ปรัชญาจีน


ปรัชญาจีน

ปรัชญาจีน

   ปรัชญาจีนเกิดขึ้นมานานหลายพันปีและมีมากมาย ทั้งนี้ก็เพราะประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในเอเชีย และมีประชากรมากที่สุดในโลกดังกล่าวแล้ว จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องมีนักคิดนักค้นคว้าในเรื่องต่างๆ อยู่มาก ประเทศจีนจึงได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญแห่งหนึ่งของโลก เพราะมีความเจริญก้าวหน้าและมีวิทยาการต่างๆ มากมาย เมื่อกล่าวถึงปรัชญาแล้ว ปรัชญาจีนถึงแม้จะมีมากอย่างที่เรียกว่า ปรัชญาร้อยสำนัก แต่เมื่อกล่าวถึงสำนักใหญ่ๆ ที่มีผลงานตกทอดมาถึงปัจจุบันก็มี ๔ สำนักคือ ๑. สำนักปรัชญาเต๋า  ๒. สำนักปรัชญาขงจื้อ  ๓. สำนักปรัชญาม่อจื้อ และ ๔. สำนักปรัชญานิตินิยม ซึ่งมีเนื้อหาสาระของแต่ละสำนักโดยสังเขปดังนี้

๑.      สำนักปรัชญาเต๋า สำนักนี้มีเหลาจื้อหรือเล่าจื้อเป็นหัวหน้า และนักปรัชญาอื่นๆ ที่สำคัญของสำนักนี้ก็มี จวงจื้อหรือจังจื้อ ปรัชญาในสำนักนี้มีเต๋าเป็นจุดหมายสูงสุด เต๋าเป็นนามธรรม แต่ก็เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง คอยหล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง และเป็นจุดหมายสูงสุดของสรรพสิ่ง เพราะฉะนั้นทุกสิ่งเกิดขึ้นได้เพราะเต๋า ตำรงอยู่ได้เราะเต๋าและกลับคืนสู่เต๋าอีก สำนักนี้เชื่อว่าคนเคยมีความสุขสบายในบุรพกาลมาแล้วแต่เพราะความที่ขาดปัญญาจึงเห็นผิดเป็นชอบ ตอบสนองกิเลสตัณหาโดยหันหลังให้กับธรรมชาติดั้งเดิม แล้วมุ่งสร้างวัฒนธรรมและอารยธรรมขึ้นมา ผลก็คือแต่ละคนมีความทุกข์ สังคมวุ่นวาย มีปัญหาน้อยใหญ่ให้แก้อย่างมิรู้จบสิ้น สำนักนี้มีความเห็นต่อไปว่า วิธีที่จะแก้ความยุ่งยากนั้นได้ก็โดยการหยุดสร้างวัฒนธรรมและอารยธรรมเสีย แล้วกลับเข้าหาธรรมชาติดั้งเดิมของตนอีก นักปรัชญาสำคัญอีกคนหนึ่งคือ หยางจื้อ ถึงแม้จะมีปรัชญาไม่เหมือนใครโดยเฉพาะ แต่ก็มีบางอย่างได้รับอิทธิพลจากปรัชญาเต๋า เช่นเรื่องชะตากรรม เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงอาจสงเคราะห์หยางจื้ออยู่ในสำนักปรัชญาเต๋าก็ได้โดยปริยาย

๒.    สำนักปรัชญาขงจื้อ มีขงจื้อเป็นหัวหน้า นักปรัชญาที่สำคัญของสำนักนี้นอกจากขงจื้อก็มี เม่งจื้อ และซุ่นจื้อ ปรัชญาสำนักนี้มุ่งสอนให้คนกลับสู่อดีตเช่นกัน จะต่างกันก็คือแทนที่จะเน้นธรรมชาติกลับเน้นจารีตประเพณี ดนตรีและคุณธรรมที่ดีงามในอดีต สำนักนี้เชื่อว่าคนในสมัยอดีตเคยสุขสบาย สังคมมีระเบียบ เราะทุกคนปฏิบัติตามจารีตประเพณีและคุณธรรมมาแล้ว เพราะฉะนั้นสันกขงจื้อจึงรณรงค์ให้ฟื้นฟูจารีตประเพณี ดนตรี และคุณธรรมที่เคยดีงามมาแล้วในอดีตมาให้ผู้คนปฏิบัติกันอีก วิธีนี้เท่านั้นที่จะทำให้คนมีความสุข สังเคมมีระเบียบวินัย

๓.     สำนักปรัชญาม่อจื้อ มีม่อจื้อเป็นหัวหน้า ปรัชญาสำนักนี้แตกต่างกับปรัชญาทั้งสำนักเต๋าและสำนักขงจื้อ เพราะทั้ง ๒ สำนักเน้นเรื่องอดีตดังที่กล่าวมาแล้ว ส่วนสำนักม่อจื้อเน้นปัจจุบันเท่านั้น ม่อจื้อเชื่อว่าอดีตเป็นความผันผ่านไปแล้วก็ไม่อาจหวนกลับมาอีก กาลเวลาผ่านไปทุกอย่างก็ผ่านไปเช่นกัน สิ่งที่เหมาะสมกับสมัยหนึ่ง เพราะฉะนั้น คนมีปัญญาควรสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาให้สอดคล้องตรงกับความจริงในปัจจุบัน อย่างเช่น ทุกคนต้องการความสุข เกลียดความทุกข์ด้วยกัน ต้องการมีเกียรติมีศักดิ์ศรีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคนเราจึงควรเห็นอกเห็นใจกัน แผ่ความรักความเมตตาให้กัน ช่วยเหลือกัน ไม่แบ่งแยกชนชั้นให้ต่างกัน

๔.     สำนักปรัชญานิตินิยม โดยมีฮั่นเฟยจื้อเป็นตัวแทน ปรัชญาสำนักนี้ชี้ให้เห็นว่าอำนาจและกฎหมายมีความจำเป็น และสำคัญที่สุดในการนำความสงบสุขมาสู่บุคคลและสังคม ทั้งนี้ก็เพราะฮั่นเฟยจื้อได้รับอิทธิพลจากปรัชญาของซุ่นจื้อซึ่งเป็นอาจารย์ของตนว่า ธรรมชาติแท้หรือจิตสันดานของคนมีแต่ความเลวร้าย จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจและกฎหมายมาเป็นเครื่องควบคุม ฮั่นเฟ่ยจื้อเชื่อว่า วิธีการใช้อำนาจและกฎหมายมาใช้เป็นการสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์ต้องการได้อิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าปรารถนา มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และไม่ต้องการอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ มีเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการใช้อำนาจและกฎหมายจึงทำให้คนอยากทำดี เพื่อจะได้รับรางวัลตอบแทนและไม่กล้าทำความชั่ว เพราะกลัวถูกลงโทษทัณฑ์ หากเป็นได้ดังกล่าวก็เท่ากับทำให้สังคมสงบสุขโดยอัตโนมัติ

สำนักปรัชญาจีนถึงแม้จะมีมาก แต่เมื่อกล่าวถึงสำนักที่สำคัญก็มีเพียง ๔ สำนักดังกล่าวแล้ว หรือเมื่อกล่าวถึงนักปรัชญาที่สำคัญก็มี ๘ คน จากสำนักทั้ง ๔ นั้นก็มี เหลาจื้อ ขงจื้อ ม่อจื้อ หยางจื้อ เม่งจื้อ จวงจื้อ ซุ่นจื้อ และฮั่นเฟ่ยจื้อ ปรัชญาทั้ง ๔ สำนักเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์โจว ซึ่งนักปรัชญาถือว่าเป็นสมัยทองแห่งปรัชญา ส่วนปรัชญาสำนักอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภายหลัง ต่างก็อ้างปรัชญาในสมัยราชวงศ์โจวเป็นหลักด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นปรัชญาทั้ง ๔ สำนักจึงเป็นสายธารใหญ่ที่แตกตัวออกไปเป็นลำธารสาขาต่างๆ

ปรัชญาทั้ง ๔ สำนักถึงแม้จะขัดแย้งกัน แต่ในที่สุดก็ช่วยกันหล่อหลอมเป็นลักษณะปรัชญาจีนขึ้นมา นั่นก็คือเน้นภาคปฏิบัติมากกว่าภาคทฤษฎี เน้นจริยศาสตร์มากกว่าสติปัญญา เน้นรูปธรรมมากกว่านามธรรม เน้นชาตินี้มากกว่าชาติหน้า เน้นการเป็นปรัชญามากกว่าเป็นศาสนา

ปรัชญาจีนทั้ง ๔ สำนัก ได้เจริญรุ่งเรืองตลอดมา จะตกต่ำบ้างก็บางคราว แต่ที่ต้องมาตกอับมากที่สุดก็ในรัชสมัยของพระเจ้าจิ๋นซีอ๊วง เพราะพระองค์มีพระราชโองการให้เผาคัมภีร์และทำลายล้างนักปราชญ์ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว แต่หลังจากนั้นแล้วปรัชญาบางสำนักก็เริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยมาในรูปใหม่เพราะผสมผสานกับปรัชญาต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ สำนักที่สำคัญก็มี สำนักเต๋าใหม่ และสำนักขงจื้อใหม่ โดยเฉพาะสำนักขงจื้อใหม่เจริญรุ่งเรื่องมากในสมัยราชวงศ์ฮั่นเพราะรัฐคอยอุปถัมภ์ แต่ครั้นมาถึงสมัยราชวงศ์แมนจูเป็นต้นมาปรัชญาจีนทุกสำนักต้องประสบเคราะห์กรรมหนักตลอดมา เพราะจีนได้รับอารยธรรมตะวันตก เลื่อมในปรัชญาตะวันตก จึงทำให้มีนักวิจารณ์และนักกังขานิยมกันมาก พวกนี้จึงมุ่งแต่สนใจแยกแยะภาษาและวิจารณ์คำสอน ปรัชญา จารีตประเพณีอื่นๆ ของจีนว่าไม่เหมาะสม ไม่เป็นวิทยาศาสตร์จึงทำให้จีนล้าหลัง ไม่เจริญก้าวหน้าดังชาติตะวันตก ดังนั้นปรัชญาต่างๆ ควรถูกทำลายเสีย โดยเฉพาะปรัชญาขงจื้ออยู่ในฐานะลำบากที่สุด เพราะถูกถือว่าเป็นรากเหง้าแห่งศักดินาจึงถูกรณรงค์ให้กำจัดออกไป

ประเทศจีนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญของโลกแห่งหนึ่ง และได้อนุรักษ์อารยธรรมนั้นไว้ได้ตลอดมา ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่เคยเป็นแหล่งอารยธรรมของโลกต้องสูญเสียตำแหน่งนี้หลายประเทศแล้ว แต่มาบัดนี้จีนกลับมาทำลายวัฒนธรรม และอารยธรรมที่ตนได้สะสมมานานแสนนานด้วยตัวเองเสียแล้วอย่างน่าเสียดาย

  หากมีข้อผิดพลาดประการใดเพื่อนช่วยบอกด้วยนะคะ สวัสดีคะ

 

หมายเลขบันทึก: 398513เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2010 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท