การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา


ระบบการประกันคุณภาพภายในเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ต้องประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการคือ การประเมินคุณภาพภายใน การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 47 กำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาในทุกระดับ และมาตรา 48 ยังกำหนดให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษา จัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในและยังให้ถือว่าการประกันคุณภาพดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องอีกด้วย โรงเรียนในฐานะหน่วยงานทางการศึกษาซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน จึงต้องจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในขึ้นเพื่อรับประกันว่า ผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาจะเป็นบุคคลที่มีคุณภาพสมดังเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ

 

          กฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553 ข้อ 3 กำหนดให้ระบบการประกันคุณภาพภายในเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ต้องประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการคือ การประเมินคุณภาพภายใน การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งแต่ละส่วนนั้นมีสาระสำคัญดังนี้

 

          1.  การประเมินคุณภาพภายใน  เป็นการประเมินสภาพการดำเนินการพัฒนาของโรงเรียนในปีการศึกษาที่ผ่านมา ว่าดำเนินการพัฒนาตามมาตรฐานการศึกษาที่ต้นสังกัดกำหนดไว้อยู่ในเกณฑ์ระดับใด เช่น มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน 18 มาตรฐาน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีการจัดทำเป็นรายงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาประจำปี (School Assessment Report: SAR) เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานต้นสังกัด เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน รวมทั้งเพื่อรายงานต่อสาธารณชน ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ นั่นเอง

 

          2.  การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา  เป็นการติดตามสภาพการดำเนินงานของโรงเรียนตามที่ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาหรือแผนกลยุทธ์ ซึ่งเป็นแผนระยะยาวไม่เกิน 3 ปี รวมทั้งการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงานประจำปีการศึกษานั้นๆ โดยโรงเรียนอาจแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลสารสนเทศตลอดปีการศึกษา แล้วจัดทำเป็นระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหาร (Management Information System: MIS) ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลด้านหลักสูตรและการสอน (Academic Programs) ข้อมูลครูและบุคลากร (Personnel) ข้อมูลนักเรียน (Students) ข้อมูลการเงินและงบประมาณ (Finance and Budgeting) และข้อมูลอาคารสถานที่ (Plants and Facilities) ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการทำไปปรับปรุงพัฒนาได้ทันท่วงทีและยังเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการประเมินภายในด้วย

          3.  การพัฒนาคุณภาพการศึกษา  เป็นการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนให้บรรลุถึงมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ (18 มาตรฐาน ของ สพฐ.) โดยมีหัวใจสำคัญคือ การสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้ตระหนัก (Awareness) ถึงความจำเป็นของการทำงานเป็นทีม การทำงานอย่างเป็นระบบ และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหาร และการใช้สารสนเทศเพื่อการพัฒนางาน โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลและจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้โรงเรียนต้องมีแผนกลยุทธ์ (Strategic Plan) ที่ทุกกิจกรรม / โครงการ / แผนงาน ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ การยกระดับคุณภาพผู้เรียนในทุกๆ ด้าน มีระบบและกลไกการปฏิบัติงานตามแผน รวมทั้งติดตามกำกับการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

 

          ระบบประกันคุณภาพภายในสำหรับโรงเรียนนั้น กฎกระทรวงฯ ได้กำหนดไว้ในข้อ 14 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยให้ดำเนินการ  8  ข้อ ดังนี้

 

          1. การกำหนดมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนใหญ่กำหนดตามมาตรฐานของ สพฐ. นั่นคือ 18 มาตรฐาน ประกอบด้วยมาตรฐานในด้านต่างๆ 4 ด้านได้แก่  ด้านคุณภาพผู้เรียน  8  มาตรฐาน  ด้านการเรียนการสอน 2 มาตรฐาน  ด้านการบริหารและการจัดการศึกษา  6  มาตรฐาน และด้านการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้  2  มาตรฐาน

 

          2.  การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยให้โรงเรียนดำเนินการตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 16 คือ 1) ศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการที่จำเป็นอย่างเป็นระบบ หรือให้ทำ SWOT Analysis 2) กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย และความสำเร็จของการพัฒนา 3) กำหนดวิธีการดำเนินงานซึ่งต้องครอบคลุมการพัฒนาหลักสูตร การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ การส่งเสริมการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล การพัฒนาบุคลากร และการบริหารจัดการ 4) กำหนดแหล่งเรียนรู้ภายนอก 5) กำหนดบทบาทหน้าที่ของครูและผู้เรียน 6) กำหนดบทบาทหน้าที่และแนวทางการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน 7) กำหนดการใช้งบประมาณและทรัพยากร 8) จัดทำแผนปฏิบัติงานประจำปี

 

          3.  การจัดระบบบริหารและสารสนเทศ โรงเรียนต้องจัดให้มีระบบการบริหารที่เน้นการมีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นคณะกรรมการบริหารโรงเรียน จัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาครูและบุคลากรอย่างเป็นระบบ และจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารไว้เป็นปัจจุบัน

 

          4.  การดำเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยโรงเรียนอาจใช้เทคนิคการบริหารจัดการ เช่น วงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming Cycle) หรือที่รู้จักกันแพร่หลายว่า วงจร PDCA เพราะเป็นกระบวนการที่มีการตรวจสอบตนเองอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ขั้นวางแผน (Plan) ขั้นปฏิบัติตามแผน (Do) ขั้นตรวจสอบหรือประเมิน (Check) และขั้นนำผลการประเมินไปปรับปรุงแก้ไข (Act)

          5.  การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา โรงเรียนอาจแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อวางแผนติดตามและรวบรวมข้อมูลสารสนเทศหรือร่องรอยหลักฐาน การดำเนินงานตามกิจกรรม / โครงการตลอดปีการศึกษา รวมทั้งตรวจสอบเกี่ยวกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของโรงเรียน แผนพัฒนาโรงเรียน การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนรู้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน การพัฒนาองค์กรและการพัฒนาวิชาชีพครู ทั้งนี้เพื่อให้ก้าวทันต่อสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

 

          6.  การประเมินคุณภาพภายใน ซึ่งโรงเรียนอาจแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อรับผิดชอบในการวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศ รวมทั้งร่องรอยหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในแต่ละมาตรฐานทั้ง 18 มาตรฐาน ซึ่งอาจกำหนดผู้รับผิดชอบเป็นรายด้านหรือรายมาตรฐานตามสภาพความพร้อมของโรงเรียน นอกจากนี้อาจมีการประเมินหรือแสดงความคิดเห็นจากผู้ปกครองเพื่อนำผลมาประกอบการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไปด้วย

 

          7.  การจัดทำรายงานประจำปีซึ่งเป็นรายงานประเมินคุณภาพภายในด้วย ซึ่ง สพฐ. ได้เสนอให้แบ่งรายงานออกเป็น  4  บทประกอบด้วย  บทที่  1  บทนำ เป็นการสะท้อนสภาพทั่วไปของโรงเรียน บทที่ 2 ระบุเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน  บทที่  3  ระบุความสำเร็จของการพัฒนาโดยนำเสนอตามมาตรฐานทั้ง  18  มาตรฐาน  และบทที่  4  ระบุจุดเด่น – จุดที่ควรพัฒนา และความต้องการช่วยเหลือจากหน่วยงานต้นสังกัด นอกจากนี้โรงเรียนควรระบุหลักฐานข้อมูลผลสัมฤทธิ์ของการประเมินตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไว้ด้วย

 

          8.  การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยที่โรงเรียนควรตรวจสอบและทบทวนการดำเนินงานตามกิจกรรม / โครงการอยู่เสมอ ซึ่งต้องคำนึงถึงการสร้างจิตสำนึก (Awareness) ในการพัฒนาให้เกิดขึ้นกับครูและบุคลากรรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง เน้นย้ำและแสดงความพยายาม (Attempt) ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนผ่านกิจกรรม / โครงการต่างๆ และต้องทำอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบเพื่อให้ผลการดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ (Achievement)

 

          จากการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นนี้ ผู้บริหารและครูสามารถประเมินตนเองได้ว่า เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพหรือไม่ โดยพิจารณาจากคุณลักษณะของสถานศึกษาที่มีคุณภาพซึ่งอำรุง จันทวานิช ได้ขยายความไว้ 14 ประการ ได้แก่

          1.  สภาพแวดล้อมภายนอกของสถานศึกษาดี มีสังคม บรรยากาศ สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ

          2.  มีครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษามืออาชีพและจำนวนเพียงพอ

          3.  ลักษณะทางกายภาพของสถานศึกษาได้มาตรฐาน

          4.  หลักสูตรเหมาะสมกับผู้เรียนและท้องถิ่น

          5.  สื่อและอุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัย

          6.  แหล่งการเรียนรู้ในสถานศึกษาหลากหลาย

          7.  งบประมาณมุ่งเน้นผลงาน

          8.  การจัดกระบวนการเรียนรู้เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด

          9.  การจัดบรรยากาศการเรียนรู้เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

          10.  การบริหารจัดการดี ใช้สถานศึกษาเป็นฐาน เน้นการมี่ส่วนร่วม

          11.  การประกันคุณภาพการศึกษามีประสิทธิภาพ เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหารสถานศึกษา

          12.  นักเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐาน มีพัฒนาการทุกด้าน เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข เรียนต่อและประกอบอาชีพได้

          13.  สถานศึกษาเป็นที่ชื่นชมของชุมชน

          14.  สถานศึกษาเป็นแบบอย่างและให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนและสถานศึกษาแห่งอื่นได้

         

อย่างไรก็ตามการที่จะมีระบบประกันคุณภาพที่ดีที่สุดนั้น ควรจะเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเองภายในโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องของการสำรวจและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกลายเป็นกลไกการประกันคุณภาพที่ยั่งยืน นอกจากนี้โรงเรียนควรพัฒนาให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) โดยมุ่งส่งเสริมให้ครูรู้จักพัฒนาตนเอง ใฝ่เรียนรู้ หมั่นแสวงหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันความรู้ผ่านช่องทางต่างๆ ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เกิดทีมผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ จนผู้ที่เกี่ยวข้องให้การยอมรับ มีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์แลกเปลี่ยนความรู้กับโรงเรียนและองค์กรอื่นๆ ซึ่งทำให้โรงเรียนกลายเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ที่เคลื่อนไหวในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอยู่ตลอดเวลาและทำให้เกิดระบบการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง.

หมายเลขบันทึก: 397435เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2010 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2012 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อมูลมีรายละเอียดดีมากอ่่านแล้วเข้าใจ ง่ายต่อการปฏิบัติ ขอขอบคุณที่เผยแพร่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท