คำถามจากครูนักวิจัยข้อ1


วิจัยสร้างปัญญา และปัญญาทำให้เกิดวิจัย

1. อย่างไร เรียกว่า”วิจัย”

ผู้ที่ตั้งคำถามนี้ น่าจะเป็นนักวิจัยหน้าใหม่ ที่เริ่มมีความสนใจแล้ว และมีความกังวลมาก  เกิดความสับสนกับ“วิจัยหน้าเดียว” ที่ดูตัวอย่างมา กับ ”วิจัยห้าบท” ที่เพื่อนครูได้รับคำชื่นชม  แต่ยากมาก  ความจริง “วิจัย” คืออะไร 

ขอตอบคำถามนี้ ด้วยการชี้แจงความหมายของคำว่า “วิจัย” ก่อน  ผู้ถามจะมองเห็นความหมายจาก “คุณค่าของการวิจัย “ 

“วิจัย” ในวงวิชาการสมัยใหม่ จะใช้คำภาษาอังกฤษ ว่า “research”   ให้ความหมายว่า เป็นกิจกรรมที่มุ่งค้นหาความจริงในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างจริงจัง เพื่ออธิบายสิ่งนั้นอย่างกระจ่างชัด มีการพัฒนากรรมวิธีและระบบ การค้นหาจะดำเนินไปอย่างมีระบบ จนได้ข้อค้นพบเป็นความรู้  หลักการ หรือทฤษฎีที่น่าเชื่อถือ สามารถนำไปประยุทธ์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและวิชาชีพได้

สำหรับคำภาษาไทย  “วิจัย” มาจากคำบาลี ว่า “วิจโย”  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า  “เป็นลักษณะหนึ่งของการใช้ปัญญา พร้อมทั้งเป็นการทำให้เกิดปัญญา หรือทำให้ปัญญาพัฒนาขึ้นด้วย”[1]    “ปัญญาในขั้นที่ทำงานเพื่อให้บรรลุผลนั้นเป็นปัญญาที่เรียกว่า วิจัย  วิจัยไปก็เกิดปัญญา ”[2]     ”วิจัย” เป็นหลักสำคัญตามพุทธพจน์ที่ว่า  “ธรรมนั้นเราแสดงไว้โดยวิจัย” (วิจยโส เทสิโต ภิกฺขเว มยา ธมฺโม)   ในการประกอบภารงานครู  ผู้สอนก็สอนไปโดยได้ความรู้จากการวิจัย  แล้วนำมาสอนโดยวิธีวิจัย[3]

ส่วนคำภาษาอังกฤษ ” research“ ก็มีความหมายที่ไม่แตกต่างกัน ส่วนมากเราจะคุ้นเคยมากกว่า เพราะเราใช้ตำราที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญมีความสอดคล้องกัน ส่วนพฤติกรรมของผู้วิจัย และ ผลการวิจัยจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับรายบุคคลที่มีความตั้งใจ ความพยายามและการใช้ปัญญาที่แตกต่างกัน

คุณค่าของการวิจัย  การวิจัยคือการทำให้ปัญญาเกิด “ด้วยการรู้จักคิดพิจารณาค้นหาความจริง หาทางทำให้มันดี ให้มันสำเร็จ ให้มันพ้นทุกข์ ให้มันแก้ปัญหาให้ได้ … เป็นหน้าที่...ไม่ใช่เป็นกิจกรรมเพื่อของการศึกษาหรือการเลื่อนวิทยฐานะเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาจากรากฐานของการสร้างปัญญาสู่ชีวิตประจำวัน”[4]

ส่วนการวิจัยทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์  พบประโยชน์ที่เกิดจากผลการวิจัยมีมากมาย ทั้งที่ใกล้ตัว เช่นความสะดวกต่างๆ  อันเป็นคุณค่าที่เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์มีการเรียนรู้ มีความสามารถเช่นที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน  จนสามารถพัฒนาชีวิติให้มีความสุขสะดวกมากขึ้น  แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญญาที่ยังขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลร้ายกระทบถึงเราได้  จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีปัญญาจัดการปัญหาที่เกิดด้วยความรู้ที่เท่าทันได้

สรุปตอบคำถาม อย่างไร เรียกว่า”วิจัย”

”วิจัย” คือ กิจกรรมที่บุคคลต้องการพัฒนาตนเองด้วยการใช้ปัญญาเพื่อค้นหาความจริงอย่างมีระบบ ระเบียบ  ให้เกิดการรู้หรือเกิดปัญญา  และพร้อมที่จะใช้ปัญญา  ทำให้ปัญญาพัฒนาขึ้นด้วย

ในฐานะครู อาจารย์ หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ  จะทำวิจัย ก็ต้องเกิดความตั้งใจพัฒนาเพื่อให้ตนเองสามารถปฏิบัติภารกิจในความรับผิดชอบให้บรรลุผลสำเร็จที่พึงปรารถนา  ความตั้งใจที่แรงกล้าจะทำให้ตนเองเกิดความวิริยะ  ขวนขวาย ฝึกฝนให้มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่นั้น ๆ มากขึ้น ๆ  เป็นการพัฒนาการวิจัยนั้นเอง 

ความกังวลที่เคยเกิด “อยากวิจัย” ด้วยเหตุผล เพียงอยาก เพราะ...(หลากหลายความคิด) คงจะผ่อนคลาย  เพราะรู้ว่า วิจัยไม่ได้กำหนดที่รูปแบบ”หน้าเดียว” หรือ “ห้าบท” แต่เป็นการพัฒนางานที่รับผิดชอบ ใช้การเรียนรู้กับการทำงาน พัฒนาให้เกิดคุณภาพ   ถ้าทำได้  รางวัลที่รออยู่ คือ เห็นพัฒนาการของลูกศิษย์   ความภูมิใจในความสามารถของตนเอง  และผลพลอยได้ที่น่ายินดี คือ เงินได้ และวิทยฐานะที่เพิ่มขึ้น

ขอมีส่วนให้กำลังใจผู้ปรารถนาพัฒนาปัญญา  และใช้ปัญญาพัฒนาตนเองและสังคมต่อไป

 


[1] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), การศึกษากับการวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย  หน้า4.

[2] เล่มเดิม  หน้าเดิม

[3] เล่มเดิม  หน้าเดิม

[4] เล่มเดิม  หน้า 18

หมายเลขบันทึก: 396690เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2010 20:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จากการอ่านข้างต้นผู้อ่านสรุปได้ว่า “วิจัย” คือ สิ่งที่บุคคลต้องการพัฒนาปัญญาของตนด้วยวิธีการศึกษาค้นคว้า อย่างเป็นระบบแบบแผน เพื่อให้ได้มาซึ่งปัญญาที่พัฒนาขึ้น ทั้งนี้การทำวิจัยไม่ได้กำหนดอยู่ที่รูปแบบว่าจะต้องเป็นวิจัยหน้าเดียว หรือห้าบท แต่ขึ้นอยู่ว่าวิจัยนั้นได้พัฒนาในส่วนที่รับผิดชอบหรือไปเพิ่มพูนปัญญาของผู้ทำวิจัย เพื่อที่จะสามารถนำไปใช้พัฒนาสังคมได้ต่อไป ส่วนอื่น ๆ ที่ตามมาคือผลพลอยได้และขวัญกำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท