มหัศจรรย์ลิขิต...ชีวิตยายป้อง(แก้วลอดฟ้า)


Humanize Health Care

                       มหัศจรรย์ลิขิต…..ชีวิตยายป้อง (แก้วลอดฟ้า)

                                                                                                                                                                                       ศิริพร           โทลา

                                                                           พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

                                                                             โรงพยาบาลแม่พริก

              เช้าวันหนึ่ง… ขณะร่วมรับเวรกับน้องๆ ฉันยังจำได้ดีขณะส่งเวรถึงเตียง 5 น้องเวรดึกส่งเวรว่า“ยายป้องเจ้าเก่าขาประจำคนเดิมมาอีกแล้ว เพิ่งกลับไปได้ 3 วันเองหอบมาตอน 4 ทุ่มครึ่ง”  ฉันสะกิดใจนึกถึงคำว่า Re-admissionขึ้นมาทันทีมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่าอะไรล่ะเป็นสาเหตุที่ทำให้ยายป้องกลับมา Re-admission เป็นประจำ พี่หัวหน้าตึกก็คงคิดเหมือนเช่นเดียวกับฉัน หลังจากรับเวรเสร็จแล้ว พี่หัวหน้าตึกบอกกับน้องๆว่า “เอาอย่างงี้มั๊ย วันนี้ช่วงบ่ายเราหาเวลาว่างมาทบทวนCase ยายป้องกัน” น้องๆตอบตกลง…

              จากวันนั้นเราได้ข้อมูลอีกมากมาย จากหญิงชรา วัย 83 ปี ผมสีดอกเลา ตัวเล็กรูปร่างผอมเกร็ง ที่ครึ่งนั่งครึ่งนอนอยู่บนเตียง ยายป้องมีโรคประจำตัวหลายโรค เริ่มป่วยด้วยโรคเบาหวานตั้งแต่ปี 2549 หลังจากนั้นอีกประมาณ 2-3 เดือนพบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงตามมา แต่ทั้งสองโรคนี้สามารถควบคุมได้ดีมาตลอด ชีวิตวัยสาวเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 15 ปี เป็นบุหรี่ขี้โยวันละประมาณ 10 มวน เลิกสูบเมื่อ 20 ปีก่อน แต่หมอก็ตรวจพบว่ายายป้องป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในปีเดียวกันนั่นเอง ยายป้องมีบุตรทั้งหมด 6 คน ทุกคนแต่งงานและแยกไปอยู่กับครอบครัวของตัวเองกันหมดอีกหมู่บ้านหนึ่งแต่ก็ไม่ไกลจากบ้านเดิมนัก และยังไปมาหาสู่กันอยู่เป็นประจำ ที่ผ่านมายายป้องอาศัยอยู่กับตาอ้นผู้เป็นสามีซึ่งเป็นทั้งคู่ชีวิต เพื่อนคุย ที่ปรึกษาและเป็นผู้ดูแลยายป้องแต่ต่อมาตาอ้นเสียชีวิตไปก่อนด้วยโรคชราเป็นเหตุให้ยายป้องเศร้าใจมาก บุตรชายคนเล็กและลูกสะใภ้จึงรับหน้าที่ดูแลยายป้องต่อ นอกจากนี้ยังมีหลานชายอีก 2 คนมาคอยช่วยดูแลด้วยบางครั้ง

              ยายป้องเป็นคนไข้ที่คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ในตึกเป็นอย่างดี ซึ่งขณะที่อยู่ในความดูแลของเรายายป้องเป็นคนไข้ที่น่ารัก ไม่เคยหงุดหงิดแม้เวลาหอบ เรื่องการปฏิบัติตัวไม่ว่าจะเป็นการพ่นยา การรับประทานยา อาหารการกิน การไอ การหายใจที่เราแนะนำก็สามารถทำได้ถูกต้องหมด จึงมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่าทำไมยายป้องจึงกลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำ วันที่ยายป้องกลับบ้าน จึงได้มีการวางแผนกับทีมสหวิชาชีพประกอบด้วยแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเยี่ยมบ้าน นักกายภาพบำบัด และเภสัชกรจะไปเยี่ยมบ้านยายป้องกัน

              บ่ายวันที่อากาศร้อนอบอ้าว…ฝนทำท่าว่าจะตก พวกเราทีมสหวิชาชีพ ไปเยี่ยมบ้านยายป้องโดยรถปิคอัพคันโก้มุ่งสู่หมู่บ้านวังสำราญ ถนนลูกรังแคบๆ ยังไม่ได้ลาดยาง จึงค่อนข้างขรุขระ สองข้างทางของถนนด้านหนึ่งเป็นลำห้วย อีกด้านหนึ่งเป็นทุ่งนาสลับกับไร่ข้าวโพด…มีกลิ่นอายของชนบท ฉันนึกถึงคำพูดของลูกสะใภ้ยายป้องที่บอกกับฉันว่า ที่บ้านไม่มีรถยนต์ เวลายายป้องหอบตอนกลางคืนจะไปตามหารถคนอื่นขอให้มาส่งก็ยาก และต้องเสียค่าใช้จ่ายเที่ยวละ 200 บาท ช่วงหลังยายป้องมีอาการกำเริบบ่อยๆ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี จึงพายายซ้อนมอเตอร์ไซด์ ซ้อน 3 คน โดยมีลูกชายยายป้องเป็นคนขับ ยายป้องนั่งตรงกลาง ส่วนลูกสะใภ้นั่งประกบท้ายอยู่ด้านหลัง ขับฝ่าความมืดมาส่งที่โรงพยาบาล  ฉันนั่งนึกภาพตาม…กว่าพวกเขาจะมาถึง คงทุลักทุเลน่าดู

              แล้วรถก็จอดหน้าบ้านหลังนั้น…บ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง ขณะเดินเข้าไปในบริเวณบ้านครั้งแรกฉันแปลกใจเมื่อมองเห็นว่ามีสีเหลืองๆส้มๆวางเรียงรายอยู่เต็มลานบ้านไปหมด เมื่อเข้าไปใกล้ๆจึงได้รู้ว่าเป็นฝักข้าวโพดที่เขาตากเอาไว้ ฉันสังเกตเห็นว่ามีสิ่งของและเสื้อผ้าพาดบ้าง แขวนเอาไว้บ้างอยู่ตรงใต้ถุนบ้าน เดินขึ้นไปข้างบนพบยายป้องและบรรดาลูกหลานนั่งยิ้มดีใจรออยู่บนบ้านพร้อมกับอสม.ประจำหมู่บ้าน พวกเรานั่งล้อมวงคุยกันถึงปัญหาของยายป้อง และขออนุญาตยายป้องสำรวจสภาพบ้าน…. ในตัวบ้านมีห้องนอนอยู่ 2 ห้อง เดินเข้าไปในครัวพบหม้อข้าว หม้อแกงเป็นคราบจับหนา... เตาที่ก่อฟืนลูกสะใภ้บอกกับฉันว่าเป็นคนทำกับข้าว มันก็เป็นควันนะแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร

             หลังจากนั้นเรามาคุยกันอีครั้ง ลูกๆยายป้องลงความเห็นกันว่า “ อาจจะเป็นเพราะฝุ่นระคายเคืองจากข้าวโพดที่ตากเอาไว้” “ท่าจะเป็นเพราะควันไฟ”แล้วเราก็สรุปปัญหาของยายป้อง ลูกๆจะช่วยกันทำความสะอาดบ้าน รื้อของเก่าที่เป็นที่เกิดของฝุ่นไปขาย ลูกชายคนเล็กของยายป้องรับปากว่าจะย้ายข้าวโพดไปตากไว้ที่อื่น ส่วนลูกสะใภ้รับปากว่า..จะไม่ก่อฟืนทำกับข้าวในบ้านและจะซื้อหม้อหุงข้าวไฟฟ้าใบเล็กๆไว้

             เราสอนยายป้อง ลูกๆและลูกสะใภ้ถึงวิธีการเจาะเลือดปลายนิ้ว การวัดความดันโลหิต และจดบันทึกผลที่ตรวจไว้ สอนวิธีการพ่นยา และฝากให้ช่วยดูยายป้องเวลาจัดยารับประทาน โดยมีอสม.ประจำหมู่บ้านเสนอตัวเป็นจิตอาสาแวะมาคอยดูด้วยอีกแรงหนึ่ง ก่อนกลับเราให้เบอร์โทรฉุกเฉินของโรงพยาบาลเพื่อให้รถออกไปรับที่บ้านเวลาที่ยายป้องมีอาการหอบมากหรือมีอาการผิดปกติอย่างอื่นด้วย

             ขณะนั่งรถกลับ…ทุกคนมีสีหน้าครุ่นคิดถึงแต่เรื่องของยายป้อง การได้มีโอกาสมาเยี่ยมบ้านยายป้องในครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ความทุกข์ของผู้ป่วยที่เราเห็นในตึกผู้ป่วยในซึ่งเราคิดว่ามากมายนั้น เราอาจพบว่าทุกข์ของผู้ป่วยที่บ้านอาจมากกว่านั้นอีก ทีมเราตกลงกันว่าวันพฤหัสหน้าจะกลับไปเยี่ยมบ้านยายป้องกันอีกครั้งหนึ่ง    

             หลังจากนั้นเพียงแค่ 4 วัน ลูกสะใภ้ยายป้องโทรมาขอให้รถ EMS ออกไปรับที่บ้าน เนื่องจากยายป้องมีอาการทรุดลงเหนื่อยหอบมากจนไม่มีแรงแม้แต่จะกดยา ลูกสะใภ้พ่นยาให้แต่อาการไม่ดีขึ้นเลย มาครั้งนี้ยายป้องได้ใส่ท่อช่วยหายใจ แพทย์ตรวจCXR พบว่ามีก้อนที่ปอดข้างซ้าย แพทย์ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลลำปาง

             1 เดือนต่อมายายป้องถูกส่งตัวกลับมารักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดประสานผ่าน Call Center ให้รถ Refer รับกลับสภาพที่พวกเราเห็นยายป้องในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ สีหน้าอิดโรย ไม่ค่อยสดชื่น ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลงกว่าแต่ก่อนมากใช้เวลานอนบนเตียงเป็นส่วนใหญ่ ส่วนลูกๆและลูกสะใภ้ของคุณยายคอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาดูแลยายป้องที่โรงพยาบาลแต่ท่าทาง แววตาของทุกคนดูมีความวิตกกังวลและเศร้าหมองแฝงอยู่ข้างใน

             เราจึงมาคุยกันอีกครั้งลูกชายยายป้องบอกว่า หมอที่โรงพยาบาลลำปางบอกว่ายายป้องเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย  และได้บอกการพยากรณ์โรคว่าโรคนี้รักษาไม่หาย การรักษาก็คือให้การรักษาตามอาการแบบประคับประคองเท่านั้น การรับรู้ข่าวสารครั้งนั้นรวมถึงยังมีอาการเหนื่อยหอบอยู่ ทำให้ยายป้องมีอาการซึมเศร้ามากขึ้น ทีมจึงประสานจิตเวชมาประเมินอาการยายป้องเพื่อให้การดูแลรักษาร่วมกัน

            เราใช้เวลาช่วงบ่ายของทุกวันคอยสอบถามพูดคุยกับยายป้องและครอบครัว ขณะพูดคุยก็มักจะบอกว่าเข้าใจดีว่าโรคของยายป้องเป็นโรคที่รักษาไม่หาย การรักษาต่อไปนี้ก็จะเป็นการรักษาประคับประคองไปจนกว่าร่างกายของยายป้องจะทนไม่ไหวและเมื่อถึงเวลานั้นไม่อนุญาตให้หมอปั๊มหัวใจหรือใส่เครื่องช่วยหายใจ เพราะไม่อยากให้ยายป้องทุกข์ทรมาน และยืนยันจะให้ยายป้องนอนโรงพยาบาลจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

            ทีมเราปรึกษาและวางแผนให้การดูแลในการบรรเทาอาการทางกายของยายป้อง และไม่ละเลยที่จะดูแลทางด้านจิตใจของยายป้องและครอบครัวด้วย คำว่า Humanized Health Care เริ่มคืบคลานเข้ามาในใจ ต่างแวะเวียนเข้าไปให้การดูแลพร้อมกับพูดคุยให้กำลังใจเป็นระยะ เปิดโอกาสให้ครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้มากที่สุด อนุญาตให้ทำพิธีกรรมทางศาสนาได้ตามความเชื่อ พูดคุยถึงการดำเนินโรคและอนาคตอันใกล้ ค่อยๆแทรกซึมความจริงต่างๆเกี่ยวกับยายป้องให้ยอมรับทีละน้อยๆ เพราะเข้าใจและอดนึกถึงว่าถ้าเป็นเราก็คงยากที่จะทำใจได้ คงไม่แตกต่างจากพวกเขามากนัก ช่วงหลังๆดูเหมือนว่าตัวยายป้องเองและครอบครัวจะยอมรับได้ในระดับหนึ่งแล้ว

            ทีมเคยเสนอทางเลือกให้ว่าอยากจะพายายป้องกลับไปอยู่ที่บ้านหรือไม่ ยายป้องบอกว่าอยากอยู่ที่นี่ เพราะหมอที่นี่ใจดีเราร่วมพูดคุยกันอีกครั้ง เมื่ออาการของยายป้องแย่มากแล้วอยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต เพื่อทบทวนความเข้าใจและวางแผนให้การดูแลช่วงท้ายของชีวิตยายป้องที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุด

           อาการของยายป้องเริ่มดีขึ้น ไม่ค่อยหอบมาก ระดับน้ำตาลและความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ดี สภาพจิตใจเริ่มดีขึ้นวันหนึ่งขณะที่เรานั่งพูดคุยกับยายป้องและครอบครัวเหมือนเช่นเคย จู่ๆยายป้องก็พูดขึ้นมาว่า “เกิดแก่เจ็บตายเป็นของธรรมดา เป็นสัจธรรมของชีวิต ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตายเหมือนกันหมด” “ยายขอกลับไปอยู่ที่บ้านได้ไหม ยายขอตายอยู่ที่บ้านนะหมอ”

           เมื่อทุกอย่างพร้อม ยายป้องแข็งแรงมากขึ้นจึงถูกวางแผนให้กลับไปอยู่กับครอบครัวที่บ้าน โดยครั้งนี้ยายป้องใช้เวลานอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งหมดรวม 19 วัน

           พวกเราได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมบ้านยายป้องอีกครั้ง บ้านไม้ชั้นเดียวหลังเดิม  ดูเปลี่ยนไป ลานบ้านโล่ง พื้นบ้านดูสะอาดตา ไม่มีฝุ่น…ข้าวโพดที่ตากไว้และของเก่าหายไปแล้ว บนบ้านเห็นยายป้องยิ้มพูดคุยกับคุณยายเพื่อนบ้านวัยใกล้เคียงกัน มีลูกๆ หลานๆห้อมล้อมดูแลอยู่ไม่ห่าง และที่พิเศษวันนี้มีตัวแทนจากอบต.นำกระเช้าดอกไม้และของฝากมาเยี่ยมคุณยายป้องด้วยยายป้องกล่าวทักทายเราพร้อมกับบอกเราด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า “หลานชายคนโตกำลังจะบวช” ภาพในวันนี้ที่ฉันเห็นทำให้ฉันรู้สึกดีใจและทำให้ฉันได้รับรู้ว่าพลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ความรัก ความปารถนาดีต่อกัน การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และไม่ทอดทิ้งกัน ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เหมือนกับยายป้องหลังจากที่ยายป้องได้รับความช่วยเหลือจากหลายฝ่ายในชุมชน ทำให้คุณภาพชีวิตของยายป้องดีขึ้นมาก ใครจะเชื่อว่า…หลังจากที่ยายป้องบอกกับเราในครั้งนั้นว่า “จะขอกลับไปตายที่บ้าน”  จนถึงวันนี้ยายป้องยังมีชีวิตอยู่และไม่เคยกลับมา Admit ที่โรงพยาบาลเลยเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว

            ยายป้องเปรียบเสมือนครูของเราทุกคนที่เราได้ดูแล เราได้เรียนรู้จากบทเรียนแล้วนำมาสู่การปฏิบัติงานจริง เราได้ประจักษ์แล้วว่า เราไม่ควรด่วนตัดสินใจว่าผู้ป่วยควรจะอยู่หรือไม่ แต่เราได้ทำในสิ่งที่ควรทำหรือไม่ ทำอย่างเต็มความรู้ ความสามารถให้เขาได้รับการดูแลอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่พึงได้รับหรือยัง

            การดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถบังคับกันได้  ต้องเกิดจากความเต็มใจ ความมุ่งมั่น และการอุทิศตนของคนในองค์กร หลายคนอาจจะบอกว่าภาระงานมากมาย ไม่มีเวลา หรือ เป็นไปไม่ได้หรอก  อยากจะบอกว่า…เราอาจไม่สามารถจะทำได้ทุกรายหากเพียงแต่เราเริ่มต้นที่จะให้ ในจุดที่เป็นไปได้ทีละน้อย เริ่มจากผู้ป่วยที่ต้องการเราสูงก่อน ความสำเร็จก็จะรอเราอยู่ข้างหน้า และวันใดที่เราก้าวผ่านความสำเร็จมาได้ เราก็จะรับรู้ถึงความศรัทธาในการให้ที่มีอยู่ในงานซึ่งก่อให้เกิดความงามในจิตใจทั้งของผู้ให้และผู้รับบริการ เป็นความภาคภูมิใจในงานส่งผลให้มีแรงกาย และกำลังใจที่จะทำงานด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความรัก…ตลอดไป

            สิ่งที่จะยังคงอยู่ให้ทุกคนกลับมาทบทวนคือความรู้สึกดีๆ ที่อยากจะช่วยให้ผู้ป่วยหายจากความทุกข์ แม้ว่าโรคทางกายอาจรักษาไม่หายขาด แต่จิตใจที่เปี่ยมไปด้วยพลังที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขของผู้ป่วย จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างดีที่สุดและสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

 

 

                                                                                                                             

คำสำคัญ (Tags): #humanize health care
หมายเลขบันทึก: 398891เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2010 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท