กรอบการประเมินความสามารถ


การได้ “คนมีคุณภาพ (Quality Person)” นั้น ถือเป็นยอดปรารถนาในการรับสมัครคัดเลือกบุคลากร และการบรรจุแต่งตั้งหรือเลื่อนตำแหน่ง อีกทั้งการระบุลักษณะของคนมีคุณภาพยังสามารถใช้เป็นกรอบการประเมินความสามารถ แต่ทว่า คนมีคุณภาพ ที่ว่านี้ มีคุณสมบัติอย่างไร?

กรอบการประเมินความสามารถ 

Competency Assessment Frameworks

                ในส่วนของการได้  คนมีคุณภาพ (Quality Person)”  นั้น  ถือเป็นยอดปรารถนาในการรับสมัครคัดเลือกบุคลากร  และการบรรจุแต่งตั้งหรือเลื่อนตำแหน่ง  อีกทั้งการระบุลักษณะของคนมีคุณภาพยังสามารถใช้เป็นกรอบการประเมินความสามารถ  แต่ทว่า คนมีคุณภาพ ที่ว่านี้  มีคุณสมบัติอย่างไร? 

คนมีคุณภาพ มีคุณสมบัติ 5 ประการดังนี้ 

1)      มีผลงานในอดีตอันเป็นที่ยอมรับ (Past Acceptable Performance)

2)      มีการบริหารชีวิตและเวลาในอดีตได้อย่างมีคุณค่า (Life and Time Management Worthily)

3)      มีชุดความสามารถจำนวนมาก (A lot of Competency Series)

4)      มีคุณลักษณะทางจิตที่พึงประสงค์ (Intentional Psychological Characteristics)

5)      มีแนวโน้มที่จะเพิ่มพูนความสามารถได้ (Increasable Competency Trend)

การมีผลงานในอดีตอันเป็นที่ยอมรับ   
                การมีผลงานในอดีตอันเป็นที่ยอมรับหมายถึง  ความเชี่ยวชาญในงานที่เขาเคยทำ  ผลงานในอดีตเป็นตัวชี้วัดความสามารถของคน ๆ นั้น  และความสามารถในอดีตของเขาจะข้ามกาลเวลามาเป็นความสามารถในปัจจุบัน  ซึ่งผู้จัดการสรรหาว่าจ้างต้องสามารถประเมินหาความสามารถในอดีต  โดยดูจาก หลักฐานความสามารถ (Competency Evidences) ในอดีต  ซึ่งก็คือผลงานในอดีตของเขา  เพื่อนำมาพิสูจน์หาความสามารถ  ผลงานในอดีตของเขาถือเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดในการยืนยันความมีอยู่จริงของความสามารถของเขา  โดยนำผลงานในอดีตออกมาแจกแจงหา ชุดความสามารถ (Competency Series) และ หน่วยความสามารถ (Competency Unit)  ออกมาว่า  ในผลงานชิ้นนั้นใช้ชุดความสามารถอะไรและมีหน่วยความสามารถเป็นขนาดใด  ข้อพึงระวัง!  อย่าเอาเรื่อง การมีผลงานในอดีตอันเป็นที่ยอมรับ ไปรวมอยู่กับ ตำแหน่งงานในอดีต   เพราะการดำรงตำแหน่งงานในอดีตของเขา  ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีชุดความสามารถที่จำเป็นต่อตำแหน่งงานนั้นอย่างแท้จริง  การคาดคะเนว่าการที่คน ๆ หนึ่งเคยดำรงตำแหน่งงานอื่นใดมาก่อนหรือมีประสบการณ์ทำงานด้านใดมาก่อนแล้ว  เขาจะมีชุดความสามารถที่จำเป็นต่อตำแหน่งงานด้านนั้น  นั่นถือเป็นข้อสรุปที่ตื้นเขินเกินไป  ทางที่ดีที่สุด  ต้องพิจารณาที่การบรรลุผลสำเร็จในตำแหน่งงานนั้น ๆ เพื่อนำมาทำการประเมินหาความสามารถ จึงจะถือเป็นสิ่งสมควร  ต่อจากนั้นจึงนำมาทำการเปรียบเทียบกับ ความสามารถตามที่ตำแหน่งงานต้องการ (Competencies Requirement)  กับ ความสามารถของผู้สมัคร (Candidate’s Competencies)  ว่าเหมาะสมกันหรือไม่ 
ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไป  ชุดความสามารถต่าง ๆ ที่คน ๆ หนึ่งมีอยู่  จะไม่สูญสลายไปตามกาลเวลา  เพราะความชุดสามารถเป็นทรัพย์สมบัติของแต่ละบุคคลที่จะถูกสั่งสมไปตลอดชีวิต  ไม่มีใครสามารถขโมยชุดความสามารถของใครไปได้  ตราบใดที่เจ้าของความสามารถยังมีสติสัมปชัญญะเป็นปกติ  และมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ดีแล้ว  ตราบนั้นเขาก็จะยังคงมีความสามารถที่เขาเคยมีอยู่  ไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด  แต่กระนั้น  หากความสามารถของคนมิได้ถูกนำออกมาใช้เป็นว่านาน  ก็อาจขาดความคล่องตัวหรือพร่องความชำนาญไป  ซึ่งอาจต้องใช้เวลาบ้างในการรื้อฟื้นชุดความสามารถที่มิได้นำออกมาใช้เป็นเวลานาน  ตัวอย่างเช่น  บุคคลหนึ่งเคยมีผลงานโดยเขาเป็นนักแสดงโขนที่เคยทำการแสดงในโรงละครแห่งชาติ  ถึงแม้เวลาจะผ่านไป 20 ปี  จนปัจจุบัน  เขามีอาชีพเป็นครูสอนดนตรีไทยในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง  เวลาที่เปลี่ยนแปลงไปก็ไม่สามารถทำให้ชุดความสามารถที่ใช้ในการแสดงโขนของเขาสูญเสียไป  หากเขาต้องกลับมาแสดงโขนใหม่  เขาก็จะสามารถแสดงได้เพราะเขามีชุดความสามารถในการแสดงโขนอยู่แล้ว  ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการฝึกซ้อม  เพื่อทบทวนชุดความสามารถที่ไม่ได้ใช้มาเป็นเวลานาน  จนที่สุดเขาจะลื้อพื้นชุดความสามารถนั้นขึ้นมาได้  เป็นต้น   

 

มีการบริหารชีวิตและเวลาในอดีตได้อย่างมีคุณค่า 
                มีการบริหารชีวิตและเวลาในอดีตได้อย่างมีคุณค่าหมายถึง  เมื่อผู้จัดการสรรหาว่าจ้างทำการประเมินเปรียบเทียบตามอนุกรมเวลา (Time Series) เกี่ยวกับความสามารถของผู้สมัคร  โดยทำการเปรียบเทียบชุดความสามารถและหน่วยความสามารถของเขาจากช่วงเวลาต่าง ๆ ในชีวิตว่า  เขามี จำนวนชุดความสามารถ (Amount of Competency Series)  เพิ่มขึ้นหรือไม่  และเขามี ขนาดความจุของหน่วยความสามารถ (Capability Scale of Competency Unit)  เพิ่มขึ้นหรือไม่  ตัวอย่างเช่น  บุคคลสองคนมีประสบการณ์การทำงานคนละ 30 ปี  คนแรกทำงานในตำแหน่งเดิมและใช้ชุดความสามารถเดิม  ไม่มีการเพิ่มจำนวนชุดความสามารถขึ้นเลยแต่อาจจะมีการเพิ่มขนาดความจุของหน่วยความสามารถขึ้นบ้างตามประสบการณ์และทักษะความชำนาญในงานนั้น ๆ   นั่นแสดงให้เห็นถึงการเป็นคนไม่นิยมแสวงหาความรู้เพิ่มเติม  เขายินดีและพอใจกับชุดความสามารถที่เขามี  ข้อดีของเขาคือทักษะความชำนาญในงานที่เขาทำ  แต่จะดียิ่งกว่า  ถ้าเขามีความคิดที่จะปรับปรุงทักษะความชำนาญที่มีแล้ว  ไปสู่วิธีการทำงาน (Methods) ที่ดีกว่าเดิมหรือผลิตภาพ (Productivity) ด้วยความรู้ใหม่ ๆ   รวมถึงการเพิ่มพูนชุดความสามารถของตัวเขาเองให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย  ในขณะที่อีกคนหนึ่งมีประสบการณ์การทำงาน 30 ปีเช่นกัน  โดยที่เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานในตำแหน่งงานเดียวกันกับคนแรก  แต่พอเวลาผ่านไป  เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นตามลำดับ  ชุดความสามารถและหน่วยความสามารถของเขาได้ถูกทำการเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อทำการเปรียบเทียบตามอนุกรมเวลา  หรืออาจกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาแต่ละปีที่ผ่านไปในชีวิตของเขา  ความสามารถของเขาถูกเพิ่มพูนมากขึ้นทุกปี  ซึ่งถือได้ว่าเขาเป็นผู้ที่มีการบริหารชีวิตและเวลาในอดีตได้อย่างมีคุณค่า  เป็นต้น 
 
มีชุดความสามารถจำนวนมาก 
                มีชุดความสามารถจำนวนมากหมายถึง  การเป็นบุคคลที่มีความสามารถสูงกว่าเกณฑ์ (Over-qualified Competent Person)   กล่าวคือ  ผู้สมัครมีชุดความสามารถในปัจจุบันเป็นจำนวนมาก  และชุดความสามารถจำนวนหนึ่งของเขา  ครอบคลุมความสามารถตามที่ตำแหน่งงานต้องการ (Competencies Requirement)   กล่าวคือ  ผู้จัดการสรรหาว่าจ้างต้องทำการประเมินความสามารถในปัจจุบันของผู้สมัคร  ว่าเขามี จำนวนชุดความสามารถ (Amount of Competency Series)  ทั้งหมดเท่าใด  ซึ่งทุกชุดความสามารถที่เขามีนั้น  จะต้องครอบคลุม ทุกชุดความสามารถตามที่ตำแหน่งงานต้องการ (Competency Series Requirement)   ทั้งนี้ชุดความสามารถตามที่ตำแหน่งงานต้องการนั้น  ได้ถูกทำการวิเคราะห์ความสามารถตามที่ได้กล่าวมาแล้วในขั้นตอนที่ 1   ตัวอย่างเช่น  ผู้สมัครคนหนึ่งมีชุดความสามรถ 14 ชุดความสามารถ (ในแต่ละชุดความสามารถมีหน่วยความสามารถ)   แต่ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครต้องการชุดความสามารถเพียง 9 ชุดความสามารถ  โดยที่ชุดความสามารถที่ตำแหน่งงานต้องการทั้ง 9 ชุดความสามารถนั้น  มีอยู่ใน 14 ชุดความสามารถของผู้สมัครอย่างครอบคลุม  นั่นเท่ากับว่าผู้สมัครคนนี้มีชุดความสามารถจำนวนมาก  เป็นต้น

 

มีคุณลักษณะทางจิตที่พึงประสงค์ 

                มีคุณลักษณะทางจิตที่พึงประสงค์หมายถึง  การเป็นคนที่มีจริยธรรม  ประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรม  จารีตประเพณี  และกฎหมาย,  มีหิริโอตตัปปะ  ละอายเกรงกลัวต่อบาป  รู้จักผิดชอบชั่วดี,  มีทัศนคติและบุคลิกภาพที่เหมาะกับงานและองค์การ  ฯลฯ  ตลอดจนมีสำนึกสมดุลระหว่างประโยชน์ของตนเองกับประโยชน์ขององค์การ  และประโยชน์ของสังคม  ซึ่งในที่นี้รวมเรียกคุณลักษณะทางจิตที่พึงประสงค์เหล่านี้ว่า ชุดความสามารถในทางทัศนคติที่พึงปรารถนา (Desired Attitude Competency Series)   ซึ่งชุดความสามารถนี้ผู้เขียนเห็นควรให้ถูกกำหนดเป็น ชุดความสามารถหลัก (Core Competency Series) ของความสามารถที่ตำแหน่งงานต้องการ (Competency Requirement) ในทุก ๆ ตำแหน่งงานขององค์การ  ทั้งนี้เพราะ  ผู้เขียนเชื่อว่าผู้สมัครที่มีชุดความสามารถนี้  เมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกองค์การใดก็ตามแล้ว  เขาจะไม่ก่อปัญหาให้แก่องค์การนั้นในอนาคต  อย่างไรก็ตาม  ผู้จัดการสรรหาว่าจ้างจำเป็นต้องทำการสอบวัดผู้สมัครให้ได้อย่างกระจ่างชัด  เพื่อค้นหาว่าเขามีคุณลักษณะทางจิตที่พึงประสงค์หรือไม่  ด้วยแบบสอบวัดทางจิตวิทยาที่มีความแม่นตรง (Validity) และความน่าเชื่อถือ (Reliability)   แล้วนำมาเปรียบเทียบกับโจทย์ที่ได้ตั้งไว้  ซึ่งชุดความสามารถในทางทัศนคติที่พึงปรารถนานี้  ได้ถูกทำการวิเคราะห์ความสามารถไว้ก่อนแล้วตามขั้นตอนที่ 1   ตัวอย่างเช่น  จากการวิเคราะห์ความสามารถ (Competencies Analysis) ซึ่งเป็นความสามารถที่ตำแหน่งงานต้องการ (Competency Requirement)   กำหนดไว้ว่า ชุดความสามารถในทางทัศนคติที่พึงปรารถนา มีหน่วยความสามารถอยู่ 11 หน่วยความสามารถ  และเมื่อทำการสอบวัดผู้สมัครด้วยแบบสอบวัดทางจิตวิทยาแล้ว  ปรากฏว่า  ผู้สมัครคนดังกล่าวมีหน่วยความสามารถ 11 หน่วยความสามารถ  ครบถ้วนตามที่ชุดความสามารถในทางทัศนคติที่พึงปรารถนาระบุเอาไว้  อีกทั้งแต่ละหน่วยความสามารถของผู้สมัครยังมีขนาดความจุที่เหมาะสมอีกด้วย  นั่นเท่ากับว่าเขาเป็นผู้มีคุณลักษณะทางจิตที่พึงประสงค์  เป็นต้น 

 

มีแนวโน้มที่จะเพิ่มพูนความสามารถได้

                มีแนวโน้มที่จะเพิ่มพูนความสามารถได้หมายถึง  การเป็นบุคคลที่มีศักยภาพในการพัฒนา (Potential Competent Person)   กล่าวคือ  มีแนวโน้มที่จำนวนชุดความสามารถและหน่วยความสามารถที่มีอยู่แล้วในตัวผู้สมัคร  จะถูกเพิ่มพูน (Increase) ให้มี จำนวนชุดความสามารถ (Amount of Competency Series)  และ ขนาดความจุของหน่วยความสามารถ (Capability Scale of Competency Unit)   เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับได้  อาจด้วยการพัฒนาตัวเองหรือด้วยกระบวนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์การ  ทั้งนี้ผู้จัดการสรรหาว่าจ้างต้องใช้หลักฐานและผลการประเมินที่เกิดจากกรอบการประเมินในหัวข้อที่ 1 4   นำมาวิเคราะห์คาดการณ์สำหรับกรอบการประเมินในหัวข้อที่ 5   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อที่ 2 (มีการบริหารชีวิตและเวลาในอดีตได้อย่างมีคุณค่า)   อันเป็นการประเมินเปรียบเทียบตามอนุกรมเวลา (Time Series) เกี่ยวกับความสามารถของผู้สมัคร (Candidate)  โดยทำการเปรียบเทียบชุดความสามารถและหน่วยความสามารถของเขาจากช่วงเวลาต่าง ๆ ในชีวิตว่า  เขามีจำนวนชุดความสามารถเพิ่มขึ้นหรือไม่  และเขามีขนาดความจุของหน่วยความสามารถเพิ่มขึ้นหรือไม่  เพราะมันสามารถบอกแนวโน้มความเป็นไปได้ในการเพิ่มพูนความสามารถของผู้สมัครคนนั้นในอนาคต  ตัวอย่างเช่น  เมื่อ 5 ปีก่อน  ผู้สมัครคนหนึ่งมีชุดความสามารถ 6 ชุดความสามารถ  โดยแต่ละชุดความสามารถก็มีหน่วยความสามารถดังต่อไปนี้  (1) สามหน่วย,  (2) สี่หน่วย,  (3) สี่หน่วย,  (4) สี่หน่วย,  (5) หกหน่วย,  และ (6) แปดหน่วย  ตามลำดับ  ซึ่งทุกหน่วยความสามารถมีขนาดความจุเป็น 1/3  (เต็มขนาดความจุ หรือ Full Scale เท่ากับ 3/3)[1]  เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปีจนมาถึงปัจจุบัน  ชุดความสามารถของเขาเพิ่มขึ้นจาก 6 เป็น 8 ชุดความสามารถ  หน่วยความสามารถบางหน่วยเท่าเดิม  แต่บางหน่วยเพิ่มขึ้นจากเดิม  โดยมีหน่วยความสามารถเปรียบเทียบตามลำดับข้างต้นดังนี้  (1) สี่หน่วย,  (2) สี่หน่วย,  (3) ห้าหน่วย,  (4) สี่หน่วย,  (5) หกหน่วย,  และ (6) แปดหน่วย  ตามลำดับ  ทั้งนี้ทุกหน่วยความสามารถมีขนาดความจุเพิ่มขึ้นจากเดิม 1/3 เป็น 2/3   นอกจากนี้  ชุดความสามารถ 2 ชุดที่เพิ่มขึ้นมา  มีหน่วยความสามารถดังนี้  คือ  สี่หน่วย,  และห้าหน่วย  ซึ่งแต่ละหน่วยก็จะมีขนาดความจุของแต่ละหน่วยความสามารถเป็น 1/3   เพราะฉะนั้น  จึงสามารถวิเคราะห์และคาดการณ์ได้ว่า  มีความเป็นไปได้สูงที่บุคคลดังกล่าวจะเพิ่มพูนความสามารถได้ในอนาคต  เป็นต้น 

 

 

ดร.จักษวัชร  ศิริวรรณ




[1] ขนาดความจุของความสามารถ (Capability Scale of Competency Unit) อาจแบ่งขนาดที่เต็มความจุได้เป็น 3 ,  4,  5,  หรืออาจมากกว่านั้น  ซึ่งถ้ายิ่งตัวเลขจำนวนของขนาดความจุสูง  ก็จะทำให้มีความละเอียดในการแจกแจกมากขึ้นด้วย  นั่นหมายความว่ายิ่งมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นในการวิเคราะห์หน่วยความสามารถ  ตามตัวอย่างที่ยกมา  ได้แบ่งขนาดที่เต็มความจุเป็น 3   โดยมีความหมายแต่ละขั้นของขนาดความจุดังนี้  1/3 หมายถึง  มีความสามารถเพียงพอสำหรับใช้ในงานได้,  2/3 หมายถึง  มีความสามารถสำหรับใช้ในงานได้เป็นอย่างดี,  3/3 (Full Scale) หมายถึง  มีความสามารถสำหรับใช้ในงานได้อย่างดีเลิศ          

 

หมายเลขบันทึก: 397035เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2010 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท