ได้อะไร เมื่อไปภาคตะวันออก


ภาคตะวันออก

ได้อะไร เมื่อไปภาคตะวันออกของไทย

(แก้ไขปัญหาในเชิงอริยสัจจ์)

พระครูวิเทศพรหมคุณ

สสสส.ร.๒

 

                        ในการเดินทางไปภาคตะวันออกของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ ๑๕ – ๑๘  กันยายน ๒๕๕๓  ของนักศึกษา เสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่น ๒  คณะสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้าฯ ทำให้มองเห็นปัจจัยแห่งปัญหามากมาย ซึ่งดูปัจจัยภายนอกล้วนก่อให้เกิดปัญหาแบบธรรมดา แต่ถ้าดูปัจจัยภายในของชุมชนคนรากหญ้า ล้วนกระทบทั้งทางกายและจิตใจอยู่มากมาย ไม่ว่าจะในด้านนามธรรมหรือรูปธรรม

                        ความพยายามของกลุ่มชนคนที่ถูกรบเร้าด้วยปัญหา เหมือนกับการร้องหาที่โหยหวน กับใครก็ไม่รู้  เพราะผู้ที่รับปัญหาก็หาได้มีอำนาจในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง  จึงเป็นความพยายามตามคำชักชวนของคนผู้หวังดีคนหนึ่งว่า ไปร้องตรงนี้ดีกว่า ไปร้องเรียนตรงนั้นดีกว่า ไปหาคนนั้นเขาอาจจะช่วยได้  ด้วยความไม่รู้ของชาวบ้าน ใครว่าอย่างไรตรงไหนที่พอมีที่พึ่งได้ ก็จะไป แต่ในที่สุดแต่ละแห่งแต่ละที่กลับไม่มีความหวังให้กับเขาเหล่านั้น

                        มีคำถามบางคำถามเกิดขึ้นว่า การที่เขาเหล่านั้นบอกว่าเดือดร้อน เดือนร้อนจริงหรือเปล่า หรือว่ามีอะไรแอบแฝง ต้องการผลประโยชน์จากการโดนกระทบเพียงเล็กน้อย หรือทำเรื่องที่เล็กน้อยให้เป็นเรื่องใหญ่ หรือเพื่อให้ได้บางสิ่งที่มากหรือเปล่า

                        ผู้เดือดร้อนได้ออกมาเผยและยอมรับว่า เดือดร้อนกันจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเดือดร้อนในวิถีชีวิตประจำวัน เดือดร้อนจากสิ่งแวดล้อม เดือดร้อนที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต

                        จากความเดือดร้อนนี้เอง จึงเป็นที่มาของการร้องเรียน ร้องขอ แต่นานวันความต้องการของผู้เดือดร้อนก็ยังไม่สมประสงค์  คนที่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหา กลับทำให้เนิ่นช้า ด้วยการอ้างในเรื่องกฏหมาย ในเรื่องของประชาพิจารณ์ ในเรื่องของการตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณา

                        ยิ่งนานวันเพียงไร  ปัญหากลับเพิ่มทวีคูณมากเพียงนั้น  จึงทำให้มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ความมั่นคงของชาติ จนเป็นที่มาของคำว่า  ตายเป็นตาย อยู่เป็นอยู่ ขอสู้เพื่อชีวิตของตนและครอบครัว ไหน ๆ ก็ไม่มีอนาคตแล้ว

 

ปัญหาธรรมชาติ หรือธรรมชาติของปัญหา

                        ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวบ้าน ชาวเขา ชาวเกาะ ล้วนเป็นปัญหาจาก ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติของโลก ธรรมชาตินี้เป็นวิถีของผู้คนที่ต้องอาศัย ตั้งแต่ความเป็นคน ที่มีดิน น้ำ ลม ไฟ ผสมกลมกลืนโดยการสร้างมาจากธาตุ ๔ เพราะไม่ว่ากระดูก น้ำเลือดน้ำหนอง การหมุนเวียนของลมในร่างกาย ไม่ว่าจะลมเบื้องล่าง ลมเบื้องบน และการหมุนเวียนของไฟในร่างกาย ที่ทำให้เกิดการเผาไหม้ นี่เป็นเพียงปัจจัยภายในร่างกายของมนุษย์ แต่ถ้าเป็นปัจจัยภานอก ที่ประกอบอยู่รอบตัวของมนุษย์ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ  ที่มนุษย์ต้องอาศัยที่ดินไว้ทำมาหากิน  มีน้ำไว้หล่อเลี้ยงชีวิต ชำระล้างร่างกายและเอาไว้ในการเกษตร ส่วนลมเป็นที่พัดพาทำให้วิถีชีวิตมนุษย์มีอากาศถ่ายเท   ส่วนไฟเป็นที่เผาไหม้ตามระบบของร่างกายในรูปต่าง ๆ ทั้งที่ปฏิสัมพันธ์กับชีวิตและสิ่งแวดล้อม  ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นธรรมชาติที่ผูกพันธ์กับวิถีชีวิตของสัตว์โลก และทุกส่วนของสัตว์โลกต้องอาศัยธาตุ ๔ ที่มีอยู่ทั้งใต้ดิน บนดิน อากาศ มาใช้ในการดำเนินชีวิต การเป็นอยู่ที่ดี ธรรมชาติทั้ง ๔ นี้ จึงมีอิทธิพลมากมาย

                        ปัญหาที่เกิดล้วนเกิดจากการหวังผลประโยชน์บนพื้นฐานของดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งที่ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สัตว์โลกต้องมีสิทธิ์ในการใช้  หากไม่มีวิถีชีวิตที่เกลือกกลั้วไปด้วยโลภะ โทสะ และโมหะ แล้ว วิถีชีวิตแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ก็ยังใช้ได้กับทุกสัตว์ในโลก  แต่ด้วยผลของชีวิตที่โลภโมห์โทสัน ทำให้การกิน การอยู่ ถูกเบียดบังเอารัดเอาเปรียบจากคนที่มีอำนาจและคนที่ใช้อำนาจ 

                        เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการแย่งชิงในทรัพยากรที่มีอยู่ และยิ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การจัดสรรของบุคคลที่ต้องการกันอาณาเขตเป็นของตนและหมู่คณะกลับมีมากขึ้น การประสงค์เอาที่ดินเป็นที่ทำกิน แผ่ขยายอาณาเขตของตน ต้องลุกล้ำธรรมชาติ กลายเป็นการรบกวนหรือทำลายธรรมชาติอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นการสร้างปัญหาทางธรรมชาติ ธรรมชาติถูกรบกวน แม้แต่น้ำยังถูกปลอมปนจนเกิดเป็นน้ำเสีย  น้ำเสียถูกจัดจ่ายไปในน้ำดี ทุกส่วนทุกสัตว์ล้วนได้รับผลกระทบโดยตรง  ลม ไฟ ก็เช่นเดียวกัน  เมื่อเป็นเช่นที่กล่าว สภาวะของสัตว์โลก ณ ที่นั้น ๆ ล้วนได้ผลกระทบโดยตรงทั้งสิ้น

 

 

 

ธาตุ ๔ เป็นปัจจัย ๔ ที่มนุษย์ประสงค์

                        ธาตุ  ๔ เป็นอยู่โดยธรรมชาติ เคียงคู่กันมา เพื่อเป็นปัจจัยให้กับสัตว์โลก  ปัจจัย ที่ก่อให้เกิดการเติมเต็มของรูปแบบ ด้วยสิ่งที่สัมพันธ์กันระหว่างคนต่อคน สังคมต่อสังคม เพราะเป็นปัจจัยที่ถูกปรุงแต่งมาอย่างดี มีการแปรสภาพ  เพื่อเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้กับผู้คนในโลก ได้อยู่อย่างสดวกสบาย  แต่คนเหล่านั้นกลับใช้ปัจจัย ๔ ในธาตุ ๔ อย่างไม่เป็นไปเพื่อการเพียงพอต่อชีวิต กลับเกิดอาการอยากมีอยากดีอยากได้ ชนิดไม่นึกถึงใคร หรือมีใครอื่นในโลกใบนี้หรือไม่

                        ปัจจัย ๔ ที่มีส่วนสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างมากมาย คือ ที่อยู่ อาหาร  เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ต่างล้วนเป็นปัจจัยที่ถูกปรุงแต่ง ตามที่มนุษย์พยายามเพิ่มความสะดวก เพิ่มความสบาย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มีอยู่โดยธรรมชาติเช่นกัน  การเป็นอยู่อย่างเพียงพอ เพื่ออัตภาพ สามารถเป็นอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน ด้วยการแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ตามวิสัยความพอมีพอกิน ในแต่ละมื้อแต่ละวัน  ความเดือดร้อนจักไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่รู้จักเพียงพอ ต้องการสะสมที่ก่อให้เกิดโลภมากขึ้น  การสะสมนิสัยอย่างไร ในรูปของวัตถุก็อยากสะสมมากเพียงนั้น  บางครั้งก็มากเกินมี เกินความพอดี กลายเป็นสิ่งเหล่านั้นเน่าเสียหรือเกิดความเสียหายอย่างมากมาย  ฉะนั้นปัจจัย ๔ ที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก ปลอดภัย ให้ชีวิตแก่สัตว์โลก  โดยธรรมชาติเป็นเพียงเลือกสรรมาปรุงแต่งให้เหมาะกับชีวิตของตนเท่านั้น ถือเป็นการเพียงพอต่อการดำรงอยู่ของชีวิตได้

 

ปัญหาโดยรวมที่เกิดจากธาตุ ๔ และปัจจัย ๔

                        ปัญหาที่เกิดจากความไม่พอดี ไม่พอเพียงของมนุษย์ ต้องการดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มีอยู่ มาเป็นปรุงแต่งให้เป็นปัจจัย ๔ คือ ที่อยู่อาศัย อาหารที่ใช้รับประทาน เครื่องนุ่งห่มที่ต้องมีต้องใช้ และยาบรรเทาความเจ็บปวดจากไวรัส ที่มีอยู่แล้วในโลก

                        มนุษย์ไม่รู้จักคำว่าเพียงพอ จึงเอาธาตุ ๔ ปัจจัย ๔ มาปรุงแต่งแล้วแสวงหาผลประโยชน์จากธาตุ ๔ ปัจจัย ๔ เหล่านั้น จึงกลายเป็นปัญหาอย่างใหญ่หลวงในทุกภูมิภาค ในทุกประเทศ  ที่ดินไม่เพียงพอต่อประชากรที่เกิดขึ้น เพราะมนุษย์ต้องอาศัยทำเป็นที่อยู่ที่กินและขยายอาณาบริเวณใหญ่โตกว้างขวาง ด้วยการจับจองที่เหล่านั้นมาเป็นของตัว ทั้งการอยู่เองและการทำธุรกิจ การแสวงหาที่ดินแล้วจับจองแสดงความเป็นเจ้าของนั้น หวังที่จะทำมาค้าขายเพื่อผลประโยชน์บนที่ดินแห่งนั้น การได้เปรียบเสียเปรียบจึงเกิดขึ้นต่อผู้คนที่ไม่มีอำนาจวาสนาบารมีที่คอยรองรับ  น้ำไม่สะอาดและไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ต้องจัดหามาซื้อขายให้เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนมากขึ้น  ลม หาความเป็นธรรมชาติเกือบไม่ได้แล้ว  เพราะมนุษย์เลือกที่จะทำลาย กลับทำให้อากาศเป็นพิษ ถูกการเผาไหม้จาก ไฟ แผ่วงกว้างทำลายอากาศบริสุทธิ์ไปจนหมดสิ้น นีคือมหันตภัยอันใหญ่ยิ่งของมนุษยชาติและสัตว์โลกทั้งมวล

 

การแก้ไขปัญหา

หลักการแก้ปัญหาความขัดแย้ง 3 ขั้นตอน มีดังนี้

  1. เข้าใจเขา ต้องศึกษาว่ากลุ่มคนที่เขาคัดค้านหรือร้องเรียนนั้นเขาคิดอย่างไร

ทำไมเขาจึงคิดเช่นนั้น มีอะไรพอที่จะแลกเปลี่ยนได้บ้าง อย่าไปคิดว่าเขาเป็นศัตรู กลุ่มคนที่เห็นด้วยก็เข้าไปดูเหมือนกัน เพราะบางครั้งเขาก็อาจจะถูกแย่งไปอยู่ฝ่ายไม่เห็นด้วย

  1. เข้าถึง เมื่อเข้าใจเขาแล้วก็ต้องลงไปคลุกคลี ทำให้เขาไว้วางใจ ที่มาพบนี่

ไม่ใช่มาร้าย แต่มาดี คุยกันได้ เจรจาเสวนาต่อรองกันได้ และหาทางที่จะเข้าสู่วิธีการแก้ปัญหาแบบชนะ – ชนะ ไม่มีใครเสียหน้า ไม่มีใครเสียเปรียบกัน ในระยะเริ่มแรกต้องเข้าไปดูแลทุกข์สุขเขาด้วยโดยไม่มีเงื่อนไข ให้ทำด้วยใจ เอาความดี ความเมตตาเข้าไปหา ไปเอื้ออาทร

  1. พัฒนา เมื่อคุยกันแล้ว พยายามหาทางพัฒนาด้านความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ

แนวคิด ตลอดจนภาวะจิตใจ แบ่งปันความรู้ภูมิปัญญา ยกระดับชีวิตของเขาให้สูงขึ้น ไม่ใช่ทอดทิ้ง จนทำให้เขาขุ่นเคืองใจ

 

การแก้ปัญหาด้วยหลักอริยสัจ ๔

หลักอริยสัจจ์ (Noble Truth) เป็นเพียงกระบวนการแก้ปัญหา     (Problem

Solving Process) โดยการพิจารณาถึงหลักแห่งความทุกข์ คือ ปัญหาที่เกิดเป็นความทุกข์ ความยากลำบาก ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ล้วนเป็นปัญหาที่แฝงด้วยความบีบคั้น ขัดแย้ง ขัดข้อง มีความบกพร่องในปัจจุบัน ที่ก่อให้เกิดเป็นปัญหาได้ในอนาคต 

รู้ปัญหาในความเป็นทุกข์ คนในเขตภาคตะวันออก ต่างล้วนก่อเกิดเป็นทุกข์จาก

ปัจจัย ๔ ที่มีผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม จากการรุกล้ำของผู้มีอำนาจและกลไกของรัฐและนักธุรกิจ จนทำให้วิถีชีวิตอันปกติของชาวบ้าน ได้รับผลกระทบอย่างมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ คนที่มาบตาพุด ได้ถูกบริษัท หรือส่วนของนิคมได้ขยายพื้นที่  บริษัทเคมีปล่อยควันพิษล่องลอยปนอยู่บนพื้นผิวของอากาศ ทำให้ชาวบ้านได้กลิ่นอันเป็นพิษ มลพิษที่ปลิวไสว ทำให้ผิวหนังของมนุษย์ เป็นผื่นคัน ต้นไม้ต้องเหี่ยวเฉา ผลผลิตที่ออกได้รับผลกระทบ ไม่เจริญงอกงามเหมือนปกติ ในช่วงของดิน ถูกทำลาย โรงงานได้ขุดดินให้เป็นหลุมเป็นบ่อ เอามูลผลิตที่เป็นพิษต่อธรรมชาติ เทและหมกกลบอยู่ในดิน บางโรงงานได้ขยายอาณาบริเวณให้รุกล้ำไปยังที่สวนไร่นา  

คนในหาดเล็ก จังหวัดตราดมีปัญหา ด้านสัญชาติ การเป็นอยู่อย่างไม่ถูกต้อง

การถูกจำกัดเขตที่เป็นอยู่ จำกัดเขตในการประกอบอาชีพ ทั้งที่เขาอยู่อย่างถูกต้องมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีเชื้อชาติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาจากพ่อหรือจากแม่ แต่ยังต้องรอพิสูจน์ เพราะสถานะเชื้อชาติที่เคยเป็นคนไทย แต่ไปใช้ชีวิตบนผืนแผ่นดินอีกประเทศหนึ่ง ในที่สุดในประเทศนั้นไม่ให้สัญชาติ กลับมาประเทศไทย กลับไม่ได้รับการเข้าอยู่อย่างถูกต้อง ไม่มีใบแสดงสัญชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่กำลังเป็นปัญหา

คนในเกาะช้าง มีปัญหาเรื่องที่ดินและเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้  โดยเฉพาะที่ดินที่เคยทำ

มาหากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่มาวันหนึ่ง ทหารได้กำหนดเขตเป็นของทหาร ขีดตารางเป็น นสล. เพื่อเอาไว้เป็นที่ตั้งฐานทัพของกองทัพเรือ แต่พื้นที่ที่กำหนดเขตนั้น ได้ทับพื้นที่ของประชาชนที่อยู่มาแต่เดิม ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติได้ออกมาปักเขต เป็นพื้นที่ทับซ้อนซ้ำในบางพื้นที่ ทำให้ประชาชนมีคู่ต่อสู้เป็นสอง  ปัญหาที่จะต้องพบต่อไป คือ น้ำที่จะใช้สอย เพื่ออาบเพื่อดื่มกิน กลับมีไม่เพียงพอ แหล่งน้ำที่จะเก็บไว้ อ่างน้ำที่จะเก็บน้ำ ยังไม่มี และยังไม่สามารถหาแหล่งพักน้ำฝนได้ตามปรารถนา ในขณะนี้ประชากรเริ่มเพิ่มมากขึ้น ด้วยทรัพยากรน้ำที่มีจำกัด แต่ประชากรในโลกกลับเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ภาวะสิ่งแวดล้อม เช่น โลกร้อน ยิ่งซ้ำเติมให้ภาวะขาดแคลนน้ำกลายเป็นตัวคุกคามต่อการพัฒนาประเทศยากจนต่างๆ การแย่งชิงหรือรุกคืบเพื่อยึดครองแหล่งน้ำจึงเป็นเรื่องที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไล่มาตั้งแต่ระดับชุมชนต่อสู้กันเอง ชุมชนต่อสู้กับรัฐ ไปจนถึงการแย่งชิงน้ำในระดับประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ยังประสบกับปัญหาการจัดสรรน้ำไม่เป็นธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะการแปรรูปน้ำไปให้บริษัทเอกชนจัดการ สงครามน้ำจึงอาจไม่ใช่เรื่องของความขาดแคลนเสมอไป แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันหมายถึงการจัดสรรหรือแบ่งปันน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอและขาดความเป็นธรรมเท่าเทียม

 

 

เมื่อรู้สาเหตุแห่งความทุกข์ยาก ชาวมาบตาพุดก็ดี คนในหาดเล็กก็ดี คนเกาะ

ช้างก็ดี ล้วนกล่าวว่าสาเหตุจริง ๆ คือ การปล่อยสารพิษ การควบคุมดูแลโรงงานไม่ถูกต้อง การปฏิบัติต่อคนในชาติอย่างไม่เที่ยงธรรม ปฏิบัติเป็น ๒ มาตรฐาน ให้สิทธิ์ที่ไม่ทัดเทียม ล่วงล้ำเขตทำมาหากิน ยึดที่อยู่ที่กินของชาวบ้าน

การเกิดเหตุเช่นนี้ เป็นเพราะได้รับความเดือดร้อนมาจากอำนาจรัฐ ทั้งทางตรง

และทางอ้อม เป็นต้นว่า การขยายการก่อสร้างโรงงาน  การใช้สารเคมีที่ไม่รอบคอบ ทำให้เกิดกลิ่นรบกวนชุมชนท้องถิ่น ทำให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ นานา  สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบจากใต้ดิน บนดิน น้ำเสียเพราะมีสาร ทำให้พืชพันธ์ธัญญาหารใช้การไม่ได้  ลมฟ้าอากาศเกิดการแปรปน จนมีมลพิษกระจายไปทั่วท้องถิ่น กรณีที่ดินถูกออกสิทธิทับซ้อน เพราะทหารใช้คำพูด เพื่อกลืนกินท้องที่ แล้วจะคายให้เมื่อมาแสดงสิทธิ์ว่าเคยเป็นเจ้าของมาก่อน  พื้นที่ดินในที่ราบ ทหารเรือจับจองด้วยการใช้อำนาจออกสิทธิ์คลุมพื้นที่ คนที่อยู่เดิมกลายเป็นผู้รุกล้ำ เป็นผู้ล่วงล้ำที่ของทหารเรือ เหล่านี้คือสาเหตุแห่งความทุกข์ ที่ประชาชนได้รับ

หนทางในการแก้ไข  ประชาชนใกล้ถิ่นมาบตาพุด เห็นด้วยในการก่อสร้างความ

เจริญ สร้างศูนย์ธุรกิจ ขยายกิจการในพื้นที่กำหนด ไม่เห็นด้วยในการขยายพื้นที่ จนรุกล้ำเขตแดนที่ทำมาหากินของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงขอ  ๑. ให้ควบคุมการขยายอาณาเขตโรงงานเคมี  ๒. ควบคุมดูแลสารเคมีที่แทรกซึมไปในน้ำ และบางส่วนถูกปล่อยลงไปในทะเล หรือล่องน้ำ จนกระทบวิถีชีวิตการเป็นอยู่ของชาวบ้าน ๓. ควบคุมจำกัดมลพิษที่มาจากโรงงาน ไม่ว่าจะด้วยกรณีใด ๆ เช่นท่อแตก หรือการเผาไหม้ หรือซึมซับออกมา จนชาวบ้านได้รับกลิ่น เกิดเป็นพิษ สูดดมจนเป็นมะเร็งในร่างกาย ๔. เมื่อสร้างโรงงานแล้ว ควรรับคนท้องถิ่นใกล้เคียงเข้าทำงานด้วย เพราะที่ดินที่น้ำถูกรุกรานจนใช้การเกษตรไม่ได้ จึงไม่รู้จะย้ายถิ่นไปอยู่ที่ใด การทำมาหากินค่อนข้างลำบาก 

ในส่วนของชุมชนไร้ถิ่น พลัดถิ่น ไร้รัฐ ล้วนเป็นปัญหาการเป็นอยู่ที่ไม่ถูกต้อง ไม่

มีสิทธิ์ในการทำงาน ในการครอบครอง การย้านถิ่นที่ ซึ่งคนเหล่านั้น ที่มีเชื้อชาติเป็นคนไทย ก็ปรารถนาที่จะอยู่และทำมาหากินอย่างถูกต้อง อยากเป็นคนไทยโดยสัญชาติ อยากพิสูจน์ความเป็นเชื้อชาติ ไม่อยากไปอยู่ประเทศอื่น ๆ อยากอยู่ในประเทศไทยอย่างถาวรถูกต้องตามกฏหมาย แนวทางที่รัฐจะกำหนดให้ความเป็นสัญชาติ คือ การตรวจดีเอ็นเอ การตรวจโดยเชื้อชาติ หรือการอยู่ตามจำนวนปีที่รัฐกำหนด

ในส่วนของการล่วงล้ำสิทธิที่อยู่และที่ทำกินบนเกาะช้าง  ทหารเรือให้พื้นที่ส่วน

หนึ่ง แต่ประชาชนไม่ยอมรับ เพราะที่นั้นมิใช่ที่ราบ อยู่บนเนินเขาสูง เป็นป่ารกชัฏ ยากแก่การทำมาหากิน  รัฐจึงพยายามตั้งกรรมการเพื่อหาความจริง โดยการผ่อนผัน ให้สิทธิแก่ผู้ที่สามารถแสดงสิทธิ์การถือครองที่ดินเดิมได้  และมีพ่อแม่หรือญาติสามารถแสดงเหตุผลต่อการยึดครองที่ดินได้ ในส่วนใดที่รัฐได้กำหนดให้ทหารเรือใช้ประโยชน์ ถือว่าการออก นสล.ของทหาร ไม่สามารถจะออกที่ดินหรือแปลงที่ดินเป็นอย่างอื่นได้ หรืออาจเป็นเพราะเป็นสถานที่เหมาะต่อการใช้เป็นฐานทหารเรือ

แนวทางทั้งหมดที่จะแก้ไขได้ คือ การเจรจา หรือมีคณะไกล่เกลี่ย สิ่งที่ต้องใช้

มากที่สุด คือ ปัญญา โดยการคิดว่าอะไรคือเป้าหมายหลักและเป้าหมายรอง จะดำเนินการปฏิบัติอย่างไร แนวทางดับทุกข์ในเรื่องเหล่านี้ได้ คือ อริยมรรค หรือทางสายกลางแห่งชีวิต มีองค์ประกอบอยู่ ๘ ประการ คือ

๑.     การเห็นชอบ คือ เชื่อมั่นว่าปัญหาแก้ได้ด้วยกระบวนการในอริยสัจ คือ

ต้องแก้ที่เหตุหรือรากเหง้าด้วย โดยการบริหารด้วยความจริง

๒.    การดำริชอบ คือ คิดที่จะหลุดพ้นจากปัญหา โดยเน้นการป้องกันปัญหาที่

เหตุของรากเหง้า ด้วยวิธีการต้องไม่เบียดเบียนใคร

๓.    การเจรจาชอบ คือ การพูดหรือเขียน และการนำเสนอ ต้องเป็นข้อมูลจริง

ไม่แต่งข้อมูล เปิดโอกาสให้มีการสอบถาม การตกลงหรือเปิดโอกาสให้มีการพูดจา เพื่อแก้ปัญหาจากคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหา

๔.    การกระทำชอบ คือ ต้องปฏิบัติด้วยคุณธรรม ตรงจุดที่จะแก้

๕.    การเลี้ยงชีพชอบ    คือ      วิธีการแก้ปัญหาโดยไม่เบียดเบียนใคร ไม่ผิด

กฎหมาย งานที่ทำนั้นต้องไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย หรือผิดระเบียบกฎเกณฑ์

๖.    การพยายามชอบ คือ ความหมั่นเพียร เฝ้าระวังปัจจัยหรือมูลเหตุที่ก่อให้

เกิดปัญหา อย่างสม่ำเสมอ  

๗.   ระลึกชอบ คือ    มีสติ ตามดูปัญหา        พิจารณาอย่างมีเป้าหมาย เกณฑ์

กำหนดตัดสิน เกณฑ์คุณภาพ ผลกระทบที่เกิดขึ้น ดี/เลว สำเร็จ/ล้มเหลว ทบทวนวิธีการแก้ปัญหาอยู่เสมอ

๘.   ตั้งใจมั่นชอบ คือ  มีการพัฒนาปรับปรุงต่อไปเรื่อยๆ ไม่ทิ้งกลางคัน หรือไม่

ท้อถอยรวมสรุป คือการใช้ปัญญา ด้วยการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการลดหย่อนผ่อนปรน แก้ไขในสิ่งที่ชาวบ้านร้องขอ  หากแก้ไขได้สำเร็จ ประชาชนก็จะอยู่อย่างมีความสุข สมความปรารถนาได้ สิ่งสำคัญในแนวทางนี้ คือ การปลดปล่อยเปลี่ยนแปลงความไม่ถูกต้อง ให้เป็นความถูกต้อง  ยอมรับข้อเสนอของประชาชน หรือใช้การเจรจา ปรับผลประโยชน์ให้เท่าเทียมกัน โดยปราศจากอคติ ๔

การตกลงด้วยการเจรจา รับฟังความคิดความเห็นของกันและกัน     จะเป็นแนว

ทางในการดับทุกข์ได้  กระบวนการเจรจาสามฝ่าย โดยมีคนที่สามเป็นคนกลางในการเจรจา โดยสำนึกถึงเหตุและผล ความถูกต้องเป็นจริง ก็เชื่อว่าประชาชนย่อมยอมรับ และภูมิใจในสิทธิที่ตนจะพึงได้ ด้วยการแก้ไขปัญหาของทุกฝ่าย

เพราะฉะนั้น    จะเห็นว่า กระบวนการแก้ปัญหาในเชิงอริยสัจจ์  คือ ทุกข์ สมุทัย

นิโรธ มรรค  หากสามารถยึดหลักนี้แล้ว เพิ่มวิถีทางอย่างถูกต้องเป็นจริง ก็จะสามารถสรุปและแก้ไขในแนวทางแห่งปัญหาทั้งมวลที่มีอยู่ได้ .

หมายเลขบันทึก: 397567เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2010 07:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท