ประภัสสร
นางสาว ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง

เลือกที่จะอยู่แบบเรียบง่าย ก็ท้าทายดี


ยิ่งเมื่อต่อมาได้ทราบถึงคำพูดหนึ่งของมหาตมะ คานธี มหาบุรุษชาวกุจราติของอินเดีย ที่ว่า simple living, high thinking ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ดิฉันได้คิดว่า การเรียนรู้ความสุขจากการมีชีวิตเรียบง่ายนั้น น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกมาเรียนรู้อินเดียด้วยมิใช่หรือ

ห้องเช่าแห่งใหม่ที่ดิฉันใช้ชีวิตต่อมาอีกเกือบ 2 ปีในอินเดียจนเรียนจบปริญญาโท  คือ ห้องชั้นล่างของบ้าน Mr. Jogsie เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินที่คณะศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยบาโรดาซึ่งเป็นคณะที่ดิฉันเรียน    เป็นห้องเล็กๆ ขนาดประมาณ 3 x 4 เมตร และมีห้องครัวขนาดเดียวกันอีก 1 ห้อง มีห้องน้ำอยู่ตรงกลาง ที่ตอนกลางวันจะมีผู้เช่าอีกห้องหนึ่งมาใช้ด้วย    ถ้าจะพูดกันตามตรงต้องบอกว่าห้องเช่าที่นี่ไม่ได้ดีมากนักและอยู่ไกลจากมหาวิทยาลัยมากกว่าห้องเช่าเก่า  แต่ด้วยความที่ผู้เช่าสามารถออกใบเสร็จค่าเช่าให้ได้และช่วยดูแลเรื่องเงินทุนที่ส่งมาทางมหาวิทยาลัยให้   ประกอบกับที่ดิฉันต้องการยุติปัญหาการหาที่พักและเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆเสียที จึงตัดสินใจเลือกที่นี่  โดยในตอนแรกก็ปลอบใจตัวเองว่า  คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก    แต่พออยู่ไปนาน วันเข้า ก็ได้พบสัจธรรมที่ว่า  ถ้าเราไม่เอาใจไปขังไว้ในความคับแคบใด ๆ ความสุขก็มาหาเราได้ไม่ยาก   ยิ่งเมื่อต่อมาดิฉันได้รับทราบถึงคำพูดหนึ่งของมหาตมะ คานธี มหาบุรุษชาวกุจราติของอินเดียที่ว่า simple living, high thinking ด้วยแล้ว  ยิ่งทำให้คิดได้ว่า การเรียนรู้ความสุขจากการมีชีวิตเรียบง่ายนั้น น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกมาเรียนรู้อินเดียด้วยมิใช่หรือ  ด้วยความคิดนี้เอง  ที่ทำให้จากที่ตอนแรกดิฉันคิดว่าจะย้ายเข้าบ้านใหม่และลงหลักปักฐานชีวิตนักเรียนในอินเดีย  ด้วยการดิ้นรนไขว่คว้าหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็น ตู้เย็น ทีวี หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ที่คิดว่าจำเป็นตามแบบการใช้ชีวิตตอนอยู่เมืองไทย   แต่เมื่อเอาเข้าจริงก็พบว่าความไม่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของอินเดียประกอบกับกำแพงภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยในขณะนั้น  ทำให้เมื่อไปดูราคาสินค้ากับคุณภาพที่ไม่ไปด้วยกันแล้ว  ตัดสินใจว่าจะขออยู่โดยไม่มีข้าวของเหล่านี้

      เมื่อเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบเดิมๆเข้าจริง ๆ   ดิฉันก็ได้เรียนรู้ว่าการปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตเป็นเรื่องที่ท้าทายและสนุกอยู่ไม่น้อย   เพราะส่วนหนึ่งมันทำให้เรากลับไปทำอะไร ๆ แบบที่เราเคยเห็นหรือเคยรู้ว่าคนเราก็อยู่กันแบบนั้นมาก่อน    เริ่มต้นจากการซื้อหม้อดินมาใส่น้ำดื่ม   ซื้ออ่างดินเผามาแช่น้ำให้ชุ่มแล้วใส่ผักสดลงไปคลุมด้วยผ้าชุบน้ำเปียก ๆ ( แบบที่เคยเห็นยายทำตอนเด็ก ๆ สมัยที่ยังไม่มีตู้เย็น ) ก็ทำให้ผักสดอยู่ได้นานพอจนถึงเวลาไปจ่ายตลาดครั้งต่อไป    การหุงข้าวด้วยหม้อแสตนเลสแบบไม่เช็ดน้ำที่เพื่อนสาวมณีปุรีเคยสอนให้ตอนอยู่ด้วยกัน  คือ ใส่น้ำพอสมควร หุงจนเม็ดขาวพองตัวแล้วค่อย ๆ ลดไฟลงจนน้ำระเหยไปหมดก็จะได้ข้าวที่สวยเหมือนหุงด้วยหม้อไฟฟ้า   การปรุงอาหารด้วยเตาน้ำมันก๊าซซึ่งรูปร่างคล้ายตะเกียงน้ำมันแบบเก่าแต่ไม่มีโคมแก้วด้านบน มีแต่ส่วนรองรับภาชนะก็ไม่ได้ทำให้อาหารอร่อยน้อยลงกว่าเตาแก๊ส   และเมื่อไม่มีทีวี  ดิฉันก็ซื้อวิทยุคลื่นสั้นมาฟังรายการข่าวของ VOA ( Voice of America ) ที่มีทั้งภาคปกติและภาค Special English ที่ช่วยพัฒนาภาษาอังกฤษตามคำแนะนำของเพื่อนเวียดนาม   ทั้งยังได้ฟังข่าวคราวจากเมืองไทยที่ออกอากาศมาถึงอินเดียด้วย   แม้เสียงจะไม่ค่อยชัดนัก ก็พยายามเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจ  เพราะความกระหายใคร่รู้ว่าตอนนี้บ้านเราเป็นยังไงบ้าง   ยิ่งตอนมีข่าวพระยันตระกับคดีฆาตกรรมคุณแสงชัย สุนทรวัฒน์ที่ดิฉันนับถือเป็นครูสอนภาษาอังกฤษผ่านคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ด้วยแล้ว  ความกระหายในข่าวก็ยิ่งทวีคูณมากขึ้น จนต้องรอฟังทุกคืน    ที่สำคัญเสียงเพลงปิดท้ายรายการ  บ้านเราแสนสุขใจ ถึงจะอยู่ที่ไหน ก็ไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา ...นั้น เป็นอะไรที่ทำให้คนไกลบ้านอย่างเราต้องร้องตามออกมาดัง ๆทุกครั้ง    แม้มันจะทำให้คิดถึงบ้าน   จนบางครั้งเผลอร้องไห้ออกมาโดยไม่รู้ตัว แต่มันก็เป็นแรงพลังให้เราอยากทำอะไรให้สำเร็จ เพื่อจะได้กลับไปอยู่  บ้านเรา  ในเร็ววัน

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 398365เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2010 00:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท