมอื่นๆ  ที่มีคุณลักษณะเฉพาะตัวของหิน  ซึ่งสิ่งอื่นไม่มี  อาทิ  ความแข็งแรง  ความอดทน  ความงาม  พวกนี้เรียกว่า  พวกพหุนิยม (Pluralism) 

สรุป

คำถามที่ว่าอะไรคือความจริง  ตอบได้หลายแง่มุมขึ้นอยู่กับความเชื่อ  หรือสำนักคิด (School  of  thought)  ของนักปรัชญา  ด้วยเหตุนี้คำตอบว่าอะไรคือความจริงก็คือ  “ความจริงคือสิ่งที่เชื่อว่าจริง”

 

หมายเลขบันทึก: 399192เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2010 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท