ฉุงฉิง
ณัฐสุดา ฉุงฉิง พึ่งวิรวัฒน์

ขั้นตอนการจัดเตรียมคำขอรับสิทธิบัตร


สิทธิบัตร

ขั้นตอนการจัดเตรียมคำขอรับสิทธิบัตร

             ก่อนที่ท่านจะกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มแสดงความจำนงขอให้จดทะเบียนสิทธิบัตร (Invention Disclosure Form) ขอให้ท่านดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 สืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรจากเว็บไซต์ ดังต่อไปนี้

1.      www.ipthailand.org    ประเทศไทย

2.      www.uspto.gov    สหรัฐอเมริกา

3.      www.jpo.go.jp    ญี่ปุ่น

4.      http://ep.espacenet.com  ยุโรป

เพื่อเป็นการตรวจค้นข้อมูลของงานที่ปรากฏอยู่แล้วที่เหมือนหรือคล้ายกับงานของท่าน สำหรับใช้ประกอบในการจดทะเบียนสิทธิบัตร

 ขั้นตอนที่ 2 จัดเตรียมคำขอรับสิทธิบัตร ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ ดังนี้

            (1)        ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์ จะต้องระบุว่าการประดิษฐ์นั้นคืออะไร โดยระบุถึงลักษณะสำคัญของการประดิษฐ์นั้นด้วย เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เก้าอี้ไฟฟ้า เป็นต้น จะต้องไม่ใช้ชื่อที่ตั้งขึ้นเองหรือเครื่องหมายการค้า เช่น รถยนต์ไฟฟ้าสมภพ และจะต้องไม่ใช้ชื่อที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าวิเศษ

            (2)        ลักษณะและความมุ่งหมายของการประดิษฐ์ จะต้องระบุถึงลักษณะที่สำคัญของการประดิษฐ์โดยย่อ รวมทั้งวัตถุประสงค์ของการประดิษฐ์ดังกล่าว

            (3)        สาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ จะต้องระบุว่าการประดิษฐ์ที่ขอรับ      สิทธิบัตรจัดอยู่ในสาขาวิชาการหรือเทคโนโลยีด้านใด เช่น วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า เคมี ฟิสิกส์ เป็นต้น

            (4)        ภูมิหลังของศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้อง จะต้องระบุลักษณะของการประดิษฐ์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว พร้อมทั้งข้อบกพร่องต่างๆ หรือปัญหาของการประดิษฐ์ดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรนั้นแตกต่างกับการประดิษฐ์ที่มีอยู่ก่อนแล้วอย่างไรและเพียงใด

            (5)        คำอธิบายรูปเขียนโดยย่อ (ในกรณีที่การประดิษฐ์ที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรมีรูปเขียน)  ให้อธิบายว่ารูปเขียนแต่ละรูปนั้นแสดงให้เห็นถึงส่วนใดของการประดิษฐ์ ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นการอธิบายว่ารูปเขียนนั้นมีส่วนประกอบหรือมีรายละเอียดและการใช้งานอย่างไร เช่น รูปที่ 1 แสดงถึงส่วนประกอบทั้งหมดของเครื่องจักร รูปที่ 2 แสดงถึงส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของเครื่องจักร เป็นต้น

(6)          การเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ จะต้องระบุรายละเอียดของการประดิษฐ์    ที่ขอรับสิทธิบัตรว่ามีลักษณะโครงสร้าง ส่วนประกอบ องค์ประกอบ หรือขั้นตอนอย่างไรบ้าง           การบรรยายในหัวข้อนี้จะต้องละเอียดสมบูรณ์ และชัดเจนพอที่จะทำให้ผู้มีความชำนาญในระดับสามัญในสาขา วิทยาการนั้นๆ สามารถอ่านแล้วเข้าใจการประดิษฐ์นั้นได้ และสามารถนำไปใช้และปฏิบัติตามการประดิษฐ์นั้นได้ด้วย

(7)          วิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด ในกรณีที่มีการระบุในหัวข้อการเปิดเผย             การประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ ถึงวิธีการประดิษฐ์หลายวิธี ผู้ขอจะต้องระบุถึงวิธีการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด แต่ถ้ามีการเปิดเผยวิธีการประดิษฐ์เพียงวิธีเดียวในหัวข้อการเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ ผู้ขอก็สามารถระบุว่า "วิธีการในการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด ได้แก่ วิธีการดังที่ได้บรรยายไว้ในหัวข้อการเปิดเผย การประดิษฐ์โดยสมบูรณ์"

(8)          การใช้ประโยชน์ของการประดิษฐ์ในการผลิตทางอุตสาหกรรม หัตถกรรม เกษตรกรรมหรือพาณิชยกรรม ในกรณีที่ลักษณะของการประดิษฐ์เองไม่สามารถแสดงได้ว่าจะนำไปใช้ในการผลิตในด้านต่างๆ ได้หรือไม่อย่างไร เช่น การประดิษฐ์สารประกอบทางเคมีขึ้นใหม่ ผู้ขอจะต้องอธิบายให้เห็นว่า สามารถนำเอาการประดิษฐ์นั้นไปใช้ในทางใดบ้าง และมีประโยชน์อย่างไร แต่ถ้าโดยลักษณะของการประดิษฐ์นั้นเองแสดงให้เห็นได้อยู่แล้วว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการผลิตได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีหัวข้อนี้

 ¨     ข้อถือสิทธิ (Claims)

            เป็นส่วนที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรระบุถึงขอบเขตของการประดิษฐ์ที่ประสงค์จะให้กฎหมายคุ้มครอง โดยผู้ขอรับสิทธิบัตรจะต้องระบุลักษณะของการประดิษฐ์ที่ผู้ขอประสงค์จะรับความคุ้มครองโดยชัดแจ้ง รัดกุม และสอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์ กล่าวคือ ไม่เกินขอบเขตที่ได้เปิดเผยไว้ใน           รายละเอียดการประดิษฐ์ หมายความว่า สิ่งใดที่ไม่ได้ปรากฏในรายละเอียดการประดิษฐ์ จะนำมาระบุในข้อถือสิทธิมิได้

            ข้อถือสิทธิจะต้องกำหนดเป็นข้อๆ และเรียงลำดับในลักษณะรับกับลักษณะของการประดิษฐ์ ที่ต้องการคุ้มครองด้วย โดยข้อถือสิทธิจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.            ข้อถือสิทธิหลัก คือ ข้อถือสิทธิที่อ้างถึงลักษณะสาระสำคัญของการประดิษฐ์ โดยมิได้อ้างถึงสาระสำคัญในข้อถือสิทธิอื่น ซึ่งอาจมีหลายข้อได้

2.            ข้อถือสิทธิรอง คือ ข้อถือสิทธิที่อ้างถึงลักษณะสาระสำคัญของการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิหลักหรือข้อถือสิทธิอื่น โดยระบุข้อถือสิทธิรองถัดจากข้อถือสิทธิหลัก ซึ่งต้องอ้างถึงลักษณะของการประดิษฐ์เพิ่มเติมด้วย และการอ้างถึงข้อถือสิทธิหลักหรือข้อถือสิทธิอื่นๆ นี้ ต้องอ้างในลักษณะที่เป็นทางเลือกเท่านั้น

            นอกจากนั้น ในข้อถือสิทธิ จะต้องไม่อ้างถึงรายละเอียดการประดิษฐ์ หรือรูปเขียนในส่วนของลักษณะทางเทคนิคของการประดิษฐ์ เว้นแต่จะทำให้เข้าใจการประดิษฐ์ได้ชัดแจ้งขึ้น หรือเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ

 ¨     บทสรุปการประดิษฐ์ (Abstract)

            บทสรุปการประดิษฐ์ ต้องสรุปสาระสำคัญของการประดิษฐ์ที่ได้เปิดเผยหรือแสดงไว้ใน       รายละเอียดการประดิษฐ์ ข้อถือสิทธิและรูปเขียน (ถ้ามี) โดยจะต้องระบุลักษณะทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์โดยย่อ แต่ต้องเป็นไปในลักษณะที่จะทำให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงปัญหาทางเทคนิค ตลอดจนการแก้ไขปัญหาโดยการประดิษฐ์ และการใช้การประดิษฐ์นั้น โดยจะต้องรัดกุม และชัดแจ้ง

 ¨     รูปเขียน (Drawing)

            รูปเขียนจะต้องแสดงให้ชัดเจน สอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์และเป็นไปตาม      หลักวิชาการเขียนแบบ โดยใช้เครื่องมือในการวาดเขียน เช่น การลากเส้นตรงต้องใช้ไม้บรรทัด การวาดรูปวงกลมต้องใช้วงเวียนหรือเครื่องเขียนแบบอื่นๆ ไม่ต้องมีถ้อยคำบรรยายใดๆ (รูปถ่ายไม่สามารถใช้ประกอบการพิจารณาได้) เพื่อให้เข้าใจการประดิษฐ์นั้นได้ดียิ่งขึ้น และควรใช้หมายเลขชี้แสดงชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อประกอบการอธิบาย หมายเลขเหล่านี้ต้องไม่อยู่ภายในวงกลม วงเล็บ หรือเครื่องหมายใดๆ และหมายเลขเดียวกันให้ชี้แสดงชิ้นส่วนเดียวกัน ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับรายละเอียดการประดิษฐ์

            นอกจากนั้น รูปเขียนยังหมายความรวมถึงแผนภูมิและแผนผังด้วย

 

 

หมายเลขบันทึก: 398831เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2010 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท