ประภัสสร
นางสาว ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง

ต้อนรับผู้มาใหม่ ด้วยการสไตรค์


นี่เป็นครั้งแรกที่การสไตรค์มันเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเราเข้าจริง ๆ วันแรกของมหาวิทยาลัยจึงไม่เป็นไปตามที่หวัง

เมื่อรถไฟไปถึงบาโรดาตอนค่ำ  ก็มีเจ้าหน้าที่มารับที่สถานีรถไฟ และพาเราไปพักที่บ้านพักรับรองของมหาวิทยาลัย ( university guesthouse) ที่ต่างไปจากที่พักที่มหาวิทยาลัยบอมเบย์เมื่อคืนก่อน  ดูสะอาดและเป็นส่วนตัวมากกว่า  ความตื่นเต้นที่ได้มาถึงมหาวิทยาลัยซะทีทำให้นอนไม่ค่อยหลับ เพราะคิดฟุ้งซ่านไปต่าง ๆนานาว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไงต่อ   แต่พอรุ่งเช้ามาเยือนก็พบว่า  บรรยายกาศในมหาวิทยาลัยเงียบเหงากว่าที่คาดไว้ ได้ความจากผู้จัดการหอพักว่า เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเขาสไตรค์กัน  ด้วยเหตุผลอะไรจับความไม่ค่อยได้ เพราะตอนนี้ยังไม่คุ้นกับสำเนียงอังกฤษแบบแขก   แม้จะรู้ว่าสไตรค์มันคืออะไรมาบ้าง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่การสไตรค์มันเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเราเข้าจริง ๆ  วันแรกของมหาวิทยาลัยจึงไม่เป็นไปตามที่หวัง   จดหมายฝากฝังที่เจ้าหน้าที่ทุนจากบอมเบย์ให้ถือมาส่งให้อาจารย์ผู้ดูแลนักเรียนต่างชาติ ซึ่งสอนอยู่ที่ภาควิชาโบราณคดี  ถูกเก็บอยู่ในกระเป๋านานเป็นสัปดาห์เพราะไปหาทีไรก็ไม่พบตัว   เวลาส่วนใหญ่ในสัปดาห์แรกจึงหมดไปกับการเดินสำรวจมหาวิทยาลัย และพื้นที่โดยรอบ   

ด้วยการแต่งตัว ท่าทาง และหน้าตาที่แปลกไปจากนักศึกษาส่วนใหญ่ ทำให้เราเป็นจุดสังเกตของคนที่นั่นไม่น้อย   เวลาเดินผ่านกลุ่มหนุ่ม ๆ แขกตาคมหน้าเข้มก็จะมีเสียงดังเข้าหูมาว่า ชินี่ ชินี่ ( ซึ่งมารู้ทีหลังว่าเป็นคำเรียก คนจีน ) และผิวปากทักทายกันตลอดทาง  พอเราหันไปมอง บางคนก็หลบตา  บางคนก็จ้องตอบด้วยตาคมเข้มชนิดที่อาจทำให้หัวใจ(ง่ายๆ)ของใครบางคนละลายได้     ที่ค่อนข้างจะเอาการอยู่สักหน่อย ก็คือ ถึงขนาดขี่มอเตอร์ไซต์ตาม และขอให้นั่งซ้อนท้ายไปด้วยกัน เพราะอยากอวดเพื่อนว่ามีสาวหมวยซ้อนท้าย  พอเราบอกว่า ไม่ ก็ต่อรองว่า แค่ 10 นาทีเอง  เราก็ได้แต่ส่ายหน้าปฏิเสธไป   แต่ในใจน่ะหัวเราะดังมาก  เพราะตั้งแต่เป็นสาวมาก็พอมีคนมาสนใจอยู่บ้าง แต่ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่จะออกอาการประเจิดประเจ้อได้ถึงขนาดนี้    

การเดินสำรวจรอบมหาวิทยาลัย ทำให้ได้เจอเพื่อนใหม่ ที่หน้าตาคล้ายเรามากกว่าแขก   คนแรก คือ สาวมณีปุรี ชื่อ Romy มาจากทางตะวันออกค่อนไปทางเหนือของอินเดีย   ซึ่งหน้าตาคล้ายคนไทยมาก  เราจึงเข้าไปทักด้วยความดีใจ เพราะคิดว่าเป็นนักเรียนไทย  แต่สุดท้ายเราก็เป็นเพื่อนและเพื่อนร่วมบ้านกันในเวลาต่อมา      คนที่สอง เป็นหนุ่มเวียดนามที่ส่งเสียงทักทายเราก่อน  ตอนแวะเข้าไปหาอาจารย์ผู้ดูแลนักเรียนที่ภาควิชาโบราณคดี  ทำให้ได้คุยกัน  เขาชื่อ Diem เป็นนักโบราณคดีเวียดนามที่ได้ทุน ICCR  ( Indian Council for Cultural Relations ) เช่นเดียวกับเรามาศึกษาปริญญาโทด้านโบราณคดี ตอนนี้อยู่ปี 2 แล้ว  แม้การคุยกันครั้งนั้นจะในฐานะคนแปลกหน้า แต่ก็รู้สึกได้ว่า Diem เป็นคนซื่อ ๆ จริงใจ มีน้ำใจคล้ายคนไทย และให้คำแนะนำอะไรดี ๆเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นั่น   จากนั้นเราก็ได้เจอกันเป็นครั้งคราวตลอด 1 ปีที่เหลือของ Diem ก่อนจะแยกย้ายกันไป  แต่ความเป็นเพื่อนที่ดีของเรายังคงอยู่ต่อมาจนปัจจุบัน                  

      แม้การสไตรค์จะทำให้อะไร ๆไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย  แต่ก็มีอะไรๆมาชดเชยให้  โดยเฉพาะเพื่อนใหม่ ที่ช่วยให้ประสบการณ์ชีวิตใหม่ในอินเดียไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก

หมายเลขบันทึก: 398344เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2010 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท