บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน


บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกับการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน

บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกับการจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน

 จีรา  ศรีไทย:ผู้เขียน

นักศึกษาปริญญาโท  สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์  จังหวัดสุรินทร์

รหัส 52054110103

 บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน…ช่วยสอนจริงหรือ?...ช่วยให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์  ทางการเรียนสูงขึ้นจริงหรือไม่?  ประเด็นนี้น่าสนใจมากเลย…ยิ่งช่วงนี้ด้วยแล้วคุณครูทั้งหลายกำลังทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะกัน…ใครๆ ก็พูดถึงแต่บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบ้างก็ว่า ถ้านวัตกรรมเป็นบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแล้วผลงานต้องผ่านอย่างแน่นอน…บ้างก็ว่าไม่แน่เสมอไป…ผลงานทางวิชาการที่ไม่ผ่านเพราะบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนก็มีมาแล้ว…ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น…อะไรเป็นสาเหตุ…

ผู้เขียนได้สืบค้นงานวิจัยที่ใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน พบว่าผลสรุปล้วนแต่ดี ๆ ทั้งนั้น …ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05  สุดยอดเลย… ถ้าเป็นเช่นนี้จริง…ก็แสดงว่าบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนน่าจะช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้สูงขึ้นจริง?  หรือท่าน? มีความคิดเห็นว่ายังไง…เราจะมาลองทำความรู้จักบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนกันก่อน…ก็แล้วกัน บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนตามความคิดของผู้เขียน จากที่ได้ท่องโลกอยู่นานในฐานะ ครูผู้สอนในรายวิชาคอมพิวเตอร์ (ระดับมัธยมศึกษา) มา…หลายปี  ขอให้ความหมายตามความคิดของผู้เขียนเอง ดังนี้   

“บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นเครื่องมือใช้ในการจัดการเรียนรู้ของครู เป็นผู้ช่วยครูสร้างหรือพัฒนาขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีการเรียบเรียงเนื้อหาหรือเรื่องราวไว้แล้วอย่างเป็นระบบ เนื้อหามีทั้งที่เป็นข้อความ  ภาพนิ่ง  ภาพเคลื่อนไหว  เสียงบรรยาย อาจมีเสียงดนตรีเป็นแบ็กกราวเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับบทเรียน ผู้เรียนเรียกใช้งานได้ด้วยตนเองภายใต้การควบคุมของคอมพิวเตอร์…”   

ลองมาดูความหมายของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจากนักวิชาการท่านอื่นดูบ้าง ขอนำ มากล่าวถึงพอสังเขป  ดังนี้ (http://yalor.yru.ac.th/~sirichai/4123612/ unit1/meaning-cai.html)

ศิริชัย สงวนแก้ว (2534 )  กล่าวว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI : Computer Assisted Instruction)  “เป็นการประยุกต์นำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการเรียนการสอน โดยมีการพัฒนาโปรแกรมขึ้นเพื่อนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเสนอแบบติวเตอร์ (Tutorial) แบบจำลองสถานการณ์ (Simulations) หรือแบบการแก้ไขปัญหา (Problem Solving) เป็นต้น      การเสนอเนื้อหาดังกล่าวเป็นการเสนอโดยตรงไปยังผู้เรียนผ่านทางจอภาพหรือแป้นพิมพ์ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม วัสดุทางการสอนคือโปรแกรมหรือ Courseware ซึ่งปกติจะถูกจัดเก็บไว้ในแผ่นดิสก์หรือหน่วยความจำของเครื่อง พร้อมที่จะเรียกใช้ได้ตลอดเวลา การเรียน      ในลักษณะนี้ ในบางครั้งผู้เรียนจะต้องโต้ตอบ หรือตอบคำถามเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยการพิมพ์  การตอบคำถามจะถูกประเมินโดยคอมพิวเตอร์ และจะเสนอแนะขั้นตอนหรือระดับในการเรียน  ขั้นต่อ ๆ ไป กระบวนการเหล่านี้เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เรียนกับคอมพิวเตอร์”                         วุฒิชัย ประสารสอน(2543) กล่าวว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือบทเรียนซีเอไอ (Computer-Assisted Instruction; Computer-Aided Instruction: CAI) คือ การจัดโปรแกรมเพื่อ   การเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อช่วยถ่ายโยงเนื้อหาความรู้ไปสู่ผู้เรียน และปัจจุบัน    ได้มีการบัญญัติศัพท์ที่ใช้เรียกสื่อชนิดนี้ว่า “คอมพิวเตอร์ช่วยการสอน”              

จากความหมายตรงนี้ ก็จะเห็นว่ากว่าจะเป็นบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนขึ้นมาได้นั้น     มีกระบวนการขั้นตอนมากมายที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ  ผู้สร้างหรือพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ต้องมีความรู้ความเข้าใจโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี และต้องมีประสบการณ์มากพอดูจึงจะสามารถพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้อย่างมีคุณภาพ           เมื่อพูดถึงคุณภาพ ผู้เขียนขอนำเสนอความคิดว่า ผู้เขียนมองในประเด็น “เหมาะกับวัย ใช้ง่าย        ใช้สะดวก เนื้อหาสอดคล้องกับตัวชี้วัด  ผู้เรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียน และที่สำคัญผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น”  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว…ถ้าเราจะนำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการจัดการเรียนการสอนนั้น จะทำได้อย่างไร เมื่อไหร่…ต้องเตรียมการอย่างไร ซึ่งในจุดหลักตรงนี้ ผู้เขียนขอนำประสบการณ์จากการจัดการเรียนการสอนของตนเองมาเล่าสู่กันฟัง…เผื่อว่าจะได้เป็นแนวทางในการนำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมาใช้ในการพัฒนาผู้เรียนกันบ้าง…เพื่อช่วยกันหาข้อสรุปให้ได้ด้วยตนเองว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนดีจริง บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถทำให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์หลังเรียนสูงขึ้นจริงตามที่เราพบเห็นในงานวิจัยทั่วไปหรือไม่…อย่างไร?  

การเรียนการสอนในรายวิชาคอมพิวเตอร์ ครูผู้สอนมักจะพบปัญหาที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะไม่แตกต่างกันเท่าไร การพูดหรือบรรยายเนื้อหาภาคทฤษฎีให้นักเรียนฟัง  มักพบว่านักเรียนไม่ค่อยสนใจฟัง อาจเนื่องจากมีคอมพิวเตอร์ที่อยู่ตรงหน้าเลยอยากใช้งานคอมพิวเตอร์มากกว่าฟังครูพูด  เคยพบว่าขณะสอนมีนักเรียนแอบเปิดเว็บไซท์บ้าง เปิดโปรแกรมต่างๆ  บ้าง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบในผู้เรียนในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศโลกไร้พรมแดนแบบไร้ขีดจำกัดแบบนี้  ถือเป็นเรื่องปกติไปแล้ว… ผู้เขียนยังจำได้ขึ้นใจกับคำพูดของนักเรียนในทุกครั้งที่มาเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ว่า “ครูค่ะ/ครับ…เปิดเครื่องเลยไหมค่ะ/ครับ”  นี่เป็นประโยคแรกที่นักเรียนทักทายครู…เมื่อมาถึงห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์  ถ้าครูบอกว่า “เดี๋ยวก่อน ครูขอสอนก่อนนะ”  หรือพูดง่ายๆ ก็คือ      ครูจะสอนเนื้อหาในส่วนทฤษฎีก่อนนั่นเอง  แต่ในความคิดของนักเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ก็ต้อง     ใช้คอมพิวเตอร์ นักเรียนก็จะแสดงสีหน้า “ผิดหวัง” อย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยอมจำนนแต่โดยดี          แต่ตรงกันข้ามถ้าครูบอกว่า “เปิดเครื่องได้”  นักเรียนทั้งห้องก็จะร้องดังๆ “เฮ้” แล้วเสียงติ๊ด ตู๊ดของการบู๊ตเครื่องก็ดังขึ้น…พร้อมกับใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส…บวกกับเสียงพูดคุยแสดงความพึงพอใจอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราผู้เป็นครูก็พลอยมีความสุขไปด้วยกับความเบิกบานของนักเรียน… โดยนักเรียนจะไม่สนใจว่า  ณ เวลานี้ ชั่วโมงนี้ หรือขณะนี้ เรียนเนื้อหาอะไร ครูจะดำเนินกิจกรรมอย่างไร “ฉันไม่สน”  ถ้าฉันได้เปิดคอมพิวเตอร์เมื่อไหร่นั่นแหละ “ใช่เลย”  ยิ่งถ้าครูมีภาระงานไม่สามารถอยู่สอนในชั้นเรียนด้วยแล้ว ยิ่งดีใหญ่ ฉันจะได้เล่นคอมพิวเตอร์ได้อย่างที่ใจปรารถนา… ซึ่งผู้เขียนถือว่านี่คือปัญหาหลักของการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์  เอ!  แล้วเราในฐานะครู     จะทำอย่างไรดี…เราไม่ค่อยถนัดด้วยซิกับการต้องอธิบายเนื้อหา…เด็กโตก็สบายหน่อย สำเนาใบความรู้มาแจก นักเรียนศึกษาเองได้…ช่วยให้ครูเบาแรงขึ้นเยอะ แต่ก็ต้องอธิบายซ้ำอยู่ดี…จากการอธิบายทำให้พบปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ  การอธิบายโดยการเขียนบนกระดาน “เขียนพูดลบ  เขียนพูดลบ”  บางทีนักเรียนบันทึกลงสมุดไม่ทันบ้าง มัวแต่บันทึกก็ไม่ได้ฟัง มัวแต่ฟังก็ไม่ได้บันทึก     จากประเด็นปัญหาการสอนที่กล่าวมา…อาจดูเหมือนไม่ใช่ปัญหา แต่จริงๆ แล้วผู้เขียนถือเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียว เพราะสิ่งนี้เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้…ซึ่งในการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ผู้เขียนพอจับประเด็นได้ว่า  “…นักเรียนชอบใช้คอมพิวเตอร์มากกว่าฟังครูพูด…”  คิดไปหลายอย่าง ทบทวนอยู่หลายครั้ง   “แล้วเราจะทำอย่างไรดีนะ…”   ความคิดบางอย่างแว็บเข้ามาในสมอง…  “ในเมื่อนักเรียนชอบใช้คอมพิวเตอร์…ทำไมเราไม่บรรจุเนื้อหาบทเรียนลงในคอมพิวเตอร์ เราน่าจะลองใช้วิธีนี้ดู…”  ความคิดในการนำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจกรรม        การเรียนการสอนก็เกิดขึ้น  จากข้อสรุป…ผู้เขียนเริ่มศึกษาเกี่ยวกับโปรแกรมที่ใช้พัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจากเอกสาร ตำรา เว็บไซท์ทั้งหลาย สอบถามผู้รู้  รวมทั้งเข้าร่วมประชุมอบรมแล้วก็ตัดสินใจเลือกโปรแกรมที่ตนเองถนัดที่สุด  จากนั้นก็วิเคราะห์เนื้อหาบทเรียนแยกย่อยเป็นเรื่อง ๆ  เริ่มลงมือสร้างทบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนหน่วยแรกซึ่งเป็นเนื้อหาทฤษฎี แล้วนำมาทดลองใช้กับนักเรียนในชั้นเรียนปกติโดยนักเรียนศึกษาบทเรียนด้วยตนเอง ครูคอยกำกับดูแล     ให้คำแนะนำแล้วร่วมกันสรุปอภิปรายในช่วงท้ายชั่วโมง จากการทดลองใช้พบปัญหาคือ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีเนื้อหาเยอะไป  ทำให้ใช้เวลามาก แต่ที่สังเกตพบสิ่งที่นักเรียนชอบจะเป็นในส่วนของการตอบคำถามในบทเรียน บางคู่ที่นั่งใกล้กันก็จะแข่งกันว่าใครตอบถูกหรือผิด บางทีก็มีเสียงเฮ้ดังๆ ออกมาถ้าเป็นฝ่ายตอบถูก เราก็พลอยสนุกไปกับนักเรียนด้วย ในตอนท้ายครูสรุป ซักถาม รู้สึกการเรียนการสอนครั้งนี้มีชีวิตชีวิตมากขึ้น ดูนักเรียนมีความสุขที่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียน อีกอย่างการนำเสนอเนื้อหาด้วยคอมพิวเตอร์ มีภาพประกอบที่ชัดเจน มีสีสันสวยงาม     ทำให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย ไม่เหมือนใบความรู้ที่สำเนาชัดบ้างไม่ชัดบ้าง  และที่ค้นพบอีกอย่างก็คือ นักเรียนที่ขาดเรียนในชั่วโมงนั้น สามารถศึกษาตามหลังด้วยตัวเองได้นอกเวลาเรียนมีเพื่อนคอยช่วยเหลือแทนครู…ผู้เขียนรู้สึกเบาแรงขึ้นเยอะไม่ต้อง  พูดมาก สบายขึ้น ผู้เขียนเริ่มมองเห็นส่วนดีของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน “ช่วยเราได้เยอะเลย…”  นักเรียนก็ชอบ ยิ่งบทเรียนมีการ์ตูน ภาพประกอบมีสีสัน สวยงาม อีกอย่างนักเรียนได้เปลี่ยนวิธีการเรียน…รู้สึกอะไรอะไรก็ดีไปหมด…จากที่นักเรียนจะเป็นฝ่ายถามครูว่า “ครูค่ะ/ครับเปิดคอมพิวเตอร์เลยไหมค่ะ/ครับ” เปลี่ยนเป็นครูจะบอกนักเรียนเลยว่า “เปิดเครื่องเลยนะ” ในครั้งแรกที่นักเรียนมาถึงห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ …บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนทำให้ครูมีเวลาในการกำกับดูแลช่วยเหลือนักเรียนในชั่วโมงเรียนมากขึ้น อีกทั้งเมื่อจบบทเรียน พบว่า ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้หลังเรียนก็สูงกว่าก่อนเรียนซึ่งเป็นเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ที่ครูปรารถนายิ่งนัก…

จากความคิดแบบแว็บๆ…ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้เขียนได้เริ่มอยากรู้จักบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน…แม้สอนวิชาคอมพิวเตอร์อยู่นาน แต่ก็ไม่เคยได้ลงมือผลิตบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเพื่อนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เป็นจริงเป็นจังสักที ถือว่าครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนเลยก็ว่าได้… จากการผลิตหน่วยแรกก็เริ่มทยอยหน่วยที่ 2 หน่วยที่ 3 ไปเรื่อยๆ จนครบทุกหน่วย แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสร็จในคราวเดียว หมายถึง สอนไปพัฒนาไปเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 2  ปี  จึงพัฒนาได้ครบทุกหน่วย แต่ก็ยังไม่น่าพึงพอใจเท่าไหร่…ยังคนสอนไปปรับปรุงแก้ไขพัฒนาไปเรื่อยๆ …ข้อค้นพบอีกอย่างหนึ่ง ด้วยภาระงานพิเศษที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากงานสอน ทำให้พบว่า เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ในหน่วยแรกๆ แล้วพอหน่วยต่อๆ ไป นักเรียนมีวิธีการเรียนรู้ของตนเองแล้ว…ครูแทบจะหมดความสำคัญไปเลย…พอถึงชั่วโมงเรียน นักเรียนจะรู้ว่าต้องทำอะไรเพราะในบทเรียนได้ออกแบบวิธีการเรียนรู้ไว้เป็นขั้นเป็นตอน กำหนดภาระงานที่นักเรียนต้องปฏิบัติไว้อย่างชัดเจนแล้ว นักเรียนสามารถที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ โดยอัตโนมัติ  จนบางทีครูรู้สึกเหงา… หรือว่า “เราจะหมดความสำคัญไปแล้ว”  นักเรียนทุกคนจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ “ไม่มีใครสนใจใคร แล้วก็ไม่มีใครสนใจเราเลย”  …จนบางครั้งนักเรียนกับครูแทบไม่ได้พูดคุยกัน เว้นแต่เครื่องคอมพิวเตอร์เกิดป่วยขึ้นมาเท่านั้น…ผู้เขียนมักจะทักนักเรียนในบรรยากาศที่ทุกคนกำลังสนใจแต่หน้าจอของตนเองว่า… “พูดคุยกันบ้างนะ ดูเงียบจัง”  นักเรียนก็จะเงยหน้ามองครูแว็บหนึ่งแล้วก็ปฏิบัติเช่นเดิม  ผู้เขียนคิดว่านี่เป็นจุดด้อยที่พบจากการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน จากความคุ้นเคยเริ่มกลายเป็นความห่างเหิน ระหว่างครูกับนักเรียน  นักเรียนกับเพื่อนนักเรียน “ขาดมนุษยสัมพันธ์ต่อกัน…”  ผู้เขียนต้องคอยซักถาม หรือให้นักเรียนพักการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เปลี่ยนมาเป็นซักถาม อธิบาย สรุป ก็ทำให้บรรยากาศดูมีชีวิตชีวาดีขึ้น…ทำให้ได้แนวทางในการสอนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในกิจกรรมการเรียนการสอนปกติว่า ในส่วนท้ายถ้าครูได้ช่วยสรุป หรือกระตุ้นซักถาม ก็จะมีส่วนช่วยเติมเต็มความรู้ความเข้าใจให้นักเรียนได้ชัดเจนขึ้น…หรืออาจกำหนดภาระงานในลักษณะเป็นกลุ่มเพื่อให้นักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กันภายใต้การศึกษาสืบค้นความรู้จากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ยังพบอีกว่าในบางวันที่ครูมีการประชุมแบบเร่งด่วนก็ไม่มีปัญหาต่อการเรียน หรือแม้แต่ครูไปราชการ นักเรียนก็สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เพียงแต่ครูต้องจัดการเรื่องของการเปิดห้องปฏิบัติการให้นักเรียนได้มีโอกาสได้เข้ามาใช้คอมพิวเตอร์ก็เท่านั้น…ช่างง่ายดายอะไรเช่นนี้ …แต่ก็มีปัญหาอีกประเด็นหนึ่งที่ครูผู้สอนในบริบทโรงเรียนรอบนอกที่ชุมชนที่ยังมีปัญหาความยากจนคุกคามอยู่…ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์นี้นักเรียนจะสามารถใช้ได้เฉพาะในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เท่านั้น เนื่องจากนักเรียนไม่มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่บ้าน     แต่ผู้เขียนคิดว่าเป็นเพียงปัญญาเล็กๆ ซึ่งจะหมดไปได้ก็อยู่ที่การบริหารจัดการของครูผู้สอนว่าจะออกแบบการจัดการเรียนรู้อย่างไร….ให้สอดคล้องกับลักษณะของวิชาและบริบทของโรงเรียนและชุมชน…

จากประสบการณ์ที่เล่ามานี้…ผู้เขียนขอยืนยันว่า “บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถแก้ปัญหาการเรียนรู้ได้จริง ๆ  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะสามารถแทนครูผู้สอนไปเสียทีเดียว ครูยังคงต้องเป็นผู้กำกับการเรียนรู้ของผู้เรียนอยู่เช่นเคย  เพียงแต่บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจะช่วยให้กิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนมีชีวิตชีวา กระตุ้น เร้าให้ผู้เรียนสนใจบทเรียนมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งผู้สอนจะมีบทบาทมากน้อยเพียงใดยังขึ้นอยู่กับวัยของผู้เรียน ลักษณะนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนของผู้เรียนด้วย  ซึ่งผู้เขียนในบทบาทครูผู้สอนถือว่าเป็นผู้โชดดีที่ได้มีโอกาสส่งเสริมให้ผู้เรียนให้เข้าถึงเทคโนโลยีในทุกโอกาสที่ทำได้  เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต…

---------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 397107เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2010 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 04:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยกับคุณครูผู้สอน computer ด้วย computer ค่ะ CAI มีประโยชน์ต่อทั้งครูและนักเรียน

คุณครูลองแขวนบทเรียน CAI ของคุณครูใน Learners.com สิค่ะ แล้วให้นักเรียนเข้าไปเรียนรู้ด้วยตนเองผ่าน www

ส่วนนักเรียนที่ยังมีศักยภาพไม่พอที่จะใช้ internet ที่บ้านก็ใช้ใน ชม.เรียนไปก่อน

ดีจังค่ะ ที่มีคุณครูที่สนใจ ตั้งใจ และพัฒนาการสอนอยู่ตลอดเวลาแบบคุณครู ขอบคุณแทนเด็กไทย และประเทศไทยค่ะ

มลทิพ ทองบริบูรณ์

แค่อยากทักทาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท